วันพฤหัสบดีที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ทางแห่งความเสื่อม

เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างปรารถนาความสุขความเจริญ สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นมงคลเกิดขึ้นแก่ชีวิตของตนด้วยกันทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่าสิ่งที่เป็นมงคล คือ การบำเพ็ญบุญ อันจะเป็นเครื่องสนับสนุน ให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น บุญจากการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของเราทุกคน โดยเฉพาะบุญใสๆที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง เป็นสิ่งที่เราจะต้องสั่งสมให้ได้เป็นประจำทุกวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ว่า

สัตบุรุษผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน เป็นผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นผู้กำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ได้ ย่อมประสบกับนิพพานอันเกษม”

ชีวิตของผู้ครองเรือนจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรทำและควรเว้น เช่น ควรทำบุญให้ทาน อย่าตระหนี่ หรือควรขยันทำการงานอย่าเกียจคร้าน เป็นต้น หลวงพ่อมีธรรมะที่ให้ความกระจ่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการตอบคำถามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อพราหมณ์ท่านหนึ่ง ที่ได้ไปทูลถามพระองค์ แม้จะเป็นคำถามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพราหมณ์เพียงคนเดียว แต่สาระจากพุทธวิสัชนานั้น ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกคนที่ได้รับรู้รับทราบ โดยเฉพาะผู้ที่รักในการฝึกตน เพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางสวรรค์และพระนิพพาน

ในครั้งพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชอบศึกษาหาความรู้ความจริงของชีวิตจากสำนักต่างๆ เมื่อไปถามครูบาอาจารย์สำนักไหน ก็ได้รับคำตอบที่ยังไม่ถูกใจ คือ ฟังแล้วก็ยังไม่กระจ่าง เหมือนในปัจจุบัน ที่มีผู้ถามว่านรกสวรรค์มีจริงไหม ครูบาอาจารย์บางท่านตอบว่าคงมีจริงมั้ง เพราะเห็นตามตำรับตำราเขาว่ากันอย่างนั้น

พราหมณ์ท่านนี้ ก่อนจะเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ เกิดวิตกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามักจะตรัสสอนเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น สงสัยพระองค์จะไม่ทราบในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ จึงอยากจะแก้ความสงสัยของตนเอง เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สงสัยว่า พระพุทธองค์เห็นจะทรงทราบในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวกระมัง ส่วนสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เห็นพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเลย”

พระบรมศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ เราตถาคตย่อมรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ทั้งสองอย่าง ท่านอยากรู้เรื่องอะไร ให้ถามมาเถิด” พราหมณ์กราบทูลว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอพระองค์ได้ตรัสบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระบรมศาสดาตรัสบอกทางแห่งความเสื่อมแก่พราหมณ์ว่า “ถ้าใครก็ตามปฏิบัติตามนี้ ความเสื่อมย่อมมีแก่เขาอย่างแน่นอน คือ บุคคลที่นอนตื่นสาย เกียจคร้านไม่ยอมทำการงาน เห็นแก่นอนชอบเดินทางไกลตามลำพัง และบุคคลที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงปฏิบัติให้ถูกต้อง จงดำรงอยู่ในธรรม และเว้นสิ่งที่กล่าวมานี้เถิด แล้วความหายนะ ความเสื่อมเสียชื่อเสียงจะไม่มีแก่ท่าน”

ทางแห่งความเสื่อมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พราหมณ์นั้น เมื่อนำมาพินิจพิจารณาแล้ว เป็นสิ่งที่เราพึงละเว้น และปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในตัวของเราให้รวดเร็วที่สุด เพื่อจะได้ขจัดนิสัยที่ไม่ดีออกไป แล้วเอาอุปนิสัยที่ดีๆ เข้ามาแทนที่ ชีวิตจะได้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

ทางแห่งความเสื่อมประการแรก คือ การนอนตื่นสาย ในสมัยปู่ย่าตายายของเรา ท่านจะสอนให้ลูกหลานตื่นแต่เช้า มาสวดมนต์ไหว้พระ แล้วให้จัดเตรียมอาหารหวานคาวไว้ตักบาตรพระ จะได้สร้างทานบารมีตั้งแต่เช้า ดวงตะวันขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามเช้าเพื่อให้ความสว่างไสวแก่โลก ฉันใด เราต้องตื่นแต่เช้าเพื่อดำรงตนเป็นผู้ให้ ฉันนั้น บรรพบุรุษของเราจึงมีคำพูดติดปากที่ลูกๆ หลานๆจะได้รับการสั่งสอนสืบต่อกันมาว่า อย่านอนตื่นสาย อย่าหน่ายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน แล้วสมบัติใหญ่จะไหลมาเทมา

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ คือ ความเกียจคร้าน เช่น เกียจคร้านในการเรียนหนังสือ เกียจคร้านในการทำงาน หรือเกียจคร้านในการเจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น คนที่จะเอาดีได้ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ถ้าอาศัยความขยันหมั่นเพียรทั้งนั้น ผู้รู้ทั้งหลายจึงกล่าวสอนเอาไว้ว่า ความเพียรอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ขอให้เพียรพยายามเถิด แม้สติปัญญาไม่ค่อยจะดี แต่ก็สามารถเอาดีได้ เพราะอุปสรรคแพ้คนขยัน แต่มันชนะคนที่ขี้เกียจ แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร” ความขยันหมั่นเพียรเท่านั้น จึงจะสามารถนำพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ คือ การเป็นคนที่มีนิสัยเจ้าโทสะ อารมณ์ร้าย อารมณ์ร้อน บุคคลเหล่านี้มักจะไม่เป็นที่ต้องการของใคร เพราะจะนำแต่เรื่องร้อนใจมาให้ มนุษย์ทุกคนปรารถนาสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุขกายสบายใจ เพราะร่มไม้เย็นหมู่นกกาชอบอาศัย คนที่ใจเย็นใครๆก็อยากจะอยู่ใกล้ เพราะเข้าใกล้แล้วเย็นทั้งกายเย็นทั้งใจ

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ คือ เห็นแก่นอน หมายถึง ผู้ที่ใช้เวลานอนมากเกินปกติ ถ้าเป็นเด็กควรนอนประมาณ ๘ ชั่วโมง หรือผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน ๖ ชั่วโมงต่อวัน บางคนเห็นแก่นอน คือ หลับทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เสียเวลาทำการงาน เสียเวลาสร้างบารมี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า การเห็นแก่นอน เป็นหมันสำหรับผู้ประพฤติธรรม เพราะผู้ประพฤติธรรมต้องเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ คือ การเดินทางไกลตามลำพัง ที่ว่าเป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะเป็นอันตรายต่อตนเองทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากในระหว่างการเดินทาง ภยันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งอันตรายจากโจรหรือคนแปลกหน้า รวมไปถึงอุบัติเหตุเภทภัยต่างๆ การไปไหนมาไหนเป็นหมู่เป็นคณะจะเกิดความอุ่นใจ ไม่ต้องหวาดระแวงภัยต่างๆ มากจนไม่เป็นอันกินอันนอน

ทางแห่งความเสื่อมข้อสุดท้าย ที่ทรงแสดงแก่พราหมณ์ คือ อย่าไปเป็นชู้กับภรรยาหรือสามีของคนอื่น ชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น ความจริงใจต่อกันมีความสำคัญมาก สามีภรรยาต้องจริงใจต่อกัน และไม่ไปล่วงละเมิดในสามีภรรยาของผู้อื่น ถ้าใครไปยุ่งเข้า แสดงว่ากำลังนำความหายนะมาสู่ตนเองและครอบครัว เพราะถือว่าเป็นการประพฤติผิดศีลข้อที่ ๓ คือ กาเมสุมิจฉาจาร เป็นการทำร้ายจิตใจของสามีภรรยาที่รักกัน ทำให้ครอบครัวของเขาต้องแตกแยก

สรุป คือ “นอนตื่นสาย กายเกียจคร้าน สำราญตน เห็นแก่นอน อารมณ์ร้อนเจ้าโทสะ จะไปไหนก็ไปตามลำพัง มุ่งหวังเป็นชู้กับผู้อื่น ชีวิตต้องสะอื้นเพราะหายนะครอบงำ” สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ควรประพฤติปฏิบัติทั้งสิ้น และต้องปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา อย่าให้ทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเรา

พราหมณ์ได้ฟังแล้วรู้สึกชอบใจ เพราะได้ตรองตามแล้ว เห็นดีเห็นงามด้วย จึงได้เปล่งเสียงสาธุการสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นบุคคลผู้เลิศ และประเสริฐที่สุดในโลกอย่างแท้จริง ทรงรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ พร้อมกับทรงแสดงสิ่งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง”

ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความงดงามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ใครได้ยินได้ฟังแล้ว จะบังเกิดความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น ที่เคยสงสัยจะแจ่มแจ้ง และสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งเกิดประโยชน์ใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องฝึกตนให้เป็นผู้หนักในธรรม ฟังธรรมะบทไหนแล้ว อย่าได้ดูเบา ให้รู้จักนำไปขบคิดไตร่ตรอง และลงมือประพฤติปฏิบัติ แล้วเราจะสมหวังในชีวิต ไปทุกภพทุกชาติกันทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: