วันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ยิ่งแสวงหา ยิ่งพบทุกข์

มนุษย์หลายพันล้านคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ จะมีสักกี่คนที่ได้รู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต หรืองานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ เมื่อไม่รู้ ชีวิตจึงตกอยู่ในอันตราย เพราะยังถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรม ทำให้พลั้งพลาดไปสร้างบาปกรรม ผลก็คือต้องไปรับความทุกข์ในอบาย จากเดิมที่ได้กายเป็นมนุษย์ก็กลับกลาย เป็นกายของสัตว์นรก เปรต อสุรกายหรือสัตว์เดรัจฉาน แต่เรานับว่าเป็นผู้ที่โชคดีที่ได้มารู้เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตว่า เกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญและสร้างบารมี ดังนั้น เราควรเร่งทำตามเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ อย่าได้ประมาท ปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะชีวิตเป็นของน้อย อีกไม่นาน ก็ต้องลาจากโลกนี้ไปแล้ว เราจึงควรบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ผู้ให้แสงสว่างแก่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่างานที่แท้จริงก็คือการหยุดใจนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน สามารถขจัดกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก เมื่อเกิดขึ้นจากเหล็กแล้ว ย่อมกัดกินเหล็กนั้น ฉันใด กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำบุคคลผู้มักประพฤติล่วงปัญญาชื่อว่าโธนาแล้วไปสู่ทุคติ ฉันนั้น”

ปกติจิตของมนุษย์ตั้งแต่ดั้งเดิมนั้น มีลักษณะเป็นปภัสสร คือ ใสสว่าง แต่ถูกกิเลสต่างๆ ที่จรเข้ามาทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น การมีปัญญารู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นกับใจเมื่อใด เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะชำระกิเลสนั้นออกไปจากใจได้อย่างไร ปัญญาชนิดนี้ชื่อว่า โธนา

ซึ่งปัญญาที่ชื่อว่าโธนานี้ มีความหมายถึงปัญญาการพิจารณาปัจจัย ๔ ที่ได้มาในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่หลงประมาทเพลิดเพลินมัวเมา หรือนำมาประดับตกแต่งอวดประชันกัน สำหรับพระภิกษุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ตระหนักถึงการใช้ปัจจัยสี่ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่จะใช้เป็นบทฝึกนิสัย หรือขัดเกลากิเลสได้ใกล้ตัวที่สุด และต้องฝึกทุกวัน คือก่อนจะใช้ ขณะใช้ และหลังใช้ ไม่ว่าจะเป็นจีวร บิณฑบาต เสนาสนะที่อยู่อาศัย คิลานเภสัชยารักษาโรค ทรงสอนให้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการใช้สิ่งเหล่านั้น ทรงสอนให้ใช้อย่างพอประมาณเท่าที่จำเป็น เพื่อใจจะได้ไม่โลภ จะได้เป็นใจที่เบาละเอียดอ่อนนุ่มนวล เป็นอุปการะแก่การทำพระนิพพานให้แจ้ง สมดังความตั้งใจในวันบวชว่า “สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย” คือจะขอบวชเพื่อสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์และทำพระนิพพานให้แจ้ง

สำหรับฆราวาส หากไม่มีสติและไม่รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการใช้ปัจจัยสี่ ก็ใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่รู้จักประมาณ และอาจไปแสวงหาทรัพย์ในทางที่ผิด คือผิดทั้งกฎหมาย และศีลธรรม ทำให้ต้องได้รับความทุกข์กายทุกข์ใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ถ้ารู้จักพอก็จะมีชีวิตอยู่แบบพอดี คือ แสวงหาทรัพย์มาเพื่อสร้างบารมี เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้อยู่รอดต่อไปได้ ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เป็นไปเพื่อการสร้างความดี สร้างบุญบารมีเท่านั้น อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นนายของทรัพย์ เรื่องที่นำมายกตัวอย่างก็มีอยู่ว่า

*มก. สตธรรมชาดก เล่ม ๕๗/๑๖๑

*สมัยหนึ่งเมื่อครั้งพุทธกาล มีผู้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มาบวชเป็นพระภิกษุเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นได้มีภิกษุหลายรูปเลี้ยงชีพด้วยอเนสนา คือ การแสวงหาที่ไม่สมควร เช่น ทำตัวเป็นหมอรักษาโรค เป็นทูตคอยส่งข่าว ยอมตนเป็นคนรับใช้ ให้วัตถุสิ่งของต่างๆ แก่ทายก เพื่อให้เขาให้ตอบแทนแก่ตน เป็นต้น

พระบรมศาสดาทรงทราบถึงการเลี้ยงชีพของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงดำริว่า “บัดนี้ ภิกษุเป็นอันมากเลี้ยงชีพด้วยการแสวงหาที่ไม่ควร เมื่อภิกษุเลี้ยงชีพเช่นนี้จักไม่พ้นจากความเป็นยักษ์ เป็นเปรต จักเกิดในกำเนิดของโคเทียมแอก หรือเกิดในนรกเป็นแน่ สมควรที่เราจะกล่าวพระธรรมเทศนาสักข้อหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขของภิกษุเหล่านั้น”

พระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน แล้วทรงตรัสสอนว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสวงหาปัจจัยสี่ ด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ๒๑ ประการ เพราะภัตตาหารที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาอันไม่สมควร เป็นเช่นกับก้อนทองแดงร้อน หรือเปรียบเหมือนยาพิษร้ายแรง เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าต่างติเตียนคัดค้าน เมื่อภิกษุบริโภคภัตตาหารที่ได้มาด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร จะไม่มีความร่าเริงโสมนัสเลย เพราะว่าบิณฑบาตที่แสวงหามาเช่นนี้ เป็นเช่นกับอาหารเดนของคนจัณฑาล การบริโภคบิณฑบาตนั้น ย่อมเป็นเหมือนการบริโภคอาหารที่เป็นเดนของคนจัณฑาล ที่มีชื่อว่าสตธรรมมาณพ” แล้วจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุเหล่านั้นฟังว่า

ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล เมื่อเจริญวัยก็ตระเตรียมเสบียงเพื่อเดินทางไปทำภารกิจนอกบ้าน ครั้งนั้น ในกรุงพาราณสีมีมาณพหนุ่มคนหนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์อาทิจจโคตร มีชื่อว่า สตธรรม เขาได้เดินทางไปทำภารกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ไม่ได้ตระเตรียมเสบียงไว้ในการเดินทาง เมื่อทั้งสองมาพบกันที่ทางใหญ่ มาณพจึงถามพระโพธิสัตว์ ถึงชาติกำเนิด พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า เราเป็นคนจัณฑาล มาณพหนุ่มบอกว่า “เราเป็นพราหมณ์อาทิจจโคตร” หลังจากนั้นทั้งสองจึงได้เดินทางไปด้วยกัน

เมื่อได้เวลาอาหารเช้า พระโพธิสัตว์จึงล้างมือ แกะห่อข้าวแล้วเชื้อเชิญมาณพหนุ่มมากินข้าวด้วยกัน แต่มาณพกลับปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่ถากถางถึงชาติกำเนิดของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ว่าอะไร จัดการแบ่งอาหารออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งห่อด้วยใบไม้และเก็บมัดไว้ จากนั้นก็ลงมือรับประทานส่วนที่เหลือ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ จึงออกเดินทางต่อ พอถึงตอนเย็นได้พากันลงอาบน้ำในสระแห่งหนึ่ง เมื่ออาบน้ำเสร็จ พระโพธสัตว์นำอาหารที่ห่อเก็บไว้เมื่อตอนกลางวันมารับประทานต่อ โดยมิได้เชื้อเชิญมาณพหนุ่มแต่อย่างใด

ฝ่ายมาณพหนุ่มหลังจากเดินทางมาทั้งวันรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและเกิดความหิวโหย ได้แต่มองดูด้วยความหวังว่าพระโพธิสัตว์จะเอ่ยปากชวน เมื่อไม่ได้รับคำชักชวน จึงคิดว่า “เจ้าคนจัณฑาลนี้ กินอยู่คนเดียว ไม่ชวนเรากินบ้างเลย เราจะแย่งอาหาร ทิ้งส่วนข้างบน ที่เหลือเราจะกินประทังชีวิต”

คิดแล้ว ก็แย่งอาหารจากพระโพธิสัตว์มากินจนหมด พออิ่มแล้วเกิดความร้อนใจว่า “บัดนี้เราได้กินอาหารอันเป็นเดน เป็นอาหารเหลือจากคนจัณฑาล เราทำกรรมอันไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของเราเสียแล้ว” ขณะนั้นนั่นเองก็กระอักเลือด พุ่งออกจากปากปนกับอาหาร เขาได้ครํ่าครวญด้วยความเศร้าโศกเสียใจว่า “เราทำกรรมอันไม่สมควร เพราะเห็นแก่อาหารเพียงเล็กน้อย อันเป็นเดนของคนจัณฑาล อาหารนี้เขาก็ไม่ได้ให้กับเรา เราไปแย่งเขามา เราเป็นชาติพราหมณ์อันบริสุทธิ์ เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไมอีก” แล้วจึงเข้าไปตายอยู่ในป่าอย่างอนาถ

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องในอดีตนี้แล้วทรงตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย สตธรรมมาณพบริโภคอาหารอันเป็นเดนของคนจัณฑาล ซึ่งเป็นการบริโภคที่ไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของตน จึงเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ฉันใด ผู้ใดบวชแล้วในศาสนานี้ก็ฉันนั้น หากสำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ก็จะเกิดความร้อนใจในภายหลัง เพราะเขามีชีวิตอยู่อย่างน่าตำหนิ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ก็ทรงติเตียน ภิกษุใดละทิ้งธรรม หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้รับความสุขจากลาภที่ตนได้”

จะเห็นได้ว่า การบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ต้องให้เหมาะสม ต้องได้มาด้วยความชอบธรรม ในการใช้ทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าใช้อย่างประมาณและถูกวัตถุประสงค์ ก็จะไม่เดือดร้อนใจในภายหลังของทุกอย่างในโลกนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยสร้างบารมีเท่านั้น ปัจจัย ๔ มีไว้เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้ และเพื่อสร้างความดี ดังนั้น เมื่อเราได้ทรัพย์ที่แสวงหามาโดยชอบแล้ว ต้องใช้ทรัพย์ให้เป็น ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนากันให้เต็มที่ เพื่อเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายโดยเร็วพลันกันทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: