บนเส้นทางชีวิต ทุกชีวิตต้องพบกับอุปสรรคและปัญหาหลากหลายรูปแบบ แต่ปัญหาในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ ล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคตามสมัยเท่านั้น สิ่งที่น่าพิจารณา คือ วิธีการมองปัญหา บางคนเห็นปัญหาแล้วกลุ้มใจ ทุกข์ใจ บางคนเห็นแล้ววางเฉย และยังสามารถปรับปรุงสถานการณ์นั้นให้กลับดีขึ้นมาได้ ผู้ที่มีความคิดดีจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆมากมายขึ้นมาบนโลกใบนี้ ดังนั้นในยามที่เราประสบกับปัญหา อย่าตกใจ ให้หลับตา พักใจ ทำใจให้หยุดนิ่งไว้ในกลางกาย เมื่อใจสงบเราจะพบกับทางออกและช่องทางแห่งความสำเร็จ
มีพระพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ใน ปฐมปัณณาสก์ ว่า
“ภูมิของอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญู อกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญู อกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมสรรเสริญ แต่สัตบุรุษไม่สรรเสริญ”
คนที่มีคุณธรรมพื้นฐาน คือ ความกตัญญูกตเวที จะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ประสบแต่ความสุขความเจริญก้าวหน้า ส่วนคนที่ไม่รู้คุณคน แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่ตอบแทนคุณท่าน ลบหลู่คุณท่าน ถือว่าขาดความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลนั้นเป็นอสัตบุรุษ ที่ไม่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะการสมาคมด้วยย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เลือกคบกับสัตบุรุษ เพราะจะทำให้ชีวิตของเรามีแต่ความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป การคบกับสัตบุรุษจะไม่มีวันไร้ค่า เหมือนพระอานนท์ได้อยู่ใกล้ชิดกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ท่านได้ฟังธรรมและทรงจำธรรมะได้มากเป็นพิเศษกว่าภิกษุรูปอื่น
*มก. ปลาสชาดก เล่ม ๕๘/๔๑๙
*ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปรดประทานพระธรรมเทศนา ในเวลาที่ทรงบรรทมอยู่บนพระแท่นเป็นที่ปรินิพพาน ทรงปรารภความเศร้าโศกของพระอานนท์ เพราะได้ทราบว่า พระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานในที่สุดแห่งราตรีนั้น
พระอานนท์ท่านคำนึงถึงตัวเองว่า ตัวเราเป็นเสขบุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ ไม่ได้สำเร็จกรณียกิจอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ในขณะที่เรายังไม่ได้บรรลุพระอรหัตผล พระบรมศาสดาก็จะมาดับขันธปรินิพพาน การที่สู้อุตส่าห์ดูแลอุปัฏฐากพระพุทธองค์มาถึง ๒๕ พรรษา จะเป็นการไร้ค่าหรือไม่
เมื่อท่านคำนึงเช่นนี้ ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ที่ตนเองยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อีกทั้งยมีความอาลัยรัก และเคารพเทิดทูนต่อพระพุทธองค์อย่างสุดซึ้ง ไม่อยากให้พระพุทธองค์จากไป ดังนั้นท่านไม่สามารถอดกลั้นความรู้สึกเอาไว้ได้ จึงร้องไห้ และปลีกตัวออกจากหมู่คณะมาอยู่ตามลำพัง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบถึงความปริวิตกของพระอานนท์ จึงทรงรับสั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งไปตามมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสปลอบใจว่า “ดูก่อนอานนท์ เธอได้บำรุงอุปัฏฐากเรา ได้ชื่อว่าบำเพ็ญมหากุศลเป็นอันมาก ผลบุญนั้นไม่ไร้ผล ขอเธอจงมีวิริยะอุตสาหะในการบำเพ็ญเพียรต่อไปเถิด ในไม่ช้า เธอจะบรรลุพระอรหัตผล และกระทำให้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ การที่เธอสู้ทนปฏิบัติเรามาตลอดระยะเวลา ๒๕ พรรษา จักไม่ไร้ค่าอย่างแน่นอน แม้ในกาลก่อน เธอได้ปฏิบัติบำรุงเราผู้ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังไม่ไร้ค่า ไฉนในบัดนี้การกระทำของเธอจักไร้ค่าเล่า”
พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ในอดีตกาล ชาวเมืองพาราณสีนิยมการนับถือบูชาเทวดา ในครั้งนั้นพระอานนท์ได้เกิดเป็นพราหมณ์ผู้ยากไร้ มีความศรัทธา ความเพียรในการแผ้วถางใต้โคนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เพราะท่านเชื่อว่าต้นไม้นั้นมีเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่อาศัยอยู่ ท่านจึงหมั่นไปถอนหญ้า ทำพื้นที่บริเวณนั้นให้สะอาดราบเรียบ โปรยทรายที่บริเวณใต้ต้นไม้นั้น บูชาด้วยของหอม ดอกไม้ธูปเทียน และจุดประทีปโคมไฟ ก่อนกลับบ้านจะถามที่ต้นไม้นั้นว่า “ท่านนอนหลับเป็นสุขสบายดีหรือ” แล้วก็เดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบ พราหมณ์ได้ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน
ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นรุกขเทวาผู้มีศักดิ์ใหญ่ อาศัยอยู่ในวิมานที่ต้นไม้นั้น เห็นการกระทำของพราหมณ์อยู่เป็นประจำ จึงคิดว่า “พราหมณ์หนุ่มผู้นี้ปฏิบัติต่อเราเป็นอย่างดี เราควรตอบแทนเขาอย่างเหมาะสม แต่เราควรถามถึงความประสงค์ของเขาดูก่อนว่า เขาต้องการอะไร”
วันต่อมา พราหมณ์ได้ไปปฏิบัติที่บริเวณใต้ต้นไม้นั้นเหมือนเดิม รุกขเทวาจึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์เฒ่า ทำทีเป็นเดินผ่านมาแถวนั้น แล้วมาหยุดดูการปฏิบัติบำรุงของพราหมณ์หนุ่ม และได้ไต่ถามว่า “ท่านพราหมณ์ รู้อยู่ว่าต้นไม้นี้ไม่มีวิญญาณครอง เหตุไฉนท่านจึงมาบำรุงดูแลรักษาต้นไม้นี้อย่างดี แล้วยังถามถึงสารทุกข์สุขดิบของต้นไม้อีกด้วย ท่านทำอย่างนี้ไปทำไม”
พราหมณ์หนุ่มตอบว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าต้นไม้นี้ไม่มีวิญญาณครอง แต่ต้นไม้ต้นนี้มีสง่าราศีกว่าต้นอื่นๆ เห็นทีจะเป็นพิมานสถานที่สิงสถิตของเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงนมัสการต้นไม้นี้ เพราะปรารถนาจะได้ความมีสิริมงคล” พราหมณ์เฒ่าได้ฟังเช่นนั้นรู้สึกพอใจ จึงกลับร่างเป็นรุกขเทวายืนอยู่ในอากาศ แล้วกล่าวว่า “เรานี่แหละ คือ เทพผู้สิงสถิตอยู่ที่นี่ เราเป็นผู้รู้อุปการคุณของผู้อื่น เราจะไม่ให้การกระทำของท่านที่มีต่อเราต้องสูญเปล่าไปหรอก”
เทวดาจึงนำเอาทรัพย์ที่ฝังอยู่ใกล้บริเวณนั้นมาด้วยเทวฤทธิ์ มอบให้กับพราหมณ์หนุ่ม และกล่าวสอนว่า “จงใช้ทรัพย์นี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการบำรุงบิดามารดา เลี้ยงดูครอบครัว และนำไปบริจาคให้ทาน เพื่อเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้า และให้รักษาศีล หมั่นประพฤติธรรมไปจนกระทั่งหมดอายุขัย แล้วชีวิตจะพบกับความสุขสวัสดีมีชัยตลอดไป” แล้วรุกขเทวาก็อันตรธานหายไป
ส่วนตัวอย่างของการกระทำที่ไร้ผลนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงยกเอาเรื่องของพระเทวทัตมาเป็นตัวอย่าง ดังเช่นในพระชาติที่พระพุทธองค์ทรงเกิดเป็นพญานกหัวขวาน พระเทวทัตเกิดเป็นราชสีห์ ครั้งนั้นราชสีห์ได้กินสัตว์ที่ล่ามา แล้วเผอิญว่าเศษกระดูกติดคอราชสีห์ ทำให้มันได้รับทุกข์ทรมานอย่างน่าเวทนา พญานกหัวขวานเห็นดังนั้นเกิดความสงสาร จึงอาสาจะเอากระดูกที่ติดคอออกให้ โดยให้ราชสีห์อ้าปากเอาไม้ค้ำไว้ แล้วมุดเข้าไปจิกปลายกระดูกให้เลื่อนออก พอเสร็จแล้วก็เคาะท่อนไม้ที่ค้ำอยู่ให้หลุดออก ทำให้ราชสีห์หายเจ็บปวด
วันต่อมา พญานกหัวขวานคิดจะลองใจราชสีห์ จึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเคยช่วยเหลือท่าน ในยามที่ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แล้วท่านจะตอบแทนข้าพเจ้าอย่างไร” ราชสีห์รีบตอบทันทีว่า “อย่ามาพูดเลย เจ้าเข้าไปกินเลือดในปากของเรา แล้วยังมีหน้ามาพูดว่าจะให้เราตอบแทนอะไรอีก” เมื่อพญานกได้ฟังเช่นนั้น จึงกล่าวติเตียนว่า “ผู้ไม่รู้จักคุณของผู้อื่น ไม่รู้จักตอบแทนคุณ นับว่าเป็นอสัตบุรุษ การคบกับบุคคลเช่นนั้นย่อมไร้ค่า ผู้ใดได้ทำบุญคุณไว้กับผู้อื่น เมื่อไม่ได้รับมิตตธรรมอันดี พึงอย่าสมาคมกับผู้นั้นเลย” จากนั้นพญานกก็บินจากไป
จากตัวอย่างทั้งสองเรื่อง เราจะเห็นถึงการช่วยเหลือที่ไร้ค่าและไม่ไร้ค่า ถ้าเราไปช่วยเหลือ อสัตบุรุษหรือคนพาลย่อมเสียเวลาเปล่า เพราะคนพาลย่อมไม่รู้คุณคน และย่อมนำแต่ความเดือดร้อนมาให้ ถ้าเราส่งเสริมสนับสนุนบัณฑิต คุณูปการอันยิ่งใหญ่ย่อมจะบังเกิดขึ้น และยังเป็นทางมาแห่งบุญกุศลใหญ่อีกด้วย ดังนั้นก่อนช่วยเหลือใคร ควรพิจารณาใคร่ครวญให้ดีก่อนว่า ควรสงเคราะห์มากน้อยเพียงใดและอย่างไร เพื่อให้ถูกต้องเหมาะสม และจะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น