วันพุธที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

วิชชาของชีวิต

ชีวิตจะมีความสุขมากหรือน้อย ล้วนขึ้นอยู่ที่ใจเป็นหลัก เราสามารถที่จะทำให้มีมากขึ้นหรือลดน้อยลง จนกลายเป็นความทุกข์ก็ได้ เมื่อเรามัววิตกกังวลหรือคิดเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดีกว่า ก็จะทำให้สิ่งที่มีอยู่นั้นด้อยคุณค่า ในทางกลับกัน หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่ด้อยกว่า ก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เรามีอยู่นั้นดีกว่า สรรพสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราว่า เราจะเลือกเอาอย่างไหน ผู้ฉลาดพึงเลือกที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขความเจริญ ด้วยการสั่งสมบุญอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะบุญที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา เพียงน้อมใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาสบาย เมื่อถูกส่วนเข้าก็จะเห็นแสงสว่าง พบดวงธรรม พบกายในกาย จนกระทั่งได้เข้าถึง พระธรรมกาย เมื่อเข้าถึงตรงนั้นได้ จะมีแต่ความสุขอย่างเดียว ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นใจเจริญสมาธิภาวนาทำใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกวัน

มีพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ความว่า

อยสา ว มลํ สมุฏฺฐิตํ

ตทุฏฺฐาย ตเมว ขาทติ

เอวํ อติโธนจารินํ

สานิ กมฺมานิ นยนฺติ ทุคฺคตึ

กรรมทั้งหลายที่เป็นของตน ย่อมนำบุคคล ผู้ขาดปัญญาในการพิจารณาใช้ปัจจัยสี่ ไปสู่ทุคติ เหมือนสนิมเกิดจากเหล็ก ถ้ายังอยู่กับเหล็ก ย่อมกัดกินเหล็กเรื่อยไป”

การกระทำทุกอย่างทั้งทางกาย วาจาและทางใจ รวมเรียกว่า กรรม เมื่อได้ทำไปแล้ว จะถูกเก็บบันทึกไว้ทันที ด้วยกล้องชั้นดีที่สุดในโลก คือ ใจของเราเอง จากนั้น ผลแห่งการกระทำจะคอยส่งผลติดตามมาโดยตลอด เหมือนเงาติดตามตัว รวมเรียกว่าวิบากกรรม ดังนั้น ก่อนที่จะทำอะไรลงไป ต้องมีสติ ใช้ปัญญาพิจารณาให้ดี ให้ทำแต่สิ่งที่ทำให้ใจของเราผ่องใส เช่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาเป็นต้น อย่าให้ใจของเราไปยึดติดอยู่กับคนสัตว์สิ่งของ หรือสิ่งที่ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกเป็นอันขาด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีห่วงมีอาลัย แล้วใจจะเศร้าหมอง ความหมองของใจสำหรับผู้ใกล้จะตาย เป็นอันตรายต่อการเดินทางไปสู่ปรโลก

*มก. พระติสสเถระ เล่ม ๔๓/๑๖

*ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้ขาดปัญญาพิจารณาในการใช้สอยจีวร ซึ่งญาติโยมนำมาถวาย จึงมีจิตผูกพันอย่างแน่นแฟ้น เมื่อละโลกไปแล้ว แทนที่จะได้ไปสวรรค์หรือไปสู่สุคติภูมิ กลับต้องไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรผืนนั้น

เรื่องมีอยู่ว่า กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้รับฉายาว่า ติสสะ เมื่อบวชแล้ว ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดในชนบท ได้ผ้าสาฎกเนื้อหยาบมาประมาณ ๘ ศอก พอออกพรรษาแล้ว ท่านได้เดินทางกลับไปวัดบ้านเกิด นำผ้านั้น ไปฝากโยมพี่สาวไว้ก่อน ครั้นโยมพี่สาวรับผ้ามาแล้ว เห็นว่าผ้าสาฎกผืนนี้ไม่เหมาะสมกับพระน้องชาย พระน้องชายควรจะได้นุ่งห่มผ้าที่เนื้อดีกว่านี้ จึงนำผ้าผืนนั้นไปสาง ดีด กรอ ปั่น ทำให้ด้ายละเอียดกว่าเดิม แล้วทอเป็นผ้าสาฎกผืนใหม่

ฝ่ายพระน้องชายได้จัดแจงด้ายและเข็ม แล้วไปนิมนต์เพื่อนสหธรรมิกมาประชุมกันทำจีวร จากนั้นจึงไปหาโยมพี่สาวที่บ้าน เพื่อขอผ้าสาฎกคืน โยมพี่สาวนำเอาผ้าสาฎกประมาณ ๙ ศอกผืนใหม่ออกมาถวาย ท่านรับผ้าสาฎกนั้นมาพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ใช่ผ้าผืนที่ได้นำมาฝาก จึงบอกว่า “ผ้าสาฎกของฉันเนื้อหยาบ ยาวประมาณ ๘ ศอก แต่ผืนนี้เนื้อละเอียดยาวประมาณ ๙ ศอกกว่าๆ ผ้านี้มิใช่ผ้าสาฎกของอาตมา นี่เป็นผ้าสาฎกของโยมพี่”

เมื่อโยมพี่สาวได้ชี้แจงบอกให้พระน้องชายหายคลางแคลงแล้ว ท่านจึงยอมรับเอาผ้าผืนนั้นไปวิหาร แล้วเริ่มทำจีวรกับเพื่อนสหธรรมิก ฝ่ายโยมพี่สาวได้จัดแจงอาหารหวานคาว ไปถวายภิกษุสามเณรผู้ทำจีวรของพระติสสะทุกวัน ในวันที่จีวรเสร็จ โยมพี่สาวได้ถวายอาหารที่อร่อยเป็นพิเศษ และเครื่องไทยธรรมอีกมากมาย ส่วนพระติสสะมองดูจีวรแล้ว เกิดความปีติเบิกบานเป็นพิเศษ ที่จะได้ใช้จีวรที่ประณีต ซึ่งที่ผ่านมาท่านไม่เคยได้ครองผ้าที่มีเนื้อละเอียดอย่างนี้มาก่อน จึงคิดว่า “พรุ่งนี้ เราจะห่มจีวรผืนนี้ออกบิณฑบาต” แล้วพับพาดไว้ที่สายระเดียง แต่ในคืนวันนั้นเอง ท่านเกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย จึงมรณภาพลง แล้วไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรผืนนั้นเอง

พวกภิกษุได้ช่วยกันสลายร่างของท่าน แล้วปรึกษากันว่า “เมื่อภิกษุอุปัฏฐากไข้ของพระติสสะ ไม่มี จีวรของท่านก็ต้องตกเป็นของสงฆ์ ฉะนั้น พวกเราควรแบ่งจีวรผืนนี้ถวายภิกษุผู้มีพรรษากาลมากที่สุด” แล้วจึงให้นำจีวรผืนนั้นออกมา ฝ่ายเล็นได้เห็นการกระทำของพระภิกษุ จึงเกิดความหวงแหนในจีวร โดยลืมว่าตัวเองไม่ได้เป็นพระแล้ว บัดนี้เป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ ที่อาศัยผ้าอยู่เท่านั้น จึงกระโดดร้องไปมาว่า “ภิกษุพวกนี้ กำลังแย่งจีวรของเรา”

พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงของเล็นด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอไปบอกพวกภิกษุทั้งหลายว่า อย่าพึ่งแบ่งจีวรของติสสะ ให้เก็บเอาไว้สัก ๗ วันก่อน” พระเถระจึงไปแจ้งให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พอครบ ๗ วัน เล็นก็หมดอายุขัยพอดี และจิตก็ได้คลายความยึดมั่นถือมั่น ครั้นตายลง จึงทำให้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต

ในวันที่ ๘ พระศาสดารับสั่งให้แบ่งจีวรของติสสะได้ หลังจากแบ่งจีวรตามพระบรมพุทธานุญาตแล้ว จึงนั่งสนทนากันในธรรมสภาว่า “ทำไมหนอ พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้เก็บจีวรของพระติสสะไว้ถึง ๗ วัน” เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาที่โรงธรรมสภาแล้วตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนาเรื่องอะไรกันหรือ” เมื่อตัวแทนของภิกษุกราบทูลให้ทราบ จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ติสสะมรณภาพแล้วไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรของตน เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาในการใช้สอยปัจจัยสี่ ขณะที่พวกเธอจะแบ่งจีวรกันนั้น เขาได้วิ่งร้องไปข้างโน้นทีข้างนี้ทีว่า “ภิกษุพวกนี้กำลังแย่งจีวรของเรา”

ฉะนั้น เมื่อพวกเธอแบ่งจีวรไปใช้ เล็นก็จะโกรธเคืองจนจิตเศร้าหมอง ในที่สุดก็ต้องตกนรก ด้วยเหตุนี้ ตถาคตจึงสั่งให้เก็บจีวรเอาไว้ก่อน แต่เดี๋ยวนี้ เขาได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในจีวร ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงอนุญาตให้พวกเธอรับเอาจีวรไปใช้ได้ตามสะดวก

เมื่อภิกษุสงฆ์กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ความห่วงหาอาลัยนี้เป็นภัยร้ายนัก” จึงตรัสรับรองว่า “ถูกต้องแล้วภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหา ความห่วงอาลัย ความทะยานอยากของสัตว์ เป็นมหันตภัยอย่างยิ่ง สนิมเกิดจากเหล็ก ย่อมกัดก้อนเหล็กให้เหล็กพินาศไป ทำให้ใช้สอยไม่ได้ ฉันใด ตัณหานี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นภายในใจของสัตว์เหล่าใด ย่อมทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดในอบายมีนรก เป็นต้น”

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า สภาพใจของเฮือกสุดท้ายของชีวิต มีผลต่อชีวิตใหม่ในปรโลกอย่างไรบ้าง ซึ่งเราจะดูเบาไม่ได้เลย ถ้าหากจิตไปผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ทำให้มีความอาลัยซึ่งจะทำให้ใจเศร้าหมอง แล้วบาปอกุศลจะได้ช่อง ชิงช่วงนำไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ใจต้องใสๆ อย่างน้อยต้องให้อยู่ในบุญ ใจต้องติดอยู่กับพระรัตนตรัย ความรู้นี้เป็นเคล็ดวิชาที่เราต้องศึกษาเอาไว้ คือต้องรู้จักผูกใจไว้กับธรรมะ และในบุญกุศล อย่าเอาไปผูกไว้กับคน สัตว์ สิ่งของซึ่งไม่ใช่สรณะ เพื่อใจจะได้ผ่องใสและมีสุคติเป็นที่ไป

ความไม่รู้หลักวิชาในการเดินทางไปสู่ปรโลก เป็นอันตรายต่อชีวิตมาก ผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อเห็นคนใกล้ตัวใกล้จะสิ้นใจ จะไม่มัวตกอกตกใจ หรือแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจ แต่จะคอยพูดให้ใจสบายและเตือนสติว่า ให้นึกถึงบุญ นึกถึงพระ ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นอารมณ์ เป็นการบอกหนทางสรรค์ให้แก่ผู้ตาย เพราะฉะนั้น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดนี้ เป็นศึกชิงภพของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในไม่ช้าก็ต้องประสบพบเจอกันทั้งนั้น ให้หมั่นเจริญมรณานุสติ จะได้ไม่ประมาทในชีวิต และหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้ใจติดอยู่กับพระรัตนตรัยภายใน แล้วเราจะจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะกันทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: