วันอังคารที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ศาสดาในโลกนี้

ชีวิตคนเราที่เกิดมา ไม่มีใครที่สมบูรณ์พร้อมไปหมดทุกเรื่อง บางครั้งก็ประสบความสำเร็จ แต่บางครั้งก็ต้องประสบกับความผิดหวัง ขอเพียงแต่ให้เรามีพลังใจที่เข้มแข็ง อดทน พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง ด้วยใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และก็หมั่นสั่งสมความดีอย่างไม่ย่อท้อ หมั่นตรึกระลึกนึกถึงบุญอยู่เสมอ เมื่ออานุภาพแห่งบุญและความบริสุทธิ์ของใจเกิดขึ้น จนกระทั่งเป็นดวงกลมใสรอบตัว ติดนิ่งแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อนั้น ความสำเร็จและผลแห่งความดีทั้งหลาย จะหลั่งไหลมาสู่ตัวเรา ทำให้เราสมปรารถนาในทุกสิ่งได้อย่างเป็นอัศจรรย์ทีเดียว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับอุปกาชีวกะไว้ว่า

เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวงอันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง เราละธรรมที่เป็นไปในภูมิสามได้หมด หลุดพ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงอ้างใครเล่าเป็นศาสดา อาจารย์ของเราไม่มี บุคคลเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนกับเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดาที่หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว จะประกาศอมตธรรมในโลก เพื่อให้สรรพสัตว์ได้ธรรมจักษุ”

*มก. สังฆเภทขันธกะ (ศาสดา ๕ จำพวก) เล่ม ๙/๒๗๔

*การที่พระบรมศาสดาทรงปฏิญญาความเป็นสัมมาสัมพุทธะ เพราะทรงหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นสัพพัญญูผู้รู้แจ้งโลกทั้งปวง ทรงสมบูรณ์ด้วยทศพลญาณ เวสารัชชญาณ และคุณธรรมที่สามารถมองเห็นกันได้ด้วยสายตา คือ ศีล อาชีวะ เทศนา ไวยากรณ์และญาณทัสนะ ก็ทรงทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สรรพสัตว์ จนเป็นที่ยอมรับกันว่า ทรงเป็นศาสดาเอกของโลก ไม่มีศาสดาอื่นยิ่งกว่า

ในโลกนี้มีบุคคล ๕ ประเภท ที่ปฏิญญาว่าเป็นศาสดาทั้งที่ตนไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นได้ คำว่าศาสดาแปลว่าผู้สั่งสอนคนอื่นให้รู้จักหนทางไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน รู้จักเรื่องบุญและบาป สั่งสอนให้ละชั่ว ทำดีและทำใจให้ผ่องใส เป็นต้น แต่เนื่องจากศาสดาบางพวกไม่รู้แจ้งเห็นจริง จึงใช้จินตมยปัญญาคิดค้นด้นเดาเอาด้วยความเห็นส่วนตัว แล้วนำมาสั่งสอนลูกศิษย์ให้ปฏิบัติตาม ก็ปฏิบัติถูกบ้างผิดบ้างตามความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ ศาสดาบางคนมีข้อปฏิบัติที่ไม่รู้ตัว ว่าจะนำพาสาวกไปสู่อบายภูมิก็มี ส่วนศาสดาที่สามารถสั่งสอนสาวกให้รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตจนสามารถหลุดพ้นจากอาสวกิเลสเข้าสู่พระนิพพานได้นั้น มีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้นในวันนี้เราจะมาศึกษาเรื่องศาสดาหรือครู หรือเจ้าลัทธิ ๕ จำพวกกัน

ศาสดาประเภทที่ ๑ เป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีศีลที่ผ่องใสไม่เศร้าหมอง แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเองเป็นผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ แล้วปฏิญาณว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ครั้นจะบอกพวกคฤหัสถ์ตามความเป็นจริง ก็จะไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงช่วยกันปกปิดโทษศาสดาของตนเอาไว้ เพราะว่าจะได้เป็นทางมาของลาภสักการะ ดังเช่น ตั้งตนเป็นผู้วิเศษทำนายทายทักอวัยวะ ทายนิมิต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่า เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี หมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นต้น อย่างนี้จัดเป็นมหาศีลที่ไม่บริสุทธิ์ ใครที่ตั้งตนเป็นเจ้าพิธีกรรมอย่างนี้ถือว่าจัดเป็นศาสดาผู้ทุศีล

ศาสดาประเภทที่ ๒ เป็นผู้มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเองเป็นผู้มีอาชีพไม่บริสุทธิ์ ครั้นจะบอกพวกคฤหัสถ์ตามความเป็นจริง ก็จะไม่เป็นที่พอใจของอาจารย์ จึงช่วยกันปกปิดโทษศาสดาของตนเอาไว้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา มีผู้ที่ตั้งตนเป็นศาสดาเพื่อหวังลาภสักการะ จึงมีการแสวงหาที่เรียกว่าอาชีวะไม่บริสุทธิ์ เช่น เป็นเทพเจ้าร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง เป็นผู้ทรงเจ้าบวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผีเป็นต้น ซึ่งอาชีพอย่างนี้เป็นทางมาแห่งลาภสักการะจากผู้ที่ยังไม่รู้จักพระรัตนตรัย ไม่รู้ความจริงของชีวิต ทำให้เกิดความหลงเชื่อถือในสิ่งที่ไม่ใช่สรณะ แม้ในปัจจุบันก็มีผู้ที่ตั้งตนเป็นครู เป็นเจ้าลัทธิ เป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ ทำพิธีอย่างนี้เยอะแยะทีเดียว

ศาสดาประเภทที่ ๓ เป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเองเป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ แต่กลับปฏิญาณว่า เป็นผู้มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ ครั้นจะบอกพวกคฤหัสถ์ตามความเป็นจริง ก็จะเป็นเหตุให้เสื่อมศรัทธา จึงช่วยกันปกปิดความโง่เขลาเบาปัญญาของศาสดาตนเอาไว้ เพราะว่าจะได้เป็นทางมาของลาภสักการะ เช่น ครูปูรณกัสสปะ ท่านผู้นี้สอนว่า การทำชั่วนั้น ถ้าไม่มีคนเห็น ไม่มีใครรู้ และไม่มีใครจับได้ ไม่มีใครลงโทษ ผลของความชั่วนั้น ก็ถือว่าเป็นโมฆะ จะชั่วก็ต่อเมื่อมีคนรู้ มีคนเห็นหรือจับได้เท่านั้น ส่วนความดีนั้นก็เหมือนกัน จะมีผลก็ต่อเมื่อมีคนรู้มีคนเห็น มีคนชื่นชม และมีผู้ให้บำเหน็จรางวัล ถ้าไม่มีใครรู้เห็น ไม่มีใครชื่นชม และไม่มีใครให้รางวัลแล้วก็ไม่มีผล ถือเป็นโมฆะ

คำสอนของท่านปูรณกัสสปะนี้ มีนัยว่า ทำก็ไม่ชื่อว่าทำ เช่นคนทำบุญก็ไม่ชื่อว่าทำบุญ คนทำบาปก็ไม่ชื่อว่าทำบาป โดยสรุปก็คือบุญ-บาปไม่มี ความดีความชั่วไม่มี เป็นลัทธิที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของศีลธรรมโดยสิ้นเชิง ถือว่าเป็นผู้มีธรรมเทศนาไม่บริสุทธิ์ เพราะยิ่งสอนไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สาวกหลงผิดและตกไปในอบายภูมิมากเท่านั้น

ศาสดาประเภทที่ ๔ เป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ แต่สาวกก็รู้กันดีว่า ศาสดาของตนเป็นผู้มีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์ ถึงกระนั้นก็ยังช่วยกันปกปิด เพราะว่าจะได้เป็นทางมาของลาภสักการะ คำว่าไวยากรณ์หมายถึงมีคำพูดหรือคำสอนที่แจ่มชัด ไม่มีเงื่อนงำ แจ่มแจ้งต่อผู้ฟังสามารถทำให้ผู้ฟังหายสงสัยและแทงตลอดในทุกๆ ประเด็นไม่เป็นปรัชญาที่พูดวกไปวนมา ชวนสงสัยไปทุกเรื่อง ยิ่งถามก็ยิ่งสงสัยมากขึ้น ดังเช่น ครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร ผู้เป็นเจ้าลัทธิที่มีคำสอนที่ไม่แน่นอน ซัดส่ายลื่นไหล ตอบไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพื่อเอาตัวรอด เช่นตอบว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ คือไม่ยอมรับอะไรเลย และไม่ยืนยันอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้เรียกว่ามีไวยากรณ์ไม่บริสุทธิ์

สำหรับศาสดาประเภทที่ ๕ คือ เป็นผู้มีญาณทัสนะไม่บริสุทธิ์ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้มีญาณทัสนะบริสุทธิ์ แต่ก็รู้กันดีในหมู่สาวกว่า ศาสดาของพวกตนมีญาณทัสนะไม่บริสุทธิ์ แต่ก็ยังช่วยกันปกปิดเอาไว้ เพราะเกรงว่าลาภสักการะจะเสื่อมสลายไป เหมือนนิครนถ์นาฏบุตรที่หลอกลวงชาวโลกว่าตนเป็นพระอรหันต์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เมื่อครั้งที่เศรษฐีกรุงราชคฤห์อยากรู้ว่าพระอรหันต์มีจริงหรือเปล่า จึงให้เอาบาตรไม้จันทน์แดงไปห้อยไว้บนยอดไผ่ นิครนถ์อยากได้มาก จึงขอบาตรกับเศรษฐี แต่เศรษฐีไม่ยอม บอกว่าถ้าเป็นพระอรหันต์จริงก็เหาะขึ้นไปเอาเอง นิครนถ์จึงทำท่ายกมือยกเท้า แสร้งทำทีเหมือนจะเหาะ แต่เบื้องหลังก่อนจะเข้าไปหาเศรษฐี ได้สั่งให้สาวกทำทีเป็นดึงมือดึงเท้าพร้อมกับให้กล่าวห้ามปรามว่า “อาจารย์ ท่านอย่าได้ทำอย่างนี้เลย มันเสียศักดิ์ศรี” จากนั้นก็ช่วยกันอ้อนวอนเศรษฐีให้นำบาตรมามอบให้ แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะเศรษฐีก็ยังยืนยันคำเดิมว่าต้องเหาะขึ้นไปเอาเอง

ทั้งหมดนี้ก็คือลักษณะของศาสดา ๕ จำพวกซึ่งหมายรวมไปถึงครูและเจ้าลัทธิทั้งหลายที่มีปรากฏอยู่ในโลกนี้ ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล อาชีวะ ธรรมเทศนา ไวยากรณ์และญาณทัสนะ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงอุบัติขึ้นมาเพื่อยังโลกให้สว่างไสวอย่างแท้จริง ทรงเป็นบรมศาสดาที่ไม่มีใครยิ่งกว่า หรือเสมอเหมือนก็ไม่มี ดังนั้นให้ทุกท่านหมั่นตรึกระลึกถึงพระพุทธคุณ และยึดเอาพระองค์ไว้เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด แล้วชีวิตเราจะพบกับความสวัสดีมีชัย มีสุคติเป็นที่ไปกันทุกคน

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ผู้ไม่ว่างเว้นจากการสร้างบารมี

ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะเป็นเวลาที่เราจะได้เพิ่มเติมความสุขความสำเร็จให้แก่ชีวิต ด้วยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นสัจธรรมที่นำมาซึ่งความสุขและความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล ทุกวันนี้มนุษย์กำลังสับสน ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ ยากจะสลัดออกได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตได้อย่างแท้จริงกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ภูริปัญหาชาดกว่า

น ปณฺฑิตา อตฺตสุขสฺส เหตุ

ปาปานิ กมฺมานิ สมาจรนฺติ

ทุกฺเขน ผุฏฺฐา ขลิตาปิ สนฺตา

ฉนฺทา จ โทสา น ชหนฺติ ธมฺมํ

บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ประพฤติกรรมอันเป็นบาป ถูกความทุกข์กระทบแล้ว แม้จะพลาดพลั้งไปก็สงบอยู่ได้ ไม่ละทิ้งธรรมเพราะความรักและชัง”

*มก. ขทิรังคชาดก เล่ม ๕๕/๓๖๕

*การสร้างบารมี เป็นหน้าที่หลักของเราในการเกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ ในช่วงเวลาที่กำลังสร้างบารมีอยู่นั้น บางครั้งเรา ก็พบเจอกับความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะหนทางการสร้างบารมีมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคที่เกิดขึ้นจะหล่อหลอมให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็ง และเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจว่า เรามีหัวใจของยอดนักสร้างบารมีเต็มเปี่ยมแค่ไหน สำหรับผู้มีอุดมการณ์ที่มั่นคง มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร ก็จะไม่หวั่นไหวในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมา เพื่อทดสอบและส่งเสริมการสร้างบารมีของเราให้เข้มข้นยิ่งขึ้น หากเราไม่หวั่นไหว อุปสรรคก็จะไหวหวั่นและย่อท้อต่อเราไปเอง

พระบรมโพธิสัตว์ ทุกภพทุกชาติที่สร้างบารมี ท่านก็เอาชีวิตเป็นเดิมพันทุกครั้งไป แม้จะพบเจออุปสรรคมากมายก็ไม่เคยคิดท้อแท้หรือเบื่อหน่ายคลายความเพียร ท่านไม่เคยยอมให้ชีวิตว่างเว้นจากการสร้างบารมีเลย จะแสวงหาบุญอยู่ตลอดเวลา และเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ท่านจะตั้งสติมั่น ใช้ปัญญาแก้ไขแล้วก็ฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ทุกครั้งไป จนได้มาเป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา

ยอดนักสร้างบารมีที่แท้จริง จะไม่เสียเวลามาคิดคำนึงถึงสิ่งที่ทำให้ท้อแท้ หรือวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น จะไม่ยอมให้อุปสรรคมาเป็นกำแพงขวางกั้นการสร้างบารมี แต่จะมองข้ามอุปสรรคเหล่านั้นเสีย หากรู้ว่าวิธีการใดเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น แม้ชีวิตท่านก็ยอมสละได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะมาขัดขวางการสร้างบารมีของท่านได้ เพราะเมื่อใจเราใหญ่ โลกก็เหลือใบนิดเดียวเท่านั้น

พวกเราเองก็เป็นยอดนักสร้างบารมี มีใจของพระบรมโพธิสัตว์ ที่ปรารถนาจะเห็นชาวโลกและสรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์ เมื่อเราได้อัตภาพของความเป็นมนุษย์ พร้อมที่จะสร้างบารมีได้ดีที่สุดอย่างนี้แล้ว จึงไม่ควรปล่อยให้โอกาสดีนี้ผ่านเลยไป ควรใช้โอกาสนี้สร้างบารมีให้เต็มที่ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ให้เอาอย่างนักสร้างบารมีในกาลก่อน ที่มีใจมั่นคงยิ่งกว่าขุนเขา แม้มีผู้มาบอกให้เลิกทำความดี และกำลังประสบความทุกข์ยากลำบาก ก็ไม่ว่างเว้นจากการสร้างบารมี

เหมือนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นยอดอุปัฏฐากฝ่ายชายที่มีความศรัทธามั่นในพระพุทธศาสนา ถึงกับเอาเงินไปปูเต็มพื้นดิน เพื่อแลกกับพื้นที่ที่จะสร้างวัดเชตวัน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง ๕๔ โกฏิ เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ท่านหมั่นไปวัดถวายสังฆทาน ฟังธรรมมิได้ขาด โดยไม่เคยไปมือเปล่าเลย ทานทั้งหลายที่ท่านบริจาคนั้น มากมายเกินที่จะคณานับ

ด้วยความใจใหญ่กล้าคิด และทุ่มเทให้กับงานพระศาสนาเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้าน กลัวว่าทรัพย์สมบัติของท่านจะหมด จึงคอยหาโอกาสบอกให้ท่านเลิกไปวัด เลิกถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ พอดีในช่วงนั้น ท่านเศรษฐีสมบัติขาดมือพอดี การค้าขายไม่คล่องตัว เงินทองที่เพื่อนยืมไปก็ไม่ได้คืน ทรัพย์ที่ฝังไว้ริมตลิ่งก็ถูกน้ำพัดพาไป ท่านเศรษฐีจึงยากจนลง แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์ถวายทานไม่ได้ขาดเลย แม้จะมีเพียงน้ำผักดองกับข้าวปลายเกรียน ก็ยังคงทำทานตามปกติ

เทวดาได้โอกาสจึงปรากฏกายอยู่ต่อหน้าท่านเศรษฐี พูดเตือนไปว่า “ท่านเศรษฐี ท่านอย่าได้ทำทานอีกต่อไปเลย ตั้งแต่เข้าวัดมา ก็มีแต่ยากจนลง ท่านไม่ได้อะไรเลย ควรหันกลับมาเร่งรีบทำธุรกิจเพื่อจะได้ทรัพย์สมบัติกลับคืนมาบ้าง จงเลิกทำบุญเสียเถิด”

เศรษฐีพอได้ฟังเช่นนั้น แทนที่จะเชื่อฟังคำของเทวดา กลับบอกเทวดาว่า “ท่านเป็นถึงเทวดา ทำไมมาบอกให้เราเลิกทำบุญ ท่านจงออกไปจากบ้านของเราเสียเถิด เราจะไม่ยอมเลิกทำบุญเป็นอันขาด” เทวดาเมื่อโดนขับไล่เช่นนั้น จึงไม่มีวิมานอยู่ เพราะตัวเองมีบุญน้อย เกิดรู้สึกสำนึกผิด จึงไปขอร้องให้เทวดาชั้นต่างๆ มาช่วยพูดกับท่านเศรษฐีให้ท่านยกโทษให้ แต่เทวดาเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะช่วยได้

พระอินทร์จึงแนะวิธีว่า ถ้าอยากให้เศรษฐียกโทษให้ ต้องไปทวงหนี้คืนให้ท่านเศรษฐี แล้วไปเอาทรัพย์ที่ถูกน้ำพัดไปกลับคืนมา และยังมีสมบัติที่อยู่ใต้ทะเลอีกมากมาย ให้ไปขนมาให้เศรษฐีได้ทำบุญต่อ แล้วเศรษฐีจะยกโทษให้ เทวดาตนนั้นจึงทำตามที่พระอินทร์บอกทุกอย่าง แล้วกลับมาบอกท่านเศรษฐี พร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้แก่ตนด้วย เพราะที่พูดไปอย่างนั้นก็ด้วยความเป็นห่วงท่านเศรษฐี

อนาถบิณฑิกเศรษฐียกโทษให้ เทวดาจึงได้มีวิมานอยู่ตามเดิม เรื่องทราบถึงพระบรมศาสดา พระองค์จึงตรัสชมเชยท่านเศรษฐีว่า ทำถูกต้องแล้ว สมกับเป็นยอดนักสร้างบารมีจริงๆ แม้จะทำทาน เพียงน้ำผักดองกับข้าวปลายเกรียนก็ได้บุญมาก ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยนั้น ทักษิณาทานชื่อว่ามีผลมาก ท่านเศรษฐีแม้จะยากจนลง ก็ไม่เคยหวั่นไหวและไม่เคยว่างเว้นจากการสร้างบารมี ได้ชื่อว่าทำตามอริยประเพณีอันดีงามแล้ว

แม้พระองค์เอง ในสมัยที่ยังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ถึงจะยากจนข้นแค้นอย่างไร ก็ไม่เคยเลิกล้มการทำความดีเลย แม้มีหญ้าคาเพียงมัดเดียว เมื่อถูกขอก็ไม่ได้ปฏิเสธ แม้จะถูกพญามารขัดขวางไม่ให้ทำทาน พร้อมทั้งขู่ว่า ถ้าขืนให้ทานอยู่อย่างนี้ จะต้องตกหลุมถ่านเพลิงลึกถึง ๘๐ ศอก พระองค์ก็ไม่เคยหวั่นไหว เพราะความเป็นผู้มีใจเด็ดเดี่ยวในการสร้างบารมีนี้เอง จึงทำให้พระองค์ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

เพราะฉะนั้น ให้เรารู้ไว้เถิดว่า หากเงินทองที่เคยมีใช้จ่าย-อย่างสะดวกสบาย กลับหาได้ยาก และอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ทำให้เราท้อแท้ แสดงว่าบุญในตัวของเรายังพร่องอยู่ เป็นนิมิตหมายว่าเราจะต้องรีบสั่งสมบุญเพิ่มเติม อย่าได้ท้อแท้หรือตกใจ ให้ใช้สติและปัญญาแก้ไข เพราะอุปสรรคมีไว้ให้แก้ ปัญหาทุกปัญหาล้วนมีทางแก้ไข จะแก้ไขได้ด้วยปัญญาที่เกิดจากการทำใจหยุดใจนิ่งดีแล้วนี่แหละ

นักสร้างบารมีที่แท้จริง จะต้องไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้น ใจจะมุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว เพราะเป้าหมายของเราคือ การนำตนและสรรพสัตว์ เข้าสู่จุดหมายปลายทางคือที่สุดแห่งธรรม ซึ่งจะต้องอาศัยกำลังบุญมากและใจต้องใหญ่ ต้องกล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ ถ้าเรามั่นคงในปณิธานเป้าหมายอันสูงส่งของเรา ความท้อแท้จะไม่บังเกิดขึ้นในใจเลย

คราใดที่เราท้อแท้หรือสิ้นหวัง ให้นึกถึงบุญภายในตัวที่เราได้สั่งสมมา และภาพอันงดงามที่เราเคยสร้างบารมีกันมา ให้นำใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งเป็นแหล่งแห่งพลังบุญพลังบารมีที่แท้จริง ใจจะชุ่มฉํ่าเยือกเย็นอยู่ภายใน เปลี่ยนจากใจที่สับสน มาเป็นดวงใจที่หยุดนิ่ง จากที่วุ่นว่ายเร่าร้อน คืนสู่ความสงบสุขเยือกเย็น แล้วเราจะมีกำลังใจ เมื่อนำใจมาหยุด ณ ที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นที่ๆ ดีที่สุด เป็นการเพิ่มเติมบารมีให้แก่ตัวของเราเองกัน

วันเสาร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการเลือกให้

การเจริญสมาธิภาวนา เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จ เป็นทางมาของสติและปัญญา ที่จะทำให้เรามีความเฉลียวฉลาด ตลอดจนปฏิภาณไหวพริบแกล้วกล้า สามารถศึกษาเล่าเรียน และประกอบกิจการงานต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว บังเกิดผลสำเร็จเป็นอัศจรรย์ เมื่อเราเจริญภาวนาจนกระทั่งใจหยุดนิ่งหยั่งลงสู่ศูนย์กลางกายอันเป็นต้นแหล่งแห่งความสะอาดบริสุทธิ์ ใจของเราจะเบิกบานผ่องใส เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จทั้งมวล และยังช่วยให้เราสามารถรอดพ้นจากภัยทั้งหลาย ทั้งภัยในอบายภูมิ ตลอดจนภัยในสังสารวัฏ สิ่งเหล่านี้ เป็นอานิสงส์ของการเจริญสมาธิภาวนาที่เราจะได้รับไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งเข้าสู่อายตนนิพพานกันทีเดียว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพุทธวรรควรรณนา ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

บุคคลให้ทานในเขตใดแล้วมีผลมาก พึงเลือกให้ทานในเขตนั้นเถิด เพราะการเลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญ ทานที่บุคคลให้แล้วในทักขิไณยบุคคลทั้งหลายย่อมมีผลมาก เหมือนบุคคลหว่านพืชลงในนาดีฉะนั้น”

“ทาน” หมายถึงการให้ การสงเคราะห์ช่วยเหลือแบ่งปัน ซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องดีงาม เพราะการให้เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลระหว่างชีวิตต่อชีวิต เป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ เป็นการสร้างความดีที่ง่ายที่สุด แต่กลับส่งผลดีให้แก่ชีวิตเราอย่างมากมาย

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการเลือกให้ คือก่อนจะให้ควรเลือกของที่จะให้ว่า สมควรหรือไม่ โดยเลือกให้แต่ของที่ดีของที่ประณีต ของนั้นต้องได้มาด้วยความสุจริต ถ้าให้ของดียิ่งกว่าที่ตนใช้ เวลาบุญส่งผลก็จะได้ของที่ประณีต ของที่ดีเลิศ แต่อย่างน้อยก็ควรให้ของในระดับเดียวกันกับที่ตนใช้อยู่ และต้องดูด้วยว่าจะให้กับใคร ทานนั้นจึงจะมีผลมาก ถ้าให้กับทักขิไณยบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ ผลบุญก็จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล เหมือนชาวนาผู้ฉลาดในการทำนาต้องคัดพันธุ์ข้าวที่ดี หว่านข้าวลงในนาดี มีน้ำดี มีปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ เมื่อทำอย่างนี้ เขาจึงจะได้รับผลผลิตที่คุ้มค่าแก่ความเหนื่อยยาก ดังเรื่องของเทพบุตรผู้ที่ฉลาดในการเลือกให้ทาน

มก. อังกุระเทพบุตร เล่ม ๔๓/๓๓๔

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จโปรดพระพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ทรงมีพระรัศมีแผ่กว้างครอบคลุมหมู่เทวดาทั้งหลาย เทพบุตรพุทธมารดาก็เสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต ประทับในที่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ อังกุรเทพบุตรนั่งอยู่ในที่เบื้องซ้าย แต่เมื่อเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทยอยกันมาเฝ้าพระพุทธองค์ อังกุรเทพบุตรก็ต้องถอยห่างออกไปเรื่อยๆ ถอยไปจนถึงท้ายสุดในที่ประชุมนั้น ไกลถึง ๑๒ โยชน์ ขณะที่เทพบุตรอีกองค์หนึ่ง ชื่ออินทกเทพบุตร มานั่งเช่นไรในตอนแรกก็ยังคงนั่งอยู่ในที่เดิมเช่นนั้น

พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเทพบุตรทั้งสองแล้ว มีพระประสงค์จะประกาศความแตกต่างกัน ระหว่างทานที่บุคคลถวายแด่ทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ กับทานที่บุคคลให้แล้วแก่โลกียมหาชน จึงตรัสถามอังกุรเทพบุตรว่า

“ดูก่อนอังกุระ ท่านให้ทานมาเป็นเวลานานถึง ๑๐,๐๐๐ ปี ก่อเตาหุงข้าวยาวเป็นแถวถึง ๑๒ โยชน์ทุกวัน แต่เมื่อมาสู่สมาคมของเรา ท่านกลับต้องนั่งห่างออกไปถึง ๑๒ โยชน์ ไกลกว่าเทพบุตรทั้งปวง นั่นเป็นเพราะเหตุใด ?”

อังกุรเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ได้บริจาคทานมากมายในสมัยที่เป็นมนุษย์ แต่เป็นทานที่ให้แก่มหาชนทั่วไป คือให้ทานในเวลาที่ปราศจากทักขิไณยบุคคล ส่วนอินทกเทพบุตรนี้ แม้ถวายทานเพียงน้อยนิด เพียงข้าวทัพพีเดียว แต่เพราะได้ทำถูกทักขิไณยบุคคล จึงรุ่งเรืองกว่าข้าพองค์ เหมือนดวงจันทร์รุ่งเรืองกว่าหมู่ดาวฉะนั้น”

พระศาสดาจึงตรัสถามอินทกเทพบุตร ผู้นั่งอยู่กับที่มิได้เคลื่อนย้ายไปไหนเลย อินทกเทพบุตรจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ถวายทานแด่ทักขิไณยบุคคล ดุจบุคคลหว่านพืชแม้น้อยลงในเนื้อนาดีผลย่อมงอกงามไพบูลย์” และเพื่อจะประกาศความสำคัญของทักขิไณยบุคคล จึงกราบทูลต่อไปว่า

“พืชแม้มากที่บุคคลหว่านลงในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ชาวนาเองก็ไม่ปลื้มใจฉันใด ทานแม้มีมากที่บุคคลให้แล้วในผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ทายกก็ไม่ปลื้มใจฉันนั้น ส่วนพืชแม้น้อย ที่บุคคลหว่านแล้วในนาดี ย่อมมีผลไพบูลย์ ชาวนาก็ปลาบปลื้มยินดีฉันใด ทานเล็กน้อยที่บุคคลทำในบุญเขต ในท่านผู้มีศีล มีคุณธรรมที่มั่นคง ย่อมอำนวยผลไพบูลย์ ยังบุคคลผู้ให้นั้น ย่อมให้ชื่นชมยินดี ฉันนั้น”

ทำไมอินทกเทพบุตรจึงพูดอย่างนี้ เพราะอินทกเทพบุตรนั้น เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ได้ถวายข้าวเพียงทัพพีเดียวแด่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุญนี้ย่อมมีผลมากกว่าทาน ที่อังกุรเทพบุตรเคยทำแล้วในอดีตชาติ คือได้ก่อเตาไฟหุงข้าวเป็นแถวยาวถึง ๑๒ โยชน์ เพื่อบริจาคในทุกๆ วันแก่คนธรรมดาทั่วไปถึง ๑๐,๐๐๐ ปี เมื่ออินทกเทพบุตรกราบทูลแล้ว พระบรมศาสดาจึงตรัสกับอังกุรเทพบุตรว่า

“ธรรมดาการให้ทาน ควรพิจารณาก่อนแล้วจึงให้ ทานนั้นย่อมมีผลมาก เหมือนการหว่านพืชลงในนาดี แต่เธอหาได้ทำเช่นนั้นไม่ เหตุนั้นทานของเธอจึงมีผลไม่มาก ส่วนทานที่บุคคลให้แล้วในเขตใดมีผลมาก ควรพิจารณาแล้วให้ในเขตนั้นเถิด เพราะการพิจารณาก่อนแล้วจึงให้ เราตถาคตย่อมสรรเสริญ ทานที่ให้แล้วในทักขิไณยบุคคล ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่บุคคลหว่านลงในนาดี ฉะนั้น”

จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ทานจะให้ผลอันไพบูลย์ได้ ก็ต่อเมื่อถวายแด่ผู้รับที่บริสุทธิ์ เป็นทักขิไณยบุคคล ผู้รับจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ทานนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ให้

ดังนั้น เราควรทำทานให้บริสุทธิ์ ครบองค์ประกอบของการให้ทั้ง ๓ อย่าง คือ วัตถุบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ ทั้งก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว และบุคคลบริสุทธิ์ทั้งผู้รับและผู้ให้ ย่อมได้ผลบุญมาก

พอเราถวายทานขาดจากใจเท่านั้น ศูนย์กลางกายของเรา ก็จะมีอายตนะของบุญบังเกิดขึ้น เป็นดวงใสบริสุทธิ์ ปุญญาภิสันทาท่อธารแห่งบุญก็หลั่งไหลมาจากอายตนนิพพาน มาจรดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของเรา ตามความบริสุทธิ์ของใจที่หยุดนิ่งตามกำลังของความปีติ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

ถ้าเลื่อมใสมากก็สว่างมาก เลื่อมใสน้อยบุญก็ลดหย่อนไปตามส่วน แล้วกระแสบุญที่ใสสว่างบริสุทธิ์นี้ ก็จะเป็นต้นเหตุแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต เช่น ทำให้เราได้มีรูปสมบัติที่งดงามแข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ มีอายุขัยยืนยาว ถ้าหากบารมีเต็มเปี่ยมก็งามไม่มีที่ติ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ถ้าบารมีลดหย่อนลงมา รูปสมบัติของเราก็ลดหย่อนลงมาตามลำดับ

อีกทั้งบุญนั้นก็ยังทำให้เกิดทรัพย์สมบัติ ทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง เกิดขึ้นมาจากบุญบันดาล กระแสแห่งบุญนี้จะไปดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลายเข้ามาหาตัวเรา เอาไว้สำหรับ หล่อเลี้ยงสังขาร พวกพ้องบริวารและก็เพื่อการสร้างบารมี

นอกจากนี้บุญยังก่อให้เกิดคุณสมบัติ คือความรู้ความเฉลียวฉลาด ไหวพริบปฏิภาณคล่องแคล่ว คุณสมบัติต่างๆ ก็จะบังเกิดขึ้น เพื่อใช้ในการปกครองตน ปกครองคน ปกครองงาน และก็สร้างบารมี รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ เกิดขึ้นมา เพราะกระแสธารแห่งบุญนี้ดลบันดาลให้เกิดขึ้น ดึงดูดให้เกิดขึ้น

ความสมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน ก็เกิดขึ้นมาด้วยกระแสแห่งบุญนี่แหละ เพราะฉะนั้นบุญจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียว จะต้องสร้างกันให้มากๆ ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ความสุขความสำเร็จก็จะยิ่งเกิดขึ้นมาก และหมั่นรักษาใจของเราให้อยู่ในแหล่งของบุญ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้อยู่ที่ตรงนี้ตลอดเวลาเลย

วันจันทร์ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

มองด้วยปัญญาพาให้หลุดพ้น

ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา มีทั้งความสุขภายนอกและความสุขภายใน ความสุขภายนอกหรือที่เรียกว่าความสุขทางกาย บางครั้งอาจต้องทำตามกระแสกิเลสคือราคะโทสะและโมหะที่ทำให้อยากได้อยากมีอยากเป็น ซึ่งเมื่อเป็นไปตามกระแสกิเลสแล้ว ก็ต้องเจือด้วยความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนความสุขภายในหรือสุขทางใจนั้นเลิศกว่าความสุขภายนอก ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เราแสวงหา เป็นความสุขที่อยู่เหนือกระแสกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความสุขชนิดนี้จะนำมาแต่ความเย็นกายเย็นใจ แม้เป็นฆราวาสผู้ครองเรือน ก็สามารถแสวงหาความสุขที่แท้จริงนี้ได้ โดยเฉพาะธุรกิจกับจิตใจต้องพัฒนาควบคู่กันไป ซึ่งความสุขภายในนี้จำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราต้องทำความรู้จัก จะพบเจอก็ต่อเมื่อปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา ทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงธรรมะภายในเท่านั้น

มีพุทธวจนะที่ปรากฏในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาตว่า

อปฺปมตฺติกา เอสา ภิกฺขเว ปริหานิ ยทิทํ โภคปริหานิ เอตํ ปฏิกิฏฺฐํ ภิกฺขเว ปริหานีนํ ยทิทํ ปญฺญาปริหานิ

ความเสื่อมญาติ โภคะ ยศ มีทุกข์มีโทษน้อย ส่วนความเสื่อมปัญญา มีทุกข์มีโทษมากกว่าความเสื่อมทั้งหลาย”

ความเสื่อมแม้เพียงเล็กน้อย ใครๆ ก็ย่อมไม่ปรารถนา แต่สิ่งที่จะต้องไม่ให้เสื่อมและต้องรักษาไว้ให้ดีคือสติและปัญญา เพราะความเสื่อมทั้งหลายที่ก่อให้เกิดความหายนะ และก่อให้เกิดทุกข์ที่ยิ่งไปกว่าความเสื่อมของสติและปัญญานั้น ย่อมไม่มี สติและปัญญานั้น เป็นยอดแห่งสมบัติทั้งหลาย เมื่อยังมีอยู่ ถึงแม้จะเสื่อมจากสิ่งอื่นไป ก็ยังสามารถแสวงหามาใหม่ได้ แต่ปัญญาความรอบรู้ โดยเฉพาะปัญญาที่ทำให้เข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม จะทำให้เรามีชีวิตที่สว่างไสวทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย สำหรับวันนี้มีตัวอย่างของพระเถระผู้มีปัญญาสามารถนำพาตนให้ข้ามพ้นสังสารวัฏนี้ไปได้แม้ในยามวิกฤติ ซึ่งยากที่ใครจะสามารถทำได้ ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น เราลองมาศึกษากันดูเลย

*มก. จันทนเถรคาถา เล่ม ๔๖/๑๒

*สมัยพุทธกาลมีพระเถระองค์หนึ่งชื่อว่าจันทนะ ก่อนที่ท่านจะมาเกิดร่วมยุคสมัยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา อดีตชาติที่ผ่านมา ท่านเป็นผู้ที่ชอบสั่งสมบุญกุศลจนเป็นอุปนิสัย เพราะท่านรู้ว่าบุญเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย การจะได้โลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์ ก็ล้วนได้มาด้วยอานุภาพบุญที่สั่งสมเอาไว้อย่างดีแล้วทั้งนั้น

ย้อนไปในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เมื่อโลกว่างเว้นจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเถระได้ถือกำเนิดเป็นรุกขเทวามีวิมานอยู่ที่ต้นไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งการเกิดเป็นรุกขเทวานี้ ก็จัดอยู่ในเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นเทวดาชั้นล่าง เทวดาชั้นนี้ถ้าใส่ใจในบุญกุศลก็จะมีโอกาสทำความดีได้มากกว่าเทวดาชั้นสูง เพราะอยู่ใกล้กับภพภูมิของมนุษย์ ใกล้กับเนื้อนาบุญคือพระภิกษุสามเณร และชาติที่พระเถระเป็นรุกขเทวา ท่านก็เป็นรุกขเทวาผู้มีสัมมาทิฏฐิใส่ใจในการสร้างบุญสร้างกุศล

วันหนึ่งรุกขเทวานั้นได้เห็นพระสุทัสสนะปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งพักอาศัยและปฏิบัติธรรมอยู่ในระหว่างซอกเขา เมื่อเห็นแล้วก็มีจิตเลื่อมใสในข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามของพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งความสงบสำรวมของสมณะนี้ ย่อมเป็นทางมาแห่งหนทางสวรรค์และพระนิพพานของผู้ที่ได้พบเห็นทีเดียว เมื่อรุกขเทวา ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้นำดอกอัญชันไปบูชาพระองค์ ด้วยบุญแห่งอามิสบูชาที่ทำด้วยจิตที่เลื่อมใสในครั้งนั้น ทำให้ท่านได้ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ไม่ได้ไปเกิดในภพภูมิอื่นเลย

ครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามาบังเกิดขึ้นในโลกและได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วทรงเป็นที่พึ่งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ท่านก็ได้มาบังเกิดในตระกูลที่ผู้คนนับหน้าถือตา เป็นลูกของคฤหบดี มีทรัพย์สมบัติมาก อาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี มีนามว่าจันทนะ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มก็ได้แต่งงานมีคู่ครอง มีลูกน้อยสุดที่รักคนหนึ่ง ต่อมา มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอฟังจบเท่านั้นก็ได้บรรลุธรรมเข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนา หลังจากที่ท่านได้เข้าถึงความสุขภายใน ที่ยิ่งกว่าความสุขภายนอกแล้ว ก็เกิดเบื่อหน่ายในการครองเรือน ในการใช้ชีวิตคู่ เลยยกทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดให้บุตรและภรรยา แล้วก็ออกบวช ครั้นบวชแล้วท่านก็เป็นผู้ที่รักในการฝึกฝนอบรมตนเอง และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนสหธรรมิก มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส โดยเฉพาะเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านก็ปฏิบัติอยู่เป็นประจำสมํ่าเสมอและมักปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเพียงลำพัง

เมื่อไม่สามารถบรรลุธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมได้ จึงอยากจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ เพื่อฟังธรรมและถามปัญหาในการปฏิบัติธรรม เมื่อคิดแล้วท่านก็กลับกรุงสาวัตถี ฝ่ายอดีตภรรยา พอทราบข่าวการกลับมาของพระเถระ ก็รีบแต่งเนื้อแต่งตัวสวยงามเพื่อไปต้อนรับ หวังจะหว่านล้อมให้พระเถระสึกออกมาด้วยมารยาของตนทั้งสองนั้น ก็ได้ไปพบกันในระหว่างทางพอดี เมื่อพบกันแล้ว พระเถระก็ตั้งสติมั่นว่า “เราจะไม่ยอมลุ่มหลง ไปตามอำนาจกิเลสของนางอย่างเด็ดขาด” จากนั้นก็ประคองสติหยุดใจไว้ในภายใน เพราะมีสติสำรวมระวังอินทรีย์เป็นอย่างดี ทำให้ใจของท่านหยุดนิ่งตั้งมั่นเป็นพิเศษ ในระหว่างที่อดีตภรรยาพร้อมกับลูกและบริวารกำลังเดินมาหานั่นเอง ท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในระหว่างทางนั้นนั่นเอง แล้วก็เหาะขึ้นไปยืนในอากาศแสดงธรรมแก่อดีตภรรยาพร้อมทั้งลูกและบริวาร ได้ยังใจของนางให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ได้ให้นางสมาทานศีลและเจริญภาวนา

นี่ก็ถือว่าเป็นการแสดงความรักและความปรารถนาดีอย่างถูกวิธี เพราะถ้าเรารักและปรารถนาดีต่อใครก็ตาม อยากให้เขามีชีวิตที่มีแต่ความสุขอย่างแท้จริง ก็จะต้องแนะนำให้เขารู้จักการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอย่างนี้แหละ จึงจะเรียกว่ารักกันจริง เพราะถ้าทำอย่างอื่น ก็ต้องถือว่ารักกันยังไม่ถูกทาง เมื่อไม่ถูกทางชีวิตก็ลุ่มๆ ดอนๆ ละโลกแล้ว ก็อาจมีอบายภูมิเป็นที่ไปได้

เมื่อพระเถระกลับมาถึงที่พักแล้ว เพื่อนภิกษุเห็นว่าท่านมีผิวพรรณผุดผ่องกว่าทุกวัน ก็ถามว่า “อาวุโส ทำไมวันนี้ผิวพรรณท่านผ่องใสยิ่งนัก ท่านแทงตลอดสัจจะธรรมได้แล้วหรือ” พระเถระจึงตอบว่า “ภรรยาเก่าของกระผมแต่งตัวด้วยเครื่องประดับที่ทำด้วยทอง แวดล้อมด้วยหมู่ทาสี ได้อุ้มบุตรเข้ามาหากระผม เวลาที่เห็นภรรยาผู้เป็นมารดาของบุตรกำลังเดินมา กระผมก็เห็นบุตรและภรรยา ย่อมเป็นดุจบ่วงที่พญามารดักเอาไว้ กระผมนั้นเป็นผู้มีใจมั่นคง มีจิตมุ่งตรงต่อพระนิพพาน โทษแห่งสังขารทั้งหลายก็เกิดปรากฏขึ้น ความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏจึงมีแก่กระผมจิตของกระผมนั้นหลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ ขอท่านทั้งหลาย จงดูความที่ธรรมเป็นของดีเลิศ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ผมได้แทงตลอดแล้ว ร่างกายที่สวยสดงดงามเห็นปานนี้ ย่อมถูกชราพยาธิและมรณะครอบงำ โอ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ”

พระจันทนะเถระเป็นผู้ที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องความเป็นจริงของชีวิต แม้จะเกิดในตระกูลที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่กลับมีจิตใจที่สูงส่ง มิได้ยึดติดทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เป็นโลกิยสมบัติ ได้สละสมบัติเหล่านั้น ออกบวชเพื่อมุ่งไปเอาสมบัติอันประณีต ที่เป็นโลกุตตรสมบัติ ท่านเป็นผู้มีปัญญาอันประเสริฐ เพราะเป็นปัญญาเพื่อความหลุดพ้น สามารถสอนตนเองได้ จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งมวล

สิ่งรอบๆตัวเราทุกอย่าง สามารถเป็นครูสอนเราได้ทั้งนั้น ถ้าเราไม่ปล่อยผ่าน รู้จักใช้สติปัญญาขบคิดพิจารณา ก็จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง และก็จะไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาและอุปสรรค เพราะเราดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีสติและมีปัญญา โดยเฉพาะปัญญาที่เป็นพุทธิปัญญาของผู้รู้อย่างแท้จริง จะต้องได้มาจากการปฏิบัติธรรม เมื่อเราเข้าถึงพระธรรมกายภายใน ปัญญาของเราก็จะเป็นปัญญาบริสุทธิ์ที่จะนำพาเราให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวลกั

วันพุธที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

วิชชาของชีวิต

ชีวิตจะมีความสุขมากหรือน้อย ล้วนขึ้นอยู่ที่ใจเป็นหลัก เราสามารถที่จะทำให้มีมากขึ้นหรือลดน้อยลง จนกลายเป็นความทุกข์ก็ได้ เมื่อเรามัววิตกกังวลหรือคิดเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดีกว่า ก็จะทำให้สิ่งที่มีอยู่นั้นด้อยคุณค่า ในทางกลับกัน หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่ด้อยกว่า ก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่เรามีอยู่นั้นดีกว่า สรรพสิ่งในโลกล้วนมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราว่า เราจะเลือกเอาอย่างไหน ผู้ฉลาดพึงเลือกที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขความเจริญ ด้วยการสั่งสมบุญอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะบุญที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา เพียงน้อมใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาสบาย เมื่อถูกส่วนเข้าก็จะเห็นแสงสว่าง พบดวงธรรม พบกายในกาย จนกระทั่งได้เข้าถึง พระธรรมกาย เมื่อเข้าถึงตรงนั้นได้ จะมีแต่ความสุขอย่างเดียว ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นใจเจริญสมาธิภาวนาทำใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกวัน

มีพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ความว่า

อยสา ว มลํ สมุฏฺฐิตํ

ตทุฏฺฐาย ตเมว ขาทติ

เอวํ อติโธนจารินํ

สานิ กมฺมานิ นยนฺติ ทุคฺคตึ

กรรมทั้งหลายที่เป็นของตน ย่อมนำบุคคล ผู้ขาดปัญญาในการพิจารณาใช้ปัจจัยสี่ ไปสู่ทุคติ เหมือนสนิมเกิดจากเหล็ก ถ้ายังอยู่กับเหล็ก ย่อมกัดกินเหล็กเรื่อยไป”

การกระทำทุกอย่างทั้งทางกาย วาจาและทางใจ รวมเรียกว่า กรรม เมื่อได้ทำไปแล้ว จะถูกเก็บบันทึกไว้ทันที ด้วยกล้องชั้นดีที่สุดในโลก คือ ใจของเราเอง จากนั้น ผลแห่งการกระทำจะคอยส่งผลติดตามมาโดยตลอด เหมือนเงาติดตามตัว รวมเรียกว่าวิบากกรรม ดังนั้น ก่อนที่จะทำอะไรลงไป ต้องมีสติ ใช้ปัญญาพิจารณาให้ดี ให้ทำแต่สิ่งที่ทำให้ใจของเราผ่องใส เช่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาเป็นต้น อย่าให้ใจของเราไปยึดติดอยู่กับคนสัตว์สิ่งของ หรือสิ่งที่ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกเป็นอันขาด เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีห่วงมีอาลัย แล้วใจจะเศร้าหมอง ความหมองของใจสำหรับผู้ใกล้จะตาย เป็นอันตรายต่อการเดินทางไปสู่ปรโลก

*มก. พระติสสเถระ เล่ม ๔๓/๑๖

*ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้ขาดปัญญาพิจารณาในการใช้สอยจีวร ซึ่งญาติโยมนำมาถวาย จึงมีจิตผูกพันอย่างแน่นแฟ้น เมื่อละโลกไปแล้ว แทนที่จะได้ไปสวรรค์หรือไปสู่สุคติภูมิ กลับต้องไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรผืนนั้น

เรื่องมีอยู่ว่า กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้รับฉายาว่า ติสสะ เมื่อบวชแล้ว ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดในชนบท ได้ผ้าสาฎกเนื้อหยาบมาประมาณ ๘ ศอก พอออกพรรษาแล้ว ท่านได้เดินทางกลับไปวัดบ้านเกิด นำผ้านั้น ไปฝากโยมพี่สาวไว้ก่อน ครั้นโยมพี่สาวรับผ้ามาแล้ว เห็นว่าผ้าสาฎกผืนนี้ไม่เหมาะสมกับพระน้องชาย พระน้องชายควรจะได้นุ่งห่มผ้าที่เนื้อดีกว่านี้ จึงนำผ้าผืนนั้นไปสาง ดีด กรอ ปั่น ทำให้ด้ายละเอียดกว่าเดิม แล้วทอเป็นผ้าสาฎกผืนใหม่

ฝ่ายพระน้องชายได้จัดแจงด้ายและเข็ม แล้วไปนิมนต์เพื่อนสหธรรมิกมาประชุมกันทำจีวร จากนั้นจึงไปหาโยมพี่สาวที่บ้าน เพื่อขอผ้าสาฎกคืน โยมพี่สาวนำเอาผ้าสาฎกประมาณ ๙ ศอกผืนใหม่ออกมาถวาย ท่านรับผ้าสาฎกนั้นมาพิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ใช่ผ้าผืนที่ได้นำมาฝาก จึงบอกว่า “ผ้าสาฎกของฉันเนื้อหยาบ ยาวประมาณ ๘ ศอก แต่ผืนนี้เนื้อละเอียดยาวประมาณ ๙ ศอกกว่าๆ ผ้านี้มิใช่ผ้าสาฎกของอาตมา นี่เป็นผ้าสาฎกของโยมพี่”

เมื่อโยมพี่สาวได้ชี้แจงบอกให้พระน้องชายหายคลางแคลงแล้ว ท่านจึงยอมรับเอาผ้าผืนนั้นไปวิหาร แล้วเริ่มทำจีวรกับเพื่อนสหธรรมิก ฝ่ายโยมพี่สาวได้จัดแจงอาหารหวานคาว ไปถวายภิกษุสามเณรผู้ทำจีวรของพระติสสะทุกวัน ในวันที่จีวรเสร็จ โยมพี่สาวได้ถวายอาหารที่อร่อยเป็นพิเศษ และเครื่องไทยธรรมอีกมากมาย ส่วนพระติสสะมองดูจีวรแล้ว เกิดความปีติเบิกบานเป็นพิเศษ ที่จะได้ใช้จีวรที่ประณีต ซึ่งที่ผ่านมาท่านไม่เคยได้ครองผ้าที่มีเนื้อละเอียดอย่างนี้มาก่อน จึงคิดว่า “พรุ่งนี้ เราจะห่มจีวรผืนนี้ออกบิณฑบาต” แล้วพับพาดไว้ที่สายระเดียง แต่ในคืนวันนั้นเอง ท่านเกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย จึงมรณภาพลง แล้วไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรผืนนั้นเอง

พวกภิกษุได้ช่วยกันสลายร่างของท่าน แล้วปรึกษากันว่า “เมื่อภิกษุอุปัฏฐากไข้ของพระติสสะ ไม่มี จีวรของท่านก็ต้องตกเป็นของสงฆ์ ฉะนั้น พวกเราควรแบ่งจีวรผืนนี้ถวายภิกษุผู้มีพรรษากาลมากที่สุด” แล้วจึงให้นำจีวรผืนนั้นออกมา ฝ่ายเล็นได้เห็นการกระทำของพระภิกษุ จึงเกิดความหวงแหนในจีวร โดยลืมว่าตัวเองไม่ได้เป็นพระแล้ว บัดนี้เป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ ที่อาศัยผ้าอยู่เท่านั้น จึงกระโดดร้องไปมาว่า “ภิกษุพวกนี้ กำลังแย่งจีวรของเรา”

พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงของเล็นด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอไปบอกพวกภิกษุทั้งหลายว่า อย่าพึ่งแบ่งจีวรของติสสะ ให้เก็บเอาไว้สัก ๗ วันก่อน” พระเถระจึงไปแจ้งให้ภิกษุทั้งหลายทราบ พอครบ ๗ วัน เล็นก็หมดอายุขัยพอดี และจิตก็ได้คลายความยึดมั่นถือมั่น ครั้นตายลง จึงทำให้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต

ในวันที่ ๘ พระศาสดารับสั่งให้แบ่งจีวรของติสสะได้ หลังจากแบ่งจีวรตามพระบรมพุทธานุญาตแล้ว จึงนั่งสนทนากันในธรรมสภาว่า “ทำไมหนอ พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้เก็บจีวรของพระติสสะไว้ถึง ๗ วัน” เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาที่โรงธรรมสภาแล้วตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนาเรื่องอะไรกันหรือ” เมื่อตัวแทนของภิกษุกราบทูลให้ทราบ จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ติสสะมรณภาพแล้วไปเกิดเป็นเล็นที่จีวรของตน เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาในการใช้สอยปัจจัยสี่ ขณะที่พวกเธอจะแบ่งจีวรกันนั้น เขาได้วิ่งร้องไปข้างโน้นทีข้างนี้ทีว่า “ภิกษุพวกนี้กำลังแย่งจีวรของเรา”

ฉะนั้น เมื่อพวกเธอแบ่งจีวรไปใช้ เล็นก็จะโกรธเคืองจนจิตเศร้าหมอง ในที่สุดก็ต้องตกนรก ด้วยเหตุนี้ ตถาคตจึงสั่งให้เก็บจีวรเอาไว้ก่อน แต่เดี๋ยวนี้ เขาได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในจีวร ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงอนุญาตให้พวกเธอรับเอาจีวรไปใช้ได้ตามสะดวก

เมื่อภิกษุสงฆ์กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ความห่วงหาอาลัยนี้เป็นภัยร้ายนัก” จึงตรัสรับรองว่า “ถูกต้องแล้วภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหา ความห่วงอาลัย ความทะยานอยากของสัตว์ เป็นมหันตภัยอย่างยิ่ง สนิมเกิดจากเหล็ก ย่อมกัดก้อนเหล็กให้เหล็กพินาศไป ทำให้ใช้สอยไม่ได้ ฉันใด ตัณหานี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เกิดขึ้นภายในใจของสัตว์เหล่าใด ย่อมทำให้สัตว์เหล่านั้นเกิดในอบายมีนรก เป็นต้น”

จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า สภาพใจของเฮือกสุดท้ายของชีวิต มีผลต่อชีวิตใหม่ในปรโลกอย่างไรบ้าง ซึ่งเราจะดูเบาไม่ได้เลย ถ้าหากจิตไปผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ทำให้มีความอาลัยซึ่งจะทำให้ใจเศร้าหมอง แล้วบาปอกุศลจะได้ช่อง ชิงช่วงนำไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ใจต้องใสๆ อย่างน้อยต้องให้อยู่ในบุญ ใจต้องติดอยู่กับพระรัตนตรัย ความรู้นี้เป็นเคล็ดวิชาที่เราต้องศึกษาเอาไว้ คือต้องรู้จักผูกใจไว้กับธรรมะ และในบุญกุศล อย่าเอาไปผูกไว้กับคน สัตว์ สิ่งของซึ่งไม่ใช่สรณะ เพื่อใจจะได้ผ่องใสและมีสุคติเป็นที่ไป

ความไม่รู้หลักวิชาในการเดินทางไปสู่ปรโลก เป็นอันตรายต่อชีวิตมาก ผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อเห็นคนใกล้ตัวใกล้จะสิ้นใจ จะไม่มัวตกอกตกใจ หรือแสดงอาการเศร้าโศกเสียใจ แต่จะคอยพูดให้ใจสบายและเตือนสติว่า ให้นึกถึงบุญ นึกถึงพระ ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นอารมณ์ เป็นการบอกหนทางสรรค์ให้แก่ผู้ตาย เพราะฉะนั้น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดนี้ เป็นศึกชิงภพของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในไม่ช้าก็ต้องประสบพบเจอกันทั้งนั้น ให้หมั่นเจริญมรณานุสติ จะได้ไม่ประมาทในชีวิต และหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้ใจติดอยู่กับพระรัตนตรัยภายใน แล้วเราจะจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะกันทุกคน

วันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

จากพรานมาเป็นพระ

การเรียนรู้มีสองวิชาหลักที่ต้องเรียนรู้ คือ วิชาชีพกับวิชาชีวิต วิชาชีพหมายถึงความรู้ความสามารถเพื่อปากเพื่อท้องในชาตินี้ ส่วนวิชาชีวิตเป็นวิชาที่จะละทิ้งไม่ได้ วิชาชีวิตเป็นวิชาในการเอาตัวรอดจากภัยจากความทุกข์ในสังสารวัฏ เป็นวิชาที่ทุกชีวิตจะต้องให้ความสำคัญ เพราะชีวิตหลังความตายนั้นยืนยาวกว่าความเป็นอยู่ในชาตินี้ ผู้ที่เห็นแต่ความสำเร็จสมหวังในปัจจุบันชาติ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตในปรโลก ถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้คับแคบ แม้ว่าหลายๆ ท่านจะจบดอกเตอร์มีปริญญาสี่ห้าใบก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่สร้างบุญบารมีเพิ่มก็ย่อมยากที่จะเห็นความสำเร็จสมหวังได้อีก เพราะมองชีวิตออกแค่ก่อนตาย ฉะนั้น การจะศึกษาวิชาชีวิตให้ได้ดี และมีความรู้ความเข้าใจสมบูรณ์ก็จะต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่ง ยิ่งใจเราหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ได้เท่าไหร่ ความจริงของชีวิตเราก็จะสามารถเรียนรู้ได้ง่ายมากเท่านั้น แล้วจะทำให้เรารู้ว่าชีวิตข้างหน้านั้น เราควรจะดำเนินไปอย่างไร

มีวาระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในเถราคาถา อปทาน ความว่า

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ

ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ

เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ

น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี ฯ

น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ อุโภ สมวิปากิโน

อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ

ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ สภาพทั้งสองคือ ธรรมและอธรรม ย่อมมีวิบากไม่เสมอกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ”

ผู้ประพฤติธรรม ไม่ว่าจะหลับจะตื่นจะนั่งนอนยืนเดิน ก็ย่อมมีแต่ความสุข เพราะธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมคือสภาพที่ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์และความดีทั้งหลาย แต่ไหนแต่ไรมาไม่มีผู้ใดเลยที่ปฏิบัติธรรมแล้วจะตกต่ำ โดยเฉพาะเมื่อสามารถเข้าถึงพระธรรมกายภายในที่เป็นแก่นของชีวิตได้ พระธรรมกายก็จะช่วยประคับประคองผู้เข้าถึงให้อยู่ในเส้นทางแห่งความดีตลอดไป

ธรรมะที่ปฏิบัติคือแผนที่เดินทางไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน พระธรรมเป็นความรู้ที่ยิ่งกว่าความรู้ทั้งหลาย เพราะผู้ที่รู้และดำรงตนอยู่ในธรรมแล้วจะเข้าถึงความสุขความสำเร็จที่ยิ่งกว่าความสุขความสำเร็จที่ได้มาจากสิ่งอื่น ผู้ที่ให้ความสำคัญให้ความเคารพในพระธรรม ย่อมเป็นบุคคลที่มีแต่ความสุข ดังเช่นอดีตชาติของพระธัมมิกะเถระผู้มีอัธยาศัยชอบสร้างความดี มีใจเป็นบุญกุศล ด้วยอานิสงส์นี้ทำให้ท่านได้เกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง

*มก. ธัมมิกเถรคาถา เล่ม ๕๒/๕๐

*ในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขีท่านก็ได้มาเกิดร่วมยุคกับพระพุทธองค์ ท่านได้มีประกอบอาชีพเป็นพรานป่าล่าสัตว์ วันหนึ่ง ขณะที่พระบรมศาสดากำลังแสดงธรรมโปรดเหล่าเทพเทวาอยู่ในป่านั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่นายพรานกำลังล่าสัตว์ ขณะกำลังเดินป่าล่าอยู่นั้นก็ได้มาถึงป่าแห่งนั้น ซึ่งป่าแห่งนั้นเป็นป่าที่สว่างไสวด้วยรัศมีของพระพุทธองค์ และหมู่ทวยเทพทั้งหลาย นายพรานเห็นพระพุทธองค์แล้วก็บังเกิดความเลื่อมใสไม่มีประมาณ ยิ่งได้สดับพระธรรมเทศนาที่กำลังแสดงโปรดเหล่าทวยเทพ ก็ยิ่งมีเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธามากยิ่งขึ้น และได้บังเกิดความเคารพพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์กำลังแสดงอยู่เป็นพิเศษถึงแม้ว่าจะไม่เข้าใจบทแห่งธรรมที่ทรงแสดงอยู่ก็ตาม เพราะคิดว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์แสดงโปรดเหล่าเทวดา ต้องเป็นความรู้ที่หาฟังได้ยาก และตลอดชีวิตหลังจากวันนั้นนายพรานก็ได้ทำความเคารพเลื่อมใสในพระธรรมอย่างสมํ่าเสมอ ด้วยบุญนั้น ก็ส่งผลให้ท่านได้เกิดอยู่ในสองภพภูมิเท่านั้นคือในเทวโลกและมนุษยโลก

ต่อมาในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านก็ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในโกศลรัฐ มีชื่อว่าธัมมิกะ และในวันที่ท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีได้ถวายวัดพระเชตวันมหาวิหารแด่พระหมู่สงฆ์โดยมีพระพุทธองค์เป็นประมุข มานพหนุ่มธัมมิกะก็ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์นั้นด้วย ทำให้ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรมพระธรรมเทศนา และก็ได้บังเกิดความเลื่อมใสในหมู่สงฆ์ ผู้มีความสงบเสงี่ยมสง่างาม มีผิวพรรณผ่องใส และก็มีความเห็นว่า เพศนักบวชเป็นเพศที่บริสุทธิ์ที่สุด จึงออกบวช ต่อมาก็รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ณ วัดใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อพรรษากาลของท่านมากขึ้นท่านก็เป็นพระที่มีความความอดทนน้อย ขี้รำคาญ ชอบจับผิดจู้จี้จุกจิก ไม่ว่าใครจะทำอะไรท่านก็สามารถตำหนิได้ทุกเรื่อง ทำให้เพื่อนพระภิกษุด้วยกันเกิดความเอื่อมระอาหมดความอดทน ส่งผลให้ไม่มีความสุข ในการปฏิบัติธรรม จึงได้พากันหลีกหนีไปอยู่วัดอื่น ท่านพระธัมมิกะจึงต้องอยู่องค์เดียวในวัด

ฝ่ายอุบาสกเจ้าภาพใหญ่ในการสร้างวัดทราบเรื่องนั้นเข้าก็คิดที่จะแก้ไข เพราะตนอุตส่าห์สร้างวัดหวังจะให้พระอยู่กันมากๆ ยิ่งพระอยู่มาก ก็จะมีโอกาสได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญได้มากขึ้นตามลำดับ พอคิดแล้ว อุบาสกก็นำความกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องทั้งหมดก็ตรัสเรียกธัมมิกะภิกษุมาซักถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท่านก็ยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเองด้วยความเคารพ เมื่อพระพุทธองค์เห็นว่าท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เป็นผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่รู้จักการวางตัวกับผู้คน เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ไม่บริบูรณ์เท่านั้น แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนว่า “ภิกษุ ไม่เฉพาะแต่ชาตินี้เท่านั้นที่เธอเป็นอย่างนี้ ชาติก่อนๆ เธอก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน” จากนั้นก็ทรงแสดงอดีตชาติของท่านที่เกิดเป็นรุกขเทวดาแล้วไม่สามารถรักษารุกขธรรมได้ให้ท่านได้ฟัง

รุกขธรรมหมายถึงธรรมที่รุกขเทวาไม่ทำอันตรายแก่ผู้ที่ตัดต้นไม้ โดยที่สุดจะต้องไม่คิดล้างแค้นไม่โกรธในแม้ต้นไม้ของตนจะถูกตัดก็ตาม สำหรับเทวดาถ้าโกรธมากๆ จนห้ามความโกรธไม่ได้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องจุติ ฉะนั้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำให้ได้ คือไม่โกรธไม่คิดประทุษร้าย ไม่อย่างนั้นก็จะจุติคือตายจากการเป็นเทวดา

เมื่อจบพระธรรมของพระพุทธองค์ พระธัมมิกเถระผู้ได้ปล่อยใจเข้าสู่ภายใน สามารถทำใจหยุดใจนิ่งตามพระกระแสเสียงที่ไพเราะก้องกังวาลของพระมหาบุรุษ ก็ได้บรรลุธรรมเข้าถึงพระธรรมกายอรหัตเป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส

จากชีวิตพรานป่าก็มาเป็นพระแท้ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่ใช่มีเฉพาะมนุษย์ ที่ต้องการเนื้อนาบุญ เทวดาเองเขาก็ยังต้องการเนื้อนาบุญ ฉะนั้น ชีวิตของท่านถือว่าชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตที่พัฒนามาโดยลำดับ ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่แม้ตอนแรกที่ท่านฟังก็ไม่เข้าใจขณะเป็นพรานแต่ด้วยการที่ให้สำคัญต่อพระธรรมอย่างเดียว ซึ่งเราก็อาจจะนึกไม่ถึงเลยถึงอานิสงส์ว่าจะยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ ฉะนั้น บุญแต่ละบุญอย่าไปคิดว่าเป็นบุญเล็กบุญน้อย เพราะขึ้นชื่อว่าบุญล้วนมีผลมาก

พระธรรมเป็นที่พึ่งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นแสงสว่างส่องทางชีวิตให้เราเห็นความทุกข์ที่ต้องหลีกหนี และความสุขที่แท้จริงที่จะต้องแสวงหา ผู้ใดที่มีพระธรรมอยู่ในหัวใจจะเป็นผู้ที่สว่างไสวทั้งขณะมีชีวิตอยู่ ละโลกไปแล้วก็จะสว่างไสวต่อในปรโลก ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตจะต้องเจริญรุ่งเรืองอยู่ภายใต้ร่มธรรม จึงจะเป็นความเจริญรุ่งเรืองที่ร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง เหมือนอดีตชาติของพระธัมมิกะเถระที่เคารพในพระธรรม แล้วชีวิตของท่านก็ไม่เคยตกต่ำเลยแม้แต่ชาติเดียว นี้เป็นเพียงอานิสงส์ที่ให้ความสำคัญให้ความเคารพพระธรรมในภายนอกเท่านั้น ยิ่งหากเราเข้าถึงพระธรรมภายใน อานิสงส์จะยิ่งส่งผลมากมายมหาศาลยิ่งกว่านี้อีกนับไม่ถ้วน ถ้าเราปรารถนาที่จะเข้าถึงธรรมก็ต้องทำสมาธิเจริญภาวนา หมั่นสั่งสมบุญบารมี โดยเฉพาะทานศีลภาวนาหรือบารมี๓๐ทัศที่จะช่วยกลั่นธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ จะทำให้ใจเราสว่างไสวเพราะได้กระแสบุญมาหล่อเลี้ยง เมื่อเราหลับตาทำสมาธิหยุดใจไว้ภายในก็จะทำได้โดยง่าย และก็จะได้เข้าถึงธรรมกันอย่างสะดวกสบายกันทุกคน