วันอังคารที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ไม่มีของรักย่อมไม่โศก

ชีวิตของเราเปรียบเสมือนภาชนะดิน มีความเปราะบางยิ่งนัก ไม่รู้ว่าจะแตกสลายไปในวันใด เราถูกความแก่ ความเจ็บและความตาย เผาลนอยู่ตลอดเวลา สังขารร่างกายของเรา มีการเกิดดับอยู่ทุกอนุวินาที แต่เนื่องจากมีความสืบต่อกันเร็วมาก เราจึงไม่รู้ถึงการเกิดดับนั้น ทำให้เกิดความประมาทในวัยและชีวิต ประมาทในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ประมาทในความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีผลทำให้ประมาทในการประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นความไม่เที่ยงของสังขารร่างกายนี้ จึงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เร่งทำความเพียร แสวงหาที่พึ่งที่แท้จริงของชีวิต ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

กามโต ชายตี โสโก กามโต ชายตี ภยํ

กามโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ

ความโศกย่อมเกิดแต่กาม ภัยย่อมเกิดแต่กาม ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากกาม ภัยจากที่ไหนๆ ก็ย่อมไม่มี”

*มก. พราหมณ์คนใดคนหนึ่ง เล่ม ๔๒/๔๐๙

*ความโศก หมายถึง สภาพจิตที่แห้งผาก เหมือนดินแห้ง หรือใบไม้แห้ง หมดความชุ่มชื่น เนื่องจากไม่สมหวังในชีวิต ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้งโรยรา จิตใจซึมเซาไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงานอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงว่า สรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในความทุกข์ ประสบกับความโศกเศร้าร่ำพิไรรำพัน ซึ่งเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากจากของรัก ความผิดหวังเพราะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือความสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะอาศัยกามเป็นเหตุ

ความทะยานอยากในเบญจกามคุณของมนุษย์นั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ อยากเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดเวลา แต่ไม่ได้ตามที่คาดหวัง เพราะสังขารนี้ ล้วนต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา หรือเวลาที่มีทรัพย์แล้ว อยากให้ทรัพย์นั้นเป็นของเราตลอดไป ไม่อยากให้ไปเป็นของคนอื่น แต่สรรพสิ่งล้วนอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา เมื่อของอันเป็นที่รักแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์ใจจึงเกิดขึ้น ความทะยานอยากในกามอันไม่มีที่สิ้นสุดเหล่านี้ จะชักนำทุกข์มาให้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนให้เราดับทุกข์ที่เกิดจากกามทั้งหลาย ด้วยการทำใจให้หยุดให้นิ่งหรือที่เรียกว่า เข้านิโรธ เพื่อหยุดความทะยานอยากเหล่านั้น

คำว่า “นิโรธ” แปลว่า หยุด คือ ต้องทำใจให้หยุดในกลางกายของเรานี่แหละ เมื่อหยุดใจได้ ความอยากทั้งหลายก็จะดับไปเอง พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้” หมายความว่า จะเลิกอยากลาหยอก ต้องออกจากกาม จะออกจากกามได้ ต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของกาม ที่ทำให้ต้องจมปลักอยู่ในสังสารวัฏที่เต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ และเห็นว่าภพสามนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายความกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น จิตจึงหยุดนิ่งเป็นหนึ่ง ดำเนินไปตามศีล สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์หลุดพ้นเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเสร็จกิจได้บรรลุบรมสุขอันเป็นอมตะ ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงพระนิพพาน

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงพราหมณ์คนหนึ่ง ผู้ประสบกับความทุกข์อันใหญ่หลวงเพราะข้าวกล้าเสียหาย ถูกน้ำท่วมพัดพาไปหมด เรื่องมีอยู่ว่า พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง กำลังถางป่าทำนา พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา ขณะเสด็จเข้าไปโปรดชาวเมืองสาวัตถี ได้ทรงแวะตรัสสนทนาว่า “ท่านกำลังทำอะไรอยู่หรือ พราหมณ์” พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์กำลังจะทำไร่ไถนา พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “ดีแล้วพราหมณ์ จงตั้งใจทำงานไปเถิด” จากนั้นก็เสด็จหลีกไป วันต่อมา ได้เสด็จเข้าไปสนทนาอีก และได้เข้าไปสนทนาทุกช่วงที่มีการไถ ก่อคันนา และหว่านข้าว

เมื่อพราหมณ์เห็นพระบรมศาสดาบ่อยเข้า จึงเกิดความเลื่อมใสในพุทธจริยา วันหนึ่ง พราหมณ์ได้ปวารณาว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้เป็นมงคลในการหว่านข้าวของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ โดยมีพระองค์เป็นประธาน หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าข้า” พระศาสดาทรงรับโดยแสดงอาการดุษณีภาพ แล้วเสด็จหลีกไป

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว พราหมณ์ได้วางแผนเก็บเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้น ฝนลูกเห็บได้ตกตลอดทั้งคืน ทำให้ด้านเหนือของแม่น้ำอจิรวดีเอ่อล้น แล้วไหลท่วมนาของพราหมณ์ พัดพาเอาต้นข้าวทั้งหมดไปสู่ท้องทะเล ไม่เหลือแม้แต่เพียงต้นเดียว เมื่อน้ำหลากแห้งลง พราหมณ์ได้มาดูความเสียหายของนาข้าว จึงเสียใจอย่างหนัก เอาแต่นอนทุกข์ระทมอยู่บนเตียง

ใกล้รุ่งวันใหม่ พระบรมศาสดาทรงเห็นพราหมณ์ถูกความเศร้าโศกเสียใจครอบงำ หลังจากทรงเสวยเสร็จและส่งภิกษุสงฆ์กลับวัดพระเชตวันแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปบ้านของพราหมณ์พร้อมกับพระภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะอีกหนึ่งรูป เมื่อพราหมณ์ได้ยินว่าพระบรมศาสดาเสด็จมา จึงคิดว่า “พระพุทธองค์ทรงเป็นมิตรแท้ของเรา คงจะเสด็จมาเยี่ยมเยือนเพื่อให้กำลังใจ” จึงรีบจัดแจงอาสนะต้อนรับ พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ แล้วตรัสถามว่า “พราหมณ์ ทำไมท่านจึงดูเศร้าหมองไปล่ะ ท่านไม่สบายหรือ” พราหมณ์ได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์เคยปวารณาไว้ว่า จะถวายมหาทานหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนต้นข้าวกลับถูกกระแสน้ำพัดพาลงทะเลจนหมดเกลี้ยง ข้าวเปลือกประมาณ ๑๐๐ เกวียน เสียหายหมด ข้าพระองค์จึงทุกข์ใจ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสให้กำลังใจว่า “พราหมณ์ ท่านจะมัวเศร้าโศกเสียใจอยู่ทำไม สิ่งที่สูญเสียไปแล้วจะเอากลับคืนมาได้หรือ ขึ้นชื่อว่าทรัพย์และข้าวเปลือกนี้ ถึงคราวเกิดก็เกิดขึ้นเจริญงอกงาม ถึงคราวเสียหายก็ถูกทำลายเสียหาย สิ่งใดๆ ที่ถึงการปรุงแต่ง จะชื่อว่าไม่มีความเสียหายเป็นธรรมดานั้นไม่มีหรอก ท่านอย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งนั้นเป็นของเราอยู่เลย” พระบรมศาสดาทรงปลอบใจพราหมณ์ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ทรงยกใจของพราหมณ์ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ให้มองเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ซึ่งเป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งว่ามีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าบุคคลเข้าไปสงบระงับดับความพึงพอใจในสังขารเหล่านั้นได้ ความสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้น พราหมณ์ได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ความโศกและความทุกข์จึงดับไป

ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์ เกิดขึ้นในโลกนี้ได้เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี ผู้ใดไม่มีคน สัตว์ และสิ่งของอันเป็นที่รัก ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก เมื่อบุคคลใดปรารถนาความไม่เศร้าโศกอันปราศจากธุลีกิเลส ไม่พึงทำคน สัตว์ สิ่งของ หรือสังขารใดๆ ให้เป็นที่รักเลย

สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และทรงนำมาสั่งสอนนี้ เป็นความรู้อันประเสริฐที่เกิดจากการเห็นด้วยธรรมจักษุ เป็นความรู้ที่คู่กับความสุขและความบริสุทธิ์ ผู้ใดปฏิบัติตาม ย่อมจะได้ความหลุดพ้นเช่นเดียวกันกับที่พระพุทธองค์ได้หลุดพ้นแล้ว ดังนั้น เรามาเกิดในภพชาตินี้ แม้จะอยู่ในกามภพ ซึ่งข้องเกี่ยวกับเรื่องเบญจกามคุณ แต่เราต้องหาทางทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลสกามและวัตถุกามทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ให้มุ่งมั่นสร้างบารมีให้เต็มที่ และแสวงหาหนทางพระนิพพาน ด้วยการฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด คือ พระรัตนตรัยภายในให้ได้กันทุกๆ คน

ไม่มีความคิดเห็น: