วันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตเสื่อมโทรมเพราะใจเสื่อมทราม

บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตทุกระดับ ตั้งแต่ปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า ถ้าเรามีบุญน้อย ความสุขความสำเร็จก็จะมีน้อย ถ้าเรามีบุญปานกลาง ความสุขความสำเร็จก็จะมีปานกลาง และถ้าหากว่าเรามีบุญมาก ความสุขความสำเร็จก็จะมีมากตามไปด้วย หากเราอยากได้บุญที่เป็นมหัคตกุศล ต้องนำใจมาหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยไม่มีข้อแม้ว่าเราต้องทำงาน หรืออ้างว่ายังไม่พร้อม จึงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม นี่เป็นข้ออ้างที่ทำให้เราเป็นผู้มีบุญน้อย เมื่อปรารถนาความสุขความสำเร็จในชีวิต และอยากมีบุญมาก ต้องหมั่นเอาใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นต้นแหล่งแห่งความสำเร็จอย่างแท้จริง

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในอนภิรติชาดก ความว่า

เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมมองไม่เห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ฉันนั้น

เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสสะอาดบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ฉันนั้น”

มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ รูปกายเป็นฐานรองรับใจ ระหว่างร่างกายกับจิตใจ จิตใจถือว่าสำคัญที่สุดเพราะใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ซึ่งคำพูดและการกระทำต่างๆ ก็เป็นกระบวนการต่อเนื่องมาจากความคิดซึ่งเป็นหน้าที่ของใจนั่นเอง จะพูด จะทำในสิ่งที่เป็นกุศล ใจจะต้องเป็นกุศลก่อน คนจะพูดจะทำในสิ่งที่เป็นอกุศลก็เริ่มที่ใจเป็นบาปอกุศลก่อนเช่นกัน เพราะ “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน สำเร็จได้ด้วยใจ”

ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน คนส่วนใหญ่มุ่งพัฒนาแต่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับเรื่องภายนอก ความเป็นคนเก่ง แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจให้เป็นคนดี แม้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสังคมที่เกิดจากจิตใจเสื่อมคุณภาพ กลับนับวันปัญหายิ่งทวีขึ้นไปเรื่อยๆ

เราควรแก้ไขปัญหาสังคมให้ถูกจุด คือแก้ที่จิตใจ โดยการฟื้นฟูจิตใจให้ผ่องใส เริ่มต้นด้วยการฝึกใจให้เป็นสมาธิ คิดพูดและทำในสิ่งที่ดี และงดทำในสิ่งที่ไม่ดี รวมทั้งบาปอกุศลต่างๆ เพื่อไม่ให้จิตใจเศร้าหมอง เพราะความใสหรือหมองของใจ มีความสำคัญต่อชีวิตเราทั้งในภพนี้และภพหน้า โดยเฉพาะเมื่อจะหลับตาลาโลก ความใสหรือหมองของใจเท่านั้น จะเป็นตัวกำหนดภพภูมิที่จะไปเกิด ถ้าใจผ่องใส สุคติก็เป็นที่ไป แต่ถ้าใจหมอง ทุคติก็เป็นที่ไป

พระพุทธศาสนาได้สอนให้มนุษย์รู้ถึงวิธีการทำใจให้ผ่องใส จนสามารถกำจัดกิเลสเข้าสู่พระนิพพานได้ นั่นก็คือการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ยิ่งใจหยุดได้มากเท่าใด ใจก็จะใสมากขึ้นเท่านั้น เมื่อใจใสถึงขั้นได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ก็จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดว่า ชีวิตหลังความตายของเราจะมีสุคติเป็นที่ไป เคยมีเรื่องราวของบุคคลที่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว จนชีวิตที่เคยรุ่งเรืองกลับร่วงโรย ต่อเมื่อได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอดกัลยาณมิตร ชีวิตจึงเปลี่ยนไป เรื่องมีอยู่ว่า

*มก. อนภิรติชาดก เล่ม ๕๗/๑๙๖

*เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ในกรุงสาวัตถีได้มีพราหมณ์กุมารคนหนึ่ง เป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบไตรเพทตั้งแต่ยังเยาว์วัย ได้ทำหน้าที่สอนมนต์แก่พระราชกุมารในราชตระกูล เมื่อพราหมณ์กุมารเจริญวัยขึ้น ได้แต่งงานมีคู่ครอง เนื่องจากการมีชีวิตคู่ทำให้เขาต้องวุ่นวายหลายอย่าง ยังปรับตัวไม่ได้ วันๆ มัวเมาอยู่กับเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ ทาสชายหญิง เรือกสวนไร่นา โคกระบือ บุตรและภรรยา จึงเป็นเหตุให้เขามีจิตใจที่ขุ่นมัว ไม่มีโอกาสได้ทบทวนมนต์ นานวันเข้าจึงสอบทานมนต์ให้ลูกศิษย์ไม่ได้ มนต์ที่เคยทรงจำไม่เคยตกหล่น ก็ค่อยๆ เลือนไปภายในเวลาไม่นาน

ต่อมาวันหนึ่ง เขาเกิดรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือของหอมและดอกไม้หลายอย่างไปวัดพระเชตวัน พระบรมศาสดาทรงทำการปฏิสันถาร ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนมาณพ เธอยังสอนมนต์ให้แก่พระกุมารของเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์กุมารอยู่หรือ และมนต์ที่เธอเคยทรงจำไว้ได้ เธอยังจำได้คล่องแคล่วเหมือนเดิมอยู่หรือ” พราหมณ์หนุ่มได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระบรมศาสดาผู้เป็นนาถะของโลก ตั้งแต่ข้าพระองค์ครองเรือนมีบุตรภรรยา จิตใจของข้าพระองค์ก็ว้าวุ่น ขุ่นมัวไปด้วยเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มนต์ที่เคยทรงจำไว้ได้ ค่อยๆ เลอะเลือนหายไป กลับจำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน”

พระบรมศาสดาตรัสบอกเขาว่า “มาณพ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่มนต์ของเธอเลอะเลือนไป แม้ในกาลก่อน มนต์ที่เธอเคยท่องได้อย่างคล่องแคล่วในเวลาที่จิตไม่ขุ่นมัว เมื่อถึงเวลาที่จิตใจของเธอขุ่นมัวด้วยราคะ โทสะ โมหะ มนต์ของเธอก็ได้เลือนไปเช่นเดียวกัน” พราหมณ์หนุ่มได้ฟังเช่นนั้นจึงทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตของตนให้ฟัง ด้วยพระมหากรุณาพระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตกาล เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เมื่อเจริญวัยได้ไปเรียนมนต์และศิลปวิทยาในเมืองตักกศิลา และได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ทำหน้าที่สอนมนต์ให้แก่ขัตติยกุมาร และพราหมณ์กุมารเป็นอันมากในกรุงพาราณสี

พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งได้เป็นลูกศิษย์และเล่าเรียนมนต์ในสำนักของพระโพธิสัตว์ เขาได้ศึกษาไตรเพทจนชำนาญ ท่องจำมนต์ทุกบทได้ไม่ลืมเลือน เขาจึงได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนมนต์ ต่อมาพราหมณ์หนุ่มได้แต่งงานมีครอบครัว ต้องดูแลครอบครัว ทั้งลูกและภรรยาดูเหมือนว่าจะมีปัญหามาให้เขาแก้อยู่ทุกวัน จนไม่เวลาทบทวนมนต์ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทบทวนมนต์ ก็ไม่มีเวลาเพราะห่วงหน้าพะวงหลัง ทำให้ มนต์ที่เคยเล่าเรียนทรงจำไว้ได้ ค่อยๆ เลอะเลือนหายไป จากที่เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็หลงๆ ลืมๆ เมื่อถูกพระโพธิสัตว์ถามว่า ยังทรงจำมนต์ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิมหรือไม่ ก็ตอบตามสัตย์จริงว่า “ท่านอาจารย์ ตั้งแต่กระผมครองเรือน จิตของกระผมก็มีแต่ความขุ่นมัว มนต์ที่ร่ำเรียนมาได้อย่างคล่องแคล่วเชี่ยวชาญก็เลอะเลือนหายไป”

พระโพธิสัตว์ได้ฟังเช่นนั้น จึงสอนพราหมณ์หนุ่มว่า “เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ฉันนั้น เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสสะอาดบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลย่อมเห็นประโยชน์ของตนของผู้อื่น ฉันนั้น”

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง ทรงประกาศอริยสัจ และประชุมชาดกว่า พราหมณ์หนุ่มในกาลนั้นได้มาเป็นมาณพในกาลนี้ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณ์ก็พิจารณา เห็นโทษของกามซึ่งเป็นเหตุให้ต้องอยู่ครองเรือน พิจารณาอริยสัจสี่ จนมีดวงตาเห็นธรรมได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล

จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า ความเศร้าหมอง หรือความผ่องใสของใจ มีความสำคัญมาก การประกอบธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน ต้องอาศัยใจที่ผ่องใสเป็นพื้นฐาน เพราะเมื่อใจใสแล้ว เวลาจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบสัมมาอาชีวะ ก็จะประกอบด้วยสติและปัญญา ผลลัพธ์ออกมา จึงได้ผลเกินควรเกินคาด โดยเฉพาะชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น มักเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก และมีปัญหาที่ต้องตามแก้อย่างไม่รู้จบสิ้น เพราะคนมีกิเลสไปอยู่กับคนมีกิเลส คนมีปัญหาไปอยู่กับคนมีปัญหา ลูกที่เกิดมาก็มาเพิ่มปัญหา สิ่งที่ตามมาก็คือทำให้เกิดความกลุ้ม ความเครียด จิตใจก็เศร้าหมอง ฉะนั้น เมื่ออยู่ครองเรือนต้องรู้จักหมั่นทำใจให้ผ่องใส ด้วยการสั่งสมบุญ ทั้งทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ให้เศรษฐกิจและจิตใจควบคู่กันไป แล้วชีวิตการครองเรือนจะประสบกับความสุขและความสำเร็จในทุกๆ ด้าน

ยิ่งแสวงหา ยิ่งพบทุกข์

มนุษย์หลายพันล้านคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ จะมีสักกี่คนที่ได้รู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต หรืองานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ เมื่อไม่รู้ ชีวิตจึงตกอยู่ในอันตราย เพราะยังถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรม ทำให้พลั้งพลาดไปสร้างบาปกรรม ผลก็คือต้องไปรับความทุกข์ในอบาย จากเดิมที่ได้กายเป็นมนุษย์ก็กลับกลาย เป็นกายของสัตว์นรก เปรต อสุรกายหรือสัตว์เดรัจฉาน แต่เรานับว่าเป็นผู้ที่โชคดีที่ได้มารู้เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตว่า เกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญและสร้างบารมี ดังนั้น เราควรเร่งทำตามเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ อย่าได้ประมาท ปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะชีวิตเป็นของน้อย อีกไม่นาน ก็ต้องลาจากโลกนี้ไปแล้ว เราจึงควรบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ผู้ให้แสงสว่างแก่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่างานที่แท้จริงก็คือการหยุดใจนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน สามารถขจัดกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก เมื่อเกิดขึ้นจากเหล็กแล้ว ย่อมกัดกินเหล็กนั้น ฉันใด กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำบุคคลผู้มักประพฤติล่วงปัญญาชื่อว่าโธนาแล้วไปสู่ทุคติ ฉันนั้น”

ปกติจิตของมนุษย์ตั้งแต่ดั้งเดิมนั้น มีลักษณะเป็นปภัสสร คือ ใสสว่าง แต่ถูกกิเลสต่างๆ ที่จรเข้ามาทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น การมีปัญญารู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นกับใจเมื่อใด เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะชำระกิเลสนั้นออกไปจากใจได้อย่างไร ปัญญาชนิดนี้ชื่อว่า โธนา

ซึ่งปัญญาที่ชื่อว่าโธนานี้ มีความหมายถึงปัญญาการพิจารณาปัจจัย ๔ ที่ได้มาในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่หลงประมาทเพลิดเพลินมัวเมา หรือนำมาประดับตกแต่งอวดประชันกัน สำหรับพระภิกษุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ตระหนักถึงการใช้ปัจจัยสี่ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่จะใช้เป็นบทฝึกนิสัย หรือขัดเกลากิเลสได้ใกล้ตัวที่สุด และต้องฝึกทุกวัน คือก่อนจะใช้ ขณะใช้ และหลังใช้ ไม่ว่าจะเป็นจีวร บิณฑบาต เสนาสนะที่อยู่อาศัย คิลานเภสัชยารักษาโรค ทรงสอนให้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการใช้สิ่งเหล่านั้น ทรงสอนให้ใช้อย่างพอประมาณเท่าที่จำเป็น เพื่อใจจะได้ไม่โลภ จะได้เป็นใจที่เบาละเอียดอ่อนนุ่มนวล เป็นอุปการะแก่การทำพระนิพพานให้แจ้ง สมดังความตั้งใจในวันบวชว่า “สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย” คือจะขอบวชเพื่อสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์และทำพระนิพพานให้แจ้ง

สำหรับฆราวาส หากไม่มีสติและไม่รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการใช้ปัจจัยสี่ ก็ใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่รู้จักประมาณ และอาจไปแสวงหาทรัพย์ในทางที่ผิด คือผิดทั้งกฎหมาย และศีลธรรม ทำให้ต้องได้รับความทุกข์กายทุกข์ใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ถ้ารู้จักพอก็จะมีชีวิตอยู่แบบพอดี คือ แสวงหาทรัพย์มาเพื่อสร้างบารมี เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้อยู่รอดต่อไปได้ ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เป็นไปเพื่อการสร้างความดี สร้างบุญบารมีเท่านั้น อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นนายของทรัพย์ เรื่องที่นำมายกตัวอย่างก็มีอยู่ว่า

*มก. สตธรรมชาดก เล่ม ๕๗/๑๖๑

*สมัยหนึ่งเมื่อครั้งพุทธกาล มีผู้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มาบวชเป็นพระภิกษุเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นได้มีภิกษุหลายรูปเลี้ยงชีพด้วยอเนสนา คือ การแสวงหาที่ไม่สมควร เช่น ทำตัวเป็นหมอรักษาโรค เป็นทูตคอยส่งข่าว ยอมตนเป็นคนรับใช้ ให้วัตถุสิ่งของต่างๆ แก่ทายก เพื่อให้เขาให้ตอบแทนแก่ตน เป็นต้น

พระบรมศาสดาทรงทราบถึงการเลี้ยงชีพของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงดำริว่า “บัดนี้ ภิกษุเป็นอันมากเลี้ยงชีพด้วยการแสวงหาที่ไม่ควร เมื่อภิกษุเลี้ยงชีพเช่นนี้จักไม่พ้นจากความเป็นยักษ์ เป็นเปรต จักเกิดในกำเนิดของโคเทียมแอก หรือเกิดในนรกเป็นแน่ สมควรที่เราจะกล่าวพระธรรมเทศนาสักข้อหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขของภิกษุเหล่านั้น”

พระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน แล้วทรงตรัสสอนว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสวงหาปัจจัยสี่ ด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ๒๑ ประการ เพราะภัตตาหารที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาอันไม่สมควร เป็นเช่นกับก้อนทองแดงร้อน หรือเปรียบเหมือนยาพิษร้ายแรง เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าต่างติเตียนคัดค้าน เมื่อภิกษุบริโภคภัตตาหารที่ได้มาด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร จะไม่มีความร่าเริงโสมนัสเลย เพราะว่าบิณฑบาตที่แสวงหามาเช่นนี้ เป็นเช่นกับอาหารเดนของคนจัณฑาล การบริโภคบิณฑบาตนั้น ย่อมเป็นเหมือนการบริโภคอาหารที่เป็นเดนของคนจัณฑาล ที่มีชื่อว่าสตธรรมมาณพ” แล้วจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุเหล่านั้นฟังว่า

ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล เมื่อเจริญวัยก็ตระเตรียมเสบียงเพื่อเดินทางไปทำภารกิจนอกบ้าน ครั้งนั้น ในกรุงพาราณสีมีมาณพหนุ่มคนหนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์อาทิจจโคตร มีชื่อว่า สตธรรม เขาได้เดินทางไปทำภารกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ไม่ได้ตระเตรียมเสบียงไว้ในการเดินทาง เมื่อทั้งสองมาพบกันที่ทางใหญ่ มาณพจึงถามพระโพธิสัตว์ ถึงชาติกำเนิด พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า เราเป็นคนจัณฑาล มาณพหนุ่มบอกว่า “เราเป็นพราหมณ์อาทิจจโคตร” หลังจากนั้นทั้งสองจึงได้เดินทางไปด้วยกัน

เมื่อได้เวลาอาหารเช้า พระโพธิสัตว์จึงล้างมือ แกะห่อข้าวแล้วเชื้อเชิญมาณพหนุ่มมากินข้าวด้วยกัน แต่มาณพกลับปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่ถากถางถึงชาติกำเนิดของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ว่าอะไร จัดการแบ่งอาหารออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งห่อด้วยใบไม้และเก็บมัดไว้ จากนั้นก็ลงมือรับประทานส่วนที่เหลือ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ จึงออกเดินทางต่อ พอถึงตอนเย็นได้พากันลงอาบน้ำในสระแห่งหนึ่ง เมื่ออาบน้ำเสร็จ พระโพธสัตว์นำอาหารที่ห่อเก็บไว้เมื่อตอนกลางวันมารับประทานต่อ โดยมิได้เชื้อเชิญมาณพหนุ่มแต่อย่างใด

ฝ่ายมาณพหนุ่มหลังจากเดินทางมาทั้งวันรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและเกิดความหิวโหย ได้แต่มองดูด้วยความหวังว่าพระโพธิสัตว์จะเอ่ยปากชวน เมื่อไม่ได้รับคำชักชวน จึงคิดว่า “เจ้าคนจัณฑาลนี้ กินอยู่คนเดียว ไม่ชวนเรากินบ้างเลย เราจะแย่งอาหาร ทิ้งส่วนข้างบน ที่เหลือเราจะกินประทังชีวิต”

คิดแล้ว ก็แย่งอาหารจากพระโพธิสัตว์มากินจนหมด พออิ่มแล้วเกิดความร้อนใจว่า “บัดนี้เราได้กินอาหารอันเป็นเดน เป็นอาหารเหลือจากคนจัณฑาล เราทำกรรมอันไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของเราเสียแล้ว” ขณะนั้นนั่นเองก็กระอักเลือด พุ่งออกจากปากปนกับอาหาร เขาได้ครํ่าครวญด้วยความเศร้าโศกเสียใจว่า “เราทำกรรมอันไม่สมควร เพราะเห็นแก่อาหารเพียงเล็กน้อย อันเป็นเดนของคนจัณฑาล อาหารนี้เขาก็ไม่ได้ให้กับเรา เราไปแย่งเขามา เราเป็นชาติพราหมณ์อันบริสุทธิ์ เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไมอีก” แล้วจึงเข้าไปตายอยู่ในป่าอย่างอนาถ

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องในอดีตนี้แล้วทรงตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย สตธรรมมาณพบริโภคอาหารอันเป็นเดนของคนจัณฑาล ซึ่งเป็นการบริโภคที่ไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของตน จึงเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ฉันใด ผู้ใดบวชแล้วในศาสนานี้ก็ฉันนั้น หากสำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ก็จะเกิดความร้อนใจในภายหลัง เพราะเขามีชีวิตอยู่อย่างน่าตำหนิ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ก็ทรงติเตียน ภิกษุใดละทิ้งธรรม หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้รับความสุขจากลาภที่ตนได้”

จะเห็นได้ว่า การบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ต้องให้เหมาะสม ต้องได้มาด้วยความชอบธรรม ในการใช้ทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าใช้อย่างประมาณและถูกวัตถุประสงค์ ก็จะไม่เดือดร้อนใจในภายหลังของทุกอย่างในโลกนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยสร้างบารมีเท่านั้น ปัจจัย ๔ มีไว้เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้ และเพื่อสร้างความดี ดังนั้น เมื่อเราได้ทรัพย์ที่แสวงหามาโดยชอบแล้ว ต้องใช้ทรัพย์ให้เป็น ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนากันให้เต็มที่ เพื่อเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายโดยเร็วพลันกันทุกคน

วันศุกร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

สิ่งที่ไร้ผลและไม่ไร้ผล

บนเส้นทางชีวิต ทุกชีวิตต้องพบกับอุปสรรคและปัญหาหลากหลายรูปแบบ แต่ปัญหาในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ ล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคตามสมัยเท่านั้น สิ่งที่น่าพิจารณา คือ วิธีการมองปัญหา บางคนเห็นปัญหาแล้วกลุ้มใจ ทุกข์ใจ บางคนเห็นแล้ววางเฉย และยังสามารถปรับปรุงสถานการณ์นั้นให้กลับดีขึ้นมาได้ ผู้ที่มีความคิดดีจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆมากมายขึ้นมาบนโลกใบนี้ ดังนั้นในยามที่เราประสบกับปัญหา อย่าตกใจ ให้หลับตา พักใจ ทำใจให้หยุดนิ่งไว้ในกลางกาย เมื่อใจสงบเราจะพบกับทางออกและช่องทางแห่งความสำเร็จ

มีพระพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ใน ปฐมปัณณาสก์ ว่า

ภูมิของอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญู อกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญู อกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมสรรเสริญ แต่สัตบุรุษไม่สรรเสริญ”

คนที่มีคุณธรรมพื้นฐาน คือ ความกตัญญูกตเวที จะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ประสบแต่ความสุขความเจริญก้าวหน้า ส่วนคนที่ไม่รู้คุณคน แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่ตอบแทนคุณท่าน ลบหลู่คุณท่าน ถือว่าขาดความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลนั้นเป็นอสัตบุรุษ ที่ไม่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะการสมาคมด้วยย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เลือกคบกับสัตบุรุษ เพราะจะทำให้ชีวิตของเรามีแต่ความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป การคบกับสัตบุรุษจะไม่มีวันไร้ค่า เหมือนพระอานนท์ได้อยู่ใกล้ชิดกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ท่านได้ฟังธรรมและทรงจำธรรมะได้มากเป็นพิเศษกว่าภิกษุรูปอื่น

*มก. ปลาสชาดก เล่ม ๕๘/๔๑๙

*ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปรดประทานพระธรรมเทศนา ในเวลาที่ทรงบรรทมอยู่บนพระแท่นเป็นที่ปรินิพพาน ทรงปรารภความเศร้าโศกของพระอานนท์ เพราะได้ทราบว่า พระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานในที่สุดแห่งราตรีนั้น

พระอานนท์ท่านคำนึงถึงตัวเองว่า ตัวเราเป็นเสขบุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ ไม่ได้สำเร็จกรณียกิจอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ในขณะที่เรายังไม่ได้บรรลุพระอรหัตผล พระบรมศาสดาก็จะมาดับขันธปรินิพพาน การที่สู้อุตส่าห์ดูแลอุปัฏฐากพระพุทธองค์มาถึง ๒๕ พรรษา จะเป็นการไร้ค่าหรือไม่

เมื่อท่านคำนึงเช่นนี้ ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ที่ตนเองยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อีกทั้งยมีความอาลัยรัก และเคารพเทิดทูนต่อพระพุทธองค์อย่างสุดซึ้ง ไม่อยากให้พระพุทธองค์จากไป ดังนั้นท่านไม่สามารถอดกลั้นความรู้สึกเอาไว้ได้ จึงร้องไห้ และปลีกตัวออกจากหมู่คณะมาอยู่ตามลำพัง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบถึงความปริวิตกของพระอานนท์ จึงทรงรับสั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งไปตามมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสปลอบใจว่า “ดูก่อนอานนท์ เธอได้บำรุงอุปัฏฐากเรา ได้ชื่อว่าบำเพ็ญมหากุศลเป็นอันมาก ผลบุญนั้นไม่ไร้ผล ขอเธอจงมีวิริยะอุตสาหะในการบำเพ็ญเพียรต่อไปเถิด ในไม่ช้า เธอจะบรรลุพระอรหัตผล และกระทำให้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ การที่เธอสู้ทนปฏิบัติเรามาตลอดระยะเวลา ๒๕ พรรษา จักไม่ไร้ค่าอย่างแน่นอน แม้ในกาลก่อน เธอได้ปฏิบัติบำรุงเราผู้ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังไม่ไร้ค่า ไฉนในบัดนี้การกระทำของเธอจักไร้ค่าเล่า”

พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ในอดีตกาล ชาวเมืองพาราณสีนิยมการนับถือบูชาเทวดา ในครั้งนั้นพระอานนท์ได้เกิดเป็นพราหมณ์ผู้ยากไร้ มีความศรัทธา ความเพียรในการแผ้วถางใต้โคนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เพราะท่านเชื่อว่าต้นไม้นั้นมีเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่อาศัยอยู่ ท่านจึงหมั่นไปถอนหญ้า ทำพื้นที่บริเวณนั้นให้สะอาดราบเรียบ โปรยทรายที่บริเวณใต้ต้นไม้นั้น บูชาด้วยของหอม ดอกไม้ธูปเทียน และจุดประทีปโคมไฟ ก่อนกลับบ้านจะถามที่ต้นไม้นั้นว่า “ท่านนอนหลับเป็นสุขสบายดีหรือ” แล้วก็เดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบ พราหมณ์ได้ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน

ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นรุกขเทวาผู้มีศักดิ์ใหญ่ อาศัยอยู่ในวิมานที่ต้นไม้นั้น เห็นการกระทำของพราหมณ์อยู่เป็นประจำ จึงคิดว่า “พราหมณ์หนุ่มผู้นี้ปฏิบัติต่อเราเป็นอย่างดี เราควรตอบแทนเขาอย่างเหมาะสม แต่เราควรถามถึงความประสงค์ของเขาดูก่อนว่า เขาต้องการอะไร”

วันต่อมา พราหมณ์ได้ไปปฏิบัติที่บริเวณใต้ต้นไม้นั้นเหมือนเดิม รุกขเทวาจึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์เฒ่า ทำทีเป็นเดินผ่านมาแถวนั้น แล้วมาหยุดดูการปฏิบัติบำรุงของพราหมณ์หนุ่ม และได้ไต่ถามว่า “ท่านพราหมณ์ รู้อยู่ว่าต้นไม้นี้ไม่มีวิญญาณครอง เหตุไฉนท่านจึงมาบำรุงดูแลรักษาต้นไม้นี้อย่างดี แล้วยังถามถึงสารทุกข์สุขดิบของต้นไม้อีกด้วย ท่านทำอย่างนี้ไปทำไม”

พราหมณ์หนุ่มตอบว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าต้นไม้นี้ไม่มีวิญญาณครอง แต่ต้นไม้ต้นนี้มีสง่าราศีกว่าต้นอื่นๆ เห็นทีจะเป็นพิมานสถานที่สิงสถิตของเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงนมัสการต้นไม้นี้ เพราะปรารถนาจะได้ความมีสิริมงคล” พราหมณ์เฒ่าได้ฟังเช่นนั้นรู้สึกพอใจ จึงกลับร่างเป็นรุกขเทวายืนอยู่ในอากาศ แล้วกล่าวว่า “เรานี่แหละ คือ เทพผู้สิงสถิตอยู่ที่นี่ เราเป็นผู้รู้อุปการคุณของผู้อื่น เราจะไม่ให้การกระทำของท่านที่มีต่อเราต้องสูญเปล่าไปหรอก”

เทวดาจึงนำเอาทรัพย์ที่ฝังอยู่ใกล้บริเวณนั้นมาด้วยเทวฤทธิ์ มอบให้กับพราหมณ์หนุ่ม และกล่าวสอนว่า “จงใช้ทรัพย์นี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการบำรุงบิดามารดา เลี้ยงดูครอบครัว และนำไปบริจาคให้ทาน เพื่อเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้า และให้รักษาศีล หมั่นประพฤติธรรมไปจนกระทั่งหมดอายุขัย แล้วชีวิตจะพบกับความสุขสวัสดีมีชัยตลอดไป” แล้วรุกขเทวาก็อันตรธานหายไป

ส่วนตัวอย่างของการกระทำที่ไร้ผลนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงยกเอาเรื่องของพระเทวทัตมาเป็นตัวอย่าง ดังเช่นในพระชาติที่พระพุทธองค์ทรงเกิดเป็นพญานกหัวขวาน พระเทวทัตเกิดเป็นราชสีห์ ครั้งนั้นราชสีห์ได้กินสัตว์ที่ล่ามา แล้วเผอิญว่าเศษกระดูกติดคอราชสีห์ ทำให้มันได้รับทุกข์ทรมานอย่างน่าเวทนา พญานกหัวขวานเห็นดังนั้นเกิดความสงสาร จึงอาสาจะเอากระดูกที่ติดคอออกให้ โดยให้ราชสีห์อ้าปากเอาไม้ค้ำไว้ แล้วมุดเข้าไปจิกปลายกระดูกให้เลื่อนออก พอเสร็จแล้วก็เคาะท่อนไม้ที่ค้ำอยู่ให้หลุดออก ทำให้ราชสีห์หายเจ็บปวด

วันต่อมา พญานกหัวขวานคิดจะลองใจราชสีห์ จึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเคยช่วยเหลือท่าน ในยามที่ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แล้วท่านจะตอบแทนข้าพเจ้าอย่างไร” ราชสีห์รีบตอบทันทีว่า “อย่ามาพูดเลย เจ้าเข้าไปกินเลือดในปากของเรา แล้วยังมีหน้ามาพูดว่าจะให้เราตอบแทนอะไรอีก” เมื่อพญานกได้ฟังเช่นนั้น จึงกล่าวติเตียนว่า “ผู้ไม่รู้จักคุณของผู้อื่น ไม่รู้จักตอบแทนคุณ นับว่าเป็นอสัตบุรุษ การคบกับบุคคลเช่นนั้นย่อมไร้ค่า ผู้ใดได้ทำบุญคุณไว้กับผู้อื่น เมื่อไม่ได้รับมิตตธรรมอันดี พึงอย่าสมาคมกับผู้นั้นเลย” จากนั้นพญานกก็บินจากไป

จากตัวอย่างทั้งสองเรื่อง เราจะเห็นถึงการช่วยเหลือที่ไร้ค่าและไม่ไร้ค่า ถ้าเราไปช่วยเหลือ อสัตบุรุษหรือคนพาลย่อมเสียเวลาเปล่า เพราะคนพาลย่อมไม่รู้คุณคน และย่อมนำแต่ความเดือดร้อนมาให้ ถ้าเราส่งเสริมสนับสนุนบัณฑิต คุณูปการอันยิ่งใหญ่ย่อมจะบังเกิดขึ้น และยังเป็นทางมาแห่งบุญกุศลใหญ่อีกด้วย ดังนั้นก่อนช่วยเหลือใคร ควรพิจารณาใคร่ครวญให้ดีก่อนว่า ควรสงเคราะห์มากน้อยเพียงใดและอย่างไร เพื่อให้ถูกต้องเหมาะสม และจะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ขาดความกตัญญู

การศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติธรรม จะพาเราให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร หลุดพ้นจากเครื่องจองจำ คือ กิเลสอาสวะทั้งหลาย การที่เราจะเข้าถึงจุดแห่งความรู้ที่บริสุทธิ์นั้นได้ จะต้องทำใจให้หยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน จึงจะสามารถเข้าไปศึกษาเรื่องราวของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เราจะเข้าถึงวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เมื่อเข้าถึงแล้ว การศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต เราจะรู้เห็นได้อย่างถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง เราจะได้ทั้งความรู้และความบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ ใน ชวสกุณชาดก ความว่า

น่าติเตียนคนที่ไม่รู้จักบุญคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน ผู้ที่ไม่ทำคุณประโยชน์ให้กับใครๆ และผู้ที่ไม่ตอบแทนคุณที่ท่านทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การคบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์

บุคคลไม่ได้มิตตธรรมด้วยอุปการคุณที่ตนประพฤติ ไม่พึงริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้น”

ความกตัญญู คือ การรู้คุณของบุคคลอื่นที่ได้ทำไว้กับตน แล้วหาโอกาสตอบแทนคุณอยู่เสมอ คุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของบัณฑิต ที่รู้คุณของผู้มีอุปการะคุณแก่ตน และรู้จักตอบแทนบุญคุณที่ท่านเหล่านั้นได้ทำไว้กับเราในกาลก่อน คนที่มีคุณธรรม คือ กตัญญูนี้ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ยามย่างก้าวไป ณ แห่งหนตำบลใด จะได้รับการต้อนรับด้วยมิตรไมตรี ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรขจายไปไกล เมื่อมีใครรับรู้รับทราบคุณธรรมของผู้นั้นแล้ว ถ้าเป็นหัวหน้า จะเป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จะเป็นที่รักของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ไปอยู่ในสังคมใด จะเป็นที่ต้องการของสังคมนั้น ฉะนั้น ความกตัญญูเป็นสัญลักษณ์ของคนดี คนที่มีจิตใจสูงส่ง และเป็นที่รักเคารพนับถือของมหาชนเป็นอันมากอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีความกตัญญูกตเวที ไม่คิดที่จะตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณ เมื่อใครรู้เข้าก็จะเป็นที่ติเตียน เป็นที่รังเกียจ ไม่มีใครให้ความเคารพยำเกรง หรือคบหาสมาคมด้วย ชีวิตของคนประเภทนี้มีแต่ความโดดเดี่ยว หาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก ชีวิตนับวันพลันแต่จะตกต่ำลงเรื่อยๆ ดังเรื่องของพระเทวทัต ผู้มีความอกตัญญูมาข้ามภพข้ามชาติ ที่เราจะได้ ติดตามกันต่อไปนี้

*มก. ทุพภิยมักกฎชาดก เล่ม ๕๗/๑๓๙

*ในสมัยพุทธกาล มีอยู่วันหนึ่ง ที่พระวิหารเวฬุวันมหาวิหาร เหล่าภิกษุทั้งหลายได้นั่งจับกลุ่มสนทนากันในโรงธรรมสภาถึงเรื่องที่พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู คิดประทุษร้ายมิตร ไม่มีความจริงใจต่อผู้อื่น เมื่อใครได้รับรู้เรื่องราวความประพฤติของพระเทวทัตแล้ว ต่างพูดโจษจันกันว่า บุคคลผู้มีความประพฤติเช่นนี้ ย่อมไม่เหมาะสมแก่การเคารพนับถือ ไม่สมควรที่จะเข้าไปคบหาสมาคมด้วย

ขณะที่เหล่าภิกษุกำลังพูดคุยกันอยู่นั้น พระบรมศาสดาเสด็จมาที่โรงธรรมสภา ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่” ครั้นภิกษุสงฆ์กราบทูลถึงพฤติกรรมของพระเทวทัตให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่าว่าแต่ในชาตินี้เลย ที่เทวทัตมีนิสัยอกตัญญูประทุษร้ายมิตร แม้อดีตชาติที่ผ่านมาก็มีนิสัยอย่างนี้เหมือนกัน” เมื่อพระภิกษุอยากจะรู้เรื่องราวในอดีตชาติของพระเทวทัต จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ชาตินั้น พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ อาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นกาสี ในแคว้นนี้เองได้มีบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ติดกับถนนที่ลาดชันสายหนึ่ง สองข้างทางของถนนสายนี้ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก แต่แหล่งน้ำมีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ บ่อน้ำข้างถนนแห่งนั้น พวกสัตว์ทั้งหลายจะได้กินน้ำ ต่อเมื่อมีชาวบ้านเดินทางผ่านมา และตักน้ำใส่รางที่ชาวบ้านผู้มีจิตเมตตาคนหนึ่งทำไว้ให้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายอยากกินน้ำ ก็จะมาดื่มกินที่รางน้ำแห่งนี้เป็นประจำ

ต่อมา ไม่มีใครเดินผ่านถนนสายนี้เป็นเวลาหลายวัน พลอยทำให้น้ำในรางแห้ง สัตว์ป่าทั้งหมดจึงอดกินน้ำตามไปด้วย กระทั่งลิงตัวหนึ่งทนไม่ไหว เดินวนเวียนไปมาอยู่รอบๆ บ่อน้ำ ขณะนั้นเอง มีพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งเดินทางผ่านมาพอดี และได้แวะดื่มน้ำจากบ่อน้ำ ขณะกำลังล้างมือล้างเท้า บังเอิญหันไปเห็นลิงตัวนั้น กำลังอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเพราะไม่ได้กินน้ำมาหลายวัน เขารู้ได้ทันทีว่ามันคงหิวน้ำมาก เกิดความเมตตาสงสาร ได้ตักน้ำใส่ในรางให้มันดื่ม เมื่อลิงได้ดื่มน้ำ ก็มีเรี่ยวมีแรงกระปรี้กระเปร่าสดชื่นเบิกบานใจ

หลังจากนั้น พราหมณ์หนุ่มพระโพธิสัตว์คิดจะพักผ่อนก่อนที่จะเดินทางต่อ ได้เอนกายลงนอนที่โคนต้นไม้ใกล้บ่อน้ำ เมื่อลิงกินน้ำเสร็จ ยังนั่งอยู่ไม่ไกลจากต้นไม้นั้น ได้ทำหน้าตาล่อกแล่ก แสดงท่าทางก่อกวนให้เห็น เมื่อพราหมณ์หนุ่มเห็นการกระทำของลิงตัวนี้แล้ว จึงกล่าวไปว่า “เจ้าวานรเอ๋ย เราเห็นเจ้าอยากกินน้ำก็อุตส่าห์ตักให้ดื่ม แต่พอเจ้ามีเรี่ยวแรงแล้ว กลับมานั่งทำหน้าตาท่าทางล่อกแล่กหยอกล้อกับเราเสียนี่ เจ้าช่างไม่รู้จักตนเองเสียเลย น่าอนาถใจจริงๆ ที่เราช่วยเหลือสัตว์ต่ำทรามอย่างเจ้า แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย”

ลิงพอได้ฟังคำติเตียนของพระโพธิสัตว์ ก็ไม่ได้รู้สึกสำนึก ยังพาลพูดกับพระโพธิสัตว์ขึ้นว่า “ท่านอย่าคิดว่าเราจะทำกับท่านเพียงเท่านี้ เพราะต่อไปเราจะถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของท่านอีก” และก่อนที่เจ้าลิงจะก่อกวนพระโพธิสัตว์ให้หงุดหวิดใจไปมากกว่านี้ มันพูดทิ้งท้ายก่อนจากไปอีกว่า “ท่านพราหมณ์หนุ่ม ท่านเคยได้ยินหรือได้เห็นมาก่อนหรือว่า มีลิงตัวไหนบ้างที่เป็นสัตว์มีคุณธรรม วันนี้ท่านจะเห็นฤทธิ์ของลิงอย่างเรา”

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น เห็นท่าไม่ค่อยดี จึงเตรียมจะลุกหนีไปจากโคนต้นไม้นั้น เพราะไม่อยากต่อกรกับสัตว์เดรัจฉาน แต่เป็นจังหวะเดียวกับที่เจ้าลิงวายร้ายกระโดดขึ้นไปบนต้นไม้ จับกิ่งห้อยโหนไปมาอย่างว่องไว แล้วถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของพราหมณ์หนุ่มทันที จากนั้นได้วิ่งหนีเข้าป่าไป พราหมณ์พระโพธิสัตว์ไม่รู้จะทำอย่างไรกับลิงจอมซนตัวนี้ดี ได้แต่เดินไปที่บ่อน้ำ และตักน้ำขึ้นมาล้างเนื้อล้างตัวจนสะอาด แล้วก็เดินทางต่อไป

เราจะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีนิสัยอกตัญญู คิดประทุษร้ายมิตร ไม่คิดที่จะตอบแทนผู้เคยมีอุปการคุณไว้กับตน ยังมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย บุคคลประเภทนี้ใครรู้ใครเห็นเข้าก็ถูกตำหนิติเตียน ไม่อยากคบค้าสมคมด้วย แม้แต่จะเข้าใกล้ก็ยังไม่อยากเข้าไปหา ชีวิตของคนประเภทนี้ย่อมหาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก เพราะได้ตัดหนทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของตน ทำให้ชีวิตมีแต่ความตกต่ำฝ่ายเดียว

ดังนั้น พวกเราทุกคน ควรตระหนักถึงคุณธรรม คือ ความกตัญญูข้อนี้กันให้มากๆ ความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคับประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมยิ่งขึ้นไป ต้องหมั่นพิจารณาอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่บุคคลที่ใกล้ชิดเรา ไม่ว่าจะเป็นมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ ท่านเหล่านี้ควรที่เราต้องหาโอกาสตอบแทนบุญคุณอย่างสมํ่าเสมอ แล้วชีวิตของเราจะพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ หรือการงานต่างๆ และผลบุญกุศลนี้จะติดตามตัวเราไปในภพเบื้องหน้า

วันอังคารที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ไม่มีของรักย่อมไม่โศก

ชีวิตของเราเปรียบเสมือนภาชนะดิน มีความเปราะบางยิ่งนัก ไม่รู้ว่าจะแตกสลายไปในวันใด เราถูกความแก่ ความเจ็บและความตาย เผาลนอยู่ตลอดเวลา สังขารร่างกายของเรา มีการเกิดดับอยู่ทุกอนุวินาที แต่เนื่องจากมีความสืบต่อกันเร็วมาก เราจึงไม่รู้ถึงการเกิดดับนั้น ทำให้เกิดความประมาทในวัยและชีวิต ประมาทในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ประมาทในความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีผลทำให้ประมาทในการประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นความไม่เที่ยงของสังขารร่างกายนี้ จึงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เร่งทำความเพียร แสวงหาที่พึ่งที่แท้จริงของชีวิต ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

กามโต ชายตี โสโก กามโต ชายตี ภยํ

กามโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ

ความโศกย่อมเกิดแต่กาม ภัยย่อมเกิดแต่กาม ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากกาม ภัยจากที่ไหนๆ ก็ย่อมไม่มี”

*มก. พราหมณ์คนใดคนหนึ่ง เล่ม ๔๒/๔๐๙

*ความโศก หมายถึง สภาพจิตที่แห้งผาก เหมือนดินแห้ง หรือใบไม้แห้ง หมดความชุ่มชื่น เนื่องจากไม่สมหวังในชีวิต ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้งโรยรา จิตใจซึมเซาไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงานอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงว่า สรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในความทุกข์ ประสบกับความโศกเศร้าร่ำพิไรรำพัน ซึ่งเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากจากของรัก ความผิดหวังเพราะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือความสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะอาศัยกามเป็นเหตุ

ความทะยานอยากในเบญจกามคุณของมนุษย์นั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ อยากเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดเวลา แต่ไม่ได้ตามที่คาดหวัง เพราะสังขารนี้ ล้วนต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา หรือเวลาที่มีทรัพย์แล้ว อยากให้ทรัพย์นั้นเป็นของเราตลอดไป ไม่อยากให้ไปเป็นของคนอื่น แต่สรรพสิ่งล้วนอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา เมื่อของอันเป็นที่รักแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์ใจจึงเกิดขึ้น ความทะยานอยากในกามอันไม่มีที่สิ้นสุดเหล่านี้ จะชักนำทุกข์มาให้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนให้เราดับทุกข์ที่เกิดจากกามทั้งหลาย ด้วยการทำใจให้หยุดให้นิ่งหรือที่เรียกว่า เข้านิโรธ เพื่อหยุดความทะยานอยากเหล่านั้น

คำว่า “นิโรธ” แปลว่า หยุด คือ ต้องทำใจให้หยุดในกลางกายของเรานี่แหละ เมื่อหยุดใจได้ ความอยากทั้งหลายก็จะดับไปเอง พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้” หมายความว่า จะเลิกอยากลาหยอก ต้องออกจากกาม จะออกจากกามได้ ต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของกาม ที่ทำให้ต้องจมปลักอยู่ในสังสารวัฏที่เต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ และเห็นว่าภพสามนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายความกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น จิตจึงหยุดนิ่งเป็นหนึ่ง ดำเนินไปตามศีล สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์หลุดพ้นเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเสร็จกิจได้บรรลุบรมสุขอันเป็นอมตะ ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงพระนิพพาน

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงพราหมณ์คนหนึ่ง ผู้ประสบกับความทุกข์อันใหญ่หลวงเพราะข้าวกล้าเสียหาย ถูกน้ำท่วมพัดพาไปหมด เรื่องมีอยู่ว่า พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง กำลังถางป่าทำนา พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา ขณะเสด็จเข้าไปโปรดชาวเมืองสาวัตถี ได้ทรงแวะตรัสสนทนาว่า “ท่านกำลังทำอะไรอยู่หรือ พราหมณ์” พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์กำลังจะทำไร่ไถนา พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “ดีแล้วพราหมณ์ จงตั้งใจทำงานไปเถิด” จากนั้นก็เสด็จหลีกไป วันต่อมา ได้เสด็จเข้าไปสนทนาอีก และได้เข้าไปสนทนาทุกช่วงที่มีการไถ ก่อคันนา และหว่านข้าว

เมื่อพราหมณ์เห็นพระบรมศาสดาบ่อยเข้า จึงเกิดความเลื่อมใสในพุทธจริยา วันหนึ่ง พราหมณ์ได้ปวารณาว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้เป็นมงคลในการหว่านข้าวของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ โดยมีพระองค์เป็นประธาน หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าข้า” พระศาสดาทรงรับโดยแสดงอาการดุษณีภาพ แล้วเสด็จหลีกไป

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว พราหมณ์ได้วางแผนเก็บเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้น ฝนลูกเห็บได้ตกตลอดทั้งคืน ทำให้ด้านเหนือของแม่น้ำอจิรวดีเอ่อล้น แล้วไหลท่วมนาของพราหมณ์ พัดพาเอาต้นข้าวทั้งหมดไปสู่ท้องทะเล ไม่เหลือแม้แต่เพียงต้นเดียว เมื่อน้ำหลากแห้งลง พราหมณ์ได้มาดูความเสียหายของนาข้าว จึงเสียใจอย่างหนัก เอาแต่นอนทุกข์ระทมอยู่บนเตียง

ใกล้รุ่งวันใหม่ พระบรมศาสดาทรงเห็นพราหมณ์ถูกความเศร้าโศกเสียใจครอบงำ หลังจากทรงเสวยเสร็จและส่งภิกษุสงฆ์กลับวัดพระเชตวันแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปบ้านของพราหมณ์พร้อมกับพระภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะอีกหนึ่งรูป เมื่อพราหมณ์ได้ยินว่าพระบรมศาสดาเสด็จมา จึงคิดว่า “พระพุทธองค์ทรงเป็นมิตรแท้ของเรา คงจะเสด็จมาเยี่ยมเยือนเพื่อให้กำลังใจ” จึงรีบจัดแจงอาสนะต้อนรับ พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ แล้วตรัสถามว่า “พราหมณ์ ทำไมท่านจึงดูเศร้าหมองไปล่ะ ท่านไม่สบายหรือ” พราหมณ์ได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์เคยปวารณาไว้ว่า จะถวายมหาทานหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนต้นข้าวกลับถูกกระแสน้ำพัดพาลงทะเลจนหมดเกลี้ยง ข้าวเปลือกประมาณ ๑๐๐ เกวียน เสียหายหมด ข้าพระองค์จึงทุกข์ใจ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสให้กำลังใจว่า “พราหมณ์ ท่านจะมัวเศร้าโศกเสียใจอยู่ทำไม สิ่งที่สูญเสียไปแล้วจะเอากลับคืนมาได้หรือ ขึ้นชื่อว่าทรัพย์และข้าวเปลือกนี้ ถึงคราวเกิดก็เกิดขึ้นเจริญงอกงาม ถึงคราวเสียหายก็ถูกทำลายเสียหาย สิ่งใดๆ ที่ถึงการปรุงแต่ง จะชื่อว่าไม่มีความเสียหายเป็นธรรมดานั้นไม่มีหรอก ท่านอย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งนั้นเป็นของเราอยู่เลย” พระบรมศาสดาทรงปลอบใจพราหมณ์ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ทรงยกใจของพราหมณ์ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ให้มองเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ซึ่งเป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งว่ามีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าบุคคลเข้าไปสงบระงับดับความพึงพอใจในสังขารเหล่านั้นได้ ความสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้น พราหมณ์ได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ความโศกและความทุกข์จึงดับไป

ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์ เกิดขึ้นในโลกนี้ได้เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี ผู้ใดไม่มีคน สัตว์ และสิ่งของอันเป็นที่รัก ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก เมื่อบุคคลใดปรารถนาความไม่เศร้าโศกอันปราศจากธุลีกิเลส ไม่พึงทำคน สัตว์ สิ่งของ หรือสังขารใดๆ ให้เป็นที่รักเลย

สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และทรงนำมาสั่งสอนนี้ เป็นความรู้อันประเสริฐที่เกิดจากการเห็นด้วยธรรมจักษุ เป็นความรู้ที่คู่กับความสุขและความบริสุทธิ์ ผู้ใดปฏิบัติตาม ย่อมจะได้ความหลุดพ้นเช่นเดียวกันกับที่พระพุทธองค์ได้หลุดพ้นแล้ว ดังนั้น เรามาเกิดในภพชาตินี้ แม้จะอยู่ในกามภพ ซึ่งข้องเกี่ยวกับเรื่องเบญจกามคุณ แต่เราต้องหาทางทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลสกามและวัตถุกามทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ให้มุ่งมั่นสร้างบารมีให้เต็มที่ และแสวงหาหนทางพระนิพพาน ด้วยการฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด คือ พระรัตนตรัยภายในให้ได้กันทุกๆ คน

วันพฤหัสบดีที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ทางแห่งความเสื่อม

เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างปรารถนาความสุขความเจริญ สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นมงคลเกิดขึ้นแก่ชีวิตของตนด้วยกันทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่าสิ่งที่เป็นมงคล คือ การบำเพ็ญบุญ อันจะเป็นเครื่องสนับสนุน ให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น บุญจากการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของเราทุกคน โดยเฉพาะบุญใสๆที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง เป็นสิ่งที่เราจะต้องสั่งสมให้ได้เป็นประจำทุกวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ว่า

สัตบุรุษผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน เป็นผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นผู้กำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ได้ ย่อมประสบกับนิพพานอันเกษม”

ชีวิตของผู้ครองเรือนจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรทำและควรเว้น เช่น ควรทำบุญให้ทาน อย่าตระหนี่ หรือควรขยันทำการงานอย่าเกียจคร้าน เป็นต้น หลวงพ่อมีธรรมะที่ให้ความกระจ่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการตอบคำถามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อพราหมณ์ท่านหนึ่ง ที่ได้ไปทูลถามพระองค์ แม้จะเป็นคำถามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพราหมณ์เพียงคนเดียว แต่สาระจากพุทธวิสัชนานั้น ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกคนที่ได้รับรู้รับทราบ โดยเฉพาะผู้ที่รักในการฝึกตน เพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางสวรรค์และพระนิพพาน

ในครั้งพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชอบศึกษาหาความรู้ความจริงของชีวิตจากสำนักต่างๆ เมื่อไปถามครูบาอาจารย์สำนักไหน ก็ได้รับคำตอบที่ยังไม่ถูกใจ คือ ฟังแล้วก็ยังไม่กระจ่าง เหมือนในปัจจุบัน ที่มีผู้ถามว่านรกสวรรค์มีจริงไหม ครูบาอาจารย์บางท่านตอบว่าคงมีจริงมั้ง เพราะเห็นตามตำรับตำราเขาว่ากันอย่างนั้น

พราหมณ์ท่านนี้ ก่อนจะเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ เกิดวิตกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามักจะตรัสสอนเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น สงสัยพระองค์จะไม่ทราบในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ จึงอยากจะแก้ความสงสัยของตนเอง เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สงสัยว่า พระพุทธองค์เห็นจะทรงทราบในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวกระมัง ส่วนสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เห็นพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเลย”

พระบรมศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ เราตถาคตย่อมรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ทั้งสองอย่าง ท่านอยากรู้เรื่องอะไร ให้ถามมาเถิด” พราหมณ์กราบทูลว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอพระองค์ได้ตรัสบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระบรมศาสดาตรัสบอกทางแห่งความเสื่อมแก่พราหมณ์ว่า “ถ้าใครก็ตามปฏิบัติตามนี้ ความเสื่อมย่อมมีแก่เขาอย่างแน่นอน คือ บุคคลที่นอนตื่นสาย เกียจคร้านไม่ยอมทำการงาน เห็นแก่นอนชอบเดินทางไกลตามลำพัง และบุคคลที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงปฏิบัติให้ถูกต้อง จงดำรงอยู่ในธรรม และเว้นสิ่งที่กล่าวมานี้เถิด แล้วความหายนะ ความเสื่อมเสียชื่อเสียงจะไม่มีแก่ท่าน”

ทางแห่งความเสื่อมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พราหมณ์นั้น เมื่อนำมาพินิจพิจารณาแล้ว เป็นสิ่งที่เราพึงละเว้น และปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในตัวของเราให้รวดเร็วที่สุด เพื่อจะได้ขจัดนิสัยที่ไม่ดีออกไป แล้วเอาอุปนิสัยที่ดีๆ เข้ามาแทนที่ ชีวิตจะได้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

ทางแห่งความเสื่อมประการแรก คือ การนอนตื่นสาย ในสมัยปู่ย่าตายายของเรา ท่านจะสอนให้ลูกหลานตื่นแต่เช้า มาสวดมนต์ไหว้พระ แล้วให้จัดเตรียมอาหารหวานคาวไว้ตักบาตรพระ จะได้สร้างทานบารมีตั้งแต่เช้า ดวงตะวันขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามเช้าเพื่อให้ความสว่างไสวแก่โลก ฉันใด เราต้องตื่นแต่เช้าเพื่อดำรงตนเป็นผู้ให้ ฉันนั้น บรรพบุรุษของเราจึงมีคำพูดติดปากที่ลูกๆ หลานๆจะได้รับการสั่งสอนสืบต่อกันมาว่า อย่านอนตื่นสาย อย่าหน่ายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน แล้วสมบัติใหญ่จะไหลมาเทมา

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ คือ ความเกียจคร้าน เช่น เกียจคร้านในการเรียนหนังสือ เกียจคร้านในการทำงาน หรือเกียจคร้านในการเจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น คนที่จะเอาดีได้ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ถ้าอาศัยความขยันหมั่นเพียรทั้งนั้น ผู้รู้ทั้งหลายจึงกล่าวสอนเอาไว้ว่า ความเพียรอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ขอให้เพียรพยายามเถิด แม้สติปัญญาไม่ค่อยจะดี แต่ก็สามารถเอาดีได้ เพราะอุปสรรคแพ้คนขยัน แต่มันชนะคนที่ขี้เกียจ แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร” ความขยันหมั่นเพียรเท่านั้น จึงจะสามารถนำพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ คือ การเป็นคนที่มีนิสัยเจ้าโทสะ อารมณ์ร้าย อารมณ์ร้อน บุคคลเหล่านี้มักจะไม่เป็นที่ต้องการของใคร เพราะจะนำแต่เรื่องร้อนใจมาให้ มนุษย์ทุกคนปรารถนาสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุขกายสบายใจ เพราะร่มไม้เย็นหมู่นกกาชอบอาศัย คนที่ใจเย็นใครๆก็อยากจะอยู่ใกล้ เพราะเข้าใกล้แล้วเย็นทั้งกายเย็นทั้งใจ

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ คือ เห็นแก่นอน หมายถึง ผู้ที่ใช้เวลานอนมากเกินปกติ ถ้าเป็นเด็กควรนอนประมาณ ๘ ชั่วโมง หรือผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน ๖ ชั่วโมงต่อวัน บางคนเห็นแก่นอน คือ หลับทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เสียเวลาทำการงาน เสียเวลาสร้างบารมี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า การเห็นแก่นอน เป็นหมันสำหรับผู้ประพฤติธรรม เพราะผู้ประพฤติธรรมต้องเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ คือ การเดินทางไกลตามลำพัง ที่ว่าเป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะเป็นอันตรายต่อตนเองทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากในระหว่างการเดินทาง ภยันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งอันตรายจากโจรหรือคนแปลกหน้า รวมไปถึงอุบัติเหตุเภทภัยต่างๆ การไปไหนมาไหนเป็นหมู่เป็นคณะจะเกิดความอุ่นใจ ไม่ต้องหวาดระแวงภัยต่างๆ มากจนไม่เป็นอันกินอันนอน

ทางแห่งความเสื่อมข้อสุดท้าย ที่ทรงแสดงแก่พราหมณ์ คือ อย่าไปเป็นชู้กับภรรยาหรือสามีของคนอื่น ชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น ความจริงใจต่อกันมีความสำคัญมาก สามีภรรยาต้องจริงใจต่อกัน และไม่ไปล่วงละเมิดในสามีภรรยาของผู้อื่น ถ้าใครไปยุ่งเข้า แสดงว่ากำลังนำความหายนะมาสู่ตนเองและครอบครัว เพราะถือว่าเป็นการประพฤติผิดศีลข้อที่ ๓ คือ กาเมสุมิจฉาจาร เป็นการทำร้ายจิตใจของสามีภรรยาที่รักกัน ทำให้ครอบครัวของเขาต้องแตกแยก

สรุป คือ “นอนตื่นสาย กายเกียจคร้าน สำราญตน เห็นแก่นอน อารมณ์ร้อนเจ้าโทสะ จะไปไหนก็ไปตามลำพัง มุ่งหวังเป็นชู้กับผู้อื่น ชีวิตต้องสะอื้นเพราะหายนะครอบงำ” สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ควรประพฤติปฏิบัติทั้งสิ้น และต้องปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา อย่าให้ทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเรา

พราหมณ์ได้ฟังแล้วรู้สึกชอบใจ เพราะได้ตรองตามแล้ว เห็นดีเห็นงามด้วย จึงได้เปล่งเสียงสาธุการสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นบุคคลผู้เลิศ และประเสริฐที่สุดในโลกอย่างแท้จริง ทรงรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ พร้อมกับทรงแสดงสิ่งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง”

ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความงดงามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ใครได้ยินได้ฟังแล้ว จะบังเกิดความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น ที่เคยสงสัยจะแจ่มแจ้ง และสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งเกิดประโยชน์ใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องฝึกตนให้เป็นผู้หนักในธรรม ฟังธรรมะบทไหนแล้ว อย่าได้ดูเบา ให้รู้จักนำไปขบคิดไตร่ตรอง และลงมือประพฤติปฏิบัติ แล้วเราจะสมหวังในชีวิต ไปทุกภพทุกชาติกันทุกคน