วันพุธที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตเสื่อมโทรมเพราะใจเสื่อมทราม

บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตทุกระดับ ตั้งแต่ปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า ถ้าเรามีบุญน้อย ความสุขความสำเร็จก็จะมีน้อย ถ้าเรามีบุญปานกลาง ความสุขความสำเร็จก็จะมีปานกลาง และถ้าหากว่าเรามีบุญมาก ความสุขความสำเร็จก็จะมีมากตามไปด้วย หากเราอยากได้บุญที่เป็นมหัคตกุศล ต้องนำใจมาหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยไม่มีข้อแม้ว่าเราต้องทำงาน หรืออ้างว่ายังไม่พร้อม จึงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม นี่เป็นข้ออ้างที่ทำให้เราเป็นผู้มีบุญน้อย เมื่อปรารถนาความสุขความสำเร็จในชีวิต และอยากมีบุญมาก ต้องหมั่นเอาใจมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นต้นแหล่งแห่งความสำเร็จอย่างแท้จริง

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในอนภิรติชาดก ความว่า

เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมมองไม่เห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ฉันนั้น

เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสสะอาดบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ฉันนั้น”

มนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ รูปกายเป็นฐานรองรับใจ ระหว่างร่างกายกับจิตใจ จิตใจถือว่าสำคัญที่สุดเพราะใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ซึ่งคำพูดและการกระทำต่างๆ ก็เป็นกระบวนการต่อเนื่องมาจากความคิดซึ่งเป็นหน้าที่ของใจนั่นเอง จะพูด จะทำในสิ่งที่เป็นกุศล ใจจะต้องเป็นกุศลก่อน คนจะพูดจะทำในสิ่งที่เป็นอกุศลก็เริ่มที่ใจเป็นบาปอกุศลก่อนเช่นกัน เพราะ “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน สำเร็จได้ด้วยใจ”

ในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน คนส่วนใหญ่มุ่งพัฒนาแต่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับเรื่องภายนอก ความเป็นคนเก่ง แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจให้เป็นคนดี แม้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสังคมที่เกิดจากจิตใจเสื่อมคุณภาพ กลับนับวันปัญหายิ่งทวีขึ้นไปเรื่อยๆ

เราควรแก้ไขปัญหาสังคมให้ถูกจุด คือแก้ที่จิตใจ โดยการฟื้นฟูจิตใจให้ผ่องใส เริ่มต้นด้วยการฝึกใจให้เป็นสมาธิ คิดพูดและทำในสิ่งที่ดี และงดทำในสิ่งที่ไม่ดี รวมทั้งบาปอกุศลต่างๆ เพื่อไม่ให้จิตใจเศร้าหมอง เพราะความใสหรือหมองของใจ มีความสำคัญต่อชีวิตเราทั้งในภพนี้และภพหน้า โดยเฉพาะเมื่อจะหลับตาลาโลก ความใสหรือหมองของใจเท่านั้น จะเป็นตัวกำหนดภพภูมิที่จะไปเกิด ถ้าใจผ่องใส สุคติก็เป็นที่ไป แต่ถ้าใจหมอง ทุคติก็เป็นที่ไป

พระพุทธศาสนาได้สอนให้มนุษย์รู้ถึงวิธีการทำใจให้ผ่องใส จนสามารถกำจัดกิเลสเข้าสู่พระนิพพานได้ นั่นก็คือการทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ยิ่งใจหยุดได้มากเท่าใด ใจก็จะใสมากขึ้นเท่านั้น เมื่อใจใสถึงขั้นได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ก็จะเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดว่า ชีวิตหลังความตายของเราจะมีสุคติเป็นที่ไป เคยมีเรื่องราวของบุคคลที่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว จนชีวิตที่เคยรุ่งเรืองกลับร่วงโรย ต่อเมื่อได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอดกัลยาณมิตร ชีวิตจึงเปลี่ยนไป เรื่องมีอยู่ว่า

*มก. อนภิรติชาดก เล่ม ๕๗/๑๙๖

*เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ในกรุงสาวัตถีได้มีพราหมณ์กุมารคนหนึ่ง เป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบไตรเพทตั้งแต่ยังเยาว์วัย ได้ทำหน้าที่สอนมนต์แก่พระราชกุมารในราชตระกูล เมื่อพราหมณ์กุมารเจริญวัยขึ้น ได้แต่งงานมีคู่ครอง เนื่องจากการมีชีวิตคู่ทำให้เขาต้องวุ่นวายหลายอย่าง ยังปรับตัวไม่ได้ วันๆ มัวเมาอยู่กับเรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ ทาสชายหญิง เรือกสวนไร่นา โคกระบือ บุตรและภรรยา จึงเป็นเหตุให้เขามีจิตใจที่ขุ่นมัว ไม่มีโอกาสได้ทบทวนมนต์ นานวันเข้าจึงสอบทานมนต์ให้ลูกศิษย์ไม่ได้ มนต์ที่เคยทรงจำไม่เคยตกหล่น ก็ค่อยๆ เลือนไปภายในเวลาไม่นาน

ต่อมาวันหนึ่ง เขาเกิดรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือของหอมและดอกไม้หลายอย่างไปวัดพระเชตวัน พระบรมศาสดาทรงทำการปฏิสันถาร ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนมาณพ เธอยังสอนมนต์ให้แก่พระกุมารของเหล่ากษัตริย์และพราหมณ์กุมารอยู่หรือ และมนต์ที่เธอเคยทรงจำไว้ได้ เธอยังจำได้คล่องแคล่วเหมือนเดิมอยู่หรือ” พราหมณ์หนุ่มได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระบรมศาสดาผู้เป็นนาถะของโลก ตั้งแต่ข้าพระองค์ครองเรือนมีบุตรภรรยา จิตใจของข้าพระองค์ก็ว้าวุ่น ขุ่นมัวไปด้วยเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มนต์ที่เคยทรงจำไว้ได้ ค่อยๆ เลอะเลือนหายไป กลับจำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน”

พระบรมศาสดาตรัสบอกเขาว่า “มาณพ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่มนต์ของเธอเลอะเลือนไป แม้ในกาลก่อน มนต์ที่เธอเคยท่องได้อย่างคล่องแคล่วในเวลาที่จิตไม่ขุ่นมัว เมื่อถึงเวลาที่จิตใจของเธอขุ่นมัวด้วยราคะ โทสะ โมหะ มนต์ของเธอก็ได้เลือนไปเช่นเดียวกัน” พราหมณ์หนุ่มได้ฟังเช่นนั้นจึงทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตของตนให้ฟัง ด้วยพระมหากรุณาพระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตกาล เมื่อครั้งสมัยพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เมื่อเจริญวัยได้ไปเรียนมนต์และศิลปวิทยาในเมืองตักกศิลา และได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ทำหน้าที่สอนมนต์ให้แก่ขัตติยกุมาร และพราหมณ์กุมารเป็นอันมากในกรุงพาราณสี

พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งได้เป็นลูกศิษย์และเล่าเรียนมนต์ในสำนักของพระโพธิสัตว์ เขาได้ศึกษาไตรเพทจนชำนาญ ท่องจำมนต์ทุกบทได้ไม่ลืมเลือน เขาจึงได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนมนต์ ต่อมาพราหมณ์หนุ่มได้แต่งงานมีครอบครัว ต้องดูแลครอบครัว ทั้งลูกและภรรยาดูเหมือนว่าจะมีปัญหามาให้เขาแก้อยู่ทุกวัน จนไม่เวลาทบทวนมนต์ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องทบทวนมนต์ ก็ไม่มีเวลาเพราะห่วงหน้าพะวงหลัง ทำให้ มนต์ที่เคยเล่าเรียนทรงจำไว้ได้ ค่อยๆ เลอะเลือนหายไป จากที่เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็หลงๆ ลืมๆ เมื่อถูกพระโพธิสัตว์ถามว่า ยังทรงจำมนต์ได้คล่องแคล่วเหมือนเดิมหรือไม่ ก็ตอบตามสัตย์จริงว่า “ท่านอาจารย์ ตั้งแต่กระผมครองเรือน จิตของกระผมก็มีแต่ความขุ่นมัว มนต์ที่ร่ำเรียนมาได้อย่างคล่องแคล่วเชี่ยวชาญก็เลอะเลือนหายไป”

พระโพธิสัตว์ได้ฟังเช่นนั้น จึงสอนพราหมณ์หนุ่มว่า “เมื่อน้ำขุ่นมัว ไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ฉันนั้น เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสสะอาดบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทรายและฝูงปลา ฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลย่อมเห็นประโยชน์ของตนของผู้อื่น ฉันนั้น”

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลง ทรงประกาศอริยสัจ และประชุมชาดกว่า พราหมณ์หนุ่มในกาลนั้นได้มาเป็นมาณพในกาลนี้ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณ์ก็พิจารณา เห็นโทษของกามซึ่งเป็นเหตุให้ต้องอยู่ครองเรือน พิจารณาอริยสัจสี่ จนมีดวงตาเห็นธรรมได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล

จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า ความเศร้าหมอง หรือความผ่องใสของใจ มีความสำคัญมาก การประกอบธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน ต้องอาศัยใจที่ผ่องใสเป็นพื้นฐาน เพราะเมื่อใจใสแล้ว เวลาจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบสัมมาอาชีวะ ก็จะประกอบด้วยสติและปัญญา ผลลัพธ์ออกมา จึงได้ผลเกินควรเกินคาด โดยเฉพาะชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น มักเป็นผู้มีกิจมาก มีธุระมาก และมีปัญหาที่ต้องตามแก้อย่างไม่รู้จบสิ้น เพราะคนมีกิเลสไปอยู่กับคนมีกิเลส คนมีปัญหาไปอยู่กับคนมีปัญหา ลูกที่เกิดมาก็มาเพิ่มปัญหา สิ่งที่ตามมาก็คือทำให้เกิดความกลุ้ม ความเครียด จิตใจก็เศร้าหมอง ฉะนั้น เมื่ออยู่ครองเรือนต้องรู้จักหมั่นทำใจให้ผ่องใส ด้วยการสั่งสมบุญ ทั้งทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ให้เศรษฐกิจและจิตใจควบคู่กันไป แล้วชีวิตการครองเรือนจะประสบกับความสุขและความสำเร็จในทุกๆ ด้าน

ยิ่งแสวงหา ยิ่งพบทุกข์

มนุษย์หลายพันล้านคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ จะมีสักกี่คนที่ได้รู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต หรืองานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ เมื่อไม่รู้ ชีวิตจึงตกอยู่ในอันตราย เพราะยังถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรม ทำให้พลั้งพลาดไปสร้างบาปกรรม ผลก็คือต้องไปรับความทุกข์ในอบาย จากเดิมที่ได้กายเป็นมนุษย์ก็กลับกลาย เป็นกายของสัตว์นรก เปรต อสุรกายหรือสัตว์เดรัจฉาน แต่เรานับว่าเป็นผู้ที่โชคดีที่ได้มารู้เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตว่า เกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญและสร้างบารมี ดังนั้น เราควรเร่งทำตามเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ อย่าได้ประมาท ปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะชีวิตเป็นของน้อย อีกไม่นาน ก็ต้องลาจากโลกนี้ไปแล้ว เราจึงควรบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ผู้ให้แสงสว่างแก่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่างานที่แท้จริงก็คือการหยุดใจนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน สามารถขจัดกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก เมื่อเกิดขึ้นจากเหล็กแล้ว ย่อมกัดกินเหล็กนั้น ฉันใด กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำบุคคลผู้มักประพฤติล่วงปัญญาชื่อว่าโธนาแล้วไปสู่ทุคติ ฉันนั้น”

ปกติจิตของมนุษย์ตั้งแต่ดั้งเดิมนั้น มีลักษณะเป็นปภัสสร คือ ใสสว่าง แต่ถูกกิเลสต่างๆ ที่จรเข้ามาทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น การมีปัญญารู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นกับใจเมื่อใด เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะชำระกิเลสนั้นออกไปจากใจได้อย่างไร ปัญญาชนิดนี้ชื่อว่า โธนา

ซึ่งปัญญาที่ชื่อว่าโธนานี้ มีความหมายถึงปัญญาการพิจารณาปัจจัย ๔ ที่ได้มาในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่หลงประมาทเพลิดเพลินมัวเมา หรือนำมาประดับตกแต่งอวดประชันกัน สำหรับพระภิกษุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ตระหนักถึงการใช้ปัจจัยสี่ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดที่จะใช้เป็นบทฝึกนิสัย หรือขัดเกลากิเลสได้ใกล้ตัวที่สุด และต้องฝึกทุกวัน คือก่อนจะใช้ ขณะใช้ และหลังใช้ ไม่ว่าจะเป็นจีวร บิณฑบาต เสนาสนะที่อยู่อาศัย คิลานเภสัชยารักษาโรค ทรงสอนให้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการใช้สิ่งเหล่านั้น ทรงสอนให้ใช้อย่างพอประมาณเท่าที่จำเป็น เพื่อใจจะได้ไม่โลภ จะได้เป็นใจที่เบาละเอียดอ่อนนุ่มนวล เป็นอุปการะแก่การทำพระนิพพานให้แจ้ง สมดังความตั้งใจในวันบวชว่า “สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย” คือจะขอบวชเพื่อสลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์และทำพระนิพพานให้แจ้ง

สำหรับฆราวาส หากไม่มีสติและไม่รู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการใช้ปัจจัยสี่ ก็ใช้อย่างฟุ่มเฟือยไม่รู้จักประมาณ และอาจไปแสวงหาทรัพย์ในทางที่ผิด คือผิดทั้งกฎหมาย และศีลธรรม ทำให้ต้องได้รับความทุกข์กายทุกข์ใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ถ้ารู้จักพอก็จะมีชีวิตอยู่แบบพอดี คือ แสวงหาทรัพย์มาเพื่อสร้างบารมี เพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้อยู่รอดต่อไปได้ ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เป็นไปเพื่อการสร้างความดี สร้างบุญบารมีเท่านั้น อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นนายของทรัพย์ เรื่องที่นำมายกตัวอย่างก็มีอยู่ว่า

*มก. สตธรรมชาดก เล่ม ๕๗/๑๖๑

*สมัยหนึ่งเมื่อครั้งพุทธกาล มีผู้มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มาบวชเป็นพระภิกษุเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นได้มีภิกษุหลายรูปเลี้ยงชีพด้วยอเนสนา คือ การแสวงหาที่ไม่สมควร เช่น ทำตัวเป็นหมอรักษาโรค เป็นทูตคอยส่งข่าว ยอมตนเป็นคนรับใช้ ให้วัตถุสิ่งของต่างๆ แก่ทายก เพื่อให้เขาให้ตอบแทนแก่ตน เป็นต้น

พระบรมศาสดาทรงทราบถึงการเลี้ยงชีพของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงดำริว่า “บัดนี้ ภิกษุเป็นอันมากเลี้ยงชีพด้วยการแสวงหาที่ไม่ควร เมื่อภิกษุเลี้ยงชีพเช่นนี้จักไม่พ้นจากความเป็นยักษ์ เป็นเปรต จักเกิดในกำเนิดของโคเทียมแอก หรือเกิดในนรกเป็นแน่ สมควรที่เราจะกล่าวพระธรรมเทศนาสักข้อหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขของภิกษุเหล่านั้น”

พระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน แล้วทรงตรัสสอนว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรแสวงหาปัจจัยสี่ ด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ๒๑ ประการ เพราะภัตตาหารที่เกิดขึ้นจากการแสวงหาอันไม่สมควร เป็นเช่นกับก้อนทองแดงร้อน หรือเปรียบเหมือนยาพิษร้ายแรง เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้าต่างติเตียนคัดค้าน เมื่อภิกษุบริโภคภัตตาหารที่ได้มาด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร จะไม่มีความร่าเริงโสมนัสเลย เพราะว่าบิณฑบาตที่แสวงหามาเช่นนี้ เป็นเช่นกับอาหารเดนของคนจัณฑาล การบริโภคบิณฑบาตนั้น ย่อมเป็นเหมือนการบริโภคอาหารที่เป็นเดนของคนจัณฑาล ที่มีชื่อว่าสตธรรมมาณพ” แล้วจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุเหล่านั้นฟังว่า

ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดคนจัณฑาล เมื่อเจริญวัยก็ตระเตรียมเสบียงเพื่อเดินทางไปทำภารกิจนอกบ้าน ครั้งนั้น ในกรุงพาราณสีมีมาณพหนุ่มคนหนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์อาทิจจโคตร มีชื่อว่า สตธรรม เขาได้เดินทางไปทำภารกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ไม่ได้ตระเตรียมเสบียงไว้ในการเดินทาง เมื่อทั้งสองมาพบกันที่ทางใหญ่ มาณพจึงถามพระโพธิสัตว์ ถึงชาติกำเนิด พระโพธิสัตว์จึงตอบว่า เราเป็นคนจัณฑาล มาณพหนุ่มบอกว่า “เราเป็นพราหมณ์อาทิจจโคตร” หลังจากนั้นทั้งสองจึงได้เดินทางไปด้วยกัน

เมื่อได้เวลาอาหารเช้า พระโพธิสัตว์จึงล้างมือ แกะห่อข้าวแล้วเชื้อเชิญมาณพหนุ่มมากินข้าวด้วยกัน แต่มาณพกลับปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่ถากถางถึงชาติกำเนิดของพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ว่าอะไร จัดการแบ่งอาหารออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งห่อด้วยใบไม้และเก็บมัดไว้ จากนั้นก็ลงมือรับประทานส่วนที่เหลือ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ จึงออกเดินทางต่อ พอถึงตอนเย็นได้พากันลงอาบน้ำในสระแห่งหนึ่ง เมื่ออาบน้ำเสร็จ พระโพธสัตว์นำอาหารที่ห่อเก็บไว้เมื่อตอนกลางวันมารับประทานต่อ โดยมิได้เชื้อเชิญมาณพหนุ่มแต่อย่างใด

ฝ่ายมาณพหนุ่มหลังจากเดินทางมาทั้งวันรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและเกิดความหิวโหย ได้แต่มองดูด้วยความหวังว่าพระโพธิสัตว์จะเอ่ยปากชวน เมื่อไม่ได้รับคำชักชวน จึงคิดว่า “เจ้าคนจัณฑาลนี้ กินอยู่คนเดียว ไม่ชวนเรากินบ้างเลย เราจะแย่งอาหาร ทิ้งส่วนข้างบน ที่เหลือเราจะกินประทังชีวิต”

คิดแล้ว ก็แย่งอาหารจากพระโพธิสัตว์มากินจนหมด พออิ่มแล้วเกิดความร้อนใจว่า “บัดนี้เราได้กินอาหารอันเป็นเดน เป็นอาหารเหลือจากคนจัณฑาล เราทำกรรมอันไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของเราเสียแล้ว” ขณะนั้นนั่นเองก็กระอักเลือด พุ่งออกจากปากปนกับอาหาร เขาได้ครํ่าครวญด้วยความเศร้าโศกเสียใจว่า “เราทำกรรมอันไม่สมควร เพราะเห็นแก่อาหารเพียงเล็กน้อย อันเป็นเดนของคนจัณฑาล อาหารนี้เขาก็ไม่ได้ให้กับเรา เราไปแย่งเขามา เราเป็นชาติพราหมณ์อันบริสุทธิ์ เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไมอีก” แล้วจึงเข้าไปตายอยู่ในป่าอย่างอนาถ

เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงเรื่องในอดีตนี้แล้วทรงตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย สตธรรมมาณพบริโภคอาหารอันเป็นเดนของคนจัณฑาล ซึ่งเป็นการบริโภคที่ไม่สมควรแก่ชาติตระกูลของตน จึงเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ฉันใด ผู้ใดบวชแล้วในศาสนานี้ก็ฉันนั้น หากสำเร็จชีวิตด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ก็จะเกิดความร้อนใจในภายหลัง เพราะเขามีชีวิตอยู่อย่างน่าตำหนิ แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ก็ทรงติเตียน ภิกษุใดละทิ้งธรรม หาเลี้ยงชีพโดยไม่ชอบธรรม ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้รับความสุขจากลาภที่ตนได้”

จะเห็นได้ว่า การบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ต้องให้เหมาะสม ต้องได้มาด้วยความชอบธรรม ในการใช้ทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าใช้อย่างประมาณและถูกวัตถุประสงค์ ก็จะไม่เดือดร้อนใจในภายหลังของทุกอย่างในโลกนี้เป็นเพียงเครื่องอาศัยสร้างบารมีเท่านั้น ปัจจัย ๔ มีไว้เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปได้ และเพื่อสร้างความดี ดังนั้น เมื่อเราได้ทรัพย์ที่แสวงหามาโดยชอบแล้ว ต้องใช้ทรัพย์ให้เป็น ด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนากันให้เต็มที่ เพื่อเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายโดยเร็วพลันกันทุกคน

วันศุกร์ที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

สิ่งที่ไร้ผลและไม่ไร้ผล

บนเส้นทางชีวิต ทุกชีวิตต้องพบกับอุปสรรคและปัญหาหลากหลายรูปแบบ แต่ปัญหาในโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ ล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามยุคตามสมัยเท่านั้น สิ่งที่น่าพิจารณา คือ วิธีการมองปัญหา บางคนเห็นปัญหาแล้วกลุ้มใจ ทุกข์ใจ บางคนเห็นแล้ววางเฉย และยังสามารถปรับปรุงสถานการณ์นั้นให้กลับดีขึ้นมาได้ ผู้ที่มีความคิดดีจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆมากมายขึ้นมาบนโลกใบนี้ ดังนั้นในยามที่เราประสบกับปัญหา อย่าตกใจ ให้หลับตา พักใจ ทำใจให้หยุดนิ่งไว้ในกลางกาย เมื่อใจสงบเราจะพบกับทางออกและช่องทางแห่งความสำเร็จ

มีพระพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ใน ปฐมปัณณาสก์ ว่า

ภูมิของอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญู อกตเวที ก็ความเป็นคนอกตัญญู อกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมสรรเสริญ แต่สัตบุรุษไม่สรรเสริญ”

คนที่มีคุณธรรมพื้นฐาน คือ ความกตัญญูกตเวที จะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ประสบแต่ความสุขความเจริญก้าวหน้า ส่วนคนที่ไม่รู้คุณคน แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่ตอบแทนคุณท่าน ลบหลู่คุณท่าน ถือว่าขาดความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลนั้นเป็นอสัตบุรุษ ที่ไม่ควรคบหาสมาคมด้วย เพราะการสมาคมด้วยย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เลือกคบกับสัตบุรุษ เพราะจะทำให้ชีวิตของเรามีแต่ความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป การคบกับสัตบุรุษจะไม่มีวันไร้ค่า เหมือนพระอานนท์ได้อยู่ใกล้ชิดกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ท่านได้ฟังธรรมและทรงจำธรรมะได้มากเป็นพิเศษกว่าภิกษุรูปอื่น

*มก. ปลาสชาดก เล่ม ๕๘/๔๑๙

*ในครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปรดประทานพระธรรมเทศนา ในเวลาที่ทรงบรรทมอยู่บนพระแท่นเป็นที่ปรินิพพาน ทรงปรารภความเศร้าโศกของพระอานนท์ เพราะได้ทราบว่า พระบรมศาสดาจะเสด็จดับขันธปรินิพพานในที่สุดแห่งราตรีนั้น

พระอานนท์ท่านคำนึงถึงตัวเองว่า ตัวเราเป็นเสขบุคคลที่ยังต้องศึกษาอยู่ ไม่ได้สำเร็จกรณียกิจอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ในขณะที่เรายังไม่ได้บรรลุพระอรหัตผล พระบรมศาสดาก็จะมาดับขันธปรินิพพาน การที่สู้อุตส่าห์ดูแลอุปัฏฐากพระพุทธองค์มาถึง ๒๕ พรรษา จะเป็นการไร้ค่าหรือไม่

เมื่อท่านคำนึงเช่นนี้ ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ที่ตนเองยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อีกทั้งยมีความอาลัยรัก และเคารพเทิดทูนต่อพระพุทธองค์อย่างสุดซึ้ง ไม่อยากให้พระพุทธองค์จากไป ดังนั้นท่านไม่สามารถอดกลั้นความรู้สึกเอาไว้ได้ จึงร้องไห้ และปลีกตัวออกจากหมู่คณะมาอยู่ตามลำพัง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบถึงความปริวิตกของพระอานนท์ จึงทรงรับสั่งให้พระภิกษุรูปหนึ่งไปตามมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสปลอบใจว่า “ดูก่อนอานนท์ เธอได้บำรุงอุปัฏฐากเรา ได้ชื่อว่าบำเพ็ญมหากุศลเป็นอันมาก ผลบุญนั้นไม่ไร้ผล ขอเธอจงมีวิริยะอุตสาหะในการบำเพ็ญเพียรต่อไปเถิด ในไม่ช้า เธอจะบรรลุพระอรหัตผล และกระทำให้ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ การที่เธอสู้ทนปฏิบัติเรามาตลอดระยะเวลา ๒๕ พรรษา จักไม่ไร้ค่าอย่างแน่นอน แม้ในกาลก่อน เธอได้ปฏิบัติบำรุงเราผู้ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังไม่ไร้ค่า ไฉนในบัดนี้การกระทำของเธอจักไร้ค่าเล่า”

พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า ในอดีตกาล ชาวเมืองพาราณสีนิยมการนับถือบูชาเทวดา ในครั้งนั้นพระอานนท์ได้เกิดเป็นพราหมณ์ผู้ยากไร้ มีความศรัทธา ความเพียรในการแผ้วถางใต้โคนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เพราะท่านเชื่อว่าต้นไม้นั้นมีเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่อาศัยอยู่ ท่านจึงหมั่นไปถอนหญ้า ทำพื้นที่บริเวณนั้นให้สะอาดราบเรียบ โปรยทรายที่บริเวณใต้ต้นไม้นั้น บูชาด้วยของหอม ดอกไม้ธูปเทียน และจุดประทีปโคมไฟ ก่อนกลับบ้านจะถามที่ต้นไม้นั้นว่า “ท่านนอนหลับเป็นสุขสบายดีหรือ” แล้วก็เดินเวียนประทักษิณ ๓ รอบ พราหมณ์ได้ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน

ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นรุกขเทวาผู้มีศักดิ์ใหญ่ อาศัยอยู่ในวิมานที่ต้นไม้นั้น เห็นการกระทำของพราหมณ์อยู่เป็นประจำ จึงคิดว่า “พราหมณ์หนุ่มผู้นี้ปฏิบัติต่อเราเป็นอย่างดี เราควรตอบแทนเขาอย่างเหมาะสม แต่เราควรถามถึงความประสงค์ของเขาดูก่อนว่า เขาต้องการอะไร”

วันต่อมา พราหมณ์ได้ไปปฏิบัติที่บริเวณใต้ต้นไม้นั้นเหมือนเดิม รุกขเทวาจึงแปลงร่างเป็นพราหมณ์เฒ่า ทำทีเป็นเดินผ่านมาแถวนั้น แล้วมาหยุดดูการปฏิบัติบำรุงของพราหมณ์หนุ่ม และได้ไต่ถามว่า “ท่านพราหมณ์ รู้อยู่ว่าต้นไม้นี้ไม่มีวิญญาณครอง เหตุไฉนท่านจึงมาบำรุงดูแลรักษาต้นไม้นี้อย่างดี แล้วยังถามถึงสารทุกข์สุขดิบของต้นไม้อีกด้วย ท่านทำอย่างนี้ไปทำไม”

พราหมณ์หนุ่มตอบว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าต้นไม้นี้ไม่มีวิญญาณครอง แต่ต้นไม้ต้นนี้มีสง่าราศีกว่าต้นอื่นๆ เห็นทีจะเป็นพิมานสถานที่สิงสถิตของเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงนมัสการต้นไม้นี้ เพราะปรารถนาจะได้ความมีสิริมงคล” พราหมณ์เฒ่าได้ฟังเช่นนั้นรู้สึกพอใจ จึงกลับร่างเป็นรุกขเทวายืนอยู่ในอากาศ แล้วกล่าวว่า “เรานี่แหละ คือ เทพผู้สิงสถิตอยู่ที่นี่ เราเป็นผู้รู้อุปการคุณของผู้อื่น เราจะไม่ให้การกระทำของท่านที่มีต่อเราต้องสูญเปล่าไปหรอก”

เทวดาจึงนำเอาทรัพย์ที่ฝังอยู่ใกล้บริเวณนั้นมาด้วยเทวฤทธิ์ มอบให้กับพราหมณ์หนุ่ม และกล่าวสอนว่า “จงใช้ทรัพย์นี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการบำรุงบิดามารดา เลี้ยงดูครอบครัว และนำไปบริจาคให้ทาน เพื่อเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้า และให้รักษาศีล หมั่นประพฤติธรรมไปจนกระทั่งหมดอายุขัย แล้วชีวิตจะพบกับความสุขสวัสดีมีชัยตลอดไป” แล้วรุกขเทวาก็อันตรธานหายไป

ส่วนตัวอย่างของการกระทำที่ไร้ผลนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงยกเอาเรื่องของพระเทวทัตมาเป็นตัวอย่าง ดังเช่นในพระชาติที่พระพุทธองค์ทรงเกิดเป็นพญานกหัวขวาน พระเทวทัตเกิดเป็นราชสีห์ ครั้งนั้นราชสีห์ได้กินสัตว์ที่ล่ามา แล้วเผอิญว่าเศษกระดูกติดคอราชสีห์ ทำให้มันได้รับทุกข์ทรมานอย่างน่าเวทนา พญานกหัวขวานเห็นดังนั้นเกิดความสงสาร จึงอาสาจะเอากระดูกที่ติดคอออกให้ โดยให้ราชสีห์อ้าปากเอาไม้ค้ำไว้ แล้วมุดเข้าไปจิกปลายกระดูกให้เลื่อนออก พอเสร็จแล้วก็เคาะท่อนไม้ที่ค้ำอยู่ให้หลุดออก ทำให้ราชสีห์หายเจ็บปวด

วันต่อมา พญานกหัวขวานคิดจะลองใจราชสีห์ จึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเคยช่วยเหลือท่าน ในยามที่ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน แล้วท่านจะตอบแทนข้าพเจ้าอย่างไร” ราชสีห์รีบตอบทันทีว่า “อย่ามาพูดเลย เจ้าเข้าไปกินเลือดในปากของเรา แล้วยังมีหน้ามาพูดว่าจะให้เราตอบแทนอะไรอีก” เมื่อพญานกได้ฟังเช่นนั้น จึงกล่าวติเตียนว่า “ผู้ไม่รู้จักคุณของผู้อื่น ไม่รู้จักตอบแทนคุณ นับว่าเป็นอสัตบุรุษ การคบกับบุคคลเช่นนั้นย่อมไร้ค่า ผู้ใดได้ทำบุญคุณไว้กับผู้อื่น เมื่อไม่ได้รับมิตตธรรมอันดี พึงอย่าสมาคมกับผู้นั้นเลย” จากนั้นพญานกก็บินจากไป

จากตัวอย่างทั้งสองเรื่อง เราจะเห็นถึงการช่วยเหลือที่ไร้ค่าและไม่ไร้ค่า ถ้าเราไปช่วยเหลือ อสัตบุรุษหรือคนพาลย่อมเสียเวลาเปล่า เพราะคนพาลย่อมไม่รู้คุณคน และย่อมนำแต่ความเดือดร้อนมาให้ ถ้าเราส่งเสริมสนับสนุนบัณฑิต คุณูปการอันยิ่งใหญ่ย่อมจะบังเกิดขึ้น และยังเป็นทางมาแห่งบุญกุศลใหญ่อีกด้วย ดังนั้นก่อนช่วยเหลือใคร ควรพิจารณาใคร่ครวญให้ดีก่อนว่า ควรสงเคราะห์มากน้อยเพียงใดและอย่างไร เพื่อให้ถูกต้องเหมาะสม และจะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ขาดความกตัญญู

การศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ว่าเราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะความรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิต จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติธรรม จะพาเราให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร หลุดพ้นจากเครื่องจองจำ คือ กิเลสอาสวะทั้งหลาย การที่เราจะเข้าถึงจุดแห่งความรู้ที่บริสุทธิ์นั้นได้ จะต้องทำใจให้หยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน จึงจะสามารถเข้าไปศึกษาเรื่องราวของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ เราจะเข้าถึงวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ และปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เมื่อเข้าถึงแล้ว การศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต เราจะรู้เห็นได้อย่างถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง เราจะได้ทั้งความรู้และความบริสุทธิ์ไปพร้อมๆ กัน

มีวาระพระบาลีที่กล่าวไว้ ใน ชวสกุณชาดก ความว่า

น่าติเตียนคนที่ไม่รู้จักบุญคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน ผู้ที่ไม่ทำคุณประโยชน์ให้กับใครๆ และผู้ที่ไม่ตอบแทนคุณที่ท่านทำก่อน ความกตัญญูไม่มีในคนใด การคบคนนั้นย่อมไร้ประโยชน์

บุคคลไม่ได้มิตตธรรมด้วยอุปการคุณที่ตนประพฤติ ไม่พึงริษยา ไม่ต้องด่าว่า พึงค่อยๆ หลีกออกห่างจากผู้นั้น”

ความกตัญญู คือ การรู้คุณของบุคคลอื่นที่ได้ทำไว้กับตน แล้วหาโอกาสตอบแทนคุณอยู่เสมอ คุณธรรมข้อนี้เป็นคุณธรรมของบัณฑิต ที่รู้คุณของผู้มีอุปการะคุณแก่ตน และรู้จักตอบแทนบุญคุณที่ท่านเหล่านั้นได้ทำไว้กับเราในกาลก่อน คนที่มีคุณธรรม คือ กตัญญูนี้ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ยามย่างก้าวไป ณ แห่งหนตำบลใด จะได้รับการต้อนรับด้วยมิตรไมตรี ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรขจายไปไกล เมื่อมีใครรับรู้รับทราบคุณธรรมของผู้นั้นแล้ว ถ้าเป็นหัวหน้า จะเป็นที่รักของผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จะเป็นที่รักของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ไปอยู่ในสังคมใด จะเป็นที่ต้องการของสังคมนั้น ฉะนั้น ความกตัญญูเป็นสัญลักษณ์ของคนดี คนที่มีจิตใจสูงส่ง และเป็นที่รักเคารพนับถือของมหาชนเป็นอันมากอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่มีความกตัญญูกตเวที ไม่คิดที่จะตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณ เมื่อใครรู้เข้าก็จะเป็นที่ติเตียน เป็นที่รังเกียจ ไม่มีใครให้ความเคารพยำเกรง หรือคบหาสมาคมด้วย ชีวิตของคนประเภทนี้มีแต่ความโดดเดี่ยว หาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก ชีวิตนับวันพลันแต่จะตกต่ำลงเรื่อยๆ ดังเรื่องของพระเทวทัต ผู้มีความอกตัญญูมาข้ามภพข้ามชาติ ที่เราจะได้ ติดตามกันต่อไปนี้

*มก. ทุพภิยมักกฎชาดก เล่ม ๕๗/๑๓๙

*ในสมัยพุทธกาล มีอยู่วันหนึ่ง ที่พระวิหารเวฬุวันมหาวิหาร เหล่าภิกษุทั้งหลายได้นั่งจับกลุ่มสนทนากันในโรงธรรมสภาถึงเรื่องที่พระเทวทัตเป็นคนอกตัญญู คิดประทุษร้ายมิตร ไม่มีความจริงใจต่อผู้อื่น เมื่อใครได้รับรู้เรื่องราวความประพฤติของพระเทวทัตแล้ว ต่างพูดโจษจันกันว่า บุคคลผู้มีความประพฤติเช่นนี้ ย่อมไม่เหมาะสมแก่การเคารพนับถือ ไม่สมควรที่จะเข้าไปคบหาสมาคมด้วย

ขณะที่เหล่าภิกษุกำลังพูดคุยกันอยู่นั้น พระบรมศาสดาเสด็จมาที่โรงธรรมสภา ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกำลังสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่” ครั้นภิกษุสงฆ์กราบทูลถึงพฤติกรรมของพระเทวทัตให้ทรงทราบ จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่าว่าแต่ในชาตินี้เลย ที่เทวทัตมีนิสัยอกตัญญูประทุษร้ายมิตร แม้อดีตชาติที่ผ่านมาก็มีนิสัยอย่างนี้เหมือนกัน” เมื่อพระภิกษุอยากจะรู้เรื่องราวในอดีตชาติของพระเทวทัต จึงตรัสเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ชาตินั้น พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ อาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นกาสี ในแคว้นนี้เองได้มีบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ติดกับถนนที่ลาดชันสายหนึ่ง สองข้างทางของถนนสายนี้ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก แต่แหล่งน้ำมีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ บ่อน้ำข้างถนนแห่งนั้น พวกสัตว์ทั้งหลายจะได้กินน้ำ ต่อเมื่อมีชาวบ้านเดินทางผ่านมา และตักน้ำใส่รางที่ชาวบ้านผู้มีจิตเมตตาคนหนึ่งทำไว้ให้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายอยากกินน้ำ ก็จะมาดื่มกินที่รางน้ำแห่งนี้เป็นประจำ

ต่อมา ไม่มีใครเดินผ่านถนนสายนี้เป็นเวลาหลายวัน พลอยทำให้น้ำในรางแห้ง สัตว์ป่าทั้งหมดจึงอดกินน้ำตามไปด้วย กระทั่งลิงตัวหนึ่งทนไม่ไหว เดินวนเวียนไปมาอยู่รอบๆ บ่อน้ำ ขณะนั้นเอง มีพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่งเดินทางผ่านมาพอดี และได้แวะดื่มน้ำจากบ่อน้ำ ขณะกำลังล้างมือล้างเท้า บังเอิญหันไปเห็นลิงตัวนั้น กำลังอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเพราะไม่ได้กินน้ำมาหลายวัน เขารู้ได้ทันทีว่ามันคงหิวน้ำมาก เกิดความเมตตาสงสาร ได้ตักน้ำใส่ในรางให้มันดื่ม เมื่อลิงได้ดื่มน้ำ ก็มีเรี่ยวมีแรงกระปรี้กระเปร่าสดชื่นเบิกบานใจ

หลังจากนั้น พราหมณ์หนุ่มพระโพธิสัตว์คิดจะพักผ่อนก่อนที่จะเดินทางต่อ ได้เอนกายลงนอนที่โคนต้นไม้ใกล้บ่อน้ำ เมื่อลิงกินน้ำเสร็จ ยังนั่งอยู่ไม่ไกลจากต้นไม้นั้น ได้ทำหน้าตาล่อกแล่ก แสดงท่าทางก่อกวนให้เห็น เมื่อพราหมณ์หนุ่มเห็นการกระทำของลิงตัวนี้แล้ว จึงกล่าวไปว่า “เจ้าวานรเอ๋ย เราเห็นเจ้าอยากกินน้ำก็อุตส่าห์ตักให้ดื่ม แต่พอเจ้ามีเรี่ยวแรงแล้ว กลับมานั่งทำหน้าตาท่าทางล่อกแล่กหยอกล้อกับเราเสียนี่ เจ้าช่างไม่รู้จักตนเองเสียเลย น่าอนาถใจจริงๆ ที่เราช่วยเหลือสัตว์ต่ำทรามอย่างเจ้า แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย”

ลิงพอได้ฟังคำติเตียนของพระโพธิสัตว์ ก็ไม่ได้รู้สึกสำนึก ยังพาลพูดกับพระโพธิสัตว์ขึ้นว่า “ท่านอย่าคิดว่าเราจะทำกับท่านเพียงเท่านี้ เพราะต่อไปเราจะถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของท่านอีก” และก่อนที่เจ้าลิงจะก่อกวนพระโพธิสัตว์ให้หงุดหวิดใจไปมากกว่านี้ มันพูดทิ้งท้ายก่อนจากไปอีกว่า “ท่านพราหมณ์หนุ่ม ท่านเคยได้ยินหรือได้เห็นมาก่อนหรือว่า มีลิงตัวไหนบ้างที่เป็นสัตว์มีคุณธรรม วันนี้ท่านจะเห็นฤทธิ์ของลิงอย่างเรา”

เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น เห็นท่าไม่ค่อยดี จึงเตรียมจะลุกหนีไปจากโคนต้นไม้นั้น เพราะไม่อยากต่อกรกับสัตว์เดรัจฉาน แต่เป็นจังหวะเดียวกับที่เจ้าลิงวายร้ายกระโดดขึ้นไปบนต้นไม้ จับกิ่งห้อยโหนไปมาอย่างว่องไว แล้วถ่ายคูถรดลงบนศีรษะของพราหมณ์หนุ่มทันที จากนั้นได้วิ่งหนีเข้าป่าไป พราหมณ์พระโพธิสัตว์ไม่รู้จะทำอย่างไรกับลิงจอมซนตัวนี้ดี ได้แต่เดินไปที่บ่อน้ำ และตักน้ำขึ้นมาล้างเนื้อล้างตัวจนสะอาด แล้วก็เดินทางต่อไป

เราจะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีนิสัยอกตัญญู คิดประทุษร้ายมิตร ไม่คิดที่จะตอบแทนผู้เคยมีอุปการคุณไว้กับตน ยังมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย บุคคลประเภทนี้ใครรู้ใครเห็นเข้าก็ถูกตำหนิติเตียน ไม่อยากคบค้าสมคมด้วย แม้แต่จะเข้าใกล้ก็ยังไม่อยากเข้าไปหา ชีวิตของคนประเภทนี้ย่อมหาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก เพราะได้ตัดหนทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของตน ทำให้ชีวิตมีแต่ความตกต่ำฝ่ายเดียว

ดังนั้น พวกเราทุกคน ควรตระหนักถึงคุณธรรม คือ ความกตัญญูข้อนี้กันให้มากๆ ความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคับประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมยิ่งขึ้นไป ต้องหมั่นพิจารณาอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่บุคคลที่ใกล้ชิดเรา ไม่ว่าจะเป็นมารดาบิดา ครูบาอาจารย์ ท่านเหล่านี้ควรที่เราต้องหาโอกาสตอบแทนบุญคุณอย่างสมํ่าเสมอ แล้วชีวิตของเราจะพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ หรือการงานต่างๆ และผลบุญกุศลนี้จะติดตามตัวเราไปในภพเบื้องหน้า

วันอังคารที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ไม่มีของรักย่อมไม่โศก

ชีวิตของเราเปรียบเสมือนภาชนะดิน มีความเปราะบางยิ่งนัก ไม่รู้ว่าจะแตกสลายไปในวันใด เราถูกความแก่ ความเจ็บและความตาย เผาลนอยู่ตลอดเวลา สังขารร่างกายของเรา มีการเกิดดับอยู่ทุกอนุวินาที แต่เนื่องจากมีความสืบต่อกันเร็วมาก เราจึงไม่รู้ถึงการเกิดดับนั้น ทำให้เกิดความประมาทในวัยและชีวิต ประมาทในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ประมาทในความไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีผลทำให้ประมาทในการประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนั้น ผู้มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นความไม่เที่ยงของสังขารร่างกายนี้ จึงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท เร่งทำความเพียร แสวงหาที่พึ่งที่แท้จริงของชีวิต ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่งให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

กามโต ชายตี โสโก กามโต ชายตี ภยํ

กามโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ

ความโศกย่อมเกิดแต่กาม ภัยย่อมเกิดแต่กาม ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจากกาม ภัยจากที่ไหนๆ ก็ย่อมไม่มี”

*มก. พราหมณ์คนใดคนหนึ่ง เล่ม ๔๒/๔๐๙

*ความโศก หมายถึง สภาพจิตที่แห้งผาก เหมือนดินแห้ง หรือใบไม้แห้ง หมดความชุ่มชื่น เนื่องจากไม่สมหวังในชีวิต ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้งโรยรา จิตใจซึมเซาไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงานอะไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงว่า สรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในความทุกข์ ประสบกับความโศกเศร้าร่ำพิไรรำพัน ซึ่งเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากจากของรัก ความผิดหวังเพราะไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือความสูญเสียอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะอาศัยกามเป็นเหตุ

ความทะยานอยากในเบญจกามคุณของมนุษย์นั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น อยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ อยากเป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดเวลา แต่ไม่ได้ตามที่คาดหวัง เพราะสังขารนี้ ล้วนต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา หรือเวลาที่มีทรัพย์แล้ว อยากให้ทรัพย์นั้นเป็นของเราตลอดไป ไม่อยากให้ไปเป็นของคนอื่น แต่สรรพสิ่งล้วนอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา เมื่อของอันเป็นที่รักแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์ใจจึงเกิดขึ้น ความทะยานอยากในกามอันไม่มีที่สิ้นสุดเหล่านี้ จะชักนำทุกข์มาให้เป็นประจำ เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนให้เราดับทุกข์ที่เกิดจากกามทั้งหลาย ด้วยการทำใจให้หยุดให้นิ่งหรือที่เรียกว่า เข้านิโรธ เพื่อหยุดความทะยานอยากเหล่านั้น

คำว่า “นิโรธ” แปลว่า หยุด คือ ต้องทำใจให้หยุดในกลางกายของเรานี่แหละ เมื่อหยุดใจได้ ความอยากทั้งหลายก็จะดับไปเอง พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้” หมายความว่า จะเลิกอยากลาหยอก ต้องออกจากกาม จะออกจากกามได้ ต้องพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของกาม ที่ทำให้ต้องจมปลักอยู่ในสังสารวัฏที่เต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ และเห็นว่าภพสามนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายความกำหนัด คลายความยึดมั่นถือมั่น จิตจึงหยุดนิ่งเป็นหนึ่ง ดำเนินไปตามศีล สมาธิ ปัญญา บริสุทธิ์หลุดพ้นเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเสร็จกิจได้บรรลุบรมสุขอันเป็นอมตะ ซึ่งเกิดจากการเข้าถึงพระนิพพาน

พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงพราหมณ์คนหนึ่ง ผู้ประสบกับความทุกข์อันใหญ่หลวงเพราะข้าวกล้าเสียหาย ถูกน้ำท่วมพัดพาไปหมด เรื่องมีอยู่ว่า พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง กำลังถางป่าทำนา พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา ขณะเสด็จเข้าไปโปรดชาวเมืองสาวัตถี ได้ทรงแวะตรัสสนทนาว่า “ท่านกำลังทำอะไรอยู่หรือ พราหมณ์” พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์กำลังจะทำไร่ไถนา พระเจ้าข้า” จึงตรัสว่า “ดีแล้วพราหมณ์ จงตั้งใจทำงานไปเถิด” จากนั้นก็เสด็จหลีกไป วันต่อมา ได้เสด็จเข้าไปสนทนาอีก และได้เข้าไปสนทนาทุกช่วงที่มีการไถ ก่อคันนา และหว่านข้าว

เมื่อพราหมณ์เห็นพระบรมศาสดาบ่อยเข้า จึงเกิดความเลื่อมใสในพุทธจริยา วันหนึ่ง พราหมณ์ได้ปวารณาว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ วันนี้เป็นมงคลในการหว่านข้าวของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์ โดยมีพระองค์เป็นประธาน หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าข้า” พระศาสดาทรงรับโดยแสดงอาการดุษณีภาพ แล้วเสด็จหลีกไป

เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว พราหมณ์ได้วางแผนเก็บเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้น ฝนลูกเห็บได้ตกตลอดทั้งคืน ทำให้ด้านเหนือของแม่น้ำอจิรวดีเอ่อล้น แล้วไหลท่วมนาของพราหมณ์ พัดพาเอาต้นข้าวทั้งหมดไปสู่ท้องทะเล ไม่เหลือแม้แต่เพียงต้นเดียว เมื่อน้ำหลากแห้งลง พราหมณ์ได้มาดูความเสียหายของนาข้าว จึงเสียใจอย่างหนัก เอาแต่นอนทุกข์ระทมอยู่บนเตียง

ใกล้รุ่งวันใหม่ พระบรมศาสดาทรงเห็นพราหมณ์ถูกความเศร้าโศกเสียใจครอบงำ หลังจากทรงเสวยเสร็จและส่งภิกษุสงฆ์กลับวัดพระเชตวันแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปบ้านของพราหมณ์พร้อมกับพระภิกษุผู้เป็นปัจฉาสมณะอีกหนึ่งรูป เมื่อพราหมณ์ได้ยินว่าพระบรมศาสดาเสด็จมา จึงคิดว่า “พระพุทธองค์ทรงเป็นมิตรแท้ของเรา คงจะเสด็จมาเยี่ยมเยือนเพื่อให้กำลังใจ” จึงรีบจัดแจงอาสนะต้อนรับ พระศาสดาได้เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้ แล้วตรัสถามว่า “พราหมณ์ ทำไมท่านจึงดูเศร้าหมองไปล่ะ ท่านไม่สบายหรือ” พราหมณ์ได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์เคยปวารณาไว้ว่า จะถวายมหาทานหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนต้นข้าวกลับถูกกระแสน้ำพัดพาลงทะเลจนหมดเกลี้ยง ข้าวเปลือกประมาณ ๑๐๐ เกวียน เสียหายหมด ข้าพระองค์จึงทุกข์ใจ พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงสดับแล้ว ได้ตรัสให้กำลังใจว่า “พราหมณ์ ท่านจะมัวเศร้าโศกเสียใจอยู่ทำไม สิ่งที่สูญเสียไปแล้วจะเอากลับคืนมาได้หรือ ขึ้นชื่อว่าทรัพย์และข้าวเปลือกนี้ ถึงคราวเกิดก็เกิดขึ้นเจริญงอกงาม ถึงคราวเสียหายก็ถูกทำลายเสียหาย สิ่งใดๆ ที่ถึงการปรุงแต่ง จะชื่อว่าไม่มีความเสียหายเป็นธรรมดานั้นไม่มีหรอก ท่านอย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งนั้นเป็นของเราอยู่เลย” พระบรมศาสดาทรงปลอบใจพราหมณ์ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ ทรงยกใจของพราหมณ์ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ ให้มองเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ซึ่งเป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งว่ามีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าบุคคลเข้าไปสงบระงับดับความพึงพอใจในสังขารเหล่านั้นได้ ความสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้น พราหมณ์ได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ความโศกและความทุกข์จึงดับไป

ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์ เกิดขึ้นในโลกนี้ได้เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี ผู้ใดไม่มีคน สัตว์ และสิ่งของอันเป็นที่รัก ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก เมื่อบุคคลใดปรารถนาความไม่เศร้าโศกอันปราศจากธุลีกิเลส ไม่พึงทำคน สัตว์ สิ่งของ หรือสังขารใดๆ ให้เป็นที่รักเลย

สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และทรงนำมาสั่งสอนนี้ เป็นความรู้อันประเสริฐที่เกิดจากการเห็นด้วยธรรมจักษุ เป็นความรู้ที่คู่กับความสุขและความบริสุทธิ์ ผู้ใดปฏิบัติตาม ย่อมจะได้ความหลุดพ้นเช่นเดียวกันกับที่พระพุทธองค์ได้หลุดพ้นแล้ว ดังนั้น เรามาเกิดในภพชาตินี้ แม้จะอยู่ในกามภพ ซึ่งข้องเกี่ยวกับเรื่องเบญจกามคุณ แต่เราต้องหาทางทำตนให้หลุดพ้นจากกิเลสกามและวัตถุกามทั้งหลาย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ให้มุ่งมั่นสร้างบารมีให้เต็มที่ และแสวงหาหนทางพระนิพพาน ด้วยการฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ให้บริสุทธิ์ผ่องใส ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด คือ พระรัตนตรัยภายในให้ได้กันทุกๆ คน

วันพฤหัสบดีที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒

ทางแห่งความเสื่อม

เราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างปรารถนาความสุขความเจริญ สิ่งที่ดีงาม ที่เป็นมงคลเกิดขึ้นแก่ชีวิตของตนด้วยกันทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่าสิ่งที่เป็นมงคล คือ การบำเพ็ญบุญ อันจะเป็นเครื่องสนับสนุน ให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น บุญจากการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของเราทุกคน โดยเฉพาะบุญใสๆที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง เป็นสิ่งที่เราจะต้องสั่งสมให้ได้เป็นประจำทุกวัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสัปปุริสสูตร อังคุตตรนิกาย ว่า

สัตบุรุษผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน เป็นผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นผู้กำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ได้ ย่อมประสบกับนิพพานอันเกษม”

ชีวิตของผู้ครองเรือนจะต้องรู้จักสิ่งที่ควรทำและควรเว้น เช่น ควรทำบุญให้ทาน อย่าตระหนี่ หรือควรขยันทำการงานอย่าเกียจคร้าน เป็นต้น หลวงพ่อมีธรรมะที่ให้ความกระจ่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการตอบคำถามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อพราหมณ์ท่านหนึ่ง ที่ได้ไปทูลถามพระองค์ แม้จะเป็นคำถามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพราหมณ์เพียงคนเดียว แต่สาระจากพุทธวิสัชนานั้น ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกคนที่ได้รับรู้รับทราบ โดยเฉพาะผู้ที่รักในการฝึกตน เพื่อมุ่งไปสู่เส้นทางสวรรค์และพระนิพพาน

ในครั้งพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชอบศึกษาหาความรู้ความจริงของชีวิตจากสำนักต่างๆ เมื่อไปถามครูบาอาจารย์สำนักไหน ก็ได้รับคำตอบที่ยังไม่ถูกใจ คือ ฟังแล้วก็ยังไม่กระจ่าง เหมือนในปัจจุบัน ที่มีผู้ถามว่านรกสวรรค์มีจริงไหม ครูบาอาจารย์บางท่านตอบว่าคงมีจริงมั้ง เพราะเห็นตามตำรับตำราเขาว่ากันอย่างนั้น

พราหมณ์ท่านนี้ ก่อนจะเข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ เกิดวิตกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามักจะตรัสสอนเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น สงสัยพระองค์จะไม่ทราบในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ จึงอยากจะแก้ความสงสัยของตนเอง เมื่อมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สงสัยว่า พระพุทธองค์เห็นจะทรงทราบในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวกระมัง ส่วนสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เห็นพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงเลย”

พระบรมศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ เราตถาคตย่อมรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ทั้งสองอย่าง ท่านอยากรู้เรื่องอะไร ให้ถามมาเถิด” พราหมณ์กราบทูลว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอพระองค์ได้ตรัสบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

พระบรมศาสดาตรัสบอกทางแห่งความเสื่อมแก่พราหมณ์ว่า “ถ้าใครก็ตามปฏิบัติตามนี้ ความเสื่อมย่อมมีแก่เขาอย่างแน่นอน คือ บุคคลที่นอนตื่นสาย เกียจคร้านไม่ยอมทำการงาน เห็นแก่นอนชอบเดินทางไกลตามลำพัง และบุคคลที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงปฏิบัติให้ถูกต้อง จงดำรงอยู่ในธรรม และเว้นสิ่งที่กล่าวมานี้เถิด แล้วความหายนะ ความเสื่อมเสียชื่อเสียงจะไม่มีแก่ท่าน”

ทางแห่งความเสื่อมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พราหมณ์นั้น เมื่อนำมาพินิจพิจารณาแล้ว เป็นสิ่งที่เราพึงละเว้น และปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในตัวของเราให้รวดเร็วที่สุด เพื่อจะได้ขจัดนิสัยที่ไม่ดีออกไป แล้วเอาอุปนิสัยที่ดีๆ เข้ามาแทนที่ ชีวิตจะได้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

ทางแห่งความเสื่อมประการแรก คือ การนอนตื่นสาย ในสมัยปู่ย่าตายายของเรา ท่านจะสอนให้ลูกหลานตื่นแต่เช้า มาสวดมนต์ไหว้พระ แล้วให้จัดเตรียมอาหารหวานคาวไว้ตักบาตรพระ จะได้สร้างทานบารมีตั้งแต่เช้า ดวงตะวันขึ้นสู่ท้องฟ้าในยามเช้าเพื่อให้ความสว่างไสวแก่โลก ฉันใด เราต้องตื่นแต่เช้าเพื่อดำรงตนเป็นผู้ให้ ฉันนั้น บรรพบุรุษของเราจึงมีคำพูดติดปากที่ลูกๆ หลานๆจะได้รับการสั่งสอนสืบต่อกันมาว่า อย่านอนตื่นสาย อย่าหน่ายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน แล้วสมบัติใหญ่จะไหลมาเทมา

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ คือ ความเกียจคร้าน เช่น เกียจคร้านในการเรียนหนังสือ เกียจคร้านในการทำงาน หรือเกียจคร้านในการเจริญสมาธิภาวนา เป็นต้น คนที่จะเอาดีได้ ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน ถ้าอาศัยความขยันหมั่นเพียรทั้งนั้น ผู้รู้ทั้งหลายจึงกล่าวสอนเอาไว้ว่า ความเพียรอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ขอให้เพียรพยายามเถิด แม้สติปัญญาไม่ค่อยจะดี แต่ก็สามารถเอาดีได้ เพราะอุปสรรคแพ้คนขยัน แต่มันชนะคนที่ขี้เกียจ แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร” ความขยันหมั่นเพียรเท่านั้น จึงจะสามารถนำพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ คือ การเป็นคนที่มีนิสัยเจ้าโทสะ อารมณ์ร้าย อารมณ์ร้อน บุคคลเหล่านี้มักจะไม่เป็นที่ต้องการของใคร เพราะจะนำแต่เรื่องร้อนใจมาให้ มนุษย์ทุกคนปรารถนาสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสุขกายสบายใจ เพราะร่มไม้เย็นหมู่นกกาชอบอาศัย คนที่ใจเย็นใครๆก็อยากจะอยู่ใกล้ เพราะเข้าใกล้แล้วเย็นทั้งกายเย็นทั้งใจ

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ คือ เห็นแก่นอน หมายถึง ผู้ที่ใช้เวลานอนมากเกินปกติ ถ้าเป็นเด็กควรนอนประมาณ ๘ ชั่วโมง หรือผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน ๖ ชั่วโมงต่อวัน บางคนเห็นแก่นอน คือ หลับทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เสียเวลาทำการงาน เสียเวลาสร้างบารมี พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า การเห็นแก่นอน เป็นหมันสำหรับผู้ประพฤติธรรม เพราะผู้ประพฤติธรรมต้องเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ

ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ คือ การเดินทางไกลตามลำพัง ที่ว่าเป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะเป็นอันตรายต่อตนเองทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากในระหว่างการเดินทาง ภยันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งอันตรายจากโจรหรือคนแปลกหน้า รวมไปถึงอุบัติเหตุเภทภัยต่างๆ การไปไหนมาไหนเป็นหมู่เป็นคณะจะเกิดความอุ่นใจ ไม่ต้องหวาดระแวงภัยต่างๆ มากจนไม่เป็นอันกินอันนอน

ทางแห่งความเสื่อมข้อสุดท้าย ที่ทรงแสดงแก่พราหมณ์ คือ อย่าไปเป็นชู้กับภรรยาหรือสามีของคนอื่น ชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น ความจริงใจต่อกันมีความสำคัญมาก สามีภรรยาต้องจริงใจต่อกัน และไม่ไปล่วงละเมิดในสามีภรรยาของผู้อื่น ถ้าใครไปยุ่งเข้า แสดงว่ากำลังนำความหายนะมาสู่ตนเองและครอบครัว เพราะถือว่าเป็นการประพฤติผิดศีลข้อที่ ๓ คือ กาเมสุมิจฉาจาร เป็นการทำร้ายจิตใจของสามีภรรยาที่รักกัน ทำให้ครอบครัวของเขาต้องแตกแยก

สรุป คือ “นอนตื่นสาย กายเกียจคร้าน สำราญตน เห็นแก่นอน อารมณ์ร้อนเจ้าโทสะ จะไปไหนก็ไปตามลำพัง มุ่งหวังเป็นชู้กับผู้อื่น ชีวิตต้องสะอื้นเพราะหายนะครอบงำ” สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ควรประพฤติปฏิบัติทั้งสิ้น และต้องปรับปรุงตนเองอยู่ตลอดเวลา อย่าให้ทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเรา

พราหมณ์ได้ฟังแล้วรู้สึกชอบใจ เพราะได้ตรองตามแล้ว เห็นดีเห็นงามด้วย จึงได้เปล่งเสียงสาธุการสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เป็นบุคคลผู้เลิศ และประเสริฐที่สุดในโลกอย่างแท้จริง ทรงรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ พร้อมกับทรงแสดงสิ่งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง”

ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความงดงามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย ใครได้ยินได้ฟังแล้ว จะบังเกิดความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น ที่เคยสงสัยจะแจ่มแจ้ง และสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งเกิดประโยชน์ใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องฝึกตนให้เป็นผู้หนักในธรรม ฟังธรรมะบทไหนแล้ว อย่าได้ดูเบา ให้รู้จักนำไปขบคิดไตร่ตรอง และลงมือประพฤติปฏิบัติ แล้วเราจะสมหวังในชีวิต ไปทุกภพทุกชาติกันทุกคน

วันศุกร์ที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

บุญเขตในพระพุทธศาสนา

ชีวิตของเราทุกคนเป็นอยู่ได้ด้วยบุญ ความดีที่เราได้ทำไปแล้ว จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังมวลแห่งความบริสุทธิ์อยู่ในตัว สิ่งนั้น คือ บุญ ยิ่งทำบุญสั่งสมความดีมาก ยิ่งมีพลังมาก ความสำเร็จสมหวังจะมีมาก ตรงกันข้ามถ้าพลังบุญน้อย ความสำเร็จสมหวังจะมีน้อย ดังนั้น บุญจึงเป็นเครื่องหนุนนำค้ำชูชีวิตให้สุขสมหวัง ตรงข้ามกับบาปที่จะกดให้คุณภาพใจตกต่ำลง แต่บุญจะเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า สามารถขจัดอาสวกิเลสทั้งหลายได้ เมื่อบุญเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตอย่างนี้ เราจึงควรสั่งสมบุญให้มากๆ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ

เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย

สา เยว ปูชนา เสยฺโย ยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ

บุคคลใด พึงบูชาสิ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัย ด้วยทรัพย์หนึ่งพันทุกๆ เดือนตลอดทั้งปี แม้เป็นเวลานานถึง ๑๐๐ ปี การบูชาของเขา มีอานิสงส์เทียบได้เพียงนิดเดียวกับการบูชาของผู้บูชาพระอริยบุคคลซึ่งฝึกตนดีแล้ว แม้เพียงชั่วเวลาครู่เดียวไม่ได้เลย”

การบูชาบุคคลผู้ควรบูชาเป็นทางมาแห่งมหากุศล แม้จะเป็นการบูชาด้วยไทยธรรมเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าบูชาถูกทักขิไณยบุคคลแล้ว การบูชานั้นย่อมมีอานิสงส์ใหญ่เป็นอสงไขยอัปมาณัง นับว่าเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก เหมือนการลงทุนทำธุรกิจ ที่ลงทุนน้อยแต่ให้ได้กำไรมาก ดังนั้นการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ก็เช่นกัน ต้องดำเนินให้มีกำไรชีวิต คือ ให้มีความสุขในโลกนี้ เมื่อละโลกไปแล้วให้ได้ไปเสวยสุขในโลกหน้า ถ้าบุญเต็มเปี่ยมจึงหยุดเวียนว่ายตายเกิด ได้เข้าสู่อายตนนิพพานเสวยเอกันตบรมสุข ที่ไม่มีทุกข์เจือปน

สำหรับการมีชีวิตที่ขาดทุน คือ ชีวิตที่ขาดบุญ ซึ่งบางคนดำเนินชีวิตผิดพลาด ด้วยการทำบาปอกุศล เช่นไปลักขโมยรถเขามาขับ ไปมีชู้กับภรรยา หรือสามีของคนอื่น ขายเครื่องดองของเมา หรือขายยาเสพติด เพื่อเห็นแก่เม็ดเงินที่จะมาอำนวยความสะดวกสบายให้กับตนเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความสุขชั่วคราวเท่านั้น เมื่อละโลกแล้ว ต้องไปเสวยทุกข์ทรมานแสนสาหัส เป็นเวลายาวนานในมหานรก ครั้นกรรมเบาบางลง มีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ต้องใช้วิบากต่อไปอีกหลายชาติ เช่น เป็นคนพิกลพิการ มีสติไม่สมประกอบ เป็นต้น การทำบาป เพื่อหวังความสุข แต่ต้องประสบทุกข์ข้ามชาตินั้น ไม่คุ้มกันเลย นี่คือ ชีวิตที่ขาดทุนอย่างแท้จริง

การดำเนินธุรกิจผิดพลาด ทำให้ขาดทุน ยังพอแก้ไขกันได้ แต่การดำเนินชีวิตผิดพลาด ต้องแก้ไขกันข้ามภพข้ามชาติ เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังใช้วิบากกรรมนั้น เราต้องรู้จักสร้างกุศลกรรมควบคู่ไปด้วย และยิ่งเมื่อเรารู้แล้วว่าหน้าที่หลักของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เพื่อสั่งสมบุญเท่านั้น ไม่ใช่มาทำอย่างอื่น และการสั่งสมบุญในแต่ละครั้งจะต้องทำให้ถูกเนื้อนาบุญ อย่างที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะว่า “พระสงฆ์สาวกของพระองค์ คือ เนื้อนาบุญของโลก ใครก็ตามเมื่อได้ทำบุญในบุญเขตนี้แล้ว จะทำให้ได้อานิสงส์มาก”

มีคนจำนวนมากอยากรํ่ารวย แต่ไม่รู้วิธีหาเงิน จึงรวยไม่ได้ ในทำนองเดียวกัน บางคนอยากไปเกิดบนสวรรค์ อยากไปพรหมโลก แต่ไม่รู้หนทางไป จึงไปไม่ถึง นอกจากไปไม่ถึงแล้ว สิ่งที่กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น อาจเป็นเส้นทางนำไปสู่อบายภูมิก็ได้ ดังนั้น การขาดกัลยาณมิตรคอยแนะนำเส้นทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ดังเช่นชีวิตของพราหมณ์ ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระที่หลงไปบูชาสิ่งที่ไม่ใช่พระรัตนตรัย ไม่ใช่บุญเขตในพระพุทธศาสนา แต่โชคดีที่เจอยอดกัลยามิตรทำให้มีชีวิตสดใสไปทุกภพทุกชาติ เรื่องราวมีดังนี้

พระสารีบุตรเถระผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านปัญญา และเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากท่านได้บวชและบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ทำหน้าที่ธรรมเสนาบดีอย่างเข้มแข็ง มีอยู่วันหนึ่ง พระสารีบุตรได้ไปโปรดลุง ซึ่งกำลังนั่งพักผ่อนอยู่ในบ้าน ลุงของท่านคนนี้นอกจากมีฐานะที่รํ่ารวย และยังเป็นอุปัฏฐากคนสำคัญของพวกนิครนถ์ด้วย เมื่อพระเถระได้สนทนาสารทุกข์สุกดิบตามประสาลุงกับหลานที่ไม่ได้พบกันนาน ท่านได้ถามลุงว่า “ท่านลุง ท่านได้ทำบุญกุศลอะไรเอาไว้บ้าง” ลุงตอบว่า “หลานรัก ลุงยังบูชากราบไหว้นิครนถ์อยู่ ลุงจะมอบปัจจัยให้นิครนถ์ครั้งละ ๑ แสนกหาปณะทุกเดือน ไม่เคยขาดเลย”

เมื่อได้ฟังดังนั้น พระเถระจึงถามว่า “การทำบุญในแต่ละครั้งนั้น ท่านหวังสิ่งใด” ลุงตอบว่า “พวกพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ ต่างแนะนำให้ลุงไปบังเกิดในพรหมโลก ลุงจึงปรารถนาอยากไปพรหมโลก” พระเถระจึงถามต่อว่า “แล้วอาจารย์ของลุง หรือตัวลุงเองรู้จักทางไปพรหมโลกหรือไม่” พราหมณ์เมื่อเจอคำถามนี้ จึงตอบแบบเสียงเบาๆว่า “ไม่มีใครรู้จักหรอก” พระเถระจึงให้ข้อคิดว่า “ตามปกติแล้ว ผู้ที่จะไปที่ไหน จะต้องรู้จักเส้นทางนั้นเป็นอย่างดี จึงจะไปถึงจุดหมายได้ แต่ท่านไม่รู้ แม้อาจารย์ของท่านเองก็ไม่รู้ แล้วท่านจะไปถึงพรหมโลกได้อย่างไร มาเถิดลุง อาตมาจะกราบทูลให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอาจารย์ของอาตมา ตรัสบอกเส้นทางไปสู่พรหมโลกกับลุงเอง”

พราหมณ์ดีใจมากที่จะได้รู้ทางไปสู่พรหมโลก จึงเดินตามพระเถระไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อไปถึงพระเถระได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระพุทธองค์โปรดตรัสบอกหนทางไปพรหมโลกแก่ลุงของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

พอได้สดับคำอาราธนา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “พราหมณ์ การถวายอาหารพอยังชีพเพียงทัพพีเดียวแก่สาวกของเราแม้เพียงรูปเดียวเท่านั้น จะสามารถนำไปสู่พรหมโลกได้ และการถวายอาหารเพียงทัพพีเดียวนั้น ยังมีอานิสงส์มากกว่าการบริจาคทรัพย์จำนวนมากแก่นิครณถ์ทุกเดือนของท่านเสียอีก อย่าว่าแต่การถวายอาหารเลย แม้เพียงแค่การแลดูสาวกของเราด้วยจิตที่เลื่อมใสศรัทธา เพียงครู่เดียวยังได้บุญมากกว่าการกราบไหว้บูชาพวกนิครนถ์เป็น ๑๐๐ ปี” จากนั้น ทรงชี้แจงให้พราหมณ์ได้ทราบถึงลักษณะของเนื้อนาบุญว่า ต้องสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ และปัญญาอย่างไรบ้าง แล้วทรงบอกหนทางไปสู่พรหมโลกแก่พราหมณ์ ด้วยการแนะนำข้อปฏิบัติเพื่อให้ได้ฌาน ซึ่งเริ่มจากการหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้บริสุทธิ์ ละนิวรณ์ทั้ง ๕ จนกระทั่งได้บรรลุปฐมฌานเรื่อยไป จนถึงจตุตถฌาน และเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในในที่สุด

พราหมณ์ได้ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาพร้อมกับทำใจหยุดในหยุด นิ่งในนิ่งควบคู่ไปด้วย เมื่อจบพระธรรมเทศนา พราหมณ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ซึ่งประเสริฐและเลิศกว่าการได้เป็นพรหมเสียอีก เพราะตั้งแต่นี้ไป ท่านจะมีชีวิตที่ไม่ตกต่ำอีก จะมีแต่ใจที่เกาะเกี่ยวอยู่กับพระนิพพานอันเป็นบรมสุขอย่างเดียว

เราจะเห็นได้ว่า การทำอะไรแต่ละอย่างนั้น ย่อมมีหลักวิชชาในการทำสิ่งนั้นๆให้สัมฤทธิผล ผู้ที่รู้หลักวิชชาย่อมสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยง่าย การไปเกิดมาเกิดบนโลกมนุษย์ กระทั่งก้าวไปสู่ความไม่เกิดอีก หากไม่ได้คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประทีปส่องนำทาง น้อยคนนักที่จะก้าวไปถึงได้ ในเรื่องนี้ เราดูตัวอย่างได้จากพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ ที่หลงเข้าใจผิดในเรื่องการทำบุญ เพื่อมุ่งพรหมโลก แต่ได้อาศัยพระพุทธองค์ที่ทรงให้หลักวิชชาที่ถูกต้อง จึงทำให้ชีวิตเข้าถึงเป้าหมายอันสูงสุดในชีวิต ไม่มีตกต่ำอีก

ดังนั้น ผู้รู้ทั้งหลาย จึงเลือกที่จะสั่งสมบุญเฉพาะในบุญเขตเท่านั้น เพราะลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก เหมือนการหว่านข้าวกล้าลงในนาดี ย่อมได้ผลิตผลที่งอกงามไพบูลย์เกินควรเกินคาด และคำว่าเนื้อนาบุญ หมายถึง ผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ หรือผู้ปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะ จนกระทั่งถึงผู้ที่ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุเป็นสามเณร เป็นหญิงเป็นชาย เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเข้าถึงธรรมกาย ถือว่าเป็นทักขิไณยบุคคลเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ดังนั้น เมื่อปรารภจะสั่งสมบุญแล้ว ต้องทำให้ถูกหลักวิชชา จึงจะทำให้เราได้อานิสงส์ใหญ่ หวังเทวโลกจะได้เทวโลก หวังพรหมโลกจะได้ไปพรหมโลก หวังให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานจะสมปรารถนากันทุกคน

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เชื่อคำครูคํ้าชูชีวิตตน

ปัญญา คือ แสงสว่างของชีวิต โดยเฉพาะปัญญาความรอบรู้ และเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม จะเป็นแสงสว่างส่องนำทางชีวิต ให้สามารถดำเนินไปในสังสารวัฏได้ถูกต้องปลอดภัย การจะมีปัญญาอย่างนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีครูดี ที่สามารถสอนให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของชีวิตได้ ต้องมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้น พระพุทธองค์ทรงเป็นบรมครูประเภทนี้ ที่ทรงประกาศพระสัทธรรม แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายตลอด ๔๕ พรรษาหลังจากตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อไม่ให้ประมาทในการดำเนินชีวิต ทรงใช้หลักอนุสาสนีปาฏิหารย์ คอยกระตุ้นให้สรรพสัตว์รักในการเจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนั้น เราต้องเป็นพุทธบริษัทที่ดี ให้สมกับความมีโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นสาวกของพระองค์ ด้วยการหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งให้ได้ทุกวัน เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ชีวิตเรา มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในเถรคาถาปทาน ว่า

ผู้ใดเป็นธีรชน เป็นผู้รู้ถ้อยคำของครูทั้งหลาย อยู่ในโอวาทของครู และยังความเคารพให้เกิดในโอวาทของครู ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ภักดี ชื่อว่าเป็นบัณฑิต และพึงเป็นผู้วิเศษ เพราะรู้ธรรมทั้งหลาย อันตรายอันร้ายแรงย่อมไม่เกิดขึ้นแก่เขา บุคคลนั้นชื่อว่ามีกำลัง ชื่อว่าเป็นบัณฑิต และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย”

การมีความเคารพเชื่อฟังต่อครูอาจารย์ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแสวงหาความรู้ใส่ตัว เพราะครูเปรียบเสมือนแสงสว่างส่องนำทาง คอยแนะนำพรํ่าสอนให้ลูกศิษย์ได้เข้าใจในศาสตร์ต่างๆ การตระหนักถึงคุณค่าของครูอาจารย์ ที่จะมาประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ลูกศิษย์จะต้องมีความเคารพในวิชาที่เรียนและครูที่มาสอน ด้วยการตั้งใจศึกษา ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ และนำไปปฏิบัติ เมื่อมีโอกาสก็แสดงความเคารพต่อท่านทั้งทางกาย วาจา และใจ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง เมื่อจะศึกษาเรื่องใดก็ศึกษาให้ถึงแก่น ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งให้กับตนเองได้ในภายภาคหน้า

บัณฑิตนักปราชญ์แม้ท่านจะมีความรู้มากอยู่แล้ว ท่านจะเพิ่มคุณธรรมให้สูงขึ้น ด้วยการมีความเคารพเชื่อฟังในครูบาอาจารย์ จะไม่ดูถูกดูแคลนครูของตน และชีวิตของผู้อยู่ในโอวาทของครูจะไม่มีวันตกต่ำ แล้วความรู้ใดๆที่ครูมี จะได้รับการถ่ายทอดอย่างเต็มที่ โดยจะไม่ปิดบังอำพรางเลย เพราะฉะนั้น ศิษย์ที่เชื่อฟังคำของครู จะประสบแต่ความสำเร็จในชีวิตในธุรกิจการงานได้โดยง่าย

ส่วนในทางธรรม หากเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องมีความเคารพ ต้องเป็นผู้ยึดมั่นในคำสอนของพระบรมศาสดา ด้วยการไม่ทำความชั่วทุกชนิด ทำแต่สิ่งที่เป็นความดีเป็นบุญเป็นกุศล เพื่อใจจะได้ไม่ไหลลงสู่บาปธรรม ซึ่งเป็นของต่ำทราม และที่สำคัญจะต้องทำจิตให้ผ่องใส เพื่อจะได้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส สาวกองค์ไหนที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่เคารพในคำสอนของครูอย่างแท้จริง เหมือนดังเรื่องของพระอรหันตเถระชื่อว่า โกสิยะ ที่ท่านสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต จากปุถุชนมาเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะท่านอยู่ในโอวาทของครูอาจารย์

หลายกัปที่ผ่านมา พระโกสิยเถระท่านได้สั่งสมบุญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาโดยลำดับ ทั้งทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา มากบ้างน้อยบ้าง แต่ท่านทำอย่างสมํ่าเสมอไม่เคยได้ขาด แม้ในบางโอกาสของชีวิตที่มีทรัพย์น้อย ท่านก็ทำอย่างเต็มกำลัง ไม่เคยท้อถอย ท่านเป็นยอดนักสร้างบารมี ที่เป็นทั้งต้นบุญและต้นแบบของพุทธมามกะในทุกยุคทุกสมัย

ต่อมาในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้บังเกิดในตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งประจำหมู่บ้าน ณ เมืองพันธุมดี พอเติบโตเป็นหนุ่ม ได้สมัครงานเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ใครที่จะเข้าจะออกประตูเมือง จะต้องผ่านการตรวจสอบจากท่านก่อน วันหนึ่งขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ท่านได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีฉัพพรรณรังสีอันสว่างไสว ได้เสด็จเข้ามาโปรดชาวเมือง จึงปลื้มปีติเป็นอย่างมาก อยากจะทำบุญกับพระพุทธองค์ แต่ในขณะนั้น ท่านมีเพียงอ้อยท่อนเดียวเท่านั้น และเกรงว่าจะไม่มีโอกาสได้พบพระพุทธองค์อีก จึงรีบนำอ้อยท่อนนั้น น้อมถวายพระพุทธองค์ทันที เมื่อพระบรมศาสดารับท่อนอ้อยแล้ว จึงเสด็จไปโปรดชาวเมืองต่อไป

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองผู้มีใจงดงามนี้ พอได้ทำบุญแล้ว ปลื้มปีติเป็นอย่างมาก จึงทำให้มีโอกาสตามระลึกถึงบุญนี้อยู่เป็นประจำ นึกถึงทีไรจะปลื้มปีติทุกครั้งไป ปลื้มจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตทีเดียว คือ ชีวิตของคนๆ หนึ่ง ในแต่ละชาติที่มีโอกาสได้ทำบุญใหญ่ หรือบุญที่พิเศษๆ นั้น มีเพียงไม่กี่ครั้ง แต่บุญที่ปลื้มเป็นพิเศษจะมีแต่บุญที่ตนทำแล้วประทับใจไม่รู้ลืมเท่านั้น ด้วยบุญที่หนุ่มตรวจคนเข้าเมืองได้ทำเอาไว้ดีแล้ว จึงประคับประคองให้ท่านเวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิ และในระหว่างเวียนว่ายตายเกิดนั้น ท่านได้สั่งสมบุญในด้านต่างๆ อันเป็นอุปนิสัยแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานไปด้วย

พอมาในยุคพุทธกาล ท่านถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ มีชื่อว่าโกสิยะ เมื่ออยู่ในวัยเด็กมีอัธยาศัยใฝ่ศึกษา ท่านไปเรียนธรรมะกับพระสารีบุตรเถระซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านปัญญา เมื่อได้ศึกษาธรรมะมากยิ่งขึ้นทุกๆ วัน ทำให้มีปัญญา สามารถพิจารณาถึงความเป็นจริงของชีวิตว่า เป็นของไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ ไร้สาระแก่นสาร ในที่สุด ท่านจึงตัดสินใจออกบวชโดยมีพระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วได้คอยปรนนิบัติรับใช้ไม่ห่าง ทำตามที่พระอุปัชฌาย์สอนสั่งโดยไม่มีมานะทิฐิ ท่านเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ให้ความเคารพพระเถระทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขณะเดียวกัน เป็นผู้ที่ใฝ่ในการทำสมาธิภาวนาเป็นพิเศษ เมื่อมีข้อขัดข้องสงสัยในเรื่องการทำใจหยุดนิ่ง พระเถระจะแนะนำให้เข้าใจ เพียงไม่กี่วันหลังจากบวช ท่านสามารถขจัดอาสวกิเลส จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

ความเคารพต่อครูบาอาจารย์ ทำให้ชีวิตพบกับความสว่างไสว เพราะได้อาศัยครู จึงอุ้มชูให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ครู คือ บุคคลสำคัญของโลกสำหรับศิษย์ทุกๆ คน เพราะเป็นผู้ให้อริยสมบัติที่ยิ่งกว่าสมบัติจักรพรรดิ ที่กินใช้เท่าไรไม่รู้หมดสิ้น ศิษย์ที่มีครูดีและเคารพเชื่อฟัง ดำรงตนอยู่ในโอวาท ย่อมสามารถพัฒนาจิตใจให้สูงส่งได้โดยไม่ยาก

ในยุคปัจจุบัน เราจะสังเกตเห็นว่า นักเรียนไม่ค่อยให้ความเคารพต่อครูอาจารย์เท่าที่ควร บางคนเปรียบเปรยครูว่าเป็นเหมือนเรือจ้าง คือ เห็นเพียงแค่ว่า ครู คือ ลูกจ้าง ที่ถูกจ้างให้มาสอนหนังสือ มีเงินเดือนที่เกิดจากตัวเองได้จ่ายค่าเทอม จึงไม่ให้ความเคารพ ใครที่คิดอย่างนี้ ขอให้คิดใหม่ เพราะถือว่าเป็นการลบหลู่ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาให้เรา อาจารย์ที่สอนด้วยจิตวิญญาณ ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก ปรารถนาอยากให้ลูกศิษย์มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่ดีของลูกศิษย์นั้น ยังมีอยู่มาก ถ้าเราเป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยความเคารพ ท่านจะสอนเราอย่างหมดภูมิทีเดียว นอกจากสอนวิชาการที่ท่านได้ศึกษาค้นคว้ามาทั้งชีวิตแล้ว ยังจะสอนให้เรามีคุณธรรม เป็นคนดีที่โลกต้องการ เป็นคนเก่งและดีอีกด้วย

บัณฑิตนักปราชญ์ในสมัยก่อน ท่านมีความเคารพในครูอาจารย์มาก เมื่อเรียนศิลปวิทยาจะตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพ ทำให้สามารถเรียนรู้จนหมดภูมิรู้ของครูอาจารย์ ดูอย่างพระบรมโพธิสัตว์ของเรา ขณะที่กำลังบำเพ็ญปัญญาบารมีอยู่นั้น เมื่อท่านจะศึกษาความรู้จากใคร แม้พระองค์จะเป็นถึงพระราชา ส่วนผู้สอนเป็นเพียงคนจัณฑาลมีฐานะต่ำต้อย แต่ทรงรับฟังและเรียนด้วยความเคารพ ทำให้พระองค์เป็นประดุจมหาสมุทรแห่งปัญญา เพราะฉะนั้น พวกเราผู้เป็นพุทธสาวกก็เช่นกัน ต้องมีความเคารพต่อครูอาจารย์ จะได้เป็นทางมาแห่งปัญญาอันสว่างไสว มีความสุขความเจริญในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป

วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

กัลยาณมิตรดุจเข็มทิศของชีวิต

การจะดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ในภาวะของความเป็นมนุษย์นั้น สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ จะต้องมีกัลยาณมิตร การได้รับคำแนะนำและการประคับประคองจากกัลยาณมิตร จะทำให้ชีวิตที่มืดมนกลายมาเป็นสว่างไสวได้ เพราะกัลยาณมิตร คือ แสงสว่างส่องทางให้ก้าวไปสู่เป้าหมายได้อย่างปลอดภัย โดยไม่มีอุปสรรคมาขวางกั้น หรือหากมีอุปสรรค จะสามารถก้าวข้ามไปได้ การได้กัลยาณมิตรถือว่าเป็นมงคลของชีวิตอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถดำรงตนอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีคุณค่า ทั้งต่อตนเองและสังคม กัลยาณมิตรภายนอก คือ สัมมาทิฏฐิบุคคล ที่แนะนำในเรื่องกฎแห่งกรรม ให้เราเข้าใจเป้าหมายของการเกิดมา ว่าจะต้องทำพระนิพพานให้แจ้งแสวงบุญสร้างบารมี ส่วนกัลยาณมิตรภายใน คือ พระธรรมกายในตัว ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่ง ฉะนั้น เราต้องหมั่นปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนากันเป็นประจำ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุปัฑฒสูตร ความว่า

ดูก่อนอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น พึงทราบโดยปริยายนี้ คือ เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร ดูก่อนอานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล”

สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในกำเนิดใด จำเป็นจะต้องมีกัลยาณมิตรทั้งสิ้น เมื่อมีกัลยาณมิตรแนะนำให้เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว จะสามารถเข้าใจเป้าหมายของการมาเกิด ซึ่งเป็นเหตุให้มุ่งแสวงหาทางพ้นทุกข์ ดังนั้น กัลยาณมิตรจึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราต้องเสาะแสวงหา และหมั่นไปมาหาสู่ด้วย กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของชีวิตอันประเสริฐ เพราะได้ต้นบุญต้นแบบในการพัฒนากาย วาจา ใจ ให้สมบูรณ์ขึ้น จนกระทั่งทำให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส

เนื่องจากระยะเวลาการสร้างบารมีระหว่างผู้ที่หวังพุทธภูมิกับสาวกภูมินั้น มีความแตกต่างกันมาก พระโพธิสัตว์ผู้มุ่งตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ต้องใช้เวลาสร้างบารมีอย่างน้อย ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป ถ้าวัดกันเฉพาะช่วงที่เป็นนิยตโพธิสัตว์จะใช้เวลาอย่างน้อย ๔ อสงไขยแสนมหากัป ส่วนสาวกภูมิใช้เวลาสร้างบารมีอย่างมาก ๑ อสงไขยแสนมหากัป เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งได้ด้วยตัวเอง มีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นอนุพุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้ตาม เมื่อมุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง จึงต้องอาศัยกัลยาณมิตร เพราะผู้ที่อยู่ในสาวกภูมิไม่อาจทำพระนิพพานให้แจ้งได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากบารมีธรรมต่างกันมาก

การจะได้บรรลุธรรมหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ใช่ของง่าย ต้องได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ หรือแม้ไม่ได้ฟังโดยตรง อาจฟังต่อๆ กันมา เหมือนดังพระโมคคัลลานะได้เป็นพระโสดาบันเพราะฟังธรรมจากท่านพระสารีบุตร ส่วนพระสารีบุตรได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ พระอัสสชิเถระผู้ได้สำเร็จเป็นอรหันต์รุ่นแรกของโลก เพราะฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดนี้ คือ เครื่องยืนยันความสำคัญของการมีกัลยาณมิตร ว่ากัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์อย่างไร

หลวงพ่อมีตัวอย่างของพระอรหันตเถระรูปหนึ่ง ท่านได้ดำเนินชีวิตผิดพลาด เหมือนขังตัวเองอยู่ในที่มืด แต่เมื่อได้พระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ชีวิตของท่านจึงได้พบความสว่างไสว เรื่องของท่านมีอยู่ว่า

ย้อนอดีตไปหลายกัปที่ผ่านมา พระเถระรูปนี้เคยสร้างบุญบารมีมาไม่น้อย ชีวิตของท่านเหมือนกับผู้คนทั่วไป ที่เกิดอยู่ในหลายๆ ฐานะ ตามกำลังบุญที่ได้ทำเอาไว้ คือ ชาติไหนที่ทำบุญไม่มาก จะไปเกิดในครอบครัวชนชั้นล่าง ที่ทำบุญมากขึ้นมาหน่อยจะเกิดเป็นชนชั้นกลาง หรือถ้าได้ทำบุญมากเป็นพิเศษ บุญกุศลจะส่งผลให้ท่านไปเกิดเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี หรือพระราชามหากษัตริย์ ท่านมีโอกาสเกิดในยุคที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นหลายครั้ง เมื่อมาเกิดแล้ว ได้ตั้งใจสั่งสมบุญบารมีภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่

เมื่อได้เกิดในยุคสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ วันหนึ่ง ณ มหาวิหารอันร่มรื่น ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ท่ามกลางพุทธบริษัทเรือนแสนที่พำนักอยู่ในที่นั้น ท่านเห็นพระบรมศาสดาทรงแต่งตั้งพระอรหันต์รูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุด้านมีบริวารที่เป็นพระภิกษุมาก ท่านได้อนุโมทนาต่อตำแหน่งอันทรงเกียรติเช่นนั้น จึงปรารถนาอยากได้ตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้บ้าง

ในวันรุ่งขึ้น ตัวท่านพร้อมเหล่าข้าทาสบริวารได้จัดภัตตาหารอย่างประณีต น้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ฉันเรียบร้อยแล้ว ท่านได้อธิษฐานจิต ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระบรมศาสดาทรงเห็นด้วยพุทธญาณว่า ความปรารถนาของท่านจะสำเร็จสมหวังอย่างแน่นอน จึงทรงพยากรณ์ว่า “ในอนาคตกาล คฤหบดีท่านนี้จะได้รับฐานันดรที่บุญญาธิปไตยจัดให้ คือ เป็นผู้เลิศด้วยบริวาร สมความตั้งใจอย่างแน่นอน” พุทธพยากรณ์ในวันนั้น ทำให้ท่านปลาบปลื้มใจมาก ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ได้ขวนขวายสร้างบุญบารมียิ่งๆ ขึ้นไปอีก เมื่อละจากชาตินั้นแล้ว ได้ท่องเที่ยวไปในสุคติภูมิอย่างเดียว

เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม ภพชาตินี้ ท่านได้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์กัสสปะ ครั้นเติบโตพอที่จะเรียนหนังสือ จึงได้เล่าเรียนไตรเพทตามบรรพบุรุษ ต่อมาได้เป็นอาจารย์ของพราหมณ์ และมีมาณพเป็นบริวาร ๕๐๐ คน ด้วยความที่ได้สั่งสมบุญไว้ดี จึงไม่ติดอยู่ในวิชาที่ศึกษาเล่าเรียนมา เพราะมองไม่เห็นสาระในวิชาเหล่านั้น จึงพาบริวารออกบวชเป็นฤๅษี และตั้งสำนักบูชาไฟอยู่ริมแม่น้ำ ที่ตำบลอุรุเวลาได้รับการขนานนามว่า อุรุเวลกัสสปะ ท่านพร้อมทั้งบริวารได้ถือลัทธิบูชาไฟอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี ด้วยเข้าใจว่านี่คือ เส้นทางพ้นทุกข์ แม้จะบูชาไฟ แต่ชีวิตของท่านพร้อมบริวารกลับเดินอยู่ในความมืดตลอดเวลา มองไม่เห็นหนทางพ้นทุกข์เลย

ครั้นอินทรีย์ของอุรุเวลกัสสปะพร้อมด้วยบริวารแก่รอบพร้อมที่จะได้บรรลุธรรมแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรด ด้วยการแสดงปาฏิหาริย์ถึง ๓,๕๐๐ อย่าง เพื่อสร้างศรัทธาและกำราบมานะทิฐิของท่านพร้อมบริวาร จนกระทั่งฤๅษีทั้งหมดเลื่อมใสศรัทธา และออกบวชตามพระองค์ เมื่อถึงเวลาพระพุทธองค์ได้ทรงแสดง อาทิตตปริยายสูตร ที่ตำบลคยาสีสะ เพื่อขจัดไฟภายใน คือ กิเลสอาสวะโปรดพระนวกะทั้งหมด เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านอุรุเวลากัสสปะและบริวารทั้งหมด ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ต่อมาไม่นาน ท่านได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธองค์ ให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านมีพระภิกษุที่เป็นบริวารมาก สมความตั้งใจของท่าน

การที่ท่านได้สมหวังดังใจปรารถนา เพราะได้ยอดกัลยาณมิตร คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเมตตาอนุเคราะห์ หากไม่ได้พระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว จะไม่สามารถพ้นจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด ที่ต้องไปบูชาไฟ ซึ่งไม่ใช่สรณะไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม เพราะได้พระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตรให้แท้ๆ ชีวิตริบหรี่จึงกลับสว่างไสวขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น คุณค่าของกัลยาณมิตร จึงเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ และการที่เราจะได้กัลยาณมิตรภายนอกตลอดเวลาทุกที่ทุกโอกาสนั้นเป็นไปได้ยาก มีอยู่วิธีเดียว คือ เราจะต้องทำสมาธิภาวนา เพื่อให้พบกับกัลยาณมิตรภายใน ซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงพระธรรมกายที่เป็นยอดกัลยาณมิตรให้กับเราได้ตลอดเวลา อันจะเป็นประดุจเข็มทิศชีวิต และเครื่องเตือนใจให้เราดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางสวรรค์และนิพพานตลอดไป ดังนั้น ให้หมั่นแสวงหาพระรัตนตรัยภายในตัว ด้วยการทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่งเป็นประจำสมํ่าเสมอ สักวันหนึ่ง เราจะสมปรารถนากันทุกคน

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

จับดีมีดวงตาเห็นธรรม

เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง ควรมีเป้าหมายชีวิตให้กับตนเอง ถึงแม้จะเป็นเป้าหมายระยะสั้น หรือไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนคนอื่น ก็ควรมีเอาไว้ ขอเพียงแต่ให้เป้าหมายนั้นเป็นไปเพื่อบุญกุศล เพื่อให้ได้สวรรค์และนิพพาน สำหรับเป้าหมายของนักสร้างบารมีพันธุ์รื้อวัฏฏะ คือ จะมุ่งสร้างบารมีทุกรูปแบบ ทุกเวลานาที เพื่อมุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม เมื่อมีเป้าหมายแล้วต้องพยายามทำให้สำเร็จ แม้จะใช้เวลานานเพียงใด จะมุ่งมั่นทำเป้าหมายให้กลายเป็นจริง การมีเป้าหมายจะทำให้ชีวิตมีความหวัง เมื่อชีวิตเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง จะทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จิตใจจะมีความสุขตามไปด้วย ชีวิตที่มีคุณค่า คือ ชีวิตที่เกิดมาแล้วได้สั่งสมบุญกุศลอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในเถรคาถาปทาน ความว่า

คนมีปัญญาน้อย คิดแต่จะกล่าวโทษต่อผู้ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเป็นผู้ห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินที่อยู่ไกลกัน คนมีปัญญาน้อย คิดแต่จะกล่าวโทษต่อผู้ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น”

การคอยจ้องจับผิดข้อบกพร่องของคนอื่น แล้วนำมาวิจารณ์ให้คนอื่นทราบ ไม่ใช่วิสัยของบัณฑิตนักปราชญ์ เป็นการมองโลกในแง่ร้าย เหมือนมีผ้าห่มผืนใหญ่เอาไว้ใช้ห่มกันหนาว มีรอยด่างดำ เพียงนิดเดียว มัวแต่สนใจจุดดำและนำมาตำหนิ ส่วนข้อดีของผืนผ้าที่สามารถนำมาห่มกันหนาวได้นั้น ไม่ได้พูดถึงเลย หรืออ่านหนังสือเล่มใหญ่ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ มีประโยชน์และควรจดจำมากมาย แต่กลับไปจำตรงที่มีการพิมพ์ตกหล่นเพียงไม่กี่คำ อย่างนี้เป็นต้น การจับผิดไม่เคยทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น มีแต่ตกต่ำลงไป ใจจะไม่ใส เพราะใจเห็นแต่ของเสียๆ บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย ท่านสอนให้มองโลกในแง่ดี ให้จับเอาข้อดีของคนอื่นมาสรรเสริญ คนอื่นมีคุณธรรมอะไร ให้นำมาพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

เราควรหลีกเลี่ยงคนที่ชอบมองโลกในแง่ร้าย เพราะหากอยู่ใกล้สิ่งใด มักจะมีแนวโน้มไปตามกลุ่มที่เข้าใกล้ เราต้องรู้จักเลือกคบหาสมาคมกับกลุ่มที่มีทัศนคติในการมองโลกที่ดีและเป็นบวก หากเรายังคงวนเวียน และคบค้าสมาคมกับผู้มองโลกในแง่ลบ ชีวิตเหมือนกับมีสิ่งที่คอยขัดขวางและกระชากลากถูให้คล้อยตามกลุ่มนั้น ชีวิตที่มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีวันที่จะมีความสุขได้ เราจึงต้องรู้จักหลีกเลี่ยงที่จะเสวนาและอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้ เพื่อจะได้ช่วยพยุงชีวิตของเราให้เป็นไปอย่างมีความสุขในทุกๆ สถานการณ์

หลวงพ่อมีตัวอย่างของพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อ ยสทัตตะเถระ ก่อนบวช ท่านมีทิฐิมานะ คอยจ้องจับผิดในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพราะอาศัยพระพุทธองค์ทรงเป็นยอดกัลยาณมิตรให้ จึงเปลี่ยนนิสัยมาเป็นจับถูก แล้วนำคำสอนดีๆ นั้นมาผูกเข้าหากัน ทำให้ท่านหลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา เรื่องของท่านมีอยู่ว่า

ในยุคสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระยสทัตตะเถระได้ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ หลังจากเรียนจบวิชาความรู้ของพราหมณ์แล้ว แทนที่จะใช้ชีวิตตามแบบฉบับของพราหมณ์ทั่วไป คือ การครองเรือน และเป็นเจ้าพิธีกรรมตามงานพิธีต่างๆ ด้วยความเป็นผู้มีปัญญา สามารถสอนตนเองได้ จึงตัดสินใจออกบวชเป็นฤๅษี ตั้งใจประพฤติพรต บำเพ็ญตบะอยู่ในป่าตามลำพัง ท่านเป็นฤๅษีที่มักน้อยสันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย

ขณะบำเพ็ญตบะอยู่ในป่าตามลำพังนั้น ท่านได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระเสด็จเหาะผ่านมาทางอาศรม ดวงตาของท่านจ้องมองพระพุทธองค์ด้วยความปีติเลื่อมใส เพราะตั้งแต่เกิดมาลืมตาดูโลก ไม่เคยเห็นใครที่จะงดงามดังเช่นพระพุทธองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ อีกทั้งพระรัศมีของพระพุทธองค์ก็สว่างไสวยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในการสั่งสมบุญ แทนที่จะมองด้วยความเลื่อมใสเพียงอย่างเดียว ท่านได้ประคองอัญชลีพนมมือสวดสรรเสริญพระพุทธองค์ไปด้วย ด้วยบุญที่ท่านได้เห็นบุคคลอันเป็นสุดยอดแห่งทัสนานุตริยะ คือ ได้การเห็นอันประเสริฐ และบุญที่ได้สวดสรรเสริญพระพุทธองค์ด้วยความเคารพเทิดทูนเหนือสิ่งอื่นใดในครั้งนั้น ส่งผลให้ท่านท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิเท่านั้น คือ ในเทวโลก และในมนุษยโลก ไม่เคยรู้จักทุคติเลย

เมื่อมาถึงยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้มาบังเกิดในตระกูลมัลละกษัตริย์ ในมัลลรัฐ มีชื่อว่ายสทัตตะ เมื่อถึงวัยเรียนรู้ ท่านได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ที่เมืองตักกศิลา หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านไม่ได้ยินดีในความรู้เพียงเท่านั้น เพราะรู้ว่าในโลกนี้ยังมีความรู้ที่น่าศึกษาอีกมาก โดยเฉพาะความรู้ที่เป็นไปเพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านยังแสวงหาไม่พบเลย จึงชักชวนปริพาชกชื่อว่าสภิยะ เที่ยวเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ท่านได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาครูเก่ง ครูดี

แล้วโอกาสทองของชีวิตในการเรียนรู้ครั้งสำคัญของท่านได้มาถึง เมื่อได้ข่าวว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ท่านยสทัตตะกับปริพาชกสภิยะจึงเดินทางไปเข้าเฝ้าทันที เพราะต้องการศึกษาความรู้อันบริสุทธิ์จากพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นไปเพื่อการบรรลุอมตนิพพาน เนื่องจากทั้งสองทราบว่า มีบัณฑิตนักปราชญ์พากันมากราบไหว้ และมอบตัวเป็นสาวกแทบทั้งเมือง

เมื่อยสทัตตะมาณพและสภิยะปริพาชกได้โอกาสเข้าเฝ้า ได้ทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ โดยสภิยะปริพาชกเป็นผู้ถามปัญหา ส่วนยสทัตตะมาณพเป็นผู้คอยจับผิดคำตอบของพระพุทธองค์ ซึ่งทั้งสองได้นัดแนะกันเอาไว้ว่า แม้พระบรมศาสดาจะยิ่งใหญ่แค่ไหน จะไม่ปักใจเชื่อในคำสอนของพระพุทธองค์อย่างง่ายๆ ต้องช่วยกันจับผิดในคำสอนนั้นเสียก่อน แต่ดูเหมือนว่าทุกคำถามที่สภิยะปริพาชกถาม ไม่มีคำตอบใดที่ยสทัตตะมาณพจะหาข้อบกพร่องได้เลย พุทธวิสัชนาแจ่มแจ้งชัดเจนทั้งเบื้องต้นท่ามกลาง และเบื้องปลาย เหมือนหงายของที่ควํ่า พอหงายก็รู้ว่าอะไรถูกครอบเอาไว้ เห็นได้หมด ถูกต้องและชัดเจน

พระพุทธองค์ทรงทราบแต่แรกแล้วว่า ทั้งยสทัตตะมาณพและสภิยะปริพาชก ต้องการจะทดสอบภูมิปัญญาของพระองค์ จึงเปิดโอกาสให้คนทั้งสองซักถามปัญหาอย่างเต็มที่ เพราะพระองค์ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ ตั้งแต่สมัยที่อยู่ใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์ทรงเป็นสัพพัญญูรู้แจ้งธรรมทั้งปวง เป็นผู้ไร้ปัญหา มีแต่คำตอบซึ่งพร้อมเสมอที่จะไขข้อข้องใจของผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ครั้นทรงทราบว่าทั้งสองหมดปัญหาที่จะถามแล้ว จึงตรัสเตือนว่าการจ้องจับผิดวาทะของพระพุทธองค์นั้น ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่การฟังโดยความเคารพเป็นเหตุให้ได้ปัญญา เพื่อการหลุดพ้นได้

เมื่อยสทัตตะมาณพรู้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบการกระทำของพวกตน จึงเกิดความอัศจรรย์ใจ จากเดิมที่มีความประทับใจในการตอบคำถามอยู่แล้ว ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็รู้สึกละอายใจที่ตัวเองไม่รู้จักพุทธานุภาพ จากนั้นยสทัตตะมาณพได้ทูลขอบวช เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว ท่านปรารภความเพียรอย่างเต็มที่ ไม่นานได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้มีชีวิตที่สว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน ความสงสัยอันใดที่มีอยู่ก็หมดสิ้นไปจากใจ

การฟังที่ดีนำไปสู่ปัญญาหลุดพ้น ถ้าจับดีจะมีดวงตาเห็นธรรม แต่ถ้าฟังแล้วจับผิดจะไม่เกิดประโยชน์อะไร แถมยังมีโทษอีกด้วย ถ้าฟังธรรมแล้วปฏิบัติตามธรรม ชีวิตของเราจะสามารถพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นได้ โดยเราจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องในตัวเราเองได้ ซึ่งการจะเห็นข้อดีของผู้อื่นและข้อบกพร่องของตนเอง แล้วสามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น เราจะต้องหมั่นปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างสมํ่าเสมอ เพราะใจที่ใสๆที่ได้เข้าถึงธรรมะภายใน จะเห็นแต่ของใสๆ และมีพลังใจในการพัฒนากายและวาจาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้เราดำเนินอยู่บนเส้นทางสวรรค์และพระนิพพานได้ตลอดไปทุกภพทุกชาติ

วันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

คุณวุฒิไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย

ช่วงอายุ หรือวัยของมนุษย์เป็นสัญลักษณ์ที่ให้เข้าใจถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ซึ่งมีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา แต่เรื่องคุณธรรม หรือความสามารถไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย เราอาจจะเคยเห็นเด็กหลายๆ คนที่มีลักษณะของผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่บางคนทำตัวเหมือนเด็ก การวัดความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในทางพุทธศาสนานั้น นอกจากดูที่รูปร่างหน้าตาและวัยวุฒิแล้ว ยังต้องดูคุณวุฒิ คือ การได้บรรลุมรรคผลขั้นต่างๆ อีกด้วย ถ้าบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้า แม้อายุยังน้อยก็ควรต่อการเคารพนับถือ เพราะถือว่าท่านเอาตัวรอดได้แล้ว คือ รอดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ดังนั้น การฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง น้อมนำใจกลับเข้าสู่สภาวะที่สะอาดสงบสว่าง และบริสุทธิ์ภายใน ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา จึงเป็นเส้นทางสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง

มีธรรมภาษิตที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ซึ่งปรากฏในธรรมบทว่า

สนฺตํ ตสฺส มนํ โหติ สนฺตา วาจา จ กมฺม จ

สมฺมทญฺญา วิมุตฺตสฺส อุปสนฺตสฺส ตาทิโน

ใจของพระขีณาสพผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ผู้เข้าไปสงบวิเศษแล้ว ผู้คงที่ เป็นใจที่สงบ วาจาของท่าน ก็เป็นวาจาที่สงบ หรือการกระทำทางกายของท่าน ก็เป็นกายที่สงบเหมือนกัน”

เป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา คือ การได้ปฏิบัติธรรมจนสิ้นอาสวกิเลส ได้เป็นพระอรหันต์ เมื่อได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพแล้ว ความคิด คำพูดและการกระทำจะสงบเสงี่ยมสง่างามตลอดเวลา อานุภาพของความสงบเสงี่ยมสง่างามของพระอรหันต์ จะส่งผลให้ผู้ได้พบเห็นพลอยสงบใจตามไปด้วย การเป็นผู้สงบอย่างนี้ ถือว่าสงบอย่างแท้จริง เพราะสงบจากกิเลส ได้พบพระรัตนตรัยภายใน และยังเป็นต้นแบบทำให้ผู้อื่นได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอยู่ในวัฏสงสารด้วย

ในพุทธกาลมีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ ติสสะ ท่านอยู่จำพรรษาที่เมืองโกสัมพี พระเถระท่านนี้เป็นพระที่รักสงบ รักในการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษาของแต่ละปี ท่านจะตั้งใจปฏิบัติธรรมเป็นพิเศษ ทำให้เป็นที่เคารพเลื่อมใสของผู้ได้พบเห็น นอกจากท่านจะรักในการทำความเพียรอย่างสมํ่าเสมอแล้ว ท่านยังเป็นพระที่ไม่สะสมอัฐบริขาร มีความมักน้อยสันโดษ ใครได้สนทนาธรรมด้วย ยิ่งก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก

ด้วยความรักในการปฏิบัติธรรมของท่าน ทำให้มีญาติโยมมาถวายภัตตาหารและเครื่องใช้มากมาย แต่ท่านไม่ได้ใส่ใจในลาภสักการะเหล่านั้น อุบาสกอยากได้บุญใหญ่จากท่าน สังเกตเห็นว่าพระเถระขาดสามเณรคอยอุปัฏฐาก จึงปรารภว่าจะให้ลูกชายบวชเป็นลูกศิษย์ พระเถระเองเห็นดีด้วย เพราะเห็นแววลูกชายอุบาสก เป็นเด็กที่รักในความสงบวิเวก และรักในการฝึกฝนอบรมตนเอง

อุบาสกปรารภเรื่องนี้ให้ลูกชายฟัง โดยเล่าความเป็นผู้มีบุญของผู้บวช และอยากให้ลูกบวชแทนพ่อ เพราะพ่อบวชไม่ได้ ยังมีภาระหลายอย่าง และเมื่อลูกบวชแล้ว จะได้อุปัฏฐากพระอาจารย์ เมื่อลูกชายได้ฟังแล้ว ก็ดีใจเพราะใจจริงอยากบวชอยู่แล้ว พอเตรียมผ้าไตรจีวรเป็นที่เรียบร้อย อุบาสกได้ชักชวนญาติพี่น้องมารวมกันที่วัด เพื่ออนุโมทนาบุญกับการบวชของลูกชาย

พระเถระได้สอนวิธีการทำสมาธิภาวนาแก่ลูกชายอุบาสก เมื่อให้โอวาทเสร็จก็ปลงผมให้ ขณะปลงผมใกล้จะเสร็จ นาคน้อยอายุเพียง ๗ ขวบก็ได้บรรลุธรรมกายอรหัต เป็นพระอรหันต์ในขณะปลงผมปอยสุดท้ายนั่นเอง เมื่อบวชแล้ว สามเณรได้ทำหน้าที่อุปัฏฐากพระเถระ โดยที่พระเถระเอง ก็ไม่รู้ว่าผู้ที่อุปัฏฐากนั้น เป็นถึงสามเณรอรหันต์

ครั้นผ่านไปประมาณ ๑๕ วัน หลังจากสามเณรบวช พระเถระอยากจะเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา จึงพาสามเณรออกเดินทางไปวัดพระเชตวัน ระหว่างทางได้แวะพักที่วัดแห่งหนึ่ง การเข้าพักครั้งนี้ สามเณรเตรียมที่พักให้ตัวเองไม่ทัน เพราะวันนั้น มาถึงยามพลบคํ่า เพียงแค่ปัดกวาดเตรียมที่พักให้พระเถระ ยังแทบจะไม่ทัน พระเถระจึงให้สามเณรจำวัดในห้องเดียวกับท่าน สามเณรรู้ว่าระหว่างที่เดินทางมา ได้จำวัดอยู่ในห้องเดียวกับพระเถระครบ ๓ คืนแล้ว ถ้ายังจำวัดอยู่ในห้องเดียวกันอีก พระเถระจะต้องอาบัติอย่างแน่นอน คืนนั้น สามเณรจึงนั่งสมาธิคู้บัลลังก์ทั้งคืน

ครั้นจวนสว่าง พระเถระระลึกได้ว่า ได้จำวัดอยู่ห้องเดียวกันกับสามเณรครบ ๓ คืนแล้ว นี่เป็นคืนที่ ๔ ท่านจึงเอาพัดที่วางอยู่ข้างตัวเคาะเสื่อของสามเณร เพื่อให้สามเณรออกไปนอกห้อง แต่เนื่องจากไม่ได้พิจารณาให้ดี จึงทำให้ปลายพัดแทงโดนตาข้างหนึ่งของสามเณรแตก แม้สามเณรจะโดนพัดแทงจนตาแตกเลือดไหล ก็ไม่ได้ร้องโวยวาย รู้ว่าพระเถระให้ออกไปนอกห้อง จึงเอามือปิดตาเดินออกนอกห้องไป ท่านทำเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พอฟ้าสางสามเณรทำกิจวัตรที่ได้ทำเป็นปกติทุกวัน คือ ปัดกวาดเสนาสนะ ตักน้ำดื่ม น้ำใช้เตรียมไว้ให้พระเถระอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ขณะที่ทำไปมือข้างหนึ่งก็ปิดตาไป พอถึงเวลาถวายไม้ชำระฟัน จึงถวายด้วยมือข้างเดียว พระเถระเห็นเช่นนั้น จึงถามว่า “สามเณรเป็นอะไรหรือ”

เมื่อสามเณรเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พระเถระตกใจ รีบพนมมือนั่งกระโหย่ง พร้อมกับพูดว่า “ท่านสัตบุรษ ขอท่านจงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด ขอท่านเป็นที่พึ่งให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด” แทนที่สามเณรจะตำหนิกลับพูดปลอบขวัญพระเถระว่า “ท่านผู้เจริญ นี่ไม่ใช่โทษของท่าน ไม่ใช่โทษของผม แต่นี่เป็นโทษของวัฏฏะ ท่านอย่าได้ใส่ใจเลย” เมื่อพระเถระได้ฟังเช่นนั้น ยิ่งลำบากใจหนักเข้าไปอีก จึงช่วยสามเณรถืออัฐบริขาร เร่งเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เมื่อไปถึงได้กราบทูลให้พระพุทธองค์ทราบเรื่องราวทั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุ ปกติของพระขีณาสพ จะไม่โกรธ หรือขัดเคืองต่อใครๆ เพราะท่านเหล่านั้นมีอินทรีย์ธรรมและมีใจสงบแล้ว”

พระเถระเดิมทีที่กระวนกระวาย เพราะกลัวจะได้บาป กลับได้ความสบายใจกลับคืนมา ขณะฟังธรรม ท่านค่อยๆ ทำใจหยุดใจนิ่งตรองตามพุทธวจนะที่พระพุทธองค์กำลังแสดง ครั้นจบพระธรรมเทศนา ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ วิบากกรรมที่ท่านเผลอทำให้สามเณรตาบอด ก็เป็นอโหสิกรรมไป เพราะกรรมที่ไม่มีเจตนาตามไม่ทัน เนื่องจากบุญที่เกิดจากการบรรลุพระอรหัตผล ได้ตัดกระแสวิบากกรรมเสียก่อน

ความสงบเสงี่ยมของสามเณรอรหันต์ ได้เป็นกำลังใจทำให้พระเถระซึ่งเป็นพระอาจารย์ได้เข้าถึงธรรมตามไปด้วย สามเณรแม้จะมีอายุเพียง ๗ ขวบ แต่ด้วยวุฒิภาวะที่สูงที่สุดในวัฏสงสาร ทำให้สามเณรเตือนตัวเองได้ แม้ในยามที่ลูกนัยย์ตาถูกพัดแทงเอาจนตาบอดไปข้างหนึ่ง ก็ไม่แสดงอาการกระสับกระส่ายแต่อย่างใด วัยของชีวิตอาจเป็นเครื่องวัดคุณธรรมและความสามารถได้ แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน สำหรับพุทธบุตรผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพแล้ว วัยไม่สำคัญเท่าสภาวธรรมภายใน เพราะคุณธรรมและคุณวิเศษภายในจะเป็นเครื่องวัดความเป็นสมณะที่สมบูรณ์

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน อย่าให้วัยมาเป็นอุปสรรค ให้เราต้องประมาทในการทำความดีสร้างบุญบารมี อย่าไปคิดว่าเรากำลังอยู่ในวัยเรียนวัยเล่น แล้วไม่ยอมสร้างบารมี หรือคิดว่ายังไม่ถึงวัยชรา ยังไม่ต้องเข้าวัดก็ได้ ให้รีบสร้างฐานะก่อน แต่ว่าพญามัจจุราชที่จะพิฆาตชีวิตเราให้หมดโอกาสในการสร้างความดีนั้น หาได้เลือกวัยไม่ ผู้ฉลาดเห็นภัยในวัฏสงสาร จึงไม่ควรประมาทแม้ในวัยใดวัยหนึ่งจะต้องหมั่นทำความดี เพื่อแข่งกับวันเวลาที่มันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดังเช่นชีวิตของสามเณรที่ได้บรรลุธรรมตั้งแต่เยาว์วัย เพราะท่านไม่ประมาทในชีวิต และได้สร้างบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงมองเห็นว่า เพศภาวะที่ดีที่สุด คือ เพศนักบวช ท่านจึงบวชเพื่อชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ฉะนั้นเมื่อบุญส่งผล อินทรียธรรมของท่านแก่รอบ วัยในการบรรลุธรรมก็หาได้เป็นเงื่อนไขของชีวิตไม่ เพราะการบรรลุธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย แต่อยู่ที่ใจหยุด เส้นทางสู่สวรรค์และพระนิพพาน ไม่จำกัดด้วยวัยสำหรับผู้เดินทาง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ให้หมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาอย่างสมํ่าเสมอ จะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน

วันจันทร์ที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ชีวิตของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร

ทุกชีวิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของ บุตร ธิดา ทรัพย์สินเงินทอง ญาติพี่น้อง ล้วนไม่อาจติดตามเราไปในปรโลกได้ มีเพียงกุศลผลบุญที่เราได้สั่งสมเอาไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่จะเป็นเหมือนเงาติดตามตัวเราไป ดังนั้น พวกเราต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ให้ดี และแสวงหาหลักของชีวิต คือพระรัตนตรัย แล้วก็หมั่นสั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่ เพราะโอกาสนี้ นับเป็นโอกาสดีที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาได้รู้จักหนทางของความหลุดพ้น ฉะนั้นอย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ไร้สาระ เพราะชราและมรณะครอบงำเราอยู่ทุกขณะ ให้เร่งรีบประพฤติปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ ชีวิตเราจะได้ปลอดภัยและมีความสุขไปทุกภพทุกชาติกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

อปฺปมาทรโต ภิกฺขุ ปมาเท ภยทสฺสิ วา

สญฺโญชนํ อณุ ํ ถูลํ ฑหํ อคฺคีว คจฺฉติ

ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท มีปกติเห็นภัย-ในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์ ทั้งหยาบและละเอียดได้ ดุจไฟที่เผาเชื้อทั้งมากและน้อยได้ ฉะนั้น”

ความไม่ประมาทเป็นยอดของความดี ส่วนความประมาทเป็นภัยในวัฏฏะ ที่ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย หลงวนอยู่ในทะเลทุกข์ หาทางหลุดพ้นออกไปไม่ได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนพระภิกษุ และเหล่าพุทธบริษัท ให้เห็นทุกข์เห็นโทษของความประมาทอยู่เสมอ และให้ยินดีในความไม่ประมาท นอกจากนี้ คำว่า “ภิกษุ” ยังหมายถึงผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ภัยก็เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเริ่มประมาทตามใจกิเลส จึงทำบาปอกุศล อันเป็นเหตุให้ต้องพลัดไปเกิดในอบายภูมิไปเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดียรัจฉาน

ในขณะที่กำลังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ แสวงหาหนทางข้ามฝั่งคือพระนิพพานอยู่นั้น จะหาบุคคลผู้โชคดีที่เวียนวนอยู่ในสุคติภูมิอย่างเดียวนั้นน่ะ มีน้อยเหลือเกิน เหมือนฝุ่นในเล็บมือ ไม่อาจเทียบได้กับฝุ่นในจักรวาล เพราะโอกาสที่จะประพฤติผิดพลาดทางกาย วาจา ใจนั้นมีอยู่ตลอดเวลา เหมือนเวลาที่เรือล่มกลางมหาสมุทร ลูกเรือแต่ละคนก็จะพยายามตะเกียกตะกายว่ายน้ำเอาตัวรอด มองไปสุดลูกหูลูกตาก็ไม่เห็นฝั่ง จะต้องเจอภัยต่างๆ ที่มีอยู่ในทะเล ตั้งแต่ภัยจากคลื่นลมแรง ภัยจากปลาร้าย ภัยจากน้ำวน พอหมดเรี่ยวแรงก็จมดิ่งสู่ท้องทะเล ต้องเป็นภักษาของปลาและสัตว์ในทะเล น้อยคนนักที่จะข้ามขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย

ฉะนั้น การจะพิชิตภัยในสังสารวัฏได้อย่างเด็ดขาดต้องอาศัยความไม่ประมาท มีสติเตือนตนเองอยู่เสมอ ต้องควบคุมกาย วาจา ใจของเรา ไม่ให้ไปทำความเดือดร้อนกับใคร ขณะเดียวกันก็หมั่นทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นทุกวัน บริสุทธิ์จนสามารถทำสังโยชน์ทั้งหยาบและละเอียด ทั้งเบื้องต่ำเบื้องสูงให้หลุดล่อนออกไปจากใจได้หมด หลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละจึงจะเรียกว่า ผู้พิชิตอย่างแท้จริง

*มก. ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เล่ม ๔๐/๓๗๙

*ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกท่านหนึ่ง เมื่อมีโอกาสได้เข้าวัดฟังธรรมจากพระบรมศาสดาบ่อยครั้ง ก็เกิดปัญญามองเห็นทุกข์เห็นโทษในการอยู่ครองเรือน จึงตัดสินใจสละเพศฆราวาส ตั้งใจออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อบวชแล้วก็เริ่มเรียนพระกัมมัฏฐานที่เหมาะกับจริตอัธยาศัยจากพระพุทธองค์ จากนั้นก็กราบทูลลาเข้าป่าเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพัง แต่เนื่องจากปรารภความเพียรจัดเกินไป ยังหาความพอดีจากการทำใจหยุดนิ่งไม่ได้ ทำให้เกิดรู้สึกว่า เส้นทางสู่การบรรลุอรหัตผลนั้นช่างยากลำบากเหลือเกิน จึงคิดจะกลับไปทูลขอวิธีการปฏิบัติกัมมัฏฐานจากพระบรมศาสดาใหม่

วันรุ่งขึ้น ท่านได้ออกจากป่า ระหว่างเดินทางอยู่นั้น ก็เกิดไฟป่าลุกลามไปทั่วบริเวณ ทำให้ท่านต้องรีบขึ้นไปยอดเขาลูกหนึ่ง เมื่อถึงยอดเขาแล้ว ก็นั่งดูไฟซึ่งกำลังไหม้ป่า ขณะเดียวกันนั้น ท่านก็นำเอาไฟนั้นมาเป็นอารมณ์ พร้อมกับสอนตนเองว่า “ไฟนี้ เผาเชื้อให้มอดไหม้ไป ฉันใด แม้ไฟคืออริยมรรคญาณ ก็จักพึงเผาสังโยชน์ทั้งหลายที่มีอยู่ในใจของเราให้มอดไหม้ไป ฉันนั้น”

เมื่อตรึกธรรมะอยู่บนยอดเขาอยู่นั้น พระบรมศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบวาระจิตของภิกษุนั้น จึงตรัสว่า “อย่างนั้นแหละภิกษุ สังโยชน์ทั้งหลายทั้งหยาบและละเอียด ซึ่งเกิดอยู่ในภายในของสัตว์ทั้งหลาย ประดุจเชื้อที่มากบ้างน้อยบ้าง เพราะฉะนั้น เธอควรเผาสังโยชน์เหล่านั้นด้วยไฟคือญาณเสีย แล้วทำให้เป็นของที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไปเถิด” ว่าแล้วก็ทรงเปล่งพระรัศมีไปปรากฏ ประหนึ่งว่าประทับนั่งอยู่ต่อหน้าของภิกษุนั้น ตรัสสอนเธอว่า “ภิกษุยินดีแล้วในความไม่ประมาท มีปกติเห็นภัยในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์ ทั้งละเอียดและหยาบได้ ดุจไฟที่เผาเชื้อทั้งมากและน้อยได้ฉะนั้น” ภิกษุรูปนั้นได้พิจารณาตามพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ

นอกจากนี้ ยังมีภิกษุอีกรูปหนึ่ง หลังจากทูลลาพระบรมศาสดาและหมู่คณะเพื่อปลีกวิเวกตามลำพังแล้ว ก็เป็นผู้ไม่ประมาทเหมือนกัน ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าทั้งวันทั้งคืน ตั้งใจปรารภความเพียร-อย่างเต็มที่ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเดินทางออกจากป่าเพื่อมาเรียนกัมมัฏฐานใหม่ ในระหว่างทาง ซึ่งเป็นช่วงเวลากลางวัน ท่านก็เห็นพยับแดด จึงพิจารณาธรรมว่า “พยับแดดนี้ ตั้งขึ้นในฤดูร้อน ทำให้คนซึ่งยืนอยู่ในที่ไกลๆ สามารถมองเห็นได้เหมือนมีรูปร่างจริงๆ แต่ครั้นเดินเข้ามาใกล้ๆ กลับมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ เป็นเพียงภาพลวงตา เป็นของว่างเปล่า แม้อัตภาพนี้ ก็มีรูปเหมือนอย่างนั้น เพราะว่าตั้งอยู่ได้ไม่นาน เมื่อหนุ่มสาวก็มองดูสวยงาม ครั้นล่วงกาลผ่านวัยไป ร่างกายก็เหี่ยวย่นไปตามลำดับ สุดท้ายก็ต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด รูปกายนี้มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา”

ดูว่า ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ มุ่งปฏิบัติเพื่อการเป็นพระแท้ ใจของท่านจะจดจ่ออยู่กับธรรมะ โดยเอาธรรมชาติรอบตัวนั่นแหละ มาเป็นครูสอนตนเอง เพราะฉะนั้น เมื่อท่านสอนตนเองเสร็จแล้ว ก็เดินทางต่อไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จึงแวะสรงน้ำในแม่น้ำ นั่งที่ใต้ร่มไม้ริมฝั่ง ซึ่งมีกระแสน้ำเชี่ยว ขณะเดียวกันก็มองเห็นฟองน้ำใหญ่ตั้งขึ้น กำลังของน้ำกระทบกันแล้วก็แตกไปเป็นฟอง ท่านได้นำเอาฟองน้ำเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ คิดสอนตัวเองว่า “แม้อัตภาพนี้ ก็มีรูปร่างอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะว่า เกิดขึ้นแล้วก็แตกสลายไป”

พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฎี ทรงเห็นท่านเข้ามาในข่ายพระญาณของพระองค์ จึงตรัสว่า “อย่างนั้นนั่นแหละภิกษุ อัตภาพนี้ก็มีรูปอย่างนั้น มีอันเกิดขึ้นและแตกไปเป็นธรรมดาเหมือนฟองน้ำและพยับแดด” จากนั้นก็ทรงเปล่งพระรัศมีไปปรากฏประหนึ่งว่า ประทับนั่งต่อหน้าของภิกษุนั้น ทรงตรัสสอนว่า “ภิกษุรู้แจ้งกายนี้ว่า มีฟองน้ำเป็นเครื่องเปรียบ รู้ชัดกายนี้ว่า มีพยับแดดเป็นธรรมตัดพวงดอกไม้ของพญามารเสียแล้ว พึงถึงสถานที่ที่มัจจุราชมองไม่เห็น”

เมื่อท่านได้ตรองตามพระธรรมเทศนาไปตามลำดับก็รู้ว่ารูปกายนี้ คือที่ประชุมรวมของธาตุสี่ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นเหมือนฟองน้ำ เพราะไม่ตั้งอยู่นาน ร่างกายนี้ปรากฏอยู่ชั่วขณะ เหมือนพยับแดด แต่ความจริงแล้วมีแต่ความว่างเปล่า หาสาระไม่ได้เลย ท่านพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ที่ปรากฏขึ้นมาในใจอย่างชัดเจน ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาอีกรูปหนึ่ง

เราจะเห็นว่า ผู้ไม่ประมาทในชีวิต ท่านจะอุทิศตนเพื่อการทำพระนิพพานให้แจ้งอย่างเดียว ไม่เสียเวลาไปทำเรื่องอื่นเลย การเจริญสมาธิภาวนานี่แหละ จะทำให้ใจบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง สามารถทำลายโซ่ตรวนที่ร้อยรัดสรรพสัตว์เอาไว้ในภพทั้งสาม จะทำให้เราเข้าถึงอิสรเสรีที่แท้จริง ที่รอดพ้นจากภัยทั้งหลาย ทั้งภัยภายในและภัยภายนอก รวมไปถึงภัยในโลกนี้กับภัยในโลกหน้า และภัยในสังสารวัฏ ดังนั้นเราจะต้องหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลา แล้วในไม่ช้า เราก็จะเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานได้เหมือนกัน

ควรมีมิตรในทุกระดับ

การกระทำทางกายวาจาและใจ ล้วนมีผลต่อเนื่องกันเหมือนห่วงโซ่ ถ้าเราคิดดีก็จะส่งผลให้พูดดีและทำดีตามไปด้วย การจะคิดดีได้นั้น จะต้องมีจุดกำเนิดของความคิดที่ดี ความคิดจะดีหรือบริสุทธิ์ได้นั้น ก็ต้องเจริญสมาธิภาวนาปฏิบัติธรรม ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำสมํ่าเสมอ จะมีคำพูดที่ดี มีกิริยาอาการที่สงบสำรวม เป็นคนมีเหตุผล รู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร เมื่อเรารู้อย่างนี้ ก็ต้องหมั่นปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาให้มากเข้าไว้ เนื่องจากใจเป็นจุดเริ่มต้นของวาจาและการกระทำ ดังพุทธดำรัสที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าจิตใจดี คำพูดและการกระทำของเราก็จะดีตามไปด้วย การคิดดีพูดดีและการกระทำที่ดีนี้ เป็นทางมาแห่งมหากุศลที่จะติดตามตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติทีเดียว

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในกุสนาฬิชาดก ความว่า

กเร สริกฺโข อถวาปิ เสฏฺโฐ

นิหีนโก วาปิ กเรยฺย เอโก

กเรยฺยุเมเต พฺยสเน อุตฺตมตฺถํ

ยถา อหํ กุสนาฬิ รุจายํ

บุคคลเป็นผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน หรือต่ำกว่ากัน ก็ควรคบกันไว้ เพราะเพื่อนเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้”

*มก. กุสนาฬิชาดก เล่ม ๕๖ /๔๖๓

*เส้นทางสู่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต นอกจากจะอาศัยพ่อแม่ พี่น้องและหมู่ญาติแล้ว ยังต้องอาศัยมิตรสหายอีกด้วย มิตรสหายคือบุคคลที่เราสามารถพึ่งพาอาศัยได้ ซึ่งนิยามของคำว่ามิตรสหายนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเกิดในชนชั้นที่รวย สวย ฉลาดเสมอไป ขอเพียงเป็นเพื่อนแท้ต่อกันเท่านั้น คือ พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในยามที่ตกทุกข์ได้ยาก ในเวลาเดือดเนื้อร้อนใจ เพื่อนก็พร้อมเสมอที่จะมาช่วยดับไฟร้อน คอยช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ให้คลี่คลายลงได้ด้วยดี เหมือนดังเรื่องของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ที่นอกจากจะรํ่ารวยทรัพย์แล้ว ยังรํ่ารวยมิตรสหายและบริวารอีกด้วย วันนี้เรามารู้จักอานิสงส์ของการคบเพื่อนดีกันเลย

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นพ่อค้านักธุรกิจผู้กว้างขวางคบหามิตรสหายเอาไว้มากมาย ทั้งมิตรที่เคยคบหากันมาตั้งแต่เด็ก และไม่เคยเห็นกันมาก่อน ได้แต่ส่งข่าวสารถึงกันเท่านั้นก็มีมาก ความเป็นผู้ใจกว้างในเรื่องการคบมิตรของท่านนั้น บางครั้งพวกญาติๆ ก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะท่านคบคนไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะจนหรือรวย จะตกทุกข์ได้ยาก ก็คบหาเขาไปเสียทั้งหมด แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจในคำเตือน เพราะท่านดูที่คุณธรรมและความจริงใจเป็นหลัก ดังเช่นเพื่อนคนหนึ่งของท่านซึ่งเป็นคนจน ยังตั้งตัวไม่ได้ พวกญาติจึงห้ามปรามท่านเศรษฐีว่า ไม่ควรไปคบหาสมาคมด้วย เพราะเกรงว่าจะอาศัยความเป็นเพื่อนมาเที่ยวขอเงินบ่อยๆ

ท่านอนาถบิณฑิกะผู้มีน้ำใจงาม กลับมีความคิดเห็นว่า “ความมีน้ำใจมิตรไมตรีกับคนที่ต่ำกว่าก็ดี คนที่เสมอกันก็ดี หรือคนที่สูงกว่าก็ดี ควรมีทั้งนั้น ความเป็นเพื่อนไม่ได้วัดกันที่ฐานะหรือชาติตระกูล เมื่อรักที่จะเป็นมิตรสหายกันแล้ว ก็ไม่ควรจะเอาตำแหน่งฐานะหน้าที่ทางสังคมมาเป็นอุปสรรค ขอเพียงมีความรักและปรารถนาดีต่อกันด้วยความบริสุทธิ์ใจก็พอแล้ว” เมื่อจะไปต่างเมือง เพื่อทำการค้าขาย หรือไปเก็บเงินนอกเมือง ท่านเศรษฐีก็ตั้งเพื่อนคนนี้ให้เป็นผู้คอยดูแลทรัพย์สมบัติ

ฝ่ายเพื่อนของท่านเศรษฐี ครั้นได้รับความไว้วางใจเช่นนี้ ก็มีความตั้งใจเป็นพิเศษ ถึงกับไม่ยอมหลับนอน เที่ยวเดินตรวจดูความเรียบร้อยตลอดทั้งคืน แต่มีอยู่คืนหนึ่ง เขาสังเกตเห็นโจรกลุ่มหนึ่ง กำลังทำท่าจะเข้ามาปล้นบ้านท่านเศรษฐี จึงรีบบอกให้คนในบ้านรู้ตัว แล้วบอกให้ช่วยกันเป่าสังข์ ตีกลอง ทำให้เหมือนกับมีมหรสพโรงใหญ่ ทางด้านโจรเห็นว่าคนในบ้านเศรษฐีไม่ยอมหลับซะที เมื่อใกล้สว่างก็ทิ้งอาวุธทิ้งอุปกรณ์แล้วหนีไป

เมื่อท่านอนาถบิณฑิกะกลับมาจากค้าขายและทราบเรื่องเข้า จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระบรมศาสดาทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า “คฤหบดี คำว่าเพื่อนไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย เขาคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้าหากสามารถรักษาคุณธรรมน้ำมิตรเอาไว้ได้ ก็คู่ควรที่จะเป็นเพื่อนของท่านตลอดไป ธรรมดามิตรที่เสมอกับตนก็ดี ที่ต่ำกว่าตนก็ดี หรือที่ยิ่งกว่าตนก็ดี ควรคบเอาไว้ เพราะว่ามิตรเหล่านั้น ย่อมช่วยแบ่งเบาภาระที่มาถึงเราได้ทั้งนั้น บัดนี้ท่านอาศัยมิตร จึงเป็นเจ้าของทรัพย์ได้สืบต่อไป ส่วนในอดีต เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ ก็ได้อาศัยมิตร จึงได้เป็นเจ้าของวิมาน ว่าแล้วก็ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า

เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดาที่กอหญ้าคา ในพระราชอุทยาน ในราชอุทยานนี้มีต้นมงคลพฤกษ์ อยู่ข้างมงคลศิลา มีลำต้นตั้งตรง มีปริมณฑลแผ่กิ่งก้านสมบูรณ์ คนในราชสำนักจึงตั้งชื่อใหม่ให้ว่า ต้นสมุขกะ ต่อมามีเทวราชผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่งมาบังเกิดที่ต้นไม้นี้ และได้คบหากันเป็นเพื่อนสนิทกับรุกขเทวาโพธิสัตว์

เมื่อพระราชาต้องการไม้แก่นเพื่อทำเสามงคลของปราสาทแทนเสาต้นเดิมที่ได้ผุพังไป จึงให้ช่างไม้เสาะหาต้นไม้ที่เหมาะสมจนทั่วทั้งเมืองแล้วก็ยังไม่พบ เลยให้เข้าไปสำรวจดูในพระราชอุทยาน พวกช่างไม้ก็ได้เห็นต้นไม้มงคลต้นนั้น จึงกลับไปกราบทูลขออนุญาตเมื่อพระราชาทรงเห็นว่าไม่มีต้นไม้ต้นอื่นแล้ว จึงทรงอนุญาต แล้วค่อยหาต้นไม้มงคลต้นอื่นมาปลูกแทน

พวกช่างไม้ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็บวงสรวงด้วยเครื่องพลีกรรม เพื่อเป็นการบอกให้รุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ได้รับทราบ จะได้อพยพไปอยู่ที่อื่น ฝ่ายรุกขเทวดาเจ้าของวิมาน เมื่อรู้ว่า วิมานของตนจะต้องพังพินาศแน่แล้ว ก็นั่งกอดลูกน้อยรํ่าไห้ เพราะไม่มีต้นไม้ต้นอื่นที่จะไปอาศัยอยู่ ฝ่ายหมู่รุกขเทวาที่คุ้นเคยกัน ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ จึงพากันนั่งร้องไห้เพราะความสงสาร

เมื่อรุกขเทวาโพธิสัตว์เห็นว่า รุกขเทวา อากาสเทวา และภุมมเทวาที่มีวิมานอยู่ใกล้เคียงกันนั้น ไม่มีใครสามารถช่วยได้ ตนเองแม้จะเป็นเทวดาที่มีวิมานเล็กกว่า แต่ก็รู้ว่าตนสามารถแก้ไขสถานการณ์อันเลวร้ายให้กับรุกขเทวาผู้มีศักดิ์ใหญ่นี้ได้ จึงปลอบรุกขเทวดาที่มาชุมนุมกันว่า “ท่านทั้งหลาย อย่ามัวเสียใจไปเลย ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือพวกท่านเอง”

รุ่งขึ้น รุกขเทวาโพธิสัตว์ก็จำแลงเป็นกิ้งก่าตัวใหญ่ วิ่งตัดหน้าพวกช่างไม้ หายเข้าไปที่โคนต้นไม้มงคล แล้วไปนอนผงกหัวให้พวกช่างไม้ได้เห็น เพื่อต้องการจะลวงว่า ตนได้ไต่ไปตามโพรง แล้วออกไปนอนอยู่บนยอดไม้ เมื่อหัวหน้าช่างไม้เห็นเช่นนั้นก็ตำหนิว่า “ต้นไม้นี้มีโพรงอยู่ข้างใน เมื่อวานไม่ทันตรวจดูให้ดีหลงทำพลีกรรมเสียใหญ่โต ถ้าหากตัดไป ก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไร” ว่าแล้วก็พากันเดินจากไป

รุกขเทวดาดีใจมากที่ต้นไม้ซึ่งเป็นวิมานของตนไม่ถูกตัด จึงขอบคุณพระโพธิสัตว์ท่ามกลางเทวสมาคมว่า “ดูก่อนทวยเทพ ผู้เจริญทั้งหลาย ชาวเราถึงจะเป็นเทวดามเหศักดิ์ ก็มิได้รู้อุบายนี้ เพราะไร้ปัญญา ส่วนเทวดาหญ้าคาผู้มีศักดิ์น้อย กลับทำให้เราได้เป็นเจ้าของวิมานเหมือนเดิม ธรรมดามิตรไม่ควรเลือกว่าเท่าเทียมกัน ยิ่งกว่า หรือต่ำกว่าตน เพราะชื่อว่ามิตรควรคบไว้ทั้งนั้น มิตรแท้สามารถบำบัดทุกข์ที่เกิดขึ้น ให้กลับมีความสุขดังเดิมได้ บุคคลผู้เสมอกัน ประเสริฐกว่ากัน หรือเลวกว่ากัน ก็ควรคบเอาไว้ เพราะมิตรเหล่านั้น เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้น ก็พึงทำประโยชน์อันอุดมให้ได้ ดูอย่างเราผู้มีศักดิ์ใหญ่ในเขตนี้ มีเทวดาผู้มีศักดิ์น้อยซึ่งเกิดที่กอหญ้าคา คบหากันฉันมิตร จึงทำให้สามารถพิชิตปัญหาต่างๆ ได้”

นี่ก็เป็นตัวอย่างของการคบมิตรสหายที่มีความจริงใจต่อกัน ซึ่งจะไม่นำความจนความรวย หรือยศถาบรรดาศักดิ์มาเป็นช่องว่าง การคบหากันนั้น ขอเพียงมีน้ำใสใจจริงต่อกัน เรื่องชนชั้นวรรณะ หาใช่อุปสรรคในการคบหากันไม่ บางครั้งความสำเร็จที่เราได้มา แม้จะยิ่งใหญ่สักปานใด หากขาดบริวารเพื่อนรอบกายที่คอยสนับสนุนและชื่นชมยินดีแล้ว ความสำเร็จเหล่านั้นก็แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นคบหามิตรสหายที่ดีๆ มีศีลมีธรรม คบหากัลยาณมิตร แล้วชีวิตของเราจะได้เจริญรุ่งเรืองทั้งทั้งทางโลกและทางธรรม ยิ่งๆ ขึ้นไปกันทุกคน