วันอังคารที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ศาสดาในโลกนี้

ชีวิตคนเราที่เกิดมา ไม่มีใครที่สมบูรณ์พร้อมไปหมดทุกเรื่อง บางครั้งก็ประสบความสำเร็จ แต่บางครั้งก็ต้องประสบกับความผิดหวัง ขอเพียงแต่ให้เรามีพลังใจที่เข้มแข็ง อดทน พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง ด้วยใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และก็หมั่นสั่งสมความดีอย่างไม่ย่อท้อ หมั่นตรึกระลึกนึกถึงบุญอยู่เสมอ เมื่ออานุภาพแห่งบุญและความบริสุทธิ์ของใจเกิดขึ้น จนกระทั่งเป็นดวงกลมใสรอบตัว ติดนิ่งแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อนั้น ความสำเร็จและผลแห่งความดีทั้งหลาย จะหลั่งไหลมาสู่ตัวเรา ทำให้เราสมปรารถนาในทุกสิ่งได้อย่างเป็นอัศจรรย์ทีเดียว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับอุปกาชีวกะไว้ว่า

เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวงอันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง เราละธรรมที่เป็นไปในภูมิสามได้หมด หลุดพ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงอ้างใครเล่าเป็นศาสดา อาจารย์ของเราไม่มี บุคคลเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนกับเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดาที่หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว จะประกาศอมตธรรมในโลก เพื่อให้สรรพสัตว์ได้ธรรมจักษุ”

*มก. สังฆเภทขันธกะ (ศาสดา ๕ จำพวก) เล่ม ๙/๒๗๔

*การที่พระบรมศาสดาทรงปฏิญญาความเป็นสัมมาสัมพุทธะ เพราะทรงหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นสัพพัญญูผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ เวสารัชชญาณ และคุณธรรมที่สามารถมองเห็นกันได้ด้วยสายตา คือ ศีล อาชีวะ เทศนา ไวยากรณ์และญาณทัสนะ ก็ทรงทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สรรพสัตว์ จนเป็นที่ยอมรับกันว่า ทรงเป็นศาสดาเอกของโลก ไม่มีศาสดาอื่นยิ่งกว่า

ในโลกนี้มีบุคคล ๕ ประเภท ที่ปฏิญญาว่าเป็นศาสดาทั้งที่ตนไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นได้ คำว่าศาสดาแปลว่าผู้สั่งสอนคนอื่นให้รู้จักหนทางไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน รู้จักเรื่องบุญและบาป สั่งสอนให้ละชั่ว ทำดีและทำใจให้ผ่องใส เป็นต้น แต่เนื่องจากศาสดาบางพวกไม่รู้แจ้งเห็นจริง จึงใช้จินตมยปัญญาคิดค้นด้นเดาเอาด้วยความเห็นส่วนตัว แล้วนำมาสั่งสอนลูกศิษย์ให้ปฏิบัติตาม ก็ปฏิบัติถูกบ้างผิดบ้างตามความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ศาสดาบางคนมีข้อปฏิบัติที่ไม่รู้ตัว ว่าจะนำพาสาวกไปสู่อบายภูมิก็มี ส่วนศาสดาที่สามารถสั่งสอนสาวกให้รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตจนสามารถหลุดพ้นจากอาสวกิเลสเข้าสู่พระนิพพานได้นั้น มีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้นในวันนี้เราจะมาศึกษาเรื่องศาสดาหรือครู หรือเจ้าลัทธิ ๕ จำพวกกัน

ศาสดาประเภทที่ ๑ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีศีลที่ผ่องใสไม่เศร้าหมอง แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเองเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แล้วปฏิญาณว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ครั้นจะบอกพวกคฤหัสถ์ตามความเป็นจริง ก็จะไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงช่วยกันปกปิดโทษศาสดาของตนเอาไว้ เพราะว่าจะได้เป็นทางมาของลาภสักการะ ดังเช่น ตั้งตนเป็นผู้วิเศษทำนายทายทักอวัยวะ ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่า เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี หมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นต้น อย่างนี้จัดเป็นมหาศีลที่ไม่บริสุทธิ์ ใครที่ตั้งตนเป็นเจ้าพิธีกรรมอย่างนี้ถือว่าจัดเป็นศาสดาผู้ทุศีล

ศาสดาประเภทที่ ๒ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเองเป็นผู้มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ ครั้นจะบอกพวกคฤหัสถ์ตามความเป็นจริง ก็จะไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงช่วยกันปกปิดโทษศาสดาของตนเอาไว้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา มีผู้ที่ตั้งตนเป็นศาสดาเพื่อหวังลาภสักการะ จึงมีการแสวงหาที่เรียกว่าอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เช่น เป็นเทพเจ้าร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง เป็นผู้ทรงเจ้าบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผีเป็นต้น ซึ่งอาชีพอย่างนี้เป็นทางมาแห่งลาภสักการะจากผู้ที่ยังไม่รู้จักพระรัตนตรัย ไม่รู้ความจริงของชีวิต ทำให้เกิดความหลงเชื่อถือในสิ่งที่ไม่ใช่สรณะ แม้ในปัจจุบันก็มีผู้ที่ตั้งตนเป็นครู เป็นเจ้าลัทธิ เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ ทำพิธีอย่างนี้เยอะแยะทีเดียว

ศาสดาประเภทที่ ๓ เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเองเป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่กลับปฏิญาณว่า เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ครั้นจะบอกพวกคฤหัสถ์ตามความเป็นจริง ก็จะเป็นเหตุให้เสื่อมศรัทธา จึงช่วยกันปกปิดความโง่เขลาเบาปัญญาของศาสดาตนเอาไว้ เพราะว่าจะได้เป็นทางมาของลาภสักการะ เช่น ครูปูรณกัสสปะ ท่านผู้นี้สอนว่า การทำชั่วนั้น ถ้าไม่มีคนเห็น ไม่มีใครรู้ และไม่มีใครจับได้ ไม่มีใครลงโทษ ผลของความชั่วนั้น ก็ถือว่าเป็นโมฆะ จะชั่วก็ต่อเมื่อมีคนรู้ มีคนเห็นหรือจับได้เท่านั้น ส่วนความดีนั้นก็เหมือนกัน จะมีผลก็ต่อเมื่อมีคนรู้มีคนเห็น มีคนชื่นชม และมีผู้ให้บำเหน็จรางวัล ถ้าไม่มีใครรู้เห็น ไม่มีใครชื่นชม และไม่มีใครให้รางวัลแล้วก็ไม่มีผล ถือเป็นโมฆะ

คำสอนของท่านปูรณกัสสปะนี้ มีนัยว่า ทำก็ไม่ชื่อว่าทำ เช่นคนทำบุญก็ไม่ชื่อว่าทำบุญ คนทำบาปก็ไม่ชื่อว่าทำบาป โดยสรุปก็คือบุญ-บาปไม่มี ความดีความชั่วไม่มี เป็นลัทธิที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของศีลธรรมโดยสิ้นเชิง ถือว่าเป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ เพราะยิ่งสอนไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สาวกหลงผิดและตกไปในอบายภูมิมากเท่านั้น

ศาสดาประเภทที่ ๔ เป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ถึงกระนั้นก็ยังช่วยกันปกปิด เพราะว่าจะได้เป็นทางมาของลาภสักการะ คำว่าไวยากรณ์หมายถึงมีคำพูดหรือคำสอนที่แจ่มชัด ไม่มีเงื่อนงำ แจ่มแจ้งต่อผู้ฟังสามารถทำให้ผู้ฟังหายสงสัยและแทงตลอดในทุกๆ ประเด็นไม่เป็นปรัชญาที่พูดวกไปวนมา ชวนสงสัยไปทุกเรื่อง ยิ่งถามก็ยิ่งสงสัยมากขึ้น ดังเช่น ครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร ผู้เป็นเจ้าลัทธิที่มีคำสอนที่ไม่แน่นอน ซัดส่ายลื่นไหล ตอบไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพื่อเอาตัวรอด เช่นตอบว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ คือไม่ยอมรับอะไรเลย และไม่ยืนยันอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้เรียกว่ามีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์

สำหรับศาสดาประเภทที่ ๕ คือ เป็นผู้มีญาณทัสนะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีญาณทัสนะบริสุทธิ์ แต่ก็รู้กันดีในหมู่สาวกว่า ศาสดาของพวกตนมีญาณทัสนะไม่บริสุทธิ์ แต่ก็ยังช่วยกันปกปิดเอาไว้ เพราะเกรงว่าลาภสักการะจะเสื่อมสลายไป เหมือนนิครนถ์นาฏบุตรที่หลอกลวงชาวโลกว่าตนเป็นพระอรหันต์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เมื่อครั้งที่เศรษฐีกรุงราชคฤห์อยากรู้ว่าพระอรหันต์มีจริงหรือเปล่า จึงให้เอาบาตรไม้จันทน์แดงไปห้อยไว้บนยอดไผ่ นิครนถ์อยากได้มาก จึงขอบาตรกับเศรษฐี แต่เศรษฐีไม่ยอม บอกว่าถ้าเป็นพระอรหันต์จริงก็เหาะขึ้นไปเอาเอง นิครนถ์จึงทำท่ายกมือยกเท้า แสร้งทำทีเหมือนจะเหาะ แต่เบื้องหลังก่อนจะเข้าไปหาเศรษฐี ได้สั่งให้สาวกทำทีเป็นดึงมือดึงเท้าพร้อมกับให้กล่าวห้ามปรามว่า “อาจารย์ ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้เลย มันเสียศักดิ์ศรี” จากนั้นก็ช่วยกันอ้อนวอนเศรษฐีให้นำบาตรมามอบให้ แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะเศรษฐีก็ยังยืนยันคำเดิมว่าต้องเหาะขึ้นไปเอาเอง

ทั้งหมดนี้ก็คือลักษณะของศาสดา ๕ จำพวกซึ่งหมายรวมไปถึงครูและเจ้าลัทธิทั้งหลายที่มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล อาชีวะ ธรรมเทศนา ไวยากรณ์และญาณทัสนะ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงอุบัติขึ้นมาเพื่อยังโลกให้สว่างไสวอย่างแท้จริง ทรงเป็นบรมศาสดาที่ไม่มีใครยิ่งกว่า หรือเสมอเหมือนก็ไม่มี ดังนั้นให้ทุกท่านหมั่นตรึกระลึกถึงพระพุทธคุณ และยึดเอาพระองค์ไว้เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด แล้วชีวิตเราจะพบกับความสวัสดีมีชัย มีสุคติเป็นที่ไปกันทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: