วันอังคารที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

อริยทรัพย์ โลกียทรัพย์

การเดินทางไกลในสังสารวัฏ เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพานนั้น จำต้องมีเสบียงเดินทางไกล ที่จะทำให้ชีวิตปลอดภัยและมีชัยชนะ คำว่า ปลอดภัย คือ ปลอดจากภัยในอบาย ซึ่งหมายถึง ไม่ต้องพลัดตกลงไปเกิดในภูมิของนรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน แต่ดำรงชีวิตอยู่อย่างผู้มีชัยชนะ ในเบื้องต้นก็คือ เวียนวนอยู่ในสองภพภูมิเท่านั้น ได้แก่ เทวโลกและมนุษย์โลก เวลาเป็นมนุษย์ก็ตั้งใจสั่งสมบุญสร้างบารมี พอหมดอายุขัย ก็ได้ไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ เมื่อถึงขีดถึงคราวก็ลงมาสร้างบุญบารมีกันต่อ มาเพิ่มเติมบุญบารมีทั้งทาน ศีล ภาวนา ให้กลั่นกล้าและเข้มข้นยิ่งๆ ขึ้นไป นี่คือชีวิตที่ปลอดภัยและมีชัยชนะในระหว่างเวียนว่ายตายเกิด อย่างไรก็ตาม การจะได้ชัยชนะที่แท้จริงที่ไม่มีวันกลับแพ้นั้น ต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุด ดังนั้น เพื่อความมั่นใจและการเดินทางไกลที่ปลอดภัย สิ่งที่เราต้องทำให้ได้ทุกวัน คือ หมั่นนั่งสมาธิเจริญภาวนา เพราะจะทำให้เรามีมหาสติมหาปัญญา สามารถดำเนินชีวิตได้ถูกต้องและบริสุทธิ์อย่างพระอริยะเจ้าทั้งหลาย จนกระทั่งได้เข้าสู่พระนิพพาน

มีธรรมภาษิตซึ่งปรากฏในขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า

ตัณหา ย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประมาท ตัณหาอันชั่วช้า ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น”

จากพระคาถานี้แสดงให้เห็นว่า เชื้อแห่งตัณหาเป็นผลพวงมาจากความประมาท ยิ่งประมาทมากกิเลสตัณหาจะครอบงำใจได้มาก และความเศร้าหมองความทุกข์ทั้งหลายจะตามมา ตัณหาความทะยานอยาก นับเป็นวัฏจักรแห่งทุกข์ในวัฏสงสารทีเดียว เชื้อโรคเพียงนิดหน่อยหากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาย่อมระบาดไปทั่วร่างกายมากขึ้น ฉันใด เชื้อแห่งตัณหาหากปล่อยไว้ด้วยความประมาทชะล่าใจย่อมพอกพูนมากขึ้น ฉันนั้น

ฉะนั้น ผู้รู้ทั้งหลาย ท่านจึงไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต สิ่งใดที่หมิ่นเหม่ต่ออบายภูมิ ท่านจะไม่ไปเกี่ยวข้อง ดังเช่นพระเถระท่านหนึ่ง ที่ปฏิเสธทรัพย์สมบัติที่สามารถใช้สอยทั้งชาติก็ไม่มีวันหมด จากหมู่ญาติที่ปรารถนาจะยกให้ถ้าท่านลาสิกขา พระเถระคิดอย่างไรกับทรัพย์สมบัติเหล่านั้น เราก็มาติดตามศึกษากัน ดังนี้

พระเถระรูปนี้มีนามว่ามาลุงกยะ ในอดีตชาติก่อนที่จะมาเกิดในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้สั่งสมบุญบารมีประเภทเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะท่านทราบดีว่าการสร้างบารมี คือ เป้าหมายหลักของการมาเกิดในแต่ละชาติ และชีวิตหลังความตายนั้นยืนยาวกว่าชีวิตในโลกมนุษย์มากนัก ท่านจึงตระหนักเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมตอนเป็นดีกว่าไปเห็นตอนตาย เพราะถ้าไปเห็นตอนตายแล้ว ก็จะไม่สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมอะไรได้ ดังนั้น ท่านจึงไม่ประมาทในชีวิต และสั่งสมบุญสร้างบารมีอยู่เป็นนิตย์มิได้ขาด

ครั้นมาในภพชาติสุดท้าย ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้ทำไว้ ได้ส่งผลให้ท่านมาเกิดในตระกูลที่ทำหน้าที่ดูแลการเงินประจำท้องพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล โดยมีชื่อว่ามาลุงกยบุตร เมื่อโตเป็นหนุ่ม เนื่องจากในชาติหลังๆ ท่านใช้ชีวิตอย่างสมถสันโดษด้วยการออกบวชเป็นบรรพชิตมาตลอด ฉะนั้น เมื่อท่านมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธองค์และได้ฟังธรรม จึงเหมือนถูกตามกลับมาเป็นพุทธบุตรอีก ก่อนหน้านี้ที่ลืมไปนั้น เพราะความตายมาพรากเอาความทรงจำไปเท่านั้น แต่ในใจลึกๆ เหมือนกับว่าชีวิตขาดอะไรไป

ฉะนั้น เมื่อฟังพระธรรมจบ ท่านจึงตัดสินใจบวชทันที การตัดสินใจอย่างฉับพลันเช่นนี้ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ต้องมีอัธยาศัยความคุ้นกับการประพฤติพรหมจรรย์มาหลายชาติ ท่านจึงทำได้ง่าย เพราะคนเราคุ้นเคยอย่างไรมักจะทำอย่างนั้น เหมือนบางคนเข้าใจไปเองว่าขายหรือดื่มเหล้าไม่บาปไม่เดือดร้อนใคร เพราะเงินก็เงินของเราเองไปซื้อเหล้า การแสดงทัศนคติเช่นนี้ แม้ไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่นโดยตรง แต่ก็เบียดเบียนตัวเอง ที่คุ้นกับการทำเช่นนี้ เพราะในอดีตคุ้นกับการคบคนพาล เป็นเรื่องของการคุ้นเคยกับการทำชั่ว แต่พระเถระท่านทำความดีมามาก จึงคุ้นเคยกับความดี ดังนั้น ท่านจึงทำความดีได้ง่าย พอตัดสินใจว่าจะบวชก็บวชได้ทันที โดยไม่ต้องกังวล

เนื่องจากว่าภพชาติที่ผ่านๆมา ท่านได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิมาตลอด เป็นผลให้ท่านสามารถทำใจหยุดใจนิ่งได้ดี จึงมีผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้าเร็วมาก และไม่นานท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตายในวัฏสงสาร และท่านเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา คือ สิ้นอาสวกิเลส มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้การไปเกิดมาเกิดของสรรพสัตว์ มีฤทธิ์ทางใจ เป็นพระอรหันต์ผู้มีอานุภาพมาก

หลังจากที่ท่านได้บรรลุธรรมสิ้นกิเลสอาสวะ ท่านก็นึกถึงญาติโยม อยากจะให้เขาได้รับความสุขอย่างที่ท่านได้รับบ้าง จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ออกเดินทางทันที ฝ่ายญาติๆ ของท่าน ครั้นทราบว่าท่านกลับมาบ้าน จึงพากันมากราบ หลังจากถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว ญาติๆ ก็แสดงทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดของตระกูลให้ท่านดู โดยขนเอามากองไว้ข้างหน้าท่าน แล้วกราบเรียนท่านว่า “ถ้าท่านสึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาส เราทุกคนยินดียกทรัพย์มรดกที่สะสมมานับตั้งแต่บรรพบุรุษให้ท่านเป็นเจ้าของทั้งหมด ท่านจงลาสิกขาออกมาเถิด เพราะทรัพย์สมบัติเหล่านี้ไม่มีใครจะดูแลต่อได้ อีกอย่างที่สำคัญ คือ ตระกูลของเราจะมีผู้สืบสกุลที่มีความสามารถอย่างท่าน และการอยู่ครองเรือนสามารถทำบุญได้เหมือนกัน ไม่เห็นต้องบวชให้ลำบากเลย” หมู่ญาติคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง ก็ช่วยกันอ้อนวอนกึ่งบังคับเพื่อให้ท่านสึก

แม้เหตุการณ์จะดำเนินไปเช่นนี้ พระเถระก็ไม่ยินดียินร้ายต่อทรัพย์สมบัติที่กองอยู่ต่อหน้าและคำพูดที่หมู่ญาติสรรหามาเพื่อเกลี่ยกล่อมให้ท่านลาสิกขา เพราะท่านเป็นพระอรหันต์ จึงไม่มีกิจที่เนื่องด้วยฆราวาสแล้ว และเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคลที่มั่นคงและสมบูรณ์ที่สุด มีสติและปัญญาสมบูรณ์ตลอดเวลา กิเลสตัณหาไม่มีแก่ท่านแล้ว เมื่อโอกาสมาถึง ท่านจึงเหาะไปยืนสงบนิ่งสง่างามในอากาศท่ามกลางหมู่ญาติแล้วแสดงธรรมโปรดว่า “ทรัพย์ที่พวกท่านมีอยู่นั้น มีความหายนะคือตัณหาครอบงำอยู่ เราทุกคนเหมือนลิงที่ต้องการทรัพย์สมบัติคือผลไม้ในป่า ต้องเร่ร่อนแสวงหาไปเรื่อยๆ เพราะตัณหาความทะยานอยาก และตัณหาความทะยานอยากนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวันเต็ม แม้แต่ภพสามหรือพรหมโลกยังแคบเกินไปที่จะบรรจุตัณหาของสรรพสัตว์ให้เต็มได้ ผู้ประมาทจะทำให้ตัณหาพอกพูนขึ้น ตัณหาที่พอกพูนขึ้นจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ ฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่ายินดีในทรัพย์สมบัติของนอกกายนี้เลย” เมื่อหมู่ญาติเห็นการแสดงปาฏิหาริย์พร้อมกับได้ฟังธรรมจากท่าน จึงหูตาสว่าง มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึงในที่สุด และได้เป็นตระกูลอุปัฏฐากบำรุงพระภิกษุสามเณรนับจากวันนั้นเป็นต้นมา

เราจะเห็นว่า อริยทรัพย์ภายในประเสริฐกว่าโลกียทรัพย์ทรัพย์ภายนอก ที่สามารถเอาชนะตัณหาความทะยานอยากได้ อีกทั้งจะทำให้เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม จะเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่นไม่หวั่นไหวอย่างที่ปุถุชนทั้งหลายกำลังเป็นกันอยู่ เพราะจิตใจของเขาไม่มีหลักเกาะ จึงขาดที่พึ่ง ดังนั้น ทรัพย์สินเงินทองที่มี ส่วนหนึ่งนอกจากเอาไว้ใช้หล่อเลี้ยงสังขารและบำรุงครอบครัวแล้ว เราต้องนำมาใช้สร้างบารมี เพื่อชีวิตของเราจะได้ไม่ตกอยู่ในความประมาท และจะได้มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองฝ่ายเดียว

เมื่อเรายิ่งหมั่นสั่งสมบุญให้ทานอยู่เป็นนิตย์ ผลแห่งทานจะส่งผลให้เรามีความสุขสบาย ถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติมากมาย ไม่ต้องกังวลกับเรื่องการทำมาหากินมากนัก และเมื่อจะรักษาศีลหรือเจริญสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำทาน จะทำให้เราสามารถทำได้ง่าย เพราะไม่ต้องไปมัวกังวลกับเรื่องปากเรื่องท้อง ฉะนั้น หนทางการสร้างบารมีของพวกเรา จึงจำเป็นต้องบำเพ็ญมหาทานบารมีให้มากๆ เพื่อระยะทางแห่งพระนิพพานจะได้ย่นย่อเข้ามา เราจะได้ไปสู่อายตนนิพพาน ไปเสวยเอกันตบรมสุข สุขอย่างยอดเยี่ยมที่ไม่มีสุขใด ไม่ว่าจะเป็นสุขของมนุษย์ ของเทวดา ของพรหม หรือของอรูปพรหม ก็ไม่อาจเทียบได้กับสุขในพระนิพพาน ฉะนั้น ให้พวกเราตั้งใจกันให้ดี ให้สั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ผู้ไกลห่างจากเบญจกามคุณ

การที่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ เพราะใช้ชีวิตอย่างประมาท หลงใหลไปตามกระแสกิเลส ทำให้พลาดพลั้งไปประกอบบาปอกุศล ต้องไปเกิดในนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานบ้าง พอพ้นจากการเสวยทุกข์ในอบายภูมิ จะมาเกิดเป็นมนุษย์ชดใช้วิบากที่ยังเหลืออยู่ บางคนเป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อละโลกไป ต้องไปเสวยทุกข์ใหญ่ในโลกันตมหานรก กลายเป็นตอขวางวัฏฏะ แม้มีโอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะผิดพลาดไปทำบาปอกุศลซ้ำและตกไปในอบายอีก การจะหลุดพ้นจากวัฏจักรนี้ได้ ต้องอาศัยท่านผู้มีบุญบารมีมาแนะนำ เพราะฉะนั้น ทุกๆ คนอย่าได้ประมาทในชีวิต ให้รักในการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะที่ตรงนี้เท่านั้น ที่จะสามารถควบคุมใจไม่ให้ใช้ชีวิตอย่างประมาท จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง อยู่ตรงไหนก็มีความสุขตลอดเวลา ฉะนั้น ต้องปฏิบัติธรรมะให้ได้ทุกๆ วัน อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว

มีธรรมภาษิตซึ่งปรากฏในเตลุกานิเถรคาถา ความว่า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีอาวุธ คือ ปัญญา เป็นที่พึ่งแก่ผู้มีภัย ผู้แสวงหาฝั่ง คือ พระนิพพาน พระองค์ได้ประทานบันไดอันทอดไว้ดีแล้ว อันบริสุทธิ์และสำเร็จด้วยไม้แก่น คือ พระธรรม ซึ่งเป็นบันไดอันมั่นคงแก่เราผู้ถูกกระแสตัณหาพัดพาไป ผู้อาศัยบันไดขึ้นสู่ปราสาท คือ สติปัฏฐาน ย่อมได้เห็นท่า คือ อริยมรรคอันอุดม”

อาวุธของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัญญาธิคุณ หรือพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ตลอด ๔๕ พรรษาของการเผยแผ่พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์นั้น พระองค์ไม่เคยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์อย่างอื่นในการเอาชนะข้าศึกศัตรู เพราะพระองค์ทรงเว้นจากการทำปาณาติบาต ทรงเว้นขาดจากการฆ่า แต่ทรงขจัดอาสวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเหล่าเวไนยสัตว์ ชัยชนะของพระองค์ คือ การที่เหล่าเวไนยสัตว์ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะตามพระองค์ไปด้วย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และได้นำมาตรัสสอนแก่สัตว์โลก เป็นสุดยอดของปัญญาที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนขั้นบันไดที่ให้สรรพสัตว์ได้ก้าวข้ามสู่ฝั่งแห่งพระนิพพาน จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในภพสาม ซึ่งเป็นเสมือนคุกขนาดใหญ่ที่คอยกักขังสรรพสัตว์เอาไว้ โดยเฉพาะหัวข้อธรรม คือ สติปัฏฐานอันประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ คือ การตามเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ต้องอาศัยภาวนามยปัญญาที่เกิดจากการทำใจหยุดใจนิ่งภายในตัวเท่านั้น จึงจะสามารถทำให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ได้บรรลุถึงอริยมรรค คือ พระนิพพานได้ เหมือนดังเรื่องของพระเถระ ผู้แสวงหาหนทางสู่ความหลุดพ้น ที่จะได้นำมาเล่าให้ศึกษากัน ดังนี้

*มก.เตลุกานิเถรคาถา เล่ม ๕๓/๓๗

*เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาล มีปริพาชกท่านหนึ่งชื่อเตลุกานิ เป็นคนถือศีล นุ่งขาวห่มขาว มีอัธยาศัยไมตรี ชอบศึกษาหาความรู้ เพื่อเป็นหลักในการปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ ท่านได้ท่องเที่ยวไปตามสำนักของคณาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ซึ่งล้วนอวดอ้างตนว่าเป็นพระอรหันต์ รู้หนทางไปสู่พระนิพพาน แต่ทุกครั้งที่เข้าไปหาและได้เจรจาปราศรัย ต้องพบกับความผิดหวังทุกครั้ง เพราะคำตอบของคณาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ ล้วนแต่วกไปวนมาหาที่สุดมิได้ แต่เพราะท่านเป็นผู้สั่งสมบุญมาดี จึงสามารถสอนตนเองได้ว่า สิ่งที่ท่านเหล่านั้นร่ำเรียนกัน ไม่ใช่ปฏิปทาเพื่อนำไปสู่พระนิพพาน

ปกติของปริพาชกจะมีอัธยาศัยรักความเงียบสงบ ไม่ชอบเที่ยวเตร่สนุกสนานเฮฮาเหมือนเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน เพราะท่านมีอุปนิสัยในการประพฤติพรหมจรรย์ต่อเนื่องกันมาหลายชาติ กระทั่งวันหนึ่ง การแสวงหาทางสู่ความหลุดพ้นของท่านได้สิ้นสุดลง เมื่อมีโอกาสมาฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยหลังจากที่ท่านได้เที่ยวจาริกไปตามสำนักอาจารย์ต่างๆ แล้ว ก็กลับมายังกรุงสาวัตถี ขณะนั้นท่านได้เห็นมหาชนกำลังถือดอกไม้และของหอมไปวัดพระเชตวัน จึงถามว่า พุทธบริษัททั้งหลายต่างมุ่งหน้าไปที่ไหนกัน เมื่อทราบว่าจะไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความใฝ่รู้ ท่านจึงเดินทางไปฟังธรรมพร้อมกับเหล่าพุทธบริษัท หลังจากฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ก็พบคำตอบที่แสวงหามาอย่างยาวนานว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้รู้แจ้งโลกอย่างแท้จริง ทรงนำสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง จึงทำให้ปริพาชกเกิดความเชื่อมั่นว่า ท่านผู้นี้เป็นบรมครูที่แท้จริง จากนั้น จึงตัดสินใจเปลี่ยนจากการนุ่งขาวห่มขาว มาขอบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา

ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ท่านได้สั่งสมมาอย่างดีแล้ว กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายพระองค์ เมื่อบวชแล้ว ใช้เวลาไม่นานนักในการบำเพ็ญสมณธรรม ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชาและปฏิสัมภิทาญาณ ทำให้ความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะของท่าน สมปรารถนาในวันนั้น

วันหนึ่ง ขณะที่พระเถระกำลังนั่งสนทนาธรรมอยู่กับเพื่อนสหธรรมิก เมื่อพิจารณาถึงคุณวิเศษที่ตนได้บรรลุ และหวนระลึกถึงการปฏิบัติของตนในครั้งก่อน จึงกล่าวสรรเสริญคุณของพระบรมศาสดาว่า “แต่ก่อน เราแม้มีความเพียร เที่ยวแสวงหาธรรมเครื่องพ้นทุกข์อยู่นาน แต่ไม่ได้ผลแม้เพียงความสงบใจ จึงเที่ยวถามสมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า ใครหนอในโลกนี้ เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ได้บรรลุธรรมอันหยั่งลงสู่อมตะ เราจักปฏิบัติธรรมของใคร ในเมื่อใจของเรายังดิ้นรนไปมาเพราะกิเลส เหมือนปลาที่ติดเบ็ด เพราะหลงกินเหยื่อของนายพราน เราถูกบ่วงใหญ่ คือ กิเลสผูกรัดไว้อย่างแน่นหนา เหมือนท้าวเวปจิตติอสูร ถูกผูกด้วยบ่วงของท้าวสักกะ เราไม่สามารถทำลายบ่วง คือ กิเลสนั้นให้หลุดออกไปได้ จึงไม่พ้นจากความโศกและความร่ำไร ใครเล่าในโลกนี้ จะสามารถช่วยเราผู้ถูกผูกแล้วให้หลุดพ้นไปได้ เราจะยอมรับสมณะหรือพราหมณ์ท่านใดไว้เป็นผู้แสดงธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลส เราจะปฏิบัติธรรมอันเป็นเครื่องพ้นจากชราและมรณะของใคร

จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย มากไปด้วยความแข่งดีและความกระด้างอันเกิดจากความทยานอยาก ขอท่านจงดูเถิด กายอันเนื่องด้วยสัมผัสทั้ง ๖ เกิดขึ้นในที่ใด ย่อมแล่นไปในที่นั้นทุกเมื่อ เราจมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่อันนำดิน คือ ธุลีไปไม่ได้ เป็นห้วงน้ำที่ลาดไปด้วยความริษยา ความแข่งดีและความฟุ้งซ่านในกามคุณทั้งหลาย เป็นเช่นกับห้วงน้ำใหญ่ ที่มีเมฆ คือ ความฟุ้งซ่านเป็นเครื่องคำรน มีสังโยชน์เป็นหยาดฝน ย่อมนำบุคคลผู้มีความเห็นผิดไปสู่สมุทร คือ อบาย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทำฝั่งอันเป็นเครื่องกั้นกระแสของตัณหาเหล่านั้นเถิด อย่าให้กระแสตัณหาอันเกิดจากใจ พัดพาท่านทั้งหลายไป

พระศาสดาผู้มีอาวุธ คือ ปัญญา เป็นผู้ที่หมู่ฤๅษีได้อาศัย เป็นที่พึ่งแก่เราผู้มีภัย ผู้แสวงหาฝั่ง คือ นิพพาน พระองค์ได้ทรงประทานบันไดอันทอดไว้ดีแล้ว ที่ทำด้วยไม้แก่น คือ พระสัทธรรม เป็นบันไดมั่นคงแก่เรา ผู้ถูกกระแสตัณหาพัดไป พระพุทธองค์ทรงบรรเทากิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ที่หมักดองอยู่ในใจเราให้หมดสิ้นไป”

นี่เป็นวาทธรรมของพระอรหันต์ ที่ท่านหลุดพ้นแล้ว เราทั้งหลายก็เช่นกัน หากปรารถนาจะหลุดพ้นจากภพสาม ต้องน้อมนำธรรมะของพระพุทธองค์มาปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ฟังพอผ่านๆ หรือศึกษาพอเป็นความรู้ประดับสติปัญญา แต่ต้องนำมาขบคิดพิจารณาและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง แม้พระพุทธองค์จะทรงดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ยังคงทนต่อการพิสูจน์ เป็นเอหิปัสสิโก พร้อมที่จะให้เรานำไปปฏิบัติและเข้าถึงได้ เพียงน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ สามารถทำให้เราหลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง เพราะธรรมดาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างปรารถนาความสุขและความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล ฉะนั้น ตอนนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับเรา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเรา ถ้าเราตั้งใจจริง จะสมความปรารถนากันทุกๆ คน

วันเสาร์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

คนใจบอด

สรรพสิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมไปเป็นธรรมดา ตัวของเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อถือกำเนิดมาในโลกนี้ สักวันหนึ่งก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้บนผืนปฐพี เพราะเราทุกคนต้องตายหมด แต่จะตายวันไหน เวลาไหน เรากำหนดไม่ได้ หรือเราจะคาดคะเนว่า อายุเราจะต้องเท่านั้นเท่านี้ แล้วเราจึงจะตาย กำหนดไม่ได้ ถ้าหากเราหมั่นนึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ เราจะไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ไม่มัวเมาว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ แต่จะมุ่งแสวงหาสิ่งที่ทำให้ใจเราสะอาดบริสุทธิ์ มีแต่ความสุขอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์เจือปน สิ่งนี้มีอยู่ในกลางกายของเรา ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งของสติ แหล่งของปัญญา แหล่งของความบริสุทธิ์ที่จะนำพาเราไปพบกับความสุขที่แท้จริง เมื่อใจเรากลับเข้าไปสู่ภายใน ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ความรู้ความเห็นจะถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริง จะเกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ และคลายจากความกำหนัดยินดี ใจจะปล่อยวางจากสิ่งภายนอก แล้วกลับเข้าสู่ภายใน จนในที่สุดจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในขุททกนิกาย ทัททรชาดก ความว่า

บุรุษผู้ลบหลู่ท่อนผ้าที่ตนนุ่งอยู่ เราไม่ขอเห็นเขาเลย เราจะฝังเขี้ยวลงในลำคอของบุรุษผู้ต่ำช้าทำไม”

คนอกตัญญู มักคอยหาโอกาสประทุษร้ายมิตรอยู่เป็นนิตย์ ถึงจะให้สมบัติทั้งแผ่นดิน ไม่สามารถทำให้เขาชื่นชมยินดีได้เลย ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งขณะที่ภิกษุสงฆ์สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า “พระเทวทัตไม่มีความละอาย ไม่ใช่คนดี คบกับพระเจ้าอชาตศัตรู ทำอุบายเพื่อปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้จ้างนายขมังธนูมาลอบยิง กลิ้งก้อนศิลาหวังจะให้ทับพระพุทธองค์ และปล่อยช้างนาฬาคิรีมาประทุษร้ายพระพุทธเจ้า” พระบรมศาสดาได้ตรัสถามถึงเรื่องที่กำลังสนทนากัน ครั้นทราบแล้ว จึงตรัสว่า “มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เทวทัตพยายามฆ่าเรา แม้ในกาลก่อน เทวทัตได้พยายามฆ่าเรามาแล้วเหมือนกัน” แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

*มก. ทัททรชาดก เล่ม ๕๙/๗๔๒

*ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงครองราชย์อยู่ในพระนครพาราณสี มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์คนหนึ่ง ทำหน้าที่สอนวิชาความรู้ให้กับมาณพ ๕๐๐ คน วันหนึ่ง อาจารย์คิดว่าการอยู่ในพระนครทำให้เกิดความกังวลหลายอย่าง เสียงอึกทึกคึกโครม ทำให้ใจไม่เป็นสมาธิ การจะให้ลูกศิษย์เรียนสำเร็จได้รวดเร็ว ต้องเข้าป่าไปหาที่สงบวิเวก จึงบอกลูกศิษย์ทุกคนให้ขนอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าป่า จากนั้นได้ตั้งใจสั่งสอนศิษย์ให้ได้วิชาความรู้

ชาวบ้านรู้ว่าท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์มุ่งมั่นสั่งสอนศิษย์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จึงได้นำแม่โคนมพร้อมลูกโคมามอบให้ และในที่ไม่ไกลจากบรรณศาลาของอาจารย์ มีตะกวดตัวหนึ่งอาศัยอยู่กับลูกอ่อนสองตัว ทุกวันจะมีราชสีห์ เสือโคร่ง และนกกระทามาแสดงความเคารพต่อท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์เป็นประจำ นกกระทาเมื่อได้ยินเสียงท่านอาจารย์บอกมนตร์แก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย ด้วยความเป็นนกโพธิสัตว์มีปัญญามาก เพียงได้ฟังอาจารย์ท่องบ่นมนตร์ให้ลูกศิษย์ฟัง สามารถจดจำจนขึ้นใจ ท่องได้หมดโดยใช้เวลาฟังเพียงครั้งเดียว

ต่อมา เมื่อลูกศิษย์ทั้ง ๕๐๐ คน ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษา อาจารย์เกิดล้มป่วยและเสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน พวกลูกศิษย์ได้ช่วยกันฌาปนกิจ และร้องไห้ด้วยความอาลัยในการจากไปของอาจารย์ นกกระทาถามว่า “พวกท่านร้องไห้ทำไม” พวกมาณพได้บอกว่า “พวกเรายังไม่ทันสำเร็จการศึกษา อาจารย์มาด่วนจากไปเสียแล้ว” นกกระทาปลอบใจว่า “พวกท่านไม่ต้องกังวล เรายินดีจะถ่ายทอดความรู้เรื่องไตรเพทให้” จึงบอกเรื่องที่ตนจำมาจากอาจารย์ให้ฟัง พวกมาณพดีใจมาก จึงได้ยกให้นกกระทาเป็นอาจารย์ แล้วร่ำเรียนมนตร์จากนกกระทาด้วยความเคารพ ได้ทำกรงทองให้นกกระทาอยู่อาศัย พร้อมกับหาน้ำผึ้งและข้าวตอกใส่จานทองมาเป็นค่าบูชาธรรม

วันหนึ่ง เหตุร้ายที่ไม่คาดฝันได้บังเกิดขึ้นกับนกกระทา เมื่อมาณพทั้งหมดได้ขอลานกกระทาไปเที่ยวงานมหรสพในเมือง ปล่อยให้นกและสัตว์ต่างๆ อยู่อาศัยกันตามลำพัง ในช่วงสายของวันนั้น มีดาบสใจบาปตนหนึ่งเดินเที่ยวมาถึงสถานที่แห่งนั้น เมื่อตะกวดเห็นเป็นดาบส จึงทำการต้อนรับ กล่าวเชื้อเชิญให้หุงหาอาหารกินตามสบาย โดยไม่ได้รู้สึกสังหรณ์ใจ จากนั้นก็ออกไปหาอาหารตามปกติ เมื่อดาบสหุงข้าวเสร็จ ก็ฆ่าลูกตะกวดสองตัวทำเป็นกับข้าว ตอนกลางวันฆ่านกกระทาและลูกโคกิน ตกเย็นเห็นแม่โคเดินมา ก็ฆ่าแม่โค และกินเนื้อจนอิ่มหนำสำราญ แล้วไปนอนหลับอยู่ที่โคนต้นไม้

ตะกวดกลับมาถึงในช่วงเย็น ไม่เห็นลูกน้อยทั้งสอง จึงเที่ยววิ่งหาด้วยความเป็นห่วง รุกขเทวดาเห็นตะกวดผู้น่าสงสารเที่ยววิ่งพล่านไปมาเพราะคิดถึงลูก จึงปรากฏกายให้เห็นที่โพรงไม้แล้วบอกว่า “เจ้าอย่าเที่ยวหาลูกน้อยให้เสียเวลาไปเลย ลูกน้อยของเจ้า รวมทั้งนกกระทา ลูกโค และแม่โค ถูกคนชั่วนี้ฆ่ากินไปหมดแล้ว เจ้าจงจัดการดาบสชั่วนี้เถิด”

ตะกวดแม้จะมีกำเนิดเป็นเดรัจฉาน แต่ยังรู้จักผิดชอบชั่วดี ด้วยความที่ฟังธรรมจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์และนกกระทามามาก จึงบอกว่า “บุรุษผู้เกลือกกลั้วด้วยความหยาบ ผู้ลบหลู่ท่อนผ้าที่ตนนุ่งอยู่ เราไม่ขอเห็นท่านอีกเลย เราจะไม่ยอมให้เขี้ยวของเรากัดบุรุษนี้ ซึ่งเป็นคนอกตัญญู มักคอยหาโอกาสประทุษร้ายมิตรอยู่เป็นนิตย์ ถึงจะให้สมบัติทั้งแผ่นดิน ก็ไม่สามารถทำให้เขาชื่นชมยินดีได้เลย” เมื่อกล่าวจบแล้วก็หนีจากไป

ฝ่ายราชสีห์และเสือโคร่งที่เป็นเพื่อนของนกกระทา บางครั้งสัตว์ทั้งสองพากันมาเยี่ยมนกกระทา บางครั้งนกกระทาไปแสดงธรรมให้สัตว์ทั้งสองฟัง วันนั้น ราชสีห์และเสือโคร่งได้มาเยี่ยมนกกระทา พอมาถึงก็เห็นดาบสนอนหลับอยู่ ขนนกกระทาก็กระจัดกระจาย กระดูกโคก็เกลื่อนกลาดในที่นั้น ครั้นเสือโคร่งลำดับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ก็ทราบเรื่องราวได้ทันที จึงสะกิดดาบสให้ลุกขึ้น เมื่อดาบสรู้สึกตัวก็สะดุ้งตกใจกลัว พอถูกคาดคั้นว่า “ท่านฆ่าสัตว์เหล่านี้กินหรือ” ด้วยความกลัวตายดาบสจึงยอมรับ แต่ไม่ยอมรับว่าเป็นคนฆ่านกกระทา

เสือโคร่งไม่เชื่อคำพูดของดาบส จึงให้ราชสีห์ตัดสิน ราชสีห์เป็นผู้มีปัญญา สังเกตขนนกกระทาที่ติดอยู่บนชฎา จึงรู้ว่าดาบสเป็นคนฆ่า ในที่สุดดาบสจึงยอมรับ เพราะจำนนต่อหลักฐาน ราชสีห์อยากจะปล่อยดาบสไป แต่เสือโคร่งบอกว่าคนเลวเช่นนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะจะเป็นมหันตภัยร้ายต่อคนอื่น จึงกระโดดเข้ากัดดาบสจนตาย ฝ่ายมาณพทั้งห้าร้อยกลับจากเที่ยวงานมหรสพ เห็นร่องรอยของสัตว์แต่ละชนิดถูกฆ่าตาย รวมไปถึงดาบสใจร้าย ทำให้สามารถเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เมื่อไม่เห็นนกกระทาบัณฑิต ผู้จะมาเป็นอาจารย์สอนมนตร์แล้ว ก็รู้สึกเสียใจไปตามๆ กัน จึงพากันกลับเข้าเมืองตามเดิม

เราจะเห็นได้ว่า คนตาบอด แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเพียงใด ก็มองไม่เห็นโลกอันสวยสดงดงาม แต่คนใจบอด แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปการคุณ ก็ยังเป็นคนอกตัญญูเหมือนเดิม ดาบสแม้จะได้รับการต้อนรับปฏิสันถารอย่างดี แต่เพราะตนเป็นคนใจบอดจึงไม่คำนึงถึงบุญบาป ผิดชอบชั่วดี และยังประทุษร้ายเจ้าของบ้านอีกด้วย บัณฑิตนักปราชญ์ท่านกล่าวว่า “อย่าว่าแต่คนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงา ก็ไม่ควรหักกิ่งก้านรานใบของมัน ผู้ใดพำนักอาศัยใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งก้านใบของมัน ผู้นั้นได้ชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคลในเบื้องหน้า”

เพราะฉะนั้น จะคบหาสมาคมกับใครต้องพิจารณาให้ดี อย่ามองคนที่เปลือกนอก แต่ต้องดูที่นิสัยใจคอ และใครที่ทำความดีกับเราไว้แม้เพียงเล็กน้อย ต้องจดจำ เมื่อมีโอกาสให้รู้จักตอบแทนคุณท่าน เพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี จะทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี ทำให้มีคนอยากคบหาสมาคม ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากจะช่วยเหลือคนดี จะเป็นคนดีได้ต้องทำความดี ฉะนั้น ให้หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แล้วคุณธรรมความดีของเราจะเจริญขึ้นทุกๆ วัน

วันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

สำรวมวาจา พาพ้นทุกข์

คำพูดเป็นกิริยาที่แสดงออกมาแล้วเข้าใจได้เร็วที่สุด และมีผลอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ระมัดระวังคำพูดให้ดี จะทำให้เกิดโทษต่อตัวผู้เป็นเจ้าของคำพูดได้ เพราะคนเราจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีจิตใจสูงส่งหรือว่าตกต่ำ เกิดในชาติตระกูลสูงหรือตระกูลต่ำเพราะคำพูดเป็นสำคัญ การสำรวมระวังวาจาให้ถูกกาลเทศะ เหมาะสมกับบุคคลและสถานที่ พูดแล้วไม่ให้ร้อนเขาร้อนเรา เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการรักษาคำพูด เพื่อไม่ให้ใจฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ภายนอก ให้ใจหยุดนิ่งอยู่กับองค์พระและธรรมะภายในเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้อยคำที่ดีจะเปล่งออกมาได้นั้น ต้องเปล่งออกมาจากใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อเปล่งออกมาจะเป็นถ้อยคำที่ศักดิ์สิทธิ์ ไพเราะน่าฟัง เป็นถ้อยคำที่มีเสน่ห์ เพราะประกอบไปด้วยความเมตตาปรารถนาดี และจะเป็นถ้อยคำที่จะชักนำไปสู่หนทางสวรรค์และพระนิพพาน

มีวาทธรรมที่ปรากฏในคังคาตีริยเถรคาถา ความว่า

เราทำกระท่อมด้วยใบตาล ๓ ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา บาตรเหมือนดังหม้อสำหรับรดน้ำศพ จีวรดังผ้าคลุกฝุ่น ในระหว่าง ๒ พรรษา เราพูดเพียงคำเดียว ภายในพรรษาที่ ๓ เราสามารถทำลายกองความมืด คือ อวิชชาได้อย่างหมดจด”

เถรคาถาบทนี้ แม้จะเป็นเพียงคาถาสั้นๆ แต่ได้ใจความชัดเจน การที่พระเถระสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะท่านสำรวมระวังคำพูดได้ดีมาก เมื่อพูดน้อย จิตจะไม่หยาบ ใจจะละเอียด ในที่สุดเมื่อท่านทำความเพียรอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี สามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตได้ สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรม ใช่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงห้ามการพูดคุยเสียทีเดียว แต่ทรงให้สำรวมระวังในการพูดจา ให้รู้จักกาล สถานที่และบุคคล หากพูดแล้วทำให้ใจผ่องใส ยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น ควรพูดได้ตามปกติ แต่ถ้าพูดแล้วร้อนใจ ไม่เกิดประโยชน์กับใคร อย่างนี้ควรงดเว้น ดังสุภาษิตคำพังเพยที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” เหมือนดังเรื่องของพระอรหันตเถระชื่อคังคาตีริยะ ท่านเป็นตัวอย่างของผู้ที่สำรวมระวังคำพูดได้เป็นอย่างดี จนทำให้ท่านได้บรรลุเป้าหมายของการบวช และเรื่องราวของท่าน จะทำให้เราได้รู้ว่าการสำรวมระวังคำพูด มีผลต่อการปฏิบัติธรรมมากเพียงใด

*มก. คังคาตีริยเถรคาถา เล่ม ๕๑/๑๙

*ย้อนถอยหลังจากนี้ไปหนึ่งแสนกัป ในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระคังคาตีริยเถระได้เกิดเป็นลูกของคหบดีในกรุงหังสวดี ท่านได้รับการปลูกฝังให้รักในการสั่งสมบุญมาตั้งแต่เล็ก โดยพ่อแม่จะคอยหมั่นชักนำท่านให้ไปวัดฟังธรรมอยู่เป็นประจำ เมื่อเติบโตขึ้น ท่านจึงคิดหาบุญพิเศษใส่ตัว เพื่อจะได้เป็นเสบียงบุญติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ วันหนึ่ง ท่านได้ตัดสินใจรับบุญถวายน้ำดื่มแด่พระภิกษุสงฆ์อยู่เป็นนิตย์ ด้วยการขนน้ำสะอาดจากบ้านมาเติมไว้ในตุ่มทั่วบริเวณวัด เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ต้องลำบากในการแสวงหาน้ำดื่ม

ด้วยบุญนี้ส่งผลให้ท่านไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติเป็นเวลายาวนาน และต่อจากนั้นมาทุกชาติ ท่านได้ท่องเที่ยวอยู่แต่ในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น ไม่พลัดไปเกิดในอบายภูมิเลย

พอมาถึงยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้มาเกิดเป็นลูกชายของคฤหบดีในเมืองสาวัตถี มีชื่อว่า ทัตตะ เมื่ออยู่ในวัยหนุ่ม ได้แต่งงานมีครอบครัว ใช้ชีวิตตามประสาชาวโลกทั่วไป เนื่องจากท่านไม่รู้อคมนียัฏฐาน ไม่ได้ศึกษาธรรมะ จึงละเมิดจารีตประเพณีที่ดีงาม คือ ท่านได้ไปมีสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากับหญิงต้องห้ามนางหนึ่ง ทำให้ตัวท่านและวงศ์ตระกูลเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะได้รับคำติฉินนินทาว่าเป็นผู้ไม่ดำรงมั่นอยู่ในสทารสันโดษ คือ ไม่ยินดีพอใจในภรรยาของตนเอง ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ท่านเกิดความสลดสังเวชใจในความผิดพลาดของตนเอง

สำหรับอคมนียัฏฐานสำหรับผู้ชาย หมายถึง สตรีดังต่อไปนี้ คือ สตรีที่มีสามีแล้ว สตรีที่มีมารดาบิดา หรือญาติพี่น้องคอยรักษาอยู่ สตรีผู้ประพฤติธรรม สตรีที่มีคู่หมั้น สตรีที่กฎหมายบ้านเมืองคุ้มครอง เช่น นางสนม เป็นต้น สตรีเหล่านี้ ชื่อว่าสตรีที่เป็นอคมนียัฏฐาน ที่ฝ่ายชายไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในฐานะคนรัก หรือชู้สาวอย่างเด็ดขาด

หลังจากมีโอกาสเข้าวัดฟังธรรม ท่านจึงกลับตัวกลับใจใหม่ด้วยการตัดสินใจออกบวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เว้นขาดจากความเศร้าหมองทั้งหลาย แล้วดำรงมั่นอยู่ในลูขปฏิปทาอย่างเคร่งครัด สมาทานผ้าบังสุกุลจีวรที่สมถะปอนๆ ใช้บาตรดินที่มีลักษณะคล้ายหม้อรดน้ำศพ ส่วนสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมของท่าน เป็นกุฏิที่ทำด้วยใบตาล ๓ ใบ ปลูกอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ผู้คนแถวนั้นจึงเรียกท่านว่า คังคาตีริยะ หมายถึง ผู้อาศัยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

การที่พระเถระใช้ชีวิตอย่างสมถสันโดษอย่างนี้ เพื่อฝึกฝนอบรมตนเองอย่างอุกฤษฏ์ มุ่งจะขจัดกิเลสอาสวะที่หมักดองอยู่ภายในจิตใจให้หมดสิ้นไป มีเครื่องสมณบริขารเท่าที่จำเป็นเท่านั้น สบงจีวรมีเพียงเพื่อให้สังขารร่างกายดำรงอยู่ได้ กันแดดกันหนาว เพื่อการบำเพ็ญภาวนาจะได้ไม่ลำบากเกินไป ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และเป็นไปเพื่อการพอกพูนกิเลสอาสวะ เมื่อละโลกไปแล้วไม่สามารถนำติดตัวไปได้ นอกจากจะนำทรัพยากรนั้นมาแปรเปลี่ยนเป็นอริยทรัพย์ ด้วยการนำมาใช้สร้างบุญสร้างบารมี จึงจะสามารถนำติดตัวไปได้

พระเถระพิจารณาเห็นถึงทุกข์โทษในสังสารวัฏ จึงไม่ปรารถนาการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ได้ประพฤติตนอย่างสันโดษ สำรวมระวังกาย วาจาและใจในทุกย่างก้าว ทุกสิ่งที่คิด ทุกอย่างที่ทำ ทุกคำที่พูด จึงไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะไม่อยากไปกระทบให้ใครเดือดร้อน และท่านได้อธิษฐานจิตมั่นว่า หากยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จะไม่สนทนาพูดคุยกับใคร

ตลอดปีแรกของการบวช ท่านสำรวมวาจาไม่พูดกับใคร ท่านตั้งใจเจริญภาวนารักษาใจอยู่ภายในอย่างเดียวทั้งวันทั้งคืน ในปีที่ ๒ ได้มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งเกิดความสงสัย คิดว่าท่านเป็นใบ้ เพราะตลอดปีที่ผ่านมานางไม่เคยเห็นท่านพูด นางจึงอยากทดสอบดูว่าพระเถระยังพูดได้อยู่หรือไม่ เช้าวันรุ่งขึ้นจึงแกล้งทำเป็นมือไม้ไม่มีเรี่ยวแรง เทน้ำนมลงในบาตรไม่ยอมหยุด จนกระทั่งพระเถระหลงกลนาง และพูดขึ้นว่า “พอแล้ว น้องหญิง” เมื่อเข้าพรรษาที่ ๓ ของการบวช ความเพียรและอินทรีย์ของพระเถระแก่กล้าเต็มที่ ในที่สุดก็สามารถทำใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ภายในพรรษานั้น

ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พระเถระได้พูดถึงประวัติการสั่งสมบุญบารมีของตน เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงบุญแก่อนุชนรุ่นหลังว่า “เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัสในภิกษุสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยมในพระศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตักน้ำฉันใส่หม้อน้ำจนเต็ม ในเวลาที่เราต้องการน้ำ จะเป็นยอดภูเขา ยอดไม้ ในอากาศ หรือพื้นดิน น้ำจึงเกิดขึ้นแก่เราทันที ในแสนกัปนับจากภัทรกัปนี้ เราได้ให้ทานใด ด้วยผลแห่งทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำเป็นทาน เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว”

เราจะเห็นได้ว่าการไปถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตในสังสารวัฏ คือ การขจัดอาสวกิเลสเข้าสู่อายตนนิพพานนั้น มีหลากหลายวิธีแตกต่างกัน เช่น บางท่านอาจจะเจริญมรณานุสสติ นึกถึงความตายแล้วใจสงบ ท่านก็ทำอย่างนั้น หรือบางท่านชอบปลีกวิเวกตามป่าช้า ทำให้ใจหยุดนิ่งได้ไว จึงไปทำภาวนาอยู่ในป่าช้า จากกรณีศึกษาของพระอรหันตเถระรูปนี้ ท่านชอบความสมถะมักน้อยสันโดษ เป็นผู้สำรวมระวังการพูดจา ท่านก็ดำเนินตามปฏิปทานี้ ทำให้ได้บรรลุผลอันสูงสุด ดังนั้น ใครมีกุศโลบายในการทำใจหยุดนิ่งวิธีไหน ให้เลือกเอาวิธีที่ตัวเองถนัด โดยฐานที่มั่นของใจของทุกวิธี ต้องให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายภายในตัว เมื่อทำได้อย่างนี้ จะถึงเป้าหมาย คือ ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกคน

วันศุกร์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

อภัยให้กันเถิดประเสริฐนัก

การขจัดกิเลสอาสวะเป็นจุดมุ่งหมายของผู้แสวงหาทางหลุดพ้น เพราะตราบใดที่กิเลสยังครอบงำจิตใจอยู่ ชีวิตต้องระทมทุกข์ ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว หากเรายังหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นไม่เจอ เราเปรียบเสมือนคนไข้ที่ถูกโรครุมเร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดก็ไม่มีความสุข วิธีการที่จะทำให้เราค้นพบสาเหตุแห่งความทุกข์ และหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นได้ คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะขจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองให้หมดไปจากใจ และวิธีการนี้ยังเป็นทางดำเนินไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย หากใครดำเนินตามแนวทางของพระพุทธองค์ บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้บรรลุถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ความว่า

กายสุจึ วาจาสุจึ เจโตสุจิมนาสวํ

สุจึ โสเจยฺยสมฺปนฺนํ อาหุ นินฺหาตปาปกํ

ผู้มีความสะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ ปราศจากกิเลสอาสวะ ถึงพร้อมด้วยความสะอาด ล้างบาปได้แล้ว บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้สะอาด”

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของหยาบและของละเอียด มีสภาพใจที่สะอาดผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีสิ่งใดมากระทบ จะไม่สามารถที่จะทำให้ใจของท่านหวั่นไหวได้ เพราะมีแต่ความสว่างไสวที่ไม่มีประมาณ ดุจดังดวงอาทิตย์อุทัยที่คอยส่องแสงสว่างให้แก่โลกหล้า

พระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระบรมศาสดา ถึงแม้จะถูกพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แอบเดินมาทุบหลังอย่างแรง แต่ความขุ่นเคืองใจ หรือความโกรธแค้นแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้มีอยู่ในใจของพระเถระ ท่านมีแต่ความบริสุทธิ์กายวาจาใจ เพราะบาปที่ติดอยู่ในใจได้หลุดล่อนออกไปหมดแล้ว แม้ว่าพระเถระจะไม่มีความแค้นเคืองต่อพราหมณ์ แต่ว่ามีผู้คนมากมายที่กลับโกรธแค้นแทนพระเถระ คิดจะประทุษร้ายต่อพราหมณ์ ซึ่งมีเรื่องราวดังต่อไปนี้

*มก. พระสารีบุตรเถระ เล่ม ๔๓/๔๓๗

* ในสมัยพุทธกาล ชาวเมืองได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรเถระว่า “เป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีเสขิยวัตรที่น่าเลื่อมใส สมกับเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระบรมศาสดา พระเถระเป็นผู้ประกอบด้วยกำลัง คือ ขันติธรรม แม้จะถูกด่า ถูกบริภาษ ถูกทำร้ายหรือถูกกลั่นแกล้ง ท่านก็ไม่โกรธเคือง แต่ยังคงมีจิตแช่มชื่นประกอบด้วยเมตตาธรรมต่อทุกๆ คน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เคยแสดงอาการโกรธเคืองต่อใครๆ” เมื่อคุณธรรมความดีของพระเถระได้รับการยกย่องสรรเสริญปากต่อปากออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงหูพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง พราหมณ์คนนี้กลับไม่เชื่อว่าคนที่ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ และไม่ประทุษร้ายตอบผู้อื่นจะมีอยู่ในโลก จึงแย้งว่าสงสัยคนที่มาพูดยั่วยุให้ท่านโกรธคงไม่มีกระมัง

ชาวเมืองผู้เลื่อมใสในคุณของพระเถระ ต่างพูดยืนยันว่า แม้จะมีคนยั่วยุให้ท่านโกรธ แต่ท่านไม่โกรธ พระเถระเคยถูกโยมมารดาดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่ท่านก็ไม่โกรธ จนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว พราหมณ์จึงคิดว่า “เอาละ จะให้เราเชื่อโดยมิทันได้พิสูจน์นั้น เราคงไม่เชื่อ ฉะนั้น เราต้องพิสูจน์ดูก่อนว่า พระเถระเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่” จึงคิดหาวิธีการที่จะทดสอบตบะธรรมของพระเถระ มีอยู่วันหนึ่ง พราหมณ์เห็นพระเถระเข้าไปบิณฑบาตในเมือง จึงแอบเดินตามไปข้างหลัง พอได้โอกาสเหมาะ จึงใช้ฝ่ามือฟาดเข้ากลางหลังของพระเถระอย่างแรง ฝ่ายพระเถระเมื่อถูกประทุษร้ายจนเสียหลัก เหมือนกับเดินสะดุดตอไม้ แต่มิได้ใส่ใจ ท่านยังคงเดินบิณฑบาตตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ฝ่ายพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ เมื่อประทุษร้ายพระเถระแล้ว แต่พระเถระยังเดินบิณฑบาตด้วยอาการสงบสำรวมน่าเลื่อมใส ก็รู้สึกชื่นชมว่า “พระคุณเจ้ารูปนี้ ช่างสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างที่มหาชนยกย่องสรรเสริญจริงหนอ” ขณะเดียวกัน แทนที่พราหมณ์จะรู้สึกสบายใจ กลับเกิดความเร่าร้อนขึ้นมาทันที เหมือนมีไฟแผดเผาอยู่ภายในร่างกาย พราหมณ์รู้ตัวว่าหากไม่ขอขมาต่อพระเถระ ศีรษะจะต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ อย่างแน่นอน จึงรีบวิ่งเข้าไปหมอบลงแทบเท้าของพระเถระ แล้วเรียนท่านว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านจงอดโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด” พระเถระก้มมองดูพราหมณ์ด้วยจิตที่ประกอบด้วยมหากรุณา พร้อมกับกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ เราให้อภัยท่านตั้งแต่ตอนที่ท่านตีหลังเราแล้ว ขอให้ท่านจงสบายใจเถิด” พราหมณ์จึงเรียนว่า “ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านยกโทษให้กระผมจริง ขอได้โปรดไปฉันภัตตาหารที่บ้านของกระผมด้วยเถิด” พราหมณ์รับบาตรของพระเถระ เดินนำทาง และนิมนต์ให้พระเถระเข้าไปนั่งภายในบ้าน จากนั้นก็น้อมนำอาหารที่มีรสอร่อยมาถวาย ด้วยความเคารพนอบน้อม

ฝ่ายชาวบ้านรู้ข่าวว่าพราหมณ์ตีหลังพระเถระ ก็รู้สึกโกรธแค้น จึงคิดว่า “พระเถระไม่มีความบาดหมางกับพราหมณ์มาก่อน การที่พราหมณ์มาทำอย่างนี้ เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพระสงฆ์ นับเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จะต้องแก้แค้นให้กับพระเถระ” จึงตระเตรียมก้อนดินก้อนหินและท่อนไม้ตามแต่จะหาได้ไปดักรอที่หน้าบ้านของพราหมณ์

เมื่อพระเถระฉันเสร็จ ขณะจะเดินทางกลับวัด โดยมีพราหมณ์เดินถือบาตรตามมาข้างหลัง ชาวบ้านเห็นพระเถระไม่ยอมรับบาตรคืนจากพราหมณ์ จึงเดินเข้าไปขอร้องให้พระเถระรับบาตรจากพราหมณ์ พระเถระถามว่า “ทำไมต้องรีบรับบาตรจากพราหมณ์ด้วยเล่า” ชาวบ้านได้เรียนให้ท่านทราบว่า “พราหมณ์ทำร้ายท่านผู้บริสุทธิ์ จะต้องสั่งสอนให้สำนึกเสียบ้าง”

พระเถระฟังแล้ว จึงถามกลับไปว่า “พวกท่านถูกพราหมณ์ทำร้ายหรือว่าเราถูกทำร้าย” เมื่อได้รับคำตอบว่าเป็นพระเถระถูกทำร้าย พระเถระจึงกล่าวว่า “แม้ว่าพราหมณ์จะทำร้ายเรา แต่ก็ได้ขอขมาเราแล้ว ตอนนี้ พราหมณ์ได้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ได้ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นผู้ไม่ทำปาณาติบาต เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครๆ อีกต่อไป พวกท่านยังจะมาทำร้ายผู้ที่ไม่ทำร้ายผู้อื่นอีกทำไม พวกท่านพึงรักษาความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจของตน และตั้งมั่นอยู่ในคุณ คือ ศีลทั้งหลายเถิด” และบอกให้พวกชาวบ้านกลับไป เมื่อชาวบ้านเข้าใจดีแล้ว ก็คลายจากความโกรธเคืองและให้อภัยต่อพราหมณ์นั้น

เราจะเห็นว่า ผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจที่แท้จริง จะไม่ประทุษร้ายใคร และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน การไม่ด่าตอบต่อบุคคลผู้กำลังด่าอยู่ หรือการไม่ทำร้ายตอบต่อบุคคลผู้ประทุษร้ายเรา ถือว่าเป็นความประเสริฐในอริยวินัย ส่วนผู้ที่ฝึกฝนอบรมใจมาอย่างดีแล้ว แม้ว่าจะมีสิ่งใดมากระทบกายภายนอกให้เป็นทุกข์ แต่ความทุกข์ไม่อาจกระเทือนเข้ามาภายในจิตใจของผู้นั้นได้ เพราะเป็นสภาพใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง จึงไม่มีความแค้นเคืองต่อใครๆ

พวกเราทุกคนควรฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้อย่างนี้ คือ ฝึกให้มีความอดทนอดกลั้น รู้จักข่มความโกรธเอาไว้ ไม่ไปก่อทุกข์โทษให้เกิดขึ้นกับใครๆ ส่วนผู้ที่โกรธง่าย แสดงว่ายังขาดความอดทนอยู่ ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นจอมเทพ ตรัสเป็นข้อคิดคติเตือนใจไว้ว่า “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อน ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน ผู้ที่ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากอย่างยิ่ง” เพราะฉะนั้น เมื่อถูกคนไม่ดีด่าว่า ให้ทำราวกับว่าสายลมพัดผ่าน ทำหูให้เป็นเหมือนหูกระทะ ทำตาให้เป็นเหมือนตาไม้ไผ่ คือ ไม่ไปสนใจไยดี ไม่ปล่อยใจของเราให้เศร้าหมองตามไป แต่เราควรใส่ใจในเรื่องที่จะทำความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง เช่น การฝักใฝ่ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา หากฝึกใจได้อย่างนี้ จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย ที่คอยขจัดปัดเป่าความขุ่นข้องหมองใจทั้งหลายให้หมดสิ้นไป และให้ตั้งใจหมั่นฝึกฝนอบรมใจของเรา ให้หยุดให้นิ่งเรื่อยไป แล้วสักวันหนึ่งจะได้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือ พระรัตนตรัยกันทุกๆ ค

วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ความรู้เพื่อความหลุดพ้น

สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนต่างปรารถนาความสุข ไม่ปรารถนาความทุกข์ และต้องการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด ตลอดจนความปลอดภัยให้กับชีวิต มีผู้คนจำนวนมาก แม้จะมีความสุขทางด้านทรัพย์สินเงินทอง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ แต่ยังต้องทุกข์ใจในหลายๆ เรื่อง บางคนแสวงหาความสุขมาตลอดชีวิต แต่ยังไม่เคยพบความสุขที่แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า ทางที่จะนำไปสู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์นั้น คือ การทำใจให้หยุดนิ่งในกลางกาย กลั่นใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ จนกระทั่งหลุดพ้นจากต้นแหล่งแห่งทุกข์ หลุดจากความมืดมาเป็นความสว่างแห่งปัญญาความรู้แจ้งเห็นแจ้ง ดังนั้นการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด สำหรับชีวิตของผู้ที่ปรารถนาความสุขอย่างแท้จริง

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏในขุททกนิกาย เตสกุณชาดก ว่า

ปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยข้อความที่ได้เล่าเรียนมา ปัญญาเป็นเครื่องเพิ่มพูนเกียรติคุณและชื่อเสียง นรชนในโลกนี้ ผู้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมหาความสุขได้ ในท่ามกลางความทุกข์ที่เกิดขึ้น”

วิชาความรู้ต่างๆ ที่คนทั้งหลายศึกษาเล่าเรียนกันอยู่ในโลกนี้ เป็นแค่ความรู้เพื่อใช้ในการทำมาหากิน หล่อเลี้ยงสังขารร่างกายให้ดำรงอยู่เท่านั้น ไม่ได้เป็นความรู้ที่จะนำพาเราให้หลุดพ้นจากโลก หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เป็นความรู้ที่วนอยู่ในภพสาม เพราะผู้ให้คำแนะนำสั่งสอน ก็ยังไม่รู้จักวิธีการที่จะหลุดพ้นจากภพสาม

ส่วนวิชชาความรู้ในพระพุทธศาสนา เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ สามารถนำผู้ประพฤติปฏิบัติให้หลุดพ้นออกจากภพทั้งสามได้ กระทั่งเลิกเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปสู่อายตนนิพพาน ซึ่งพระบรมศาสดาผู้สั่งสอนสุดยอดของวิชชา เป็นผู้ที่มีจิตหลุดพ้นออกจากภพสาม กำจัดกิเลสอาสวะได้แล้ว จึงได้สอนวิชชาพ้นโลก สอนเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตที่เป็นความรู้อันประเสริฐ สมควรอย่างยิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะได้ศึกษา

*มก. มิคสิรเถรคาม เล่ม ๕๑/๑๔๙

*เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของปริพาชกท่านหนึ่ง ซึ่งมีมนตร์รู้การไปเกิดใหม่ของมนุษย์ เรื่องมีอยู่ว่า ปริพาชกคนนี้ อดีตชาติที่ผ่านมาเคยเกิดในพระพุทธศาสนา เคยสั่งสมบุญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาหลายพระองค์ ชาติที่เพิ่งผ่านมานี้ ได้เกิดในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เมื่อเจริญเติบโตขึ้น บุญบันดาลให้ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันหนึ่ง ก็เกิดมีจิตเลื่อมใส ได้นำหญ้าคา ๘ กำมือ ไปถวายพระบรมศาสดา ด้วยบุญกุศลที่ได้กระทำในครั้งนั้น ได้ส่งผลให้ท่านเวียนว่ายตายเกิดอยู่แค่สองภพภูมิ คือ ระหว่างภพมนุษย์กับภพเทวดา เท่านั้น

เมื่อมาถึงพุทธกาลนี้ ได้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในแคว้นโกศล หมู่ญาติตั้งชื่อให้ว่า มิคสิระ เพราะเกิดในช่วงเดือนมกราคม เมื่อมิคสิรพราหมณ์เจริญเติบโตขึ้น ได้เล่าเรียนวิชาและศิลปศาสตร์อย่างที่พวกพราหมณ์ทั้งหลายศึกษากัน และมีวิชาหนึ่งที่มิคสิรพราหมณ์มีความชำนาญเป็นพิเศษ คือ วิชาฉวสีสะ คือ มนตร์เคาะกะโหลกศีรษะ วิชานี้ต้องร่ายมนตร์ ก่อนที่จะเอาเล็บมือไปเคาะกะโหลกศีรษะของคนตาย เมื่อเคาะดูก็จะรู้ว่าคนนี้ตายแล้วไปเกิดอยู่ภพภูมิไหน แม้จะตายไปแล้วถึง ๓ ปี เมื่อเอาเล็บมือเคาะกะโหลกศีรษะยังสามารถรู้ได้ว่าไปเกิดอยู่ที่ภพภูมิไหน

วันหนึ่ง เมื่อบุญบารมีเริ่มแก่กล้า มิคสิรพราหมณ์เกิดความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตในเพศฆราวาสอีก จึงได้เข้าไปขออนุญาตบิดามารดาออกบวช บิดามารดาเห็นความตั้งใจของลูกชายจึงอนุญาต มิคสิรพราหมณ์หนุ่มออกบวชเป็นปริพาชก แล้วใช้วิชามนตร์เคาะกะโหลกศีรษะ เดินทางหาประสบการณ์ไปยังสถานที่ต่างๆ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง มีลาภสักการะมากมาย และเป็นที่เคารพเกรงใจของชาวพระนคร

วันหนึ่งมิคสิรปริพาชก เดินทางมาถึงเมืองสาวัตถี ได้เข้าไปที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร และเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระคันธกุฎี แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์สามารถรู้สถานที่เกิดในภพภูมิใหม่ของคนที่ตายไปแล้วได้” พระบรมศาสดาสดับแล้ว จึงตรัสว่า “เธอมีวิชาอะไรถึงสามารถรู้ได้” มิคสิรปริพาชกจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้เล่าเรียนมนตร์ชื่อว่าฉะวะสีสะ เมื่อเอาเล็บมือเคาะกะโหลกศีรษะดูแล้ว สามารถบอกได้ทันทีว่า คนนี้ตายแล้วไปเกิดยังภพภูมิไหน แม้กระทั่งไปเกิดในนรกยังสามารถรู้ได้”

จากนั้นพระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้คนไปนำเอากะโหลกศีรษะของปุถุชนมา เมื่อมิคสิรปริพาชกเอาเล็บเคาะดู ก็ตอบได้หมดว่า เจ้าของกะโหลกศีรษะตายแล้วไปไหน พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้นำกะโหลกศีรษะของพระอรหันต์มา แล้วตรัสว่า “เธอจงเอาเล็บเคาะกะโหลกศีรษะนี้ แล้วบอกหน่อยว่า เจ้าของกะโหลกศีรษะนี้เป็นใคร ไปบังเกิดยังภพภูมิไหน” มิคสิรปริพาชกจึงร่ายมนตร์เอาเล็บมือเคาะกะโหลกศีรษะแล้วไม่เห็นที่สุด ไม่เห็นเงื่อนงำท่ามกลางแต่อย่างใด พระบรมศาสดาทอดพระเนตรกิริยาอาการที่กระสับกระส่ายของเขา จึงตรัสถามว่า “เธอยังไม่รู้ว่าเจ้าของกะโหลกศีรษะไปบังเกิดที่ไหนหรือ” มิคสิรปริพาชกยังไม่ลดละความพยายาม ได้กราบทูลว่า ข้าพระองค์จะพยายามร่ายมนตร์ต่อไป

แม้มิคสิรปริพาชกจะร่ายมนตร์กี่รอบ ยังไม่สามารถบอกภพภูมิการไปเกิดของพระอรหันต์ได้ พระบรมศาสดาเห็นอาการท้อใจของเขา จึงตรัสขึ้นว่า “คนที่มีความรู้เฉพาะการประกอบพิธีกรรม เป็นความรู้นอกคำสอนของเราตถาคต ถึงจะร่ายมนตร์อย่างไร ยังไม่สามารถหยั่งรู้คติของพระขีณาสพได้” มิคสิรปริพาชกรู้สึกเก้อเขินถึงกับทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ยืนนิ่งอยู่ ณ ที่นั้น

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นอาการไม่สบายใจของมิคสิรปริพาชก จึงตรัสว่า “เธออึดอัดไม่สบายใจหรือ” มิคสิรปริพาชกจึงกราบทูลว่า “ใช่พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่สามารถบอกการไปเกิดของเจ้าของกะโหลกศีรษะนี้ได้” แล้วทูลถามอีกว่า “แล้วพระพุทธองค์ทรงทราบหรือพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสว่า “เราตถาคตรู้คติของเจ้าของกะโหลกศีรษะนี้ แม้ความรู้ที่ยิ่งกว่านี้ เราตถาคตก็รู้” แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเฉลยให้พราหมณ์ฟังว่า “เจ้าของกะโหลกศีรษะนี้ไปสู่อายตนนิพพานแล้ว”

มิคสิรปริพาชกจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์อยากได้วิชานี้ ขอพระองค์โปรดสอนให้กับข้าพระองค์ด้วยเถิด” พระบรมศาสดาได้ตรัสบอกเขาว่า “ถ้าเธออยากได้วิชานี้ เธอต้องบวชก่อน” แล้วทรงให้มิคสิรปริพาชกบวช เมื่อบวชแล้ว ทรงให้บำเพ็ญสมถกรรมฐานก่อน ต่อมาทรงแนะนำวิปัสสนากรรมฐานให้ มิคสิรภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นในฌาน ได้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานไม่นานนักได้บรรลุพระอรหัตผลอันเลิศ

จะเห็นได้ว่า วิชาความรู้ภายนอกพระพุทธศาสนา ยังเป็นแค่ความรู้ที่ติดอยู่ในภพสาม เพราะผู้ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ก็ยังไม่หมดกิเลส ใจยังข้องเกี่ยวอยู่ในภพสาม จึงไม่สามารถบอกการไปสู่อายตนนิพพานของพระอรหันต์ทั้งหลายได้ ต่างจากวิชชาความรู้ในพระพุทธศาสนา ที่รู้แจ้งเห็นแจงแทงตลอดทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันต์ เนื่องจากผู้สอน คือ พระบรมศาสดาผู้ทรงหลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะทั้งปวง หลุดพ้นแล้วจากภพทั้งสาม พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และทรงมีพระมหากรุณาสั่งสอนมนุษย์และสรรพสัตว์ให้เลิกเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

ดังนั้น เมื่อเรามาเกิดเป็นมนุษย์ ได้มาพบพระพุทธศาสนา เราควรจะศึกษาวิชชาความรู้ในพระพุทธศาสนานี้ให้แตกฉาน เพราะความรู้นี้เป็นความรู้แจ้งเห็นจริง ที่มนุษย์ทุกคนควรศึกษาเรียนรู้ ควรให้โอกาสกับตัวเราเองในการเข้ามาศึกษาความรู้อันเป็นสากลนี้ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คน ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและเผ่าพันธุ์ เราทุกคนควรแสวงหาความรู้เพื่อความหลุดพ้น เพื่อเราจะได้หลุดพ้นจากภพสามไปสู่อายตนนิพพาน

สั่งสมบุญไว้ดีชีวีสดใส

ความสุขเป็นสิ่งที่มวลมนุษยชาติล้วนปรารถนา แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ความสุขที่แท้จริงคืออะไร อยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร แต่ผู้รู้ทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงค้นพบว่า พระรัตนตรัยเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่แท้จริง ถ้าเราเข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยภายในได้ เมื่อนั้นความสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้นกับตัวเรา เราจะเข้าถึงตัวตนที่แท้จริง ที่สามารถนำพาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้ เพราะฉะนั้น เป้าหมายของการมาเกิดในแต่ละภพแต่ละชาติ เพื่อแสวงหาพระรัตนตรัยที่มีอยู่ภายในตัวของเรานี้เอง ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ และเข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ต้องหยุดใจของเราไว้ที่ศูนย์กลางกาย ในกลางพระรัตนตรัยที่ละเอียดที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายชีวิตของมนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

“นตฺถิ ราคสโม อคฺคิ นตฺถิ โทสสโม คโห
นตฺถิ โมหสมํ ชาลํ นตฺถิ ตณฺหาสมา นที
ไม่มีไฟใดที่เสมอด้วยไฟ คือ ราคะ ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี”


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสพุทธพจน์บทนี้ ทรงปรารภเรื่องที่พุทธบริษัท มัวฟุ้งซ่านส่งใจไปที่อื่น เพราะถูกกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ และตัณหาครอบงำจิตใจ จึงไม่สามารถส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้ ดังเรื่องราวที่จะยกมาให้ศึกษานี้

*มก. อุบาสก ๕ คน เล่ม ๔๓/๔๒
*ในสมัยพุทธกาล คืนวันหนึ่ง มีอุบาสก ๕ คน ชักชวนกันไปฟังธรรมที่วัดพระเชตวันพร้อมกับพุทธบริษัททั้งหลาย ขณะที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมอยู่นั้น มีอุบาสกคนหนึ่งยังไม่ทันจับประเด็นว่าพระพุทธองค์เทศน์เรื่องอะไรก็นั่งหลับเสียแล้ว อีกคนมัวแต่เอานิ้วมือขีดเขียนพื้นดิน จึงฟังธรรมไม่รู้เรื่อง อีกคนไปนั่งเขย่าต้นไม้เล่นอยู่ด้านหลัง อีกคนนั่งแหงนหน้ามองดูดวงดาว ส่วนอีกคนตั้งใจฟังธรรมด้วยความเคารพ จึงได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

พระอานนทเถระซึ่งยืนถวายงานพัดพระบรมศาสดาอยู่ เห็นการกระทำที่แตกต่างกันของอุบาสกทั้ง ๕ คน จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระบรมศาสดาทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า “อานนท์ เธอไม่รู้จักอุบาสกเหล่านั้นหรือ อุบาสกทั้ง ๕ คนนั้น อุบาสกที่เอาแต่นั่งหลับ เคยเกิดเป็นงูมา ๕๐๐ ชาติ ได้พาดหัวบนขนด นอนหลับตลอดทั้งวัน เสียงของเราย่อมไม่เข้าไปในหูของเขาหรอก ทุกวันนี้ความอิ่มในการหลับของเขายังไม่มีเลย

ส่วนอุบาสกที่นั่งเอานิ้วขีดเขียนพื้นดิน เขาเคยเกิดเป็นไส้เดือน ๕๐๐ ชาติ ได้ชอนไชแผ่นดินตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยความเคยชินที่สั่งสมมา ทำให้เขาได้นั่งขีดเขียนพื้นดิน ไม่ตั้งใจฟังธรรมในบัดนี้ ส่วนอุบาสกที่นั่งเขย่าต้นไม้ เขาเคยเกิดเป็นวานรมา ๕๐๐ ชาติ บัดนี้เขาจึงชอบเขย่าต้นไม้เล่น เพราะความคุ้นกับสิ่งที่เคยทำมา สำหรับอุบาสกที่นั่งแหงนหน้ามองดูดวงดาวทั้งคืน เพราะเขาเคยเกิดเป็นโหราศาสตร์ คอยบอกฤกษ์ยามมาถึง ๕๐๐ ชาติ ฉะนั้น ในคืนนี้ เมื่อเขามาฟังธรรม จึงได้แหงนดูท้องฟ้าด้วยความเคยชิน โดยไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายในการมองดูดวงดาว และเสียงของเราไม่ได้เข้าไปในโสตประสาทของเขา ส่วนอุบาสกที่ฟังธรรมโดยเคารพ เขาเคยเกิดเป็นพราหมณ์ผู้ท่องมนตร์ ถึงฝั่งแห่งไตรเพทมานาน ๕๐๐ ชาติ บัดนี้ เธอจึงตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ เพื่อเทียบเคียงมนตร์ที่ตนเองเคยจดจำมา”
เมื่อพระบรมศาสดาตรัสจบ พระอานนท์จึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์ สามารถแทรกเข้าไปทุกส่วนแห่งสรีระจนเข้าไปจดเยื่อในกระดูกได้ ทำไม เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ อุบาสกเหล่านี้จึงไม่ตั้งใจฟังด้วยความเคารพ พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “อานนท์ เธอคิดว่าธรรมะของเราเป็นสิ่งที่จะหาฟังได้ง่ายอย่างนั้นหรือ อันที่จริง ธรรมะของเรานั้นเป็นสิ่งที่หาฟังได้ยาก เพราะคำว่า พุทฺโธ ก็ดี ธมฺโม ก็ดี สงฺโฆ ก็ดี เป็นถ้อยคำที่สัตว์เหล่านี้ไม่เคยได้ยินเลยตลอดแสนกัปบ้าง ยาวนานกว่านั้นเป็นหลายๆ แสนกัปบ้าง เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จึงไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมของพระตถาคต แต่ในวัฏสงสารอันมีเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายซึ่งกำหนดนับได้ยากนี้ สัตว์เหล่านี้ฟังแต่เดรัจฉานกถา จึงเอาแต่เที่ยวขับร้องฟ้อนรำ มัวประมาทเพลิดเพลิน จึงไม่สามารถเข้าใจธรรมะที่พระตถาคตนำออกมาแสดงได้”

จากนั้นทรงตรัสอธิบายสาเหตุที่ธรรมะไม่เข้าไปอยู่ในจิตใจของอุบาสกว่า เพราะอุบาสกทั้ง ๔ นั้น อาศัยราคะ โทสะ โมหะ อาศัยตัณหามาบดบัง ธรรมะจึงไม่ซึมซาบเข้าไปในใจของพวกเขา ธรรมดาว่าไฟ เสมอด้วยไฟ คือ ราคะย่อมไม่มี ไฟที่เผาไหม้ป่า หรือไฟล้างกัปให้พินาศ เพราะอาศัยดวงอาทิตย์ ๗ ดวง ที่บังเกิดขึ้นพร้อมกัน สามารถเผาโลกจนไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย แต่ถึงกระนั้นไฟนั้นก็ไหม้ในบางคราวเท่านั้น แต่ไฟ คือ ราคะนั้น เผาไหม้จิตใจของมนุษย์ทุกอนุวินาที เพราะฉะนั้น ไฟที่เสมอด้วยราคะย่อมไม่มี

ธรรมดาไฟที่ใช้หุงต้มหรือเผาไหม้สิ่งต่างๆ แม้จะดับแต่ยังแสดงควันให้รู้ว่ายังมีไฟ คนจึงสามารถดับไฟได้สนิท หรือไฟที่ลุกโพลง เผาบ้านเรือนให้พินาศ แต่คนยังสามารถดับให้มอดลงได้ ส่วนไฟ คือ ราคะเผาลนจิตใจของสัตว์อยู่ภายใน ไม่แสดงอาการให้ใครรู้ อีกทั้งเป็นกิเลสที่ทำความคุกรุ่นอยู่ในใจของมนุษย์ ทำให้บาปอกุศลเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ส่วนโทสะมีอุปมาเปรียบเหมือนผู้จับ “ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี” ผู้จับภายนอก เช่น ยักษ์ ผีเสื้อน้ำ งูเหลือม จระเข้ เป็นต้น สามารถจับสัตว์อื่นได้ในเขตบริเวณของตนเท่านั้น แต่โทสะที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจ หากไม่มีการขจัดออกจากใจ โทสะจะคอยจับความหงุดหงิดขัดเคืองใจ ทำให้ใจมืดบอดเศร้าหมอง และจะนำความเดือดร้อนใจมาให้ทุกภพทุกชาติ

สำหรับพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “ตาข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี” หมายถึง ตาข่ายที่ดักสัตว์ยังสามารถแก้หรือคลายออกได้ แต่โมหะที่รัดรึงจิตใจสรรพสัตว์เอาไว้ ยากที่จะแก้หรือคลายออกจากภพสาม ได้ ต้องอาศัยบุญบารมีและความเพียรในการฝึกสมาธิให้ใจใสสะอาดบริสุทธิ์ จนเกิดเป็นความสว่างไสวภายใน แล้วมองเห็นภัยของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ มองย้อนไปถึงต้นเหตุของการเกิดทุกข์ จึงจะสามารถทำตนให้หลุดรอดจากข่าย คือ โมหะที่ครอบงำใจดวงนี้เอาไว้ได้

ประการสุดท้าย พระพุทธองค์ตรัสว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาย่อมไม่มี” หมายความว่า ตัณหานั้นไม่มีวันเต็ม เพราะความทะยานอยากไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งยังปรากฏความพร่องอยู่เป็นนิตย์ เติมให้เต็มได้ยาก ถ้าหากจะมีสถานที่ที่เอามาใส่ตัณหาให้เต็มนั้น ท่านอุปมาเอาไว้ว่า พรหมโลกยังต่ำเกินไป จักรวาลก็แคบเกินไป ไม่พอที่จะใส่ตัณหาลงไปได้ เพราะตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น เมื่อมนุษย์ยังมีจิตที่ชุ่มไปด้วยตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ ความปรารถนาอยากฟังธรรม แล้วน้อมนำไปปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จึงเป็นไปได้ยาก

เราทุกคนนับว่าเป็นผู้ที่โชคดี มีบุญได้มาพบพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสมาศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่มวลมนุษยชาติอีกมากมาย ยังไม่มีโอกาสอย่างนี้ บางท่านยังนับถือสิ่งที่ไม่ใช่พระรัตนตรัยอยู่ จึงไม่รู้ว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไร จึงจะปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แม้จะเป็นชาวพุทธ แต่ถ้ามัวสนใจในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ยากที่จะพบพานทางพระนิพพาน ยังมีเพื่อนร่วมโลกของเราอีกมากที่ได้รับความเดือดร้อน บางคนต้องหลบหนีภัยสงคราม บางคนเจอวิกฤติเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติมากมาย โอกาสที่จะมาศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตจึงแทบไม่มี ดังนั้น เมื่อเราได้โอกาส ก็ให้หมั่นสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อย่าประมาทชะล่าใจ รีบสั่งสมบุญสร้างบารมีทุกอย่างให้เต็มที่ ก่อนที่วิกฤติของชีวิตจะเกิดขึ้น เราควรรีบทำที่พึ่ง คือ พระรัตนตรัยให้เกิดขึ้นภายในใจของเราให้ได้ เพื่อชีวิตจะได้ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

ครอบครัวแก้ว

ความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ ทุกคนเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญสร้างบารมี เมื่อมีโอกาสว่างเว้นจากภารกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน ควรหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันให้ได้ ชีวิตเราจึงจะปลอดภัย ยิ่งถ้าเราศึกษาธรรมะให้ละเอียดลึกซึ้ง เราจะได้รู้จักความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น ถ้าไปบังเกิดเป็นชาวสวรรค์จะมีความสุขในการเสวยทิพยสมบัติ ซึ่งเรื่องนรกสวรรค์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เอามาขู่หรือเอามาล้อกันเล่นๆ อย่างที่บางคนเข้าใจ แต่เป็นเรื่องที่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับชีวิตใหม่ในปรโลก เพราะทุกคนล้วนตายหมด ชีวิตหลังความตายยังมีสิ่งใหม่ๆ ที่เราต้องศึกษากันอีก ดังนั้น เราจึงควรเตรียมพร้อมด้วยการสั่งสมบุญ และตั้งใจฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งกันให้เต็มที่ ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันให้ได้ทุกๆ คน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

น อตฺตเหตุ น ปรสฺส เหตุ

น ปุตฺตมิจฺเฉ น ธนํ น รฏฺฐํ

น อิจฺเฉยฺย อธมฺเมน สมิทฺธิมตฺตโน

ส สีลวา ปญฺญวา ธมฺมิโก สิยา

บัณฑิตย่อมไม่ทำบาป เพราะตนเป็นเหตุ หรือเพราะผู้อื่นเป็นเหตุ บัณฑิตไม่พึงปรารถนาบุตร ทรัพย์ แว่นแคว้น และความสำเร็จเพื่อตน โดยไม่ชอบธรรม บัณฑิตพึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา ตั้งอยู่ในธรรม”

ธรรมดาว่าชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น กว่าจะหาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มาสนองความต้องการของตนได้ หลายครั้งอาจต้องไปก่อบาปอกุศลกับผู้อื่น ท่านผู้รู้จึงไม่ให้ไปแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น บางคนคิดว่าจะมีความสุขต้องแต่งงาน มีครอบครัว กว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นครอบครัวสดใสได้นั้น ต้องเจอมรสุมมากมาย ต้องต่อสู้แก่งแย่งกัน ทำให้มีทั้งคู่แข่งและคู่แค้น บางคนบอกว่าทำเพื่อลูก แม้ไม่อยากทุศีลก็ต้องทุศีล ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น บางทีถึงขั้นต้องเอาชีวิตกันก็มี เพื่อหวังจะให้ครอบครัวของตนเจริญมั่งคั่ง แต่กลับต้องเป็นทุกข์หนักขึ้นไปอีก ต้องคอยหวาดระแวง เพราะมีศัตรูมาก บางคนต้องลักขโมยยักยอกทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตน และบ่อยครั้งต้องพูดโกหก เพื่อให้ได้เงินทองมาหล่อเลี้ยงครอบครัว เพราะฉะนั้น การจะรักษาศีล ๕ ข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการใช้ชีวิตการครองเรือนในสังคมยุคปัจจุบัน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ชีวิตการครองเรือนที่จะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ประดุจสังข์ที่ขัดดีแล้วนั้นยากเหลือเกิน เพราะเป็นทางมาแห่งธุลีกิเลสทั้งหลาย ยากที่จะหาความยินดีได้ ต้องหวานอมขมกลืนใช้ความอดทนอย่างมาก”

เมื่อเราพิจารณาด้วยจิตที่เป็นกลาง เราจะเห็นว่าการครองเรือนมีความทุกข์เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน เต็มไปด้วยเครื่องพันธนาการที่คอยเหนี่ยวรั้ง บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายจึงหาทางที่จะพ้นจากเครื่องพันธนาการเหล่านั้น และก็พบว่าชีวิตการบรรพชาหรือการบวชเป็นทางมาแห่งความบริสุทธิ์ เป็นการหาโอกาสว่าง เพื่อที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หลุดล่อนออกไปจากใจ เมื่อบวชแล้วจะได้ทำงานที่แท้จริง ที่เป็นกรณียกิจ กิจที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน ทรงปรารภพระธัมมิกเถระผู้เป็นแบบอย่างของการเป็นผู้นำครอบครัว เมื่อสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ทางโลก สามารถหาเงินทองมาหล่อเลี้ยงครอบครัวให้อยู่เป็นสุขได้อย่างเหมาะสม ครั้นบวชเข้ามาเป็นพระภิกษุ ก็เป็นสมณะแท้ ทำหน้าที่ของพุทธบุตรได้อย่างยอดเยี่ยม ท่านสามารถทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตร นำพาสมาชิกทุกคนในครอบครัว ให้มาอยู่ในร่มเงาของบวรพระพุทธศาสนา และได้บรรลุพระอรอรหันต์ บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันทุกคน เรามาติดตามเรื่องราวของท่านกัน

*มก. พระเถระผู้ตั้งอยู่ในธรรม เล่ม ๔๑/๓๕๔

*ในสมัยพุทธกาล อุบาสกคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ได้แต่งงานมีคู่ครองจนมีบุตรชายเหมือนชาวโลกทั่วไป ได้ใช้หลักธรรมที่ตนเองได้ศึกษาจากการไปฟังธรรมที่วัดพระเชตวันเป็นประจำ มานำพร่ำสอนบุตรและภรรยา ทำให้ทุกคนในครอบครัวเป็นคนมีศีล มีกัลยาณธรรม ขณะเดียวกัน อุบาสกตระหนักดีว่าการอยู่ครองเรือนนั้น จะทำศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ยาก จะทำสมาธิเจริญภาวนาก็ไม่สะดวก จึงวางแผนชีวิตเอาไว้ว่า เมื่อไรที่ลูกชายเติบโตเป็นหนุ่ม สามารถดูแลตัวเองได้จะออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง

วันหนึ่ง อุบาสกบอกความในใจที่ตัวเองได้ตั้งใจเอาไว้กับภรรยา ภรรยาจึงอนุโมทนาเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ขอให้รออีกหน่อยจนกว่าบุตรชายจะเติบใหญ่เสียก่อน ท่านยินดีทำตามที่ภรรยาขอร้อง ต่อมาเมื่อบุตรเติบโตพอจะดูแลตัวเองได้ ท่านเอาเงินก้อนหนึ่งให้ภรรยาไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตร และเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้านเพื่อให้ลูกและภรรยาอยู่อย่างสะดวกสบาย จากนั้นจึงลาภรรยาไปบวช เมื่อบวชแล้ว ได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเต็มที่ ท่านใช้เวลาพากเพียรพยายามอยู่ไม่กี่ปี สามารถทำกิจของสมณะให้สำเร็จได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

จากนั้นได้กลับไปเมืองสาวัตถีอีก เพื่อต้องการโปรดลูกและภรรยา ท่านสอนทุกคนให้เห็นทุกข์และโทษของการครองเรือน รวมทั้งแสดงความทุกข์ในสังสารวัฏให้ทุกคนในครอบครัวได้เข้าใจ ลูกชายฟังแล้วรู้สึกศรัทธาในธรรมะที่พระพ่อได้พร่ำสอน จึงตัดสินใจออกบวชตามพระพ่อ บวชได้ไม่นานก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ฝ่ายภรรยาคิดว่า “เมื่อสามีและลูกบวชกันหมดแล้ว การจะอยู่อย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์” จึงตัดสินใจออกบวชในสำนักของภิกษุณี บวชได้ไม่นานก็บรรลุเป็นพระอรหันต์เช่นกัน

ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่พระภิกษุได้กล่าวสนทนาชื่นชมพระเถระในโรงธรรมสภาว่า “การที่ท่านธัมมิกเถระเป็นยอดกัลยาณมิตรของครอบครัว ได้เป็นที่พึ่งให้กับบุตรและภรรยา เพราะท่านเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อครั้งอยู่ทางโลกได้ทำหน้าที่ของอุบาสกแก้วได้อย่างสมบูรณ์ ได้สร้างครอบครัวเป็นครอบครัวแก้วครอบครัวตัวอย่างของโลก ครั้นออกบวชก็สามารถทำพระนิพพานให้แจ้ง และสามารถชักชวนสมาชิกในครอบครัวออกบวช จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมดทุกคน นับเป็นตัวอย่างของผู้นำครอบครัวที่ดี ที่สามารถนำพาทุกคนให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง”

พระบรมศาสดาได้เสด็จมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอกำลังนั่งสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่” เมื่อภิกษุกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาว่าบัณฑิตไม่พึงปรารถนาความสำเร็จเฉพาะตนอย่างเดียว ไม่พึงปรารถนาความสำเร็จเฉพาะคนอื่นเท่านั้น แต่พึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมด้วย ขณะเดียวกันบัณฑิตไม่พึงทำบาป เพราะตนหรือผู้อื่นเป็นเหตุ ไม่พึงปรารถนาบุตร ทรัพย์ แว่นแคว้น และความสำเร็จเพื่อตนโดยไม่ชอบธรรม บัณฑิตพึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา ตั้งอยู่ในธรรม” จากนั้นได้แสดงอริยสัจสี่ให้พุทธบริษัทได้รับฟัง เมื่อจบพระธรรมเทศนา มหาชนได้บรรลุอริยผลกันเป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของครอบครัวแก้วที่ทุกคนได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเลิศ เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย ครอบครัวตัวอย่างของโลกที่น่าสรรเสริญ เพราะแต่ละท่านได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต ไม่ปล่อยชีวิตให้ผ่านไปเปล่า อยู่ทางโลกก็ไม่ช้ำ อยู่ทางธรรมก็ไม่เสีย เพราะฉะนั้น ขอฝากไปถึงคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นผู้นำครอบครัวในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ อย่าได้มัวแต่ทุ่มเททำธุรกิจเพื่อหาทรัพย์มาหล่อเลี้ยงครอบครัวอย่างเดียว ต้องรู้จักหาอริยทรัพย์ใส่ตัว เพื่อสอนบุตรธิดาให้เข้าใจเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ให้เขามีความรู้คู่คุณธรรม มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ หากมีลูกชายให้พามาบวชพระบวชเณร ให้พระท่านช่วยอบรม มีลูกสาวให้พามาอบรมธรรมทายาทหญิง จะได้เป็นกุลสตรีหรืออุบาสิกาแก้ว เพื่อการดำเนินชีวิตในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวจะได้ไม่ผิดพลาด จะได้เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ครอบครัวสุขสันต์ที่ทุกคนในครอบครัวได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ทั้งพ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะได้สั่งสมบุญบารมี และได้ประพฤติธรรมกันถ้วนหน้า