การศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติธรรม จะพาเราให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร หลุดพ้นจากเครื่องจองจำ คือ กิเลสอาสวะทั้งหลาย การที่เราจะเข้าถึงจุดแห่งความรู้ที่บริสุทธิ์นั้นได้ จะต้องทำใจให้หยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน จึงจะสามารถเข้าไปศึกษาเรื่องราวของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เราจะเข้าถึงวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เมื่อเข้าถึงแล้ว การศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต เราจะรู้เห็นได้อย่างถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง เราจะได้ทั้งความรู้และความบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน
มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ ใน ชวสกุณชาดก ความว่า
“น่าติเตียนคนที่ไม่รู้จักบุญคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน ผู้ที่ไม่ทำคุณประโยชน์ให้กับใครๆ และผู้ที่ไม่ตอบแทนคุณที่ท่านทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การคบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์
บุคคลไม่ได้มิตตธรรมด้วยอุปการคุณที่ตนประพฤติ ไม่พึงริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้น”
ความกตัญญู คือ การรู้คุณของบุคคลอื่นที่ได้ทำไว้กับตน แล้วหาโอกาสตอบแทนคุณอยู่เสมอ คุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของบัณฑิต ที่รู้คุณของผู้มีอุปการะคุณแก่ตน และรู้จักตอบแทนบุญคุณที่ท่านเหล่านั้นได้ทำไว้กับเราในกาลก่อน คนที่มีคุณธรรม คือ กตัญญูนี้ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ยามย่างก้าวไป ณ แห่งหนตำบลใด จะได้รับการต้อนรับด้วยมิตรไมตรี ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรขจายไปไกล เมื่อมีใครรับรู้รับทราบคุณธรรมของผู้นั้นแล้ว ถ้าเป็นหัวหน้า จะเป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จะเป็นที่รักของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ไปอยู่ในสังคมใด จะเป็นที่ต้องการของสังคมนั้น ฉะนั้น ความกตัญญูเป็นสัญลักษณ์ของคนดี คนที่มีจิตใจสูงส่ง และเป็นที่รักเคารพนับถือของมหาชนเป็นอันมากอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีความกตัญญูกตเวที ไม่คิดที่จะตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณ เมื่อใครรู้เข้าก็จะเป็นที่ติเตียน เป็นที่รังเกียจ ไม่มีใครให้ความเคารพยำเกรง หรือคบหาสมาคมด้วย ชีวิตของคนประเภทนี้มีแต่ความโดดเดี่ยว หาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก ชีวิตนับวันพลันแต่จะตกต่ำลงเรื่อยๆ ดังเรื่องของพระเทวทัต ผู้มีความอกตัญญูมาข้ามภพข้ามชาติ ที่เราจะได้ ติดตามกันต่อไปนี้
*มก. ทุพภิยมักกฎชาดก เล่ม ๕๗/๑๓๙
*ในสมัยพุทธกาล มีอยู่วันหนึ่ง ที่พระวิหารเวฬุวันมหาวิหาร เหล่าภิกษุทั้งหลายได้นั่งจับกลุ่มสนทนากันในโรงธรรมสภาถึงเรื่องที่พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู คิดประทุษร้ายมิตร ไม่มีความจริงใจต่อผู้อื่น เมื่อใครได้รับรู้เรื่องราวความประพฤติของพระเทวทัตแล้ว ต่างพูดโจษจันกันว่า บุคคลผู้มีความประพฤติเช่นนี้ ย่อมไม่เหมาะสมแก่การเคารพนับถือ ไม่สมควรที่จะเข้าไปคบหาสมาคมด้วย
ขณะที่เหล่าภิกษุกำลังพูดคุยกันอยู่นั้น พระบรมศาสดาเสด็จมาที่โรงธรรมสภา ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่” ครั้นภิกษุสงฆ์กราบทูลถึงพฤติกรรมของพระเทวทัตให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่าว่าแต่ในชาตินี้เลย ที่เทวทัตมีนิสัยอกตัญญูประทุษร้ายมิตร แม้อดีตชาติที่ผ่านมาก็มีนิสัยอย่างนี้เหมือนกัน” เมื่อพระภิกษุอยากจะรู้เรื่องราวในอดีตชาติของพระเทวทัต จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า
ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ชาตินั้น พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ อาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นกาสี ในแคว้นนี้เองได้มีบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ติดกับถนนที่ลาดชันสายหนึ่ง สองข้างทางของถนนสายนี้ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก แต่แหล่งน้ำมีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ บ่อน้ำข้างถนนแห่งนั้น พวกสัตว์ทั้งหลายจะได้กินน้ำ ต่อเมื่อมีชาวบ้านเดินทางผ่านมา และตักน้ำใส่รางที่ชาวบ้านผู้มีจิตเมตตาคนหนึ่งทำไว้ให้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายอยากกินน้ำ ก็จะมาดื่มกินที่รางน้ำแห่งนี้เป็นประจำ
ต่อมา ไม่มีใครเดินผ่านถนนสายนี้เป็นเวลาหลายวัน พลอยทำให้น้ำในรางแห้ง สัตว์ป่าทั้งหมดจึงอดกินน้ำตามไปด้วย กระทั่งลิงตัวหนึ่งทนไม่ไหว เดินวนเวียนไปมาอยู่รอบๆ บ่อน้ำ ขณะนั้นเอง มีพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งเดินทางผ่านมาพอดี และได้แวะดื่มน้ำจากบ่อน้ำ ขณะกำลังล้างมือล้างเท้า บังเอิญหันไปเห็นลิงตัวนั้น กำลังอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเพราะไม่ได้กินน้ำมาหลายวัน เขารู้ได้ทันทีว่ามันคงหิวน้ำมาก เกิดความเมตตาสงสาร ได้ตักน้ำใส่ในรางให้มันดื่ม เมื่อลิงได้ดื่มน้ำ ก็มีเรี่ยวมีแรงกระปรี้กระเปร่าสดชื่นเบิกบานใจ
หลังจากนั้น พราหมณ์หนุ่มพระโพธิสัตว์คิดจะพักผ่อนก่อนที่จะเดินทางต่อ ได้เอนกายลงนอนที่โคนต้นไม้ใกล้บ่อน้ำ เมื่อลิงกินน้ำเสร็จ ยังนั่งอยู่ไม่ไกลจากต้นไม้นั้น ได้ทำหน้าตาล่อกแล่ก แสดงท่าทางก่อกวนให้เห็น เมื่อพราหมณ์หนุ่มเห็นการกระทำของลิงตัวนี้แล้ว จึงกล่าวไปว่า “เจ้าวานรเอ๋ย เราเห็นเจ้าอยากกินน้ำก็อุตส่าห์ตักให้ดื่ม แต่พอเจ้ามีเรี่ยวแรงแล้ว กลับมานั่งทำหน้าตาท่าทางล่อกแล่กหยอกล้อกับเราเสียนี่ เจ้าช่างไม่รู้จักตนเองเสียเลย น่าอนาถใจจริงๆ ที่เราช่วยเหลือสัตว์ต่ำทรามอย่างเจ้า แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย”
ลิงพอได้ฟังคำติเตียนของพระโพธิสัตว์ ก็ไม่ได้รู้สึกสำนึก ยังพาลพูดกับพระโพธิสัตว์ขึ้นว่า “ท่านอย่าคิดว่าเราจะทำกับท่านเพียงเท่านี้ เพราะต่อไปเราจะถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของท่านอีก” และก่อนที่เจ้าลิงจะก่อกวนพระโพธิสัตว์ให้หงุดหวิดใจไปมากกว่านี้ มันพูดทิ้งท้ายก่อนจากไปอีกว่า “ท่านพราหมณ์หนุ่ม ท่านเคยได้ยินหรือได้เห็นมาก่อนหรือว่า มีลิงตัวไหนบ้างที่เป็นสัตว์มีคุณธรรม วันนี้ท่านจะเห็นฤทธิ์ของลิงอย่างเรา”
เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น เห็นท่าไม่ค่อยดี จึงเตรียมจะลุกหนีไปจากโคนต้นไม้นั้น เพราะไม่อยากต่อกรกับสัตว์เดรัจฉาน แต่เป็นจังหวะเดียวกับที่เจ้าลิงวายร้ายกระโดดขึ้นไปบนต้นไม้ จับกิ่งห้อยโหนไปมาอย่างว่องไว แล้วถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของพราหมณ์หนุ่มทันที จากนั้นได้วิ่งหนีเข้าป่าไป พราหมณ์พระโพธิสัตว์ไม่รู้จะทำอย่างไรกับลิงจอมซนตัวนี้ดี ได้แต่เดินไปที่บ่อน้ำ และตักน้ำขึ้นมาล้างเนื้อล้างตัวจนสะอาด แล้วก็เดินทางต่อไป
เราจะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีนิสัยอกตัญญู คิดประทุษร้ายมิตร ไม่คิดที่จะตอบแทนผู้เคยมีอุปการคุณไว้กับตน ยังมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย บุคคลประเภทนี้ใครรู้ใครเห็นเข้าก็ถูกตำหนิติเตียน ไม่อยากคบค้าสมคมด้วย แม้แต่จะเข้าใกล้ก็ยังไม่อยากเข้าไปหา ชีวิตของคนประเภทนี้ย่อมหาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก เพราะได้ตัดหนทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของตน ทำให้ชีวิตมีแต่ความตกต่ำฝ่ายเดียว
ดังนั้น พวกเราทุกคน ควรตระหนักถึงคุณธรรม คือ ความกตัญญูข้อนี้กันให้มากๆ ความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคับประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมยิ่งขึ้นไป ต้องหมั่นพิจารณาอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่บุคคลที่ใกล้ชิดเรา ไม่ว่าจะเป็นมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ ท่านเหล่านี้ควรที่เราต้องหาโอกาสตอบแทนบุญคุณอย่างสมํ่าเสมอ แล้วชีวิตของเราจะพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ หรือการงานต่างๆ และผลบุญกุศลนี้จะติดตามตัวเราไปในภพเบื้องหน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น