วันจันทร์ที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

ทุกชีวิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของ บุตร ธิดา ทรัพย์สินเงินทอง ญาติพี่น้อง ล้วนไม่อาจติดตามเราไปในปรโลกได้ มีเพียงกุศลผลบุญที่เราได้สั่งสมเอาไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นเหมือนเงาติดตามตัวเราไป ดังนั้น พวกเราต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้ดี และแสวงหาหลักของชีวิต คือพระรัตนตรัย แล้วก็หมั่นสั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่ เพราะโอกาสนี้ นับเป็นโอกาสดีที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาได้รู้จักหนทางของความหลุดพ้น ฉะนั้นอย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ไร้สาระ เพราะชราและมรณะครอบงำเราอยู่ทุกขณะ ให้เร่งรีบประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ ชีวิตเราจะได้ปลอดภัยและมีความสุขไปทุกภพทุกชาติกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ ปมาเท ภยทสฺสิ วา

สญฺโญชนํ อณุ ํ ถูลํ ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ

ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท มีปกติเห็นภัย-ในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์ ทั้งหยาบและละเอียดได้ ดุจไฟที่เผาเชื้อทั้งมากและน้อยได้ ฉะนั้น”

ความไม่ประมาทเป็นยอดของความดี ส่วนความประมาทเป็นภัยในวัฏฏะ ที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย หลงวนอยู่ในทะเลทุกข์ หาทางหลุดพ้นออกไปไม่ได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนพระภิกษุ และเหล่าพุทธบริษัท ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความประมาทอยู่เสมอ และให้ยินดีในความไม่ประมาท นอกจากนี้ คำว่า “ภิกษุ” ยังหมายถึงผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ภัยก็เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเริ่มประมาทตามใจกิเลส จึงทำบาปอกุศล อันเป็นเหตุให้ต้องพลัดไปเกิดในอบายภูมิไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดียรัจฉาน

ในขณะที่กำลังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ แสวงหาหนทางข้ามฝั่งคือพระนิพพานอยู่นั้น จะหาบุคคลผู้โชคดีที่เวียนวนอยู่ในสุคติภูมิอย่างเดียวนั้นน่ะ มีน้อยเหลือเกิน เหมือนฝุ่นในเล็บมือ ไม่อาจเทียบได้กับฝุ่นในจักรวาล เพราะโอกาสที่จะประพฤติผิดพลาดทางกาย วาจา ใจนั้นมีอยู่ตลอดเวลา เหมือนเวลาที่เรือล่มกลางมหาสมุทร ลูกเรือแต่ละคนก็จะพยายามตะเกียกตะกายว่ายน้ำเอาตัวรอด มองไปสุดลูกหูลูกตาก็ไม่เห็นฝั่ง จะต้องเจอภัยต่างๆ ที่มีอยู่ในทะเล ตั้งแต่ภัยจากคลื่นลมแรง ภัยจากปลาร้าย ภัยจากน้ำวน พอหมดเรี่ยวแรงก็จมดิ่งสู่ท้องทะเล ต้องเป็นภักษาของปลาและสัตว์ในทะเล น้อยคนนักที่จะข้ามขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย

ฉะนั้น การจะพิชิตภัยในสังสารวัฏได้อย่างเด็ดขาดต้องอาศัยความไม่ประมาท มีสติเตือนตนเองอยู่เสมอ ต้องควบคุมกาย วาจา ใจของเรา ไม่ให้ไปทำความเดือดร้อนกับใคร ขณะเดียวกันก็หมั่นทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นทุกวัน บริสุทธิ์จนสามารถทำสังโยชน์ทั้งหยาบและละเอียด ทั้งเบื้องต่ำเบื้องสูงให้หลุดล่อนออกไปจากใจได้หมด หลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละจึงจะเรียกว่า ผู้พิชิตอย่างแท้จริง

*มก. ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เล่ม ๔๐/๓๗๙

*ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกท่านหนึ่ง เมื่อมีโอกาสได้เข้าวัดฟังธรรมจากพระบรมศาสดาบ่อยครั้ง ก็เกิดปัญญามองเห็นทุกข์เห็นโทษในการอยู่ครองเรือน จึงตัดสินใจสละเพศฆราวาส ตั้งใจออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อบวชแล้วก็เริ่มเรียนพระกัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริตอัธยาศัยจากพระพุทธองค์ จากนั้นก็กราบทูลลาเข้าป่าเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพัง แต่เนื่องจากปรารภความเพียรจัดเกินไป ยังหาความพอดีจากการทำใจหยุดนิ่งไม่ได้ ทำให้เกิดรู้สึกว่า เส้นทางสู่การบรรลุอรหัตผลนั้นช่างยากลำบากเหลือเกิน จึงคิดจะกลับไปทูลขอวิธีการปฏิบัติกัมมัฏฐานจากพระบรมศาสดาใหม่

วันรุ่งขึ้น ท่านได้ออกจากป่า ระหว่างเดินทางอยู่นั้น ก็เกิดไฟป่าลุกลามไปทั่วบริเวณ ทำให้ท่านต้องรีบขึ้นไปยอดเขาลูกหนึ่ง เมื่อถึงยอดเขาแล้ว ก็นั่งดูไฟซึ่งกำลังไหม้ป่า ขณะเดียวกันนั้น ท่านก็นำเอาไฟนั้นมาเป็นอารมณ์ พร้อมกับสอนตนเองว่า “ไฟนี้ เผาเชื้อให้มอดไหม้ไป ฉันใด แม้ไฟคืออริยมรรคญาณ ก็จักพึงเผาสังโยชน์ทั้งหลายที่มีอยู่ในใจของเราให้มอดไหม้ไป ฉันนั้น”

เมื่อตรึกธรรมะอยู่บนยอดเขาอยู่นั้น พระบรมศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบวาระจิตของภิกษุนั้น จึงตรัสว่า “อย่างนั้นแหละภิกษุ สังโยชน์ทั้งหลายทั้งหยาบและละเอียด ซึ่งเกิดอยู่ในภายในของสัตว์ทั้งหลาย ประดุจเชื้อที่มากบ้างน้อยบ้าง เพราะฉะนั้น เธอควรเผาสังโยชน์เหล่านั้นด้วยไฟคือญาณเสีย แล้วทำให้เป็นของที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไปเถิด” ว่าแล้วก็ทรงเปล่งพระรัศมีไปปรากฏ ประหนึ่งว่าประทับนั่งอยู่ต่อหน้าของภิกษุนั้น ตรัสสอนเธอว่า “ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท มีปกติเห็นภัยในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์ ทั้งละเอียดและหยาบได้ ดุจไฟที่เผาเชื้อทั้งมากและน้อยได้ฉะนั้น” ภิกษุรูปนั้นได้พิจารณาตามพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ

นอกจากนี้ ยังมีภิกษุอีกรูปหนึ่ง หลังจากทูลลาพระบรมศาสดาและหมู่คณะเพื่อปลีกวิเวกตามลำพังแล้ว ก็เป็นผู้ไม่ประมาทเหมือนกัน ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าทั้งวันทั้งคืน ตั้งใจปรารภความเพียร-อย่างเต็มที่ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเดินทางออกจากป่าเพื่อมาเรียนกัมมัฏฐานใหม่ ในระหว่างทาง ซึ่งเป็นช่วงเวลากลางวัน ท่านก็เห็นพยับแดด จึงพิจารณาธรรมว่า “พยับแดดนี้ ตั้งขึ้นในฤดูร้อน ทำให้คนซึ่งยืนอยู่ในที่ไกลๆ สามารถมองเห็นได้เหมือนมีรูปร่างจริงๆ แต่ครั้นเดินเข้ามาใกล้ๆ กลับมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เป็นเพียงภาพลวงตา เป็นของว่างเปล่า แม้อัตภาพนี้ ก็มีรูปเหมือนอย่างนั้น เพราะว่าตั้งอยู่ได้ไม่นาน เมื่อหนุ่มสาวก็มองดูสวยงาม ครั้นล่วงกาลผ่านวัยไป ร่างกายก็เหี่ยวย่นไปตามลำดับ สุดท้ายก็ต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด รูปกายนี้มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา”

ดูว่า ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ มุ่งปฏิบัติเพื่อการเป็นพระแท้ ใจของท่านจะจดจ่ออยู่กับธรรมะ โดยเอาธรรมชาติรอบตัวนั่นแหละ มาเป็นครูสอนตนเอง เพราะฉะนั้น เมื่อท่านสอนตนเองเสร็จแล้ว ก็เดินทางต่อไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จึงแวะสรงน้ำในแม่น้ำ นั่งที่ใต้ร่มไม้ริมฝั่ง ซึ่งมีกระแสน้ำเชี่ยว ขณะเดียวกันก็มองเห็นฟองน้ำใหญ่ตั้งขึ้น กำลังของน้ำกระทบกันแล้วก็แตกไปเป็นฟอง ท่านได้นำเอาฟองน้ำเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ คิดสอนตัวเองว่า “แม้อัตภาพนี้ ก็มีรูปร่างอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะว่า เกิดขึ้นแล้วก็แตกสลายไป”

พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ทรงเห็นท่านเข้ามาในข่ายพระญาณของพระองค์ จึงตรัสว่า “อย่างนั้นนั่นแหละภิกษุ อัตภาพนี้ก็มีรูปอย่างนั้น มีอันเกิดขึ้นและแตกไปเป็นธรรมดาเหมือนฟองน้ำและพยับแดด” จากนั้นก็ทรงเปล่งพระรัศมีไปปรากฏประหนึ่งว่า ประทับนั่งต่อหน้าของภิกษุนั้น ทรงตรัสสอนว่า “ภิกษุรู้แจ้งกายนี้ว่า มีฟองน้ำเป็นเครื่องเปรียบ รู้ชัดกายนี้ว่า มีพยับแดดเป็นธรรมตัดพวงดอกไม้ของพญามารเสียแล้ว พึงถึงสถานที่ที่มัจจุราชมองไม่เห็น”

เมื่อท่านได้ตรองตามพระธรรมเทศนาไปตามลำดับก็รู้ว่ารูปกายนี้ คือที่ประชุมรวมของธาตุสี่ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นเหมือนฟองน้ำ เพราะไม่ตั้งอยู่นาน ร่างกายนี้ปรากฏอยู่ชั่วขณะ เหมือนพยับแดด แต่ความจริงแล้วมีแต่ความว่างเปล่า หาสาระไม่ได้เลย ท่านพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ที่ปรากฏขึ้นมาในใจอย่างชัดเจน ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาอีกรูปหนึ่ง

เราจะเห็นว่า ผู้ไม่ประมาทในชีวิต ท่านจะอุทิศตนเพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างเดียว ไม่เสียเวลาไปทำเรื่องอื่นเลย การเจริญสมาธิภาวนานี่แหละ จะทำให้ใจบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง สามารถทำลายโซ่ตรวนที่ร้อยรัดสรรพสัตว์เอาไว้ในภพทั้งสาม จะทำให้เราเข้าถึงอิสรเสรีที่แท้จริง ที่รอดพ้นจากภัยทั้งหลาย ทั้งภัยภายในและภัยภายนอก รวมไปถึงภัยในโลกนี้กับภัยในโลกหน้า และภัยในสังสารวัฏ ดังนั้นเราจะต้องหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลา แล้วในไม่ช้า เราก็จะเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานได้เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น: