วันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตเสื่อมโทรมเพราะใจเสื่อมทราม

บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตทุกระดับ ตั้งแต่ปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า ถ้าเรามีบุญน้อย ความสุขความสำเร็จก็จะมีน้อย ถ้าเรามีบุญปานกลาง ความสุขความสำเร็จก็จะมีปานกลาง และถ้าหากว่าเรามีบุญมาก ความสุขความสำเร็จก็จะมีมากตามไปด้วย หากเราอยากได้บุญที่เป็นมหัคตกุศล ต้องนำใจมาหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยไม่มีข้อแม้ว่าเราต้องทำงาน หรืออ้างว่ายังไม่พร้อม จึงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม นี่เป็นข้ออ้างที่ทำให้เราเป็นผู้มีบุญน้อย เมื่อปรารถนาความสุขความสำเร็จในชีวิต และอยากมีบุญมาก ต้องหมั่นเอาใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นต้นแหล่งแห่งความสำเร็จอย่างแท้จริง

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในอนภิรติชาดก ความว่า

เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมมองไม่เห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ฉันนั้น

เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสสะอาดบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ฉันนั้น”

มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ รูปกายเป็นฐานรองรับใจ ระหว่างร่างกายกับจิตใจ จิตใจถือว่าสำคัญที่สุดเพราะใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ซึ่งคำพูดและการกระทำต่างๆ ก็เป็นกระบวนการต่อเนื่องมาจากความคิดซึ่งเป็นหน้าที่ของใจนั่นเอง จะพูด จะทำในสิ่งที่เป็นกุศล ใจจะต้องเป็นกุศลก่อน คนจะพูดจะทำในสิ่งที่เป็นอกุศลก็เริ่มที่ใจเป็นบาปอกุศลก่อนเช่นกัน เพราะ “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน สำเร็จได้ด้วยใจ”

ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน คนส่วนใหญ่มุ่งพัฒนาแต่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับเรื่องภายนอก ความเป็นคนเก่ง แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจให้เป็นคนดี แม้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสังคมที่เกิดจากจิตใจเสื่อมคุณภาพ กลับนับวันปัญหายิ่งทวีขึ้นไปเรื่อยๆ

เราควรแก้ไขปัญหาสังคมให้ถูกจุด คือแก้ที่จิตใจ โดยการฟื้นฟูจิตใจให้ผ่องใส เริ่มต้นด้วยการฝึกใจให้เป็นสมาธิ คิดพูดและทำในสิ่งที่ดี และงดทำในสิ่งที่ไม่ดี รวมทั้งบาปอกุศลต่างๆ เพื่อไม่ให้จิตใจเศร้าหมอง เพราะความใสหรือหมองของใจ มีความสำคัญต่อชีวิตเราทั้งในภพนี้และภพหน้า โดยเฉพาะเมื่อจะหลับตาลาโลก ความใสหรือหมองของใจเท่านั้น จะเป็นตัวกำหนดภพภูมิที่จะไปเกิด ถ้าใจผ่องใส สุคติก็เป็นที่ไป แต่ถ้าใจหมอง ทุคติก็เป็นที่ไป

พระพุทธศาสนาได้สอนให้มนุษย์รู้ถึงวิธีการทำใจให้ผ่องใส จนสามารถกำจัดกิเลสเข้าสู่พระนิพพานได้ นั่นก็คือการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ยิ่งใจหยุดได้มากเท่าใด ใจก็จะใสมากขึ้นเท่านั้น เมื่อใจใสถึงขั้นได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ก็จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดว่า ชีวิตหลังความตายของเราจะมีสุคติเป็นที่ไป เคยมีเรื่องราวของบุคคลที่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว จนชีวิตที่เคยรุ่งเรืองกลับร่วงโรย ต่อเมื่อได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอดกัลยาณมิตร ชีวิตจึงเปลี่ยนไป เรื่องมีอยู่ว่า

*มก. อนภิรติชาดก เล่ม ๕๗/๑๙๖

*เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ในกรุงสาวัตถีได้มีพราหมณ์กุมารคนหนึ่ง เป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบไตรเพทตั้งแต่ยังเยาว์วัย ได้ทำหน้าที่สอนมนต์แก่พระราชกุมารในราชตระกูล เมื่อพราหมณ์กุมารเจริญวัยขึ้น ได้แต่งงานมีคู่ครอง เนื่องจากการมีชีวิตคู่ทำให้เขาต้องวุ่นวายหลายอย่าง ยังปรับตัวไม่ได้ วันๆ มัวเมาอยู่กับเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ ทาสชายหญิง เรือกสวนไร่นา โคกระบือ บุตรและภรรยา จึงเป็นเหตุให้เขามีจิตใจที่ขุ่นมัว ไม่มีโอกาสได้ทบทวนมนต์ นานวันเข้าจึงสอบทานมนต์ให้ลูกศิษย์ไม่ได้ มนต์ที่เคยทรงจำไม่เคยตกหล่น ก็ค่อยๆ เลือนไปภายในเวลาไม่นาน

ต่อมาวันหนึ่ง เขาเกิดรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือของหอมและดอกไม้หลายอย่างไปวัดพระเชตวัน พระบรมศาสดาทรงทำการปฏิสันถาร ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนมาณพ เธอยังสอนมนต์ให้แก่พระกุมารของเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์กุมารอยู่หรือ และมนต์ที่เธอเคยทรงจำไว้ได้ เธอยังจำได้คล่องแคล่วเหมือนเดิมอยู่หรือ” พราหมณ์หนุ่มได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระบรมศาสดาผู้เป็นนาถะของโลก ตั้งแต่ข้าพระองค์ครองเรือนมีบุตรภรรยา จิตใจของข้าพระองค์ก็ว้าวุ่น ขุ่นมัวไปด้วยเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มนต์ที่เคยทรงจำไว้ได้ ค่อยๆ เลอะเลือนหายไป กลับจำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน”

พระบรมศาสดาตรัสบอกเขาว่า “มาณพ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่มนต์ของเธอเลอะเลือนไป แม้ในกาลก่อน มนต์ที่เธอเคยท่องได้อย่างคล่องแคล่วในเวลาที่จิตไม่ขุ่นมัว เมื่อถึงเวลาที่จิตใจของเธอขุ่นมัวด้วยราคะ โทสะ โมหะ มนต์ของเธอก็ได้เลือนไปเช่นเดียวกัน” พราหมณ์หนุ่มได้ฟังเช่นนั้นจึงทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตของตนให้ฟัง ด้วยพระมหากรุณาพระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตกาล เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เมื่อเจริญวัยได้ไปเรียนมนต์และศิลปวิทยาในเมืองตักกศิลา และได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ทำหน้าที่สอนมนต์ให้แก่ขัตติยกุมาร และพราหมณ์กุมารเป็นอันมากในกรุงพาราณสี

พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งได้เป็นลูกศิษย์และเล่าเรียนมนต์ในสำนักของพระโพธิสัตว์ เขาได้ศึกษาไตรเพทจนชำนาญ ท่องจำมนต์ทุกบทได้ไม่ลืมเลือน เขาจึงได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนมนต์ ต่อมาพราหมณ์หนุ่มได้แต่งงานมีครอบครัว ต้องดูแลครอบครัว ทั้งลูกและภรรยาดูเหมือนว่าจะมีปัญหามาให้เขาแก้อยู่ทุกวัน จนไม่เวลาทบทวนมนต์ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทบทวนมนต์ ก็ไม่มีเวลาเพราะห่วงหน้าพะวงหลัง ทำให้ มนต์ที่เคยเล่าเรียนทรงจำไว้ได้ ค่อยๆ เลอะเลือนหายไป จากที่เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็หลงๆ ลืมๆ เมื่อถูกพระโพธิสัตว์ถามว่า ยังทรงจำมนต์ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิมหรือไม่ ก็ตอบตามสัตย์จริงว่า “ท่านอาจารย์ ตั้งแต่กระผมครองเรือน จิตของกระผมก็มีแต่ความขุ่นมัว มนต์ที่ร่ำเรียนมาได้อย่างคล่องแคล่วเชี่ยวชาญก็เลอะเลือนหายไป”

พระโพธิสัตว์ได้ฟังเช่นนั้น จึงสอนพราหมณ์หนุ่มว่า “เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ฉันนั้น เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสสะอาดบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลย่อมเห็นประโยชน์ของตนของผู้อื่น ฉันนั้น”

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง ทรงประกาศอริยสัจ และประชุมชาดกว่า พราหมณ์หนุ่มในกาลนั้นได้มาเป็นมาณพในกาลนี้ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณ์ก็พิจารณา เห็นโทษของกามซึ่งเป็นเหตุให้ต้องอยู่ครองเรือน พิจารณาอริยสัจสี่ จนมีดวงตาเห็นธรรมได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล

จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า ความเศร้าหมอง หรือความผ่องใสของใจ มีความสำคัญมาก การประกอบธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน ต้องอาศัยใจที่ผ่องใสเป็นพื้นฐาน เพราะเมื่อใจใสแล้ว เวลาจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบสัมมาอาชีวะ ก็จะประกอบด้วยสติและปัญญา ผลลัพธ์ออกมา จึงได้ผลเกินควรเกินคาด โดยเฉพาะชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น มักเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก และมีปัญหาที่ต้องตามแก้อย่างไม่รู้จบสิ้น เพราะคนมีกิเลสไปอยู่กับคนมีกิเลส คนมีปัญหาไปอยู่กับคนมีปัญหา ลูกที่เกิดมาก็มาเพิ่มปัญหา สิ่งที่ตามมาก็คือทำให้เกิดความกลุ้ม ความเครียด จิตใจก็เศร้าหมอง ฉะนั้น เมื่ออยู่ครองเรือนต้องรู้จักหมั่นทำใจให้ผ่องใส ด้วยการสั่งสมบุญ ทั้งทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ให้เศรษฐกิจและจิตใจควบคู่กันไป แล้วชีวิตการครองเรือนจะประสบกับความสุขและความสำเร็จในทุกๆ ด้าน

ไม่มีความคิดเห็น: