วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ชีวิตดุจไม้ใกล้ฝั่ง

ยามใดที่บุคคลทั้งหลายละเลยการฟังธรรม ยามนั้นเขาย่อมเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสกับอมตธรรมอันทรงคุณค่า ทุกวันนี้มนุษย์ยังสับสนอยู่ ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม หากจะมีความสุขบ้าง ก็เพียงเล็กน้อยหรือชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เหมือนหลับแล้วฝันไป ครั้นตื่นขึ้นมาก็ยังพบกับความทุกข์อยู่เหมือนเดิม ชีวิตจึงเหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ ยากจะสลัดออกได้ ต่อเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตได้อย่างแท้จริงกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในภัทเทกรัตตสูตรว่า

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺญา มรณํ สุเว

น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา

ความเพียรควรทำในวันนี้ ใครเลยจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันต่อไป เพราะการผัดเพี้ยนกับพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มี”

ปัจจุบันมนุษย์น้อยคนนักที่จะนึกถึงความตาย คนส่วนมากจะคิดแต่เรื่องการทำมาหากิน คิดว่าวันนี้ หรือวันข้างหน้าจะแสวงหาทรัพย์มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำให้ประมาทในชีวิต ละเลยต่อการสร้างบุญบารมีอันเป็นงานหลัก งานที่แท้จริงของชีวิต การแสวงหาทรัพย์ภายนอกนั้นเป็นเพียงงานรอง เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ เพื่อจะได้ทำงานหลักต่อไปเท่านั้น

การมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดี เราจะได้ไม่ประมาท เพราะในที่สุดแล้ว ล้วนต่างต้องตายกันหมดทุกคน หากมีสติระลึกอยู่เสมอว่า ชีวิตเราดุจไม้ใกล้ฝั่ง ไม่รู้ว่าจะล้มลงในวันใด ดังนั้นเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ จึงควรเร่งสร้างความดี ทำงานไปด้วย สร้างบุญไปด้วย ชีวิตจะได้ปลอดภัย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจรู้ได้ว่า เราจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวแค่ไหน ความตาย เป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก ดีที่สุดคือเราควรรีบทำความดีตั้งแต่วันนี้

*มก. พ่อค้ามีทรัพย์มาก เล่ม ๔๓/๑๓๒

*ในสมัยพุทธกาล มีพ่อค้าท่านหนึ่ง มีอาชีพค้าขายผ้าหลากหลายชนิดด้วยกัน วันหนึ่ง ขณะที่บรรทุกผ้าเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากเมืองพาราณสีไปยังเมืองสาวัตถี เพื่อทำการค้าตามปกติ ครั้นเดินทางมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง จึงหยุดที่ริมฝั่ง สั่งให้ลูกน้องพักเกวียน คืนนั้นเกิดฝนตกหนัก จนกระทั่งน้ำล้นตลิ่ง พ่อค้าจึงคิดว่า “เราเองก็เดินทางมาไกล ถ้าเดินทางต่อก็จะเสียเวลา ควรทำการค้าที่นี่ให้แล้วเสร็จตลอดทั้งฤดูฝน ฤดูร้อน และฤดูหนาว”

ขณะเดียวกัน พระบรมศาสดาได้เสด็จผ่านมาพอดี เมื่อทอดพระเนตเห็นพ่อค้าท่านนี้แล้ว ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงทูลถามถึงเหตุนั้น พระศาสดาตรัสว่า “อานนท์ เธอเห็นพ่อค้าผู้มีทรัพย์คนนั้นไหม” พระอานนท์ทูลตอบว่า “เห็นพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า “พ่อค้าไม่รู้ว่า อันตรายถึงชีวิตจะเกิดขึ้นกับตน จึงคิดที่จะอยู่ที่นี่ตลอดปี เพื่อทำการค้าขาย” พระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรายถึงชีวิตจะเกิดขึ้นกับเขาหรือ พระเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ใช่แล้ว อานนท์ พ่อค้านี้จะมีชีวิตอยู่อีกเพียงเจ็ดวันเท่านั้น”

พระอานนท์จึงทูลขออนุญาตเพื่อไปบอกพ่อค้านั้น พ่อค้าได้ถวายอาหารแด่พระเถระ พระอานนท์จึงถือโอกาสสนทนากับพ่อค้าโดยถามว่า “ท่านจะอยู่ที่นี่นานไหม” พ่อค้าตอบว่า “กระผมเดินทางมาไกล ถ้าจะเดินทางต่อไปอีก ก็กลัวจะเสียงานเสียเวลา จึงตั้งใจจะขายสินค้าอยู่ที่นี่ตลอดฤดูกาล” พระอานนท์จึงเตือนว่า “อุบาสก อันตรายของชีวิตรู้ได้ยาก ทำไมท่านมัวประมาทในชีวิตเล่า พระบรมศาสดาตรัสบอกว่า ท่านจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น”

พ่อค้าพอได้ฟังดังนั้น ก็ตกใจและสลดใจมาก แต่ก็มีสติ จึงตั้งใจที่จะใช้เวลาที่เหลือน้อยนิดนี้สร้างความดีให้เต็มที่ เพราะชีวิตของตนเป็นดุจไม้ใกล้ฝั่ง จากนั้น ก็ถวายสังฆทานมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระศาสดาได้ประทานโอวาทว่า “อุบาสก ธรรมดาบัณฑิตไม่ควรประมาท อย่าคิดว่าเราจะอยู่ที่นี่ ประกอบการงานตลอดฤดูทั้ง ๓ ควรคิดถึงความตายบ้าง” ขณะที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องความไม่ประมาทในชีวิตอยู่นั้น พ่อค้าก็ได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้ทำใจให้หยุดให้นิ่งตามไปด้วย พอจบพระธรรมเทศนา พ่อค้าก็มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบันทันที

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับ พ่อค้านั้นก็ได้เดินตามไปส่งทันทีที่พระพุทธองค์และหมู่ภิกษุสงฆ์กลับมาถึงที่พัก เขาก็เกิดปวดศีรษะขึ้นมาอย่างกะทันหัน จึงนอนพัก และสิ้นชีวิตลงในวันนั้นนั่นเอง ด้วยอานิสงส์แห่งบุญที่ได้ตั้งใจทำในช่วงบั้นปลายชีวิตตลอด ๗ วัน ประกอบกับมีดวงตาเห็นธรรม จึงได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

เราจะเห็นว่า ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นดุจไม้ใกล้ฝั่ง ชีวิตเราใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ จะกำหนดวัน เวลาและสถานไม่ได้ เหมือนต้นไม้ริมตลิ่ง ที่ถูกกระแสน้ำเซาะให้พังลงไป ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน ย่อมถูกกระแสแห่งความชรา ความเจ็บ ความตายทำให้เสื่อมและดับไปได้ทุกเมื่อ บุคคลใดไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นตักเตือนตัวเองอยู่เสมอ รีบเร่งทำความเพียร สั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ แม้อันตรายแห่งชีวิตจะเกิดขึ้น ก็ไม่เกรงกลัวต่อมรณภัยนั้นเลย

นอกจากนี้เราควรพิจารณาว่า สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อีกทั้งยังต้องหมั่นพิจารณาบ่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ลืม ไม่หลงใหลเพลิดเพลิน หมกมุ่นพัวพันอยู่กับสิ่งเหล่านี้ อันจะเป็นเหตุให้เราเหิ่นห่างจากการเข้าถึงพระธรรมกาย ยิ่งห่างจากพระธรรมกาย ซึ่งเป็นต้นแหล่งกำเนิดของความสุขอันเป็นอมตะ ความทุกข์จะยิ่งได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาสู่กายและใจของเรา

ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เราก็จะต้องพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่ร่างกายของเราก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นจุดเล็กๆ เจริญเติบโตด้วยอาหารของมารดา จนกระทั่งลืมตามาดูโลก แล้วก็เจริญเติบโตเรื่อยมา ไม่มีคงที่เลย เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตามลำดับสู่วัยหนุ่มวัยสาว วัยกลางคน วัยชรา จนกระทั่งสู่เชิงตะกอนในที่สุด

เพราะฉะนั้น ร่างกายของเราจึงเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย เหมือนบ้านเรือนที่อาศัยกันอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดมันก็ต้องผุพังลง ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดได้นั้น จะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดความสุขตลอดกาล คือเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตานั่นเอง

พระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์แล้วว่า พระธรรมกายนั่นแหละ เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง การที่จะเข้าถึงสรณะนี้จะต้องอาศัย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ คือเอาร่างกายของเรานี้แหละ ลงมือฝึกฝนปฏิบัติ รู้จักพึ่งตัวเอง ทำความเพียรโดยการฝึกใจหยุดใจนิ่ง ไม่ใช่ไปสวดมนต์อ้อนวอนจุดธูปบูชา เพื่อจะให้เข้าถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึก อย่างนั้นมันเข้าถึงไม่ได้ ต้องอาศัยตัวของเราเท่านั้น

เราจะต้องมีความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่าไม่ประมาทในชีวิต เพียรทำใจให้หยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ หยุดโดยไม่ต้องยั้งหยุดอย่างไม่ถอนถอย หยุดตลอดเวลาทุกอนุวินาที ทำใจหยุดอย่างนี้ แม้พญามัจจุราชก็จะย่อท้อ จะมองไม่เห็นผู้ที่มีใจหยุดสนิทอย่างแท้จริง ดังนั้น ใจหยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้ทุกท่านตระหนักเสมอว่า สิ่งที่เราจะสูญเสียไปไม่ได้อีกแล้ว คือ เวลา เพราะเวลาที่ผ่านไปนั้น ได้ดึงเอาความแข็งแรง ความสดชื่นของร่างกายเราไปด้วย เราควรสงวนวันเวลาสำหรับชีวิตของเราไว้เพื่อการประพฤติธรรม ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ ให้คิดกันอย่างนี้ทุกๆ วัน

กัลยาณมิตรผู้ให้ชีวิตใหม่

มิตรแท้คือกัลยาณมิตรผู้แนะประโยชน์แก่เรา รองจากพ่อแม่แล้วถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเรามาก ในการจะคบใครเป็นมิตรจะต้องพิจารณาดูให้รอบคอบโดยดูที่นิสัยและคุณธรรมเป็นหลัก ถ้ามีความประพฤติดีมีคุณธรรมก็ควรจะคบหาสมาคมด้วย และมิตรแท้ที่ดีที่สุดก็คือพระธรรมกายภายในตัวของเรานี่เอง ท่านจะเป็นที่ปรึกษาเป็นที่พึ่งของเราได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ฉะนั้น จะต้องปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้

มีวาระธรรมที่ปรากฏในสุพรหมสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่า

นาญฺญตฺร โพชฺฌงฺค ตปสา นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา

นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ

นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากการปล่อยวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย”

ไม่ว่าจะเป็นผู้ครองเรือนหรือเป็นพระภิกษุสามเณร การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอย่างมีหลักวิชา เหมือนการที่เราอยากเรียนเก่งๆ สอบได้คะแนนดีๆ เราก็ต้องตั้งใจเรียน ขยันดูหนังสือ หมั่นสอบถามครูอาจารย์ถึงวิชาความรู้ที่ยังไม่เข้าใจ การจะบรรลุธรรมไปตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็เช่นกัน จะต้องใช้ปัญญา มีความเพียรสำรวมระวังไม่ให้ใจไปกระทบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา และสุดท้ายจะต้องรู้จักปล่อยวางไม่ยึดติดในคนสัตว์สิ่งของในขณะปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา นี้คือหลักวิชาที่จะทำให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวของเรา ยิ่งถ้าปรารถนาความสำเร็จที่สูงส่งและยิ่งใหญ่เพียงใด ยิ่งต้องทุ่มเทมากขึ้นเพียงนั้น

ความรักกันฉันสามีภรรยาฉันพี่ฉันน้อง หรือความรักของพ่อแม่ที่มีให้ต่อลูก ถึงแม้จะเป็นรักที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นความรักโดยปกติของสรรพสัตว์ทั่วไป เมื่อใดที่พลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก น้อยคนจะสามารถยอมรับมันได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความเศร้าโศกเสียใจร่ำพิไรรำพัน ถ้าขาดความรู้เรื่องความรักที่ถูกต้อง

*มก. คิริมานันทเถรคาถา เล่ม ๕๒/๘๑

*ในอดีตกาลมีชายคนหนึ่งเป็นหนุ่มที่มีอารมณ์ดี เป็นที่รักของเพื่อนบ้าน และหนุ่มคนนี้ก็ชอบเข้าวัดทำบุญ วันปกติถือศีล ๕ วันพระถือศีล ๘ ช่วงเข้าพรรษาก็รักษาอุโบสถศีลทั้งพรรษา เขามีอัธยาศัยชอบการสั่งสมบุญ โดยเฉพาะภพชาติใดที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ก็ยิ่งขวนขวายสร้างบุญสร้างบารมีเป็นพิเศษ เมื่อเขาได้ละโลกไปแต่ละชาติก็ได้ไปบังเกิดยังสุคติโลกสวรรค์

ในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธ เขาก็ได้มาเกิดในตระกูลที่มีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง เมื่อโตเป็นหนุ่มก็ได้แต่งงานครองชีวิตตามรูปแบบการใช้ชีวิตของบรรพบุรุษ อยู่ต่อมา เหตุการณ์ที่เป็นจุดหักเหของชีวิตก็ได้เกิดขึ้น คือพ่อแม่พี่ชายภรรยาและลูกๆ ได้มาตายจากเขาไปในเวลาที่ไรเรี่ยกัน จากชายหนุ่มที่มีบุคลิกลักษณะดี ต้องกลับกลาย เป็นคนละคนเพราะความเศร้าโศกเสียใจที่ต้องสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักไป เขากินไม่ได้นอนไม่หลับทั้งตัวก็ผอมเหลืองสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น จิตใจเหม่อลอยไม่เป็นตัวของตัวเอง เขาได้ออกจากบ้านไปอยู่ในป่าอาศัยหลับนอนอยู่ตามโคนไม้ มีผลไม้ประทังชีวิตไปวันๆ

แต่ด้วยบุญเดิมที่เขาเป็นผู้ที่รักในการสร้างบุญบารมี ทำให้เขาได้เข้าไปในข่ายพระญาณของพระสุเมธพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงมีพระประสงค์จะสงเคราะห์เขาเพราะเขามีบุญพอที่จะแนะนำได้ จึงเสด็จไปในป่าที่เขาอยู่ เมื่อได้เห็นพระมหามุนีเสด็จเข้ามาใกล้ ก็เกิดความปีติปลาบปลื้มใจ ความทุกข์โศกก็ได้มลายหายสูญไปกลับได้สติทันทีทันใด เหมือนความมืดที่ถูกตะวันส่องแสงขจัดให้หายไป เขาได้เอาใบไม้ปูทำเป็นที่ประทับนั่งถวายแด่พระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ประทับนั่งแล้วก็ทรงแสดงธรรม เพื่อถอนลูกศรคือความเศร้าโศกเสียใจที่ปักอยู่ในใจของเขามาเป็นเวลานาน ด้วยพระสุรเสียงที่กังวานไพเราะว่า

“ผู้ที่ตายเหล่านั้นไม่มีใครเชิญให้มา ก็มาจากปรโลกกันเอง ไม่มีใครอนุญาตให้ไป ก็ไปจากมนุษยโลกกันเอง เขาเหล่านั้นมาแล้วฉันใด ก็ไปฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขาเหล่านั้น สัตว์มีเท้า เมื่อฝนตกลงมาก็เข้าไปอาศัยในศาลา เมื่อฝนหยุดตกแล้ว ต่างก็ไปตามปรารถนาฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไม ถึงการตายของท่านเหล่านั้น แขกผู้จรไปมาเป็นผู้สั่นหวั่นไหวฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขา งูละคราบเก่าแล้ว ย่อมไปสู่กายเดิมฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขาเหล่านั้น”

ชายหนุ่มเมื่อได้ฟังธรรมและตรองตามไปด้วย ก็รู้ถึงความเป็นจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องประสบ เมื่อรู้ถึงกฎของชีวิตที่มีพบก็ต้องมีพราก เขาก็สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ และได้ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วได้ประนมอัญชลีขึ้นเหนือเศียรเกล้า ระลึกนึกถึงพระพุทธคุณอันเลิศ สรรเสริญพระพุทธองค์ผู้เป็นนายกของโลกว่า

“ข้าแต่พระมุนีมหาวีรเจ้า พระองค์เป็นสัพพัญญู เป็นนายกของโลก ทรงข้ามพ้นแล้วยังทรงรื้อขนสรรพสัตว์ด้วยพระพุทธบารมีอีก ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีจักษุ พระองค์ตัดความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว ได้ทรงยังมรรคให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์”

เมื่อเขาออกมาจากป่า ก็หมั่นสร้างบุญบารมีเหมือนเดิม พอละโลกก็ได้ไปบังเกิดยังสุคติโลกสวรรค์ ท่องเที่ยวอยู่แต่ในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น พอมาถึงยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เขาก็มาเกิดเป็นลูกชายปุโรหิตของพระเจ้าพิมพิสารในเมืองราชคฤห์ มีชื่อว่าคิริมานันทะ พอรู้เดียงสาแล้ว ก็ได้เห็นอานุภาพของพระพุทธองค์ในการเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ก็เกิดความศรัทธา จึงออกบวชตามพระพุทธองค์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราชทรงทราบว่าลูกชายปุโรหิตออกบวชจึงปวารณาเป็นโยมอุปัฏฐาก และตรัสบอกพระบวชใหม่ว่าจะสร้างกุฏิถวาย แต่พระราชาก็ทรงลืมเพราะมีพระราชกรณียกิจมาก ท่านเลยไม่มีที่พักต้องจำวัดกลางแจ้งตามโคนต้นไม้ เหล่าเทวดาที่อยู่อาศัยอาณาบริเวณนั้นเมื่อเห็นพระเถระพักอยู่กลางแจ้งจึงห้ามฝนไม่ให้ตกเพราะกลัวพระเถระจะเปียก

พระราชาทรงมีพระปรีชารู้ว่าฝนไม่ตก ก็นึกขึ้นได้ว่าพระเถระยังไม่มีกุฏิที่พัก จึงทรงให้ช่างสร้างกุฏิถวาย จากนั้นฝนก็ตกตามธรรมชาติ พระเถระอยู่ในกุฏิได้ทำความเพียรนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอย่างสมํ่าเสมอ ไม่นานนักท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะได้เสนาสนะเป็นสัปปายะ ครั้นพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ขณะที่ฝนตกกระทบหลังคากุฏิประหนึ่งส่งเสียงร่าเริงยินดีอยู่นั้น ท่านก็ได้กล่าวขึ้นว่า

“ฝนตกส่งเสียงไพเราะเหมือนเสียงเพลง กุฏิของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด เราเป็นผู้สงบอยู่ ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน เราเป็นผู้ปราศจากราคะโทสะและโมหะ ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน”

นี้ก็เป็นประวัติชีวิตอันงดงามของพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งเส้นทางชีวิตที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้ก้าวผ่านมานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกัลยาณมิตรคอยประคับประคอง ดังเช่นอดีตชาติของพระคิริมานันทะเถระที่ได้ชีวิตใหม่จากการฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหากในชาติหนึ่งไม่มีพระสุเมธพุทธเจ้ามาทรงเป็นเนื้อนาบุญให้ ชีวิตของท่านก็ยากที่จะมีวันนี้ได้ ซึ่งกัลยาณมิตรที่ดีที่สุดของทุกคนก็มีอยู่ภายในตัวทุกคนแล้ว คือพระธรรมกายภายในตัวของเรานั่นเอง เราจะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้ โดยพยายามฝึกใจหยุดนิ่งเรื่อยไป ทำทุกๆ วันอย่าได้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว ให้ดูตัวอย่างผู้ที่ได้บรรลุธรรมไปแล้ว ทุกท่านล้วนมีความเพียรที่สมํ่าเสมอ ฉะนั้น ให้พวกเราขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติธรรมกัน

วันอังคารที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

อยากเป็นที่รัก ต้องรักการให้

ทานบารมีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นบารมีเบื้องต้นที่จะส่งผลให้เราสมบูรณ์พร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ สามารถสร้างมหาทานบารมีได้อย่างต่อเนื่อง เอาบุญมาต่อบุญ สมบัติต่อสมบัติและยังสามารถสร้างบารมีอย่างอื่นได้อย่างสะดวกสบาย เช่น เมื่ออานิสงส์จากทานบารมีส่งผล จะทำให้ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง ไม่ต้องเสียเวลากับการแสวงหาทรัพย์ เพื่อการทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา สามารถทำได้ดังใจปรารถนา โดยไม่ต้องมีห่วงกังวลกับเรื่องการแสวงหาทรัพย์มาคอยเหนี่ยวรั้งจิตใจ และเข้าถึงธรรมได้อย่างรวดเร็ว เพราะการตัดใจสละของรักของหวงได้อย่างง่ายๆ ทำให้สามารถปลดปล่อยวางอารมณ์ได้ง่ายขึ้นด้วย ทำให้ใจปลอดโปร่งใสสว่างเหมาะต่อการทำใจหยุดใจนิ่ง ดังนั้น เมื่อจะทำทานทุกครั้งจะต้องรักษาใจให้ผ่องใส ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ใจใส คือ การหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ฉะนั้น ควรทำใจหยุดใจนิ่งเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร ความว่า

บุรุษฝังขุมทรัพย์ไว้ในน้ำลึก ด้วยคิดว่า เมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง เพื่อช่วยตนให้พ้นจากโจรภัยบ้าง เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง ในคราวทุพภิกขภัยบ้าง ในคราวคับขันบ้าง ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ในโลก เพื่อประโยชน์นี้แล

ขุมทรัพย์นั้น ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ในกาลทุกเมื่อเสียทีเดียวไม่ เพราะขุมทรัพย์นั้นเคลื่อนจากที่ไปเสียบ้าง จดจำไม่ได้เสียบ้าง ถูกพวกนาคเคลื่อนย้ายเสียบ้าง ถูกยักษ์เคลื่อนย้ายไปเสียบ้าง ถูกทายาทอันไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปเสียบ้าง หรือในเวลาที่สิ้นบุญ ขุมทรัพย์ทั้งหมด หายสาบสูญไปเสียบ้างก็มี

ขุมทรัพย์ คือ บุญของผู้ใด เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วยทาน ศีล ความสำรวม ความฝึกตน ฝังไว้ดีแล้วในเจดีย์บ้าง ในสงฆ์บ้าง ในบุคคลบ้าง ในแขกบ้าง ในมารดาบ้าง ในบิดาบ้าง หรือในพี่ชายพี่สาวบ้าง ขุมทรัพย์นั้น ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว ใครๆ ไม่อาจเอาไปได้ เป็นของที่จะติดตามตนไปได้ บรรดาโภคะทั้งหลาย ที่เขาจำต้องละทิ้ง มีแต่ขุมทรัพย์ คือ บุญเท่านั้นที่เขาจะนำไปได้”

ขุมทรัพย์ในที่นี้ พระพุทธองค์ทรงหมายเอาบุญกุศล คือ เมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว ต้องทำบุญใหม่เพิ่มทุกครั้ง จะทำให้ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ทำให้มีขุมทรัพย์ คือ บุญติดตัวกันไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อได้นำทรัพย์ฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา คือ การทำบุญกับเนื้อนาบุญ จะเป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐที่สามารถติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติได้ ไม่ว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือสัตว์เดรัจฉาน บุญนั้นยังตามเกื้อหนุนให้มีความสุขตามอัตภาพที่พึงมีพึงได้ เราอย่าได้เห็นเพียงความสะดวกสบายในชาตินี้และเอาทรัพย์ที่ได้มาไปใช้ทำอย่างอื่นหมด ต้องรู้จักนำออกให้ทานสร้างบุญใหม่ เพราะบุญเก่าที่เราใช้ไปทุกๆ วันมีสิทธิ์หมดได้

การให้ไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงแต่ฆราวาสเท่านั้น แม้เป็นนักบวชก็ต้องทำเหมือนกัน เพราะการทำทาน คือ หนทางสวรรค์และเป็นสิ่งจรรโลงใจที่จะทำให้เราปฏิบัติธรรมและเข้าถึงธรรมได้อย่างสะดวกสบาย จะเป็นประเภทสุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ปฏิบัติสะดวกบรรลุได้เร็ว ดังเช่นเรื่องราวของพระวิชิตเสนเถระ

ในอดีตชาติ พระวิชิตเสนเถระเป็นผู้ที่ชอบสร้างบุญบารมี รักการทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิปฏิบัติธรรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เมื่อทำบุญคราใด จะอธิษฐานจิตให้ได้ทำบุญในบุญเขต คือ ในพระพุทธศาสนาเสมอ แรงอธิษฐานนั้นก็เป็นจริงเรื่อยมา ทำให้ท่านมีโอกาสสั่งสมบุญกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

*มก. วิชิตเสนเถรถาคา เล่ม ๕๒/๑๑๘

*ในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ท่านได้มาเกิดสร้างบารมีด้วย เมื่อโตเป็นหนุ่มได้เห็นการครองเรือนของเพื่อนบ้าน ที่ใช้ชีวิตด้วยความคับแค้น เกิดเบื่อหน่ายกับชีวิตที่ต้องคลุกคลีกับความเศร้าหมอง ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จึงตัดสินใจเข้าป่าบวชเป็นฤๅษี ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ทำแต่ความเพียรบำเพ็ญพรตปฏิบัติธรรมเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นนิสัยของบัณฑิตที่รักในการประพฤติพรหมจรรย์

วันหนึ่ง โอกาสทองของท่านฤๅษีมาถึง คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ได้เสด็จเหาะผ่านอาศรมของท่าน ทำให้ท่านฤๅษีได้เห็นพระพุทธองค์ ผู้ทรงรุ่งเรืองด้วยพระฉัพพรรณรังสีที่ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ขณะที่ดวงตาทอดทัสสนาพุทธลีลา ดวงใจก่อเกิดพลังความศรัทธาเลื่อมใสอันยิ่งใหญ่ ได้ยกมือทั้งสองขึ้นประคองอัญชลีเหนือเศียรเกล้า พร้อมกับนอบน้อมระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ จากนั้นได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “ขอพระพุทธองค์ ทรงโปรดอนุเคราะห์ข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์ปรารถนาจะถวายภิกษา ขอได้โปรดเมตตามารับภิกษาด้วยเถิด”

พระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของท่านฤๅษี จึงเสด็จลงมาประทับยืนอยู่หน้าอาศรมบทของฤๅษี ท่านฤๅษีเห็นเช่นนั้น ยิ่งเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเพิ่มขึ้นทับทวี รีบกุลีกุจอจัดแจงอาสนะที่ประทับถวายแด่พระพุทธองค์ น้อมผลไม้ที่รกฟ้ามีรสเลิศที่คัดสรรมาอย่างดีแล้วถวายแด่พระพุทธองค์ ด้วยผลบุญที่ได้ทำในครั้งนี้ ส่งผลให้ท่านฤๅษีเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสองภพภูมิเท่านั้น คือ ในเทวโลกและมนุษยโลก ไม่มีโอกาสพลัดตกในอบายภูมิเลย

ต่อมาในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้ถือกำเนิดในตระกูลนายหัตถาจารย์ ซึ่งเป็นตระกูลควาญช้างประจำแคว้นโกศล มีชื่อว่าวิชิตเสนะ เมื่อท่านโตเป็นหนุ่ม ได้เห็นนายหัตถาจารย์ผู้เป็นลุง ๒ ท่าน ออกบวชในบวรพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วทั้งสองท่านตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมจนบรรลุเป็นพระอรหันต์

วิชิตเสนะหนุ่มน้อยจึงอยากใช้ชีวิตอย่างหลวงลุงบ้าง ไม่อยากครองเรือน แม้ว่าตนจะเรียนศิลปะวิทยาของนายควาญช้างจนจบแล้วก็ตาม แต่อยากจะเจริญรอยตามหลวงลุง ซึ่งเป็นเพราะนิสัยที่เคยออกบวชมาข้ามชาติ ทำให้ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์ ยิ่งเมื่อได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงในวาระต่างๆ ทำให้ยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธามากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจออกบวชทันที โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงลุงทั้งสอง

เมื่อบวชแล้ว ท่านรักในการฝึกฝนอบรมตนเอง ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตรที่งดงาม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ว่าหลวงลุงทั้งสองจะแนะนำสั่งสอนอะไร ท่านก็รับฟังด้วยความเคารพและนำไปปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อแม้เงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ความที่ท่านเป็นพระที่ว่าง่าย ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองได้รวดเร็ว บวชได้ไม่กี่พรรษา กิเลสอาสวะที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ถูกขัดเกลาจนเบาบาง ผลการปฏิบัติธรรมจึงรุดหน้าเรื่อยไป จนในที่สุด ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา

การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งเป็นความปรารถนาที่สูงสุดของมวลมนุษยชาตินั้น ต้องเริ่มต้นจากก้าวแรกด้วยทานบารมีเสมอ ทานบารมีถือได้ว่าเป็นของสากลที่ทุกคนทำได้ และผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก ถ้าอยากเป็นที่รักของมนุษย์และเทวา ให้หมั่นทำทาน ยิ่งให้ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้กับตัวเอง ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น แต่อย่าลืมเป้าหมายหลัก คือ ทำทานเพื่อกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ ซึ่งมีอานิสงส์ตามมา คือ เมื่อลงมือนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม จะสามารถเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย ดังนั้น เวลาที่ผ่านไปในแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า ต้องรู้จักฝากฝังทรัพย์ไว้ในพุทธศาสนาด้วยการให้ทาน และสำรวมระวังในการรักษาศีล หมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่งอยู่ตลอดเวลา จะได้เป็นบุญนิธิ คือ ขุมทรัพย์ที่จะหนุนนำชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองและสว่างไสวในสังสารวัฏไปตลอดทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ไปสู่ที่สุดแห่งธรรม

ศาสตร์รู้ใจคน

ชาวโลกส่วนมากมักจะคิดว่าทรัพย์ บริวาร อำนาจ ความเป็นใหญ่ เครื่องประดับ สามีภรรยาและบุตรธิดาเป็นต้น จะทำให้มีความสุขแต่ก็ต้องผิดหวังกับสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง จึงต้องเปลี่ยนแปลงกันไปเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงทำให้ต้องมีการแสวงหาใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่ความสุขล้วนๆ และเป็นตัวตนที่แท้จริงซึ่งสิ่งนี้จะได้มาต้องหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะตรงนี้ เป็นศูนย์รวมของความสุขความบริสุทธิ์ เมื่อหยุดใจไว้ตรงนี้ได้ถูกส่วน ดวงธรรมภายในก็จะชัดใสสว่าง ซึ่งเป็นประดุจประทีปส่องนำทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่ปราศจากทุกข์มีแต่บรมสุขอย่างเดียวเท่านั้น การแสวงหาที่ถูกจุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีความมหัศจรรย์อย่างนี้ ดังนั้นให้ทุกท่านตั้งใจปฏิบัติธรรม หมั่นทำใจหยุดใจนิ่ง ทำใจให้สงบ แล้วจะพบทางสว่าง พบทางมรรคผลนิพพานกันทุกๆ คน

มีพระพุทธพจน์ใน ขัตติยาธิปปายสูตร ความว่า

ขตฺติยา โข พฺราหฺมณ โภคาธิปฺปายา ปญฺญูปวิจารา พลาธิฏฺฐานา ปฐวีอภินิเวสา อิสฺสริยปริโยสานา

ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดากษัตริย์ทั้งหลายย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในกำลังทหาร ต้องการครอบครองแผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นเป้าหมายสูงสุด”

พุทธพจน์บทนี้บ่งบอกให้เรารู้ว่า พระบรมครูของเรานั้นทรงรู้แจ้งโลก ทั้งเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต เรื่องที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันหรือเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้กระทั่งเรื่องนิพพานภพสามตลอดถึงโลกันต์ ก็ทรงรู้แจ้งหมด แต่ในฐานะที่เรายังต้องอาศัยอยู่ในสังคม จะต้องพบปะเจอะเจอกับผู้คนต่างๆ ทั้งระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง จึงจำเป็นจะต้องรู้จักศึกษาอัธยาศัยของผู้อื่นไว้ให้ดี แม้ว่าเราจะไม่รู้แจ้งอัธยาศัยเหล่าสัตว์เหมือนพระบรมศาสดา แต่ก็ให้เรา หมั่นศึกษาและฝึกสังเกตเอาไว้ เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ชนิดที่เรียกว่า เมื่อแรกพบก็ประทับใจ เมื่อจากไปก็ระลึกนึกถึง ดั่งคำสอนที่ว่า เมื่อจะไปเฝ้าพระราชา ไปหาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ไปหาตุลาการ แม้กระทั่งไปหาหญิงสาว อย่าได้ไปมือเปล่าต้องมีของฝากติดมือไปด้วย แล้วเราจะชนะใจเขาตั้งแต่แรกพบ สรุปก็คือให้ใช้สังคหวัตถุสี่เข้าหานั่นเอง

วันนี้หลวงพ่อมีเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาอัธยาศัยของมนุษย์ ที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วโลก แต่มีสอนอยู่เฉพาะในสถาบันพระพุทธศาสนาเท่านั้น ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคตรัสสอนเอาไว้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว มาเล่าสู่กันฟัง

*มก. ขัตติยาธิปปายสูตร เล่ม ๓๖/๖๘๗

*สมัยหนึ่ง ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว ก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จากนั้นก็ทูลถามปัญหาว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ กษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์ นิยม มั่นใจ ต้องการ และมีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพยากรณ์ว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดากษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในกำลังทหาร ต้องการครอบครองแผ่นดินมีความเป็นใหญ่เป็นเป้าหมายสูงสุด”

พอสิ้นกระแสพระดำรัส ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็อัศจรรย์ใจในคำพยากรณ์ที่ค้างคาใจมานาน บัดนี้ความสงสัยในปัญหานั้น ได้พลันหายไป และกลับได้ความรู้ใหม่ขึ้นมาแทน จึงได้ทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็พราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์ นิยม มั่นใจ ต้องการ และมีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด พระเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ บรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในมนต์ ต้องการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นเป้าหมายสูงสุด”

ชาณุสโสณิพราหมณ์ฟังแล้วก็ปิติใจในคำพยากรณ์เป็นอย่างมาก จึงทูลถามต่อว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ก็คฤหบดีทั้งหลาย ย่อมประสงค์ นิยม มั่นใจ ต้องการ และมีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด พระเจ้าข้า” พระพุทธองค์ทรงตอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาคฤหบดีทั้งหลาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะ ต้องการหน้าที่การงาน มีความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นเป้าหมายสูงสุด”

จากนั้นพราหมณ์ก็ทูลถามเรื่องสตรีว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์ นิยม มั่นใจ ต้องการ และมีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด พระเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธรรมดาสตรี ย่อมประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องแต่งตัว มั่นใจในบุตร ต้องการครอบครองสามีแต่เพียงผู้เดียว มีความเป็นใหญ่ในบ้านเป็นเป้าหมายสูงสุด”

พราหมณ์ทูลถามต่อว่า “แล้วพวกโจรล่ะพระเจ้าข้า ย่อมประสงค์ นิยม มั่นใจ ต้องการ และมีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดาโจรย่อมประสงค์ลักทรัพย์ของผู้อื่น นิยมที่ลับเร้น มั่นใจในศาสตราต้องการที่มืด ไม่ต้องการให้ผู้อื่นเห็นตนเป็นเป้าหมายสูงสุด”

ปัญหาข้อสุดท้ายพราหมณ์ได้ทูลถามเรื่องของสมณะว่า “แล้วสมณะทั้งหลายเล่า พวกท่านย่อมประสงค์ นิยม มั่นใจ ต้องการ และมีอะไรเป็นเป้าหมายสูงสุด พระเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์ขันติโสรัจจะ นิยมปัญญา มั่นใจในศีล ต้องการความไม่มีกังวล มีพระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด”

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพยากรณ์ปัญหาทั้งหกข้ออย่างชัดแจ้ง เหมือนหงายของที่ควํ่า เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง และส่องประทีปในที่มืด จนทำให้ชาณุสโสณิพราหมณ์ไม่สามารถเก็บความปลื้มปีติไว้ได้ ถึงกับต้องเปล่งอุทานว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ เรื่องไม่เคยมีได้มีแล้ว ท่านพระโคดมผู้เจริญ ย่อมทรงทราบ ความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ ความต้องการและเป้าหมายสูงสุด ของกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สตรี โจร แม้กระทั่งของสมณะ พระองค์ก็ทรงทราบ ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด”

จากคำพยากรณ์ทั้ง ๖ ข้อนี้ ทำให้เราได้รู้ถึงอัธยาศัยของบุคคลในแต่ละกลุ่มนี้แล้ว ซึ่งตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ ความต้องการ และเป้าหมายสูงสุด ทั้งที่เป็นของกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สตรี และของโจร ยังเป็นความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังแสวงหาความสุขจากโลกียทรัพย์ ติดอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ อันตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ยังเป็นทุกข์อยู่ในคุกคือภพสามอีก ยิ่งถ้าเป็นโจรที่ต้องไปลักขโมยไปปล้นจี้ทรัพย์ของผู้อื่น บางครั้งอาจต้องถึงกับฆ่าเจ้าทรัพย์ นับว่าเป็นการทำบาปอย่างมหันต์ อันจะส่งผลให้ต้องไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิอีกนานแสนนาน

แต่สำหรับความประสงค์ ความนิยม ความมั่นใจ ความต้องการ และเป้าหมายสูงสุดของสมณะในบวรพระพุทธศาสนาเป็นบทสรุปความรู้ของผู้ที่มีความรู้สมบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อการแสวงหาสิ่งที่ไม่ตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ทั้งในโลกนี้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะจากโลกนี้ไปแล้ว ก็เป็นที่พึ่งให้กับเราได้ จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้กับเราจนกว่าจะหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์เข้าสู่อายตนนิพพาน

ฉะนั้น ความรู้เรื่องความเป็นจริงของชีวิต เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องแสวงหา เพราะการเกิดของมนุษย์ทุกๆ คนนั้น ก็เพื่อแสวงบุญสร้างบารมี มุ่งกำจัดกิเลสอาสวะ เพื่อมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานและที่สุดแห่งธรรม จะได้เลิกการเวียนว่ายเกิด ไปเสวยสุขในอายตนนิพพานอันเป็นบรมสุขที่ไม่มีสุขอื่นใด จะสามารถเปรียบเทียบได้

วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

เห็นอริยสัจขจัดทุกข์

ตามธรรมดา เมื่อยังไม่รู้แจ้งเห็นแจ้งในอริยสัจ สรรพสัตว์ก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไม่รู้จบสิ้น เหมือนเมื่อยังมองไม่เห็นฝั่ง ผู้ที่ตกอยู่ในท้องทะเล ก็ย่อมว่ายวนอยู่ในห้วงทะเลนั้นโดยไม่มีจุดหมาย ชาวโลกทั้งหลายยังขาดเข็มทิศชีวิตที่จะนำพาตนไปสู่จุดหมายปลายทาง คืออายตนนิพพาน ต่อเมื่อได้ต้นทางคือดวงปฐมมรรค ด้วยการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จึงจะได้เข็มทิศชีวิตนำทางไปสู่อายตนนิพพาน ซึ่งเป็นที่ที่ปราศจากความทุกข์ มีแต่บรมสุขอย่างเดียว พวกเราทุกคนที่ปรารถนาเข็มทิศชีวิต ที่จะนำทางไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งกัน แล้วความสำเร็จก็จะบังเกิดกับเราทุกๆ คน

มีพระพุทธพจน์ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ความว่า

ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ , ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ, ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ, ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ

อริยสัจคือทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้ อริยสัจคือทุกขสมุทัย อันเราพึงละ อริยสัจคือทุกขนิโรธ อันเราพึงทำให้แจ้งอริยสัจคือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์อันเราพึงบำเพ็ญ”

*มก. ปฐมตถาคตสูตร เล่ม ๓๑/๔๒๐

*แม่บทหรือแก่นแห่งคำสอนที่สำคัญของพระพุทธศาสนาคืออริยสัจสี่ เป็นหลักธรรมที่เราควรศึกษาและประพฤติปฏิบัติกันให้ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย ที่ท่านหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ก็เพราะพิจารณาเห็นความจริงอันประเสริฐคืออริยสัจสี่นี่แหละ ซึ่งหลวงพ่อจะค่อยๆ อธิบาย ให้ลูกๆ ได้เข้าใจกันไปทีละข้อ โดยเริ่มตั้งแต่ข้อแรก คือ ทุกข์

ถ้าจะเปรียบทุกข์กับโรค ทุกข์ก็คือสภาพที่ป่วยเป็นโรค ทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่มีความทุกข์กันทั้งนั้น เหมือนกับคนป่วย ที่ไม่รู้ว่าป่วยจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ และจะรักษาให้หายได้อย่างไร ฉะนั้น เราจึงต้องมาศึกษากันให้เข้าใจ จะได้รู้ว่าที่เรามีทุกข์อยู่ทุกวันนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร แล้วจะได้รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นจากทุกข์กัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นพระราชามหากษัตริย์ หรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ตาม แม้ที่สุดเป็นพระภิกษุก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างแต่ว่ามากหรือน้อย และมีปัญญาพอที่จะแก้ไขหรือไม่เท่านั้นเอง

พระพุทธองค์ได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มี ๒ ลักษณะ ได้แก่ ทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ต้องเจ็บและต้องตาย พระองค์ทรงเห็นแจ้งแล้วด้วยพระพุทธญาณ และชี้ให้เราเห็นว่าการเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา พอจะคลอดก็ถูกความทุกข์บีบคั้น เพราะฉะนั้น เมื่อคลอดออกมาแล้ว สิ่งแรกที่เด็กทำคือร้องไห้จ้าจนสุดเสียง เพราะความเจ็บปวดและการเกิดนี่เองที่เป็นต้นเหตุ เป็นที่มาของความทุกข์อื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเลิกเกิดได้เมื่อไหร่ ก็เลิกทุกข์เมื่อนั้น

อย่างที่สองคือทุกข์จร เป็นทุกข์ที่เกิดจากใจที่เสื่อมคุณภาพ ไม่อาจอดทนต่อเหตุการณ์หรืออารมณ์ภายนอกที่มากระทบได้ ทุกข์จรนี้ ก็ได้แก่ ความโศกเศร้าเสียใจ ความกระวนกระวายใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความท้อแท้เบื่อหน่าย ความอาลัยอาวรณ์ ความขุ่นข้องหมองใจ เสียใจจากการประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก โศกเศร้าเมื่อพลัดพรากจากของรัก ความหม่นหมองจากการที่ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ในสิ่งนั้น แต่โดยสรุปเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้น ก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า ยึดติดอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของนั่นเอง พระพุทธองค์ทรงเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญโรค สามารถแยกแยะอาการของโรคให้เราดูได้อย่างละเอียดชัดเจนอย่างนี้

สมุทัย ก็คือเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย มนุษย์ทั่วไปหาสาเหตุของความทุกข์ไม่เจอ จึงโทษไปต่างๆ นานา เช่นว่า เป็นการลงโทษของพระเจ้าผู้สูงสุดบ้าง ของผีสางนางไม้บ้าง แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งว่า ที่เรามีทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ สาเหตุมาจากกิเลสที่อยู่ในใจ ได้แก่ตัณหาความทะยานอยาก อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง อยากให้คนยกย่องชื่นชม สรุปก็คืออยากได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และ อารมณ์ที่น่าพอใจ ที่ทำให้เราติดอยู่ในกามภพ ส่วนภวตัณหาก็นำไปสู่การติดอยู่ในรูปภพ และวิภวตัณหานำไปสู่การติดในอรูปภพ ความอยากเหล่านี้แหละ ที่ทำให้ติดอยู่ในภพทั้งสาม

นิโรธ คือความดับทุกข์ หมายถึงสภาพใจที่หมดกิเลสแล้วทำให้หมดตัณหาความทะยานอยาก เมื่อหมดอยากก็หมดทุกข์มีใจหยุดนิ่งสงบตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย มีแต่ความสุขล้วนๆ เนื่องจากมนุษย์ปฏิบัติไม่ถูกทาง จึงไม่ทราบว่าความดับทุกข์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก็ได้แต่สมมุติกันขึ้นมา เช่นว่าการได้ไปอยู่บนสวรรค์กับพระผู้สร้างจะทำให้หมดทุกข์ได้ เหมือนคนหิวข้าวแล้วก็สร้างมโนภาพว่า อีกหน่อยจะมีผู้วิเศษเอาข้าวมาให้ ก็พอจะปลอบใจตัวเองไปได้บ้าง แต่ความจริงนั้น แม้จะได้บังเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกก็ตาม ก็ยังต้องเป็นทุกข์อยู่ดี จะหมดทุกข์ได้อย่างแท้จริง ต้องหมดกิเลสเข้าสู่อายตนนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น

มรรค คือวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ผู้ที่นิยมนับถือเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มองเหตุแห่งทุกข์เหล่านี้ไม่ออก จึงเชื่อว่าเป็นการลงโทษของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงแสวงหาวิธีพ้นทุกข์ผิดทาง แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ชัดเจน แล้วก็ตรัสสอนว่า ที่เราเป็นทุกข์ก็เพราะมีตัณหา ซึ่งเปรียบเสมือนเชื้อโรคที่ทำให้โรคร้ายลุกลาม ถ้าต้องการหายจากโรค ก็ต้องกำจัดเชื้อโรคนั้นให้หมดไป พระองค์ทรงชี้แนะหนทางคือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเปรียบเสมือนยารักษาโรค เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่ง และหลุดพ้นจากเชื้อโรคคือกิเลส โดยอาศัยการฝึกจิตตามหลักพุทธวิธีนั่นเอง

เมื่อเราได้ฟังเรื่องอริยสัจสี่กันมาถึงตรงนี้แล้ว ก็พอจะรู้แล้วว่า ทุกข์มีอะไรบ้าง อะไรที่ทำให้เกิดทุกข์ เราได้รู้วิธีดับทุกข์ และมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์หรือการฆ่ากิเลสซึ่งเป็นเหมือนเชื้อโรคร้าย แต่นี่ยังไม่เรียกว่าเห็นอริยสัจสี่ เป็นแต่เพียงรู้จำอริยสัจสี่ได้เท่านั้น จะเห็นอริยสัจได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้วเท่านั้น

การเห็นอริยสัจสี่แปลกกว่าการเห็นอย่างอื่น คือเมื่อเห็นแล้วจะสามารถทำได้ด้วย เช่น เห็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ว่าเกิดจากตัณหา ก็จะเห็นว่าตัณหาควรละ และต้องอาศัยนิโรธเป็นตัวดับตัณหา นิโรธแปลว่าดับหรือหยุด คือหยุดจากความทะยานอยากในตัณหาทั้ง ๓ อย่างเหล่านั้น เมื่อใจหยุด มรรคจึงเกิด ปฐมมรรคที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นดวงกลมใสอยู่ภายใน นั่นแหละคือต้นทางไปสู่เส้นทางที่ไม่ต้องเกิด เพราะเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน

การเห็นอริยสัจสี่นี้ เมื่อเห็นข้อใดข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือก็จะเห็นไปตามลำดับ เช่น เมื่อเห็นทุกข์ ก็จะเห็นสมุทัย นิโรธ มรรค เห็นตลอดหมด เพราะไม่ใช่การเห็นด้วยตาหรือการนึกคิด แต่เป็นการเห็นด้วยญาณทัสนะของพระธรรมกาย ผู้ที่สามารถเห็นอริยสัจสี่ได้ คือพระอริยบุคคลและผู้ที่ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญในวิชชาธรรมกาย

เมื่อเราได้เข้าถึงพระธรรมกาย เห็นอริยสัจสี่ด้วยญาณทัสนะของพระธรรมกาย เราก็จะเข้าใจความจริงของชีวิตว่ามีแต่ทุกข์ ที่ว่าสุขนั้นแท้ที่จริงก็คือ ช่วงเวลาที่ความทุกข์ลดน้อยลงเท่านั้นเอง เราจะเข้าใจถึงคุณค่าของบุญกุศล เห็นโทษภัยของบาปอกุศล เป็นความเข้าใจในระดับลึกที่มีสัมมาทิฏฐิบริบูรณ์ นอกจากเห็นทุกข์แล้ว ยังรู้วิธีขจัดทุกข์ว่าต้องหยุดการทำบาปอกุศล และหยุดใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นที่เกิดของปฐมมรรค เมื่อมรรคเกิดขึ้นแล้ว ผลก็จะเกิดขึ้นตามมา กระทั่งได้บรรลุโสดาปัตติผลเรื่อยไปจนถึงอรหัตผล นี่คือเป้าหมายหลักของทุกชีวิต ที่ต้องมุ่งไปที่กายธรรมอรหัต ถึงกายธรรมอรหัตเมื่อไหร่ ก็หยุดการเวียนว่ายตายเกิดเมื่อนั้น


หมู่ญาติควรสงเคราะห์

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันออกไป บางคนมีฐานะดี ไม่รู้จักความยากลำบาก บางคนยากจนหาเช้ากินค่ำ บางครั้งหาทั้งวันยังไม่ค่อยจะพอกิน ที่เป็นเช่นนี้เพราะบุญกรรมที่ปรุงแต่งไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปรารถนาเหมือนๆ กัน คือ ความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อยากจะมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว สิ่งเหล่านี้ที่มนุษย์ต้องการมักจะสมหวังได้โดยยาก เพราะชีวิตของมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ การดำเนินชีวิตเป็นทุกข์ แถมร่างกายยังเป็นรังแห่งโรค เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน จะสร้างบารมีได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้น ความไม่มีโรค จึงถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งที่ควรจะมีควบคู่กันไป ซึ่งกำลังกายจะได้มาต้องเคลื่อนไหว แต่กำลังใจจะได้มาต้องหยุดนิ่ง หากจิตใจเราขาดพลังจากการหยุดนิ่งแล้ว เราย่อมสูญเสียโอกาสที่จะได้รับความสุขที่ละเอียดประณีต ดังนั้น เราต้องขยันหมั่นเพียรในการเจริญสมาธิภาวนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า

อาโรคฺยปรมา ลาภา สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ

วิสฺสาสปรมา ญาติ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ทรัพย์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ความคุ้นเคยกันเป็นญาติอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

หมู่ญาติถือว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ถ้าหมู่ญาติมีความเดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือ หรือไม่ได้ขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะพอช่วยเหลือได้ ควรที่จะยื่นมือเข้าไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือทางใดทางหนึ่งก็ตาม ถ้าเรามีวัตถุสิ่งของให้สงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของ ถ้าไม่มีวัตถุสิ่งของ สามารถใช้แรงกายของเราเข้าไปช่วยเหลือได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการความช่วยเหลือเรื่องอะไร การไม่ช่วยเหลือเลยนั้นไม่สมควร

เมื่อเห็นหมู่ญาติเดือดร้อนแล้ว หากเราไม่สนใจนิ่งดูดาย จะดูเป็นคนแล้งน้ำใจ เราต้องแสดงออกถึงความมีน้ำจิตน้ำใจที่ดีต่อหมู่ญาติ อย่าให้คุณธรรมการสงเคราะห์ญาติขาดตกบกพร่องไป เราจะไม่ถูกผู้อื่นว่ากล่าวติเตียนได้ ให้ดูพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง ที่ทรงเหาะเสด็จไปโปรดหมู่พระญาติให้เลิกทะเลาะวิวาทกัน

*มก. นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ เล่ม ๓๙/๓๐๒

*ครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงทราบข่าวว่าหมู่พระญาติระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองโกลิยะเกิดการทะเลาะวิวาทกัน ด้วยเรื่องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโรหิณีเพื่อไขน้ำเข้านา ถึงขั้นยกทัพมาประจันหน้าจะประหัตถ์ประหารกัน เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องแล้ว จึงทรงเหาะไปประทับนั่งในอากาศกลางแม่น้ำโรหิณี

ครั้นพระญาติทั้งสองฝั่งเห็นพระบรมศาสดาแล้ว ต่างก็วางอาวุธลง แล้วถวายบังคมพระบรมศาสดา พระองค์จึงทรงเรียกเหล่าพระญาติทั้งหมดเข้ามาหา แล้วตรัสว่า “มหาบพิตรทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็นญาติกัน ควรจะสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกันไว้ อย่าได้ทะเลาะวิวาทกัน ถ้าหมู่พระญาติมีความสมัครสมานสามัคคีกันอยู่ ยากที่อริราชศัตรูทั้งหลายจะได้โอกาสเข้ามาทำลาย”

พระบรมศาสดายังตรัสต่อว่า “อย่าว่าแต่ในหมู่มนุษย์เลย แม้ในครั้งอดีตที่ป่าหิมวันต์ เพราะต้นไม้ที่เกิดอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น จึงสามารถต้านทานกระแสลมแรงที่พัดกระหน่ำเข้ามาจากทุกทิศได้ ต้นไม้ทุกต้นไม่ถูกกระแสลมแรงพัดให้หักโค่นล้มลงแม้แต่ต้นเดียว แต่ต้นไม้ใดที่ขึ้นอยู่บนเนิน ถึงจะเป็นต้นไม้ใหญ่ ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสลมแรงที่พัดโหมกระหน่ำมาได้ จะถูกโค่นให้ล้มลงจนหมดสิ้น หมู่พระญาติก็เช่นเดียวกัน ควรที่จะมีความรักความสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ที่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีเทพบุตรใหม่อุบัติขึ้น ท้าวสักกเทวราชซึ่งปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทรงดูแลครอบคลุมไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา จึงได้แต่งตั้งเทพบุตรองค์ใหม่ ให้รับตำแหน่งเป็นท้าวเวสสุวรรณมหาราชแทนเทพบุตรองค์เก่าที่จุติไปเกิดใหม่ หลังจากที่เทพบุตรองค์ใหม่ได้รับตำแหน่งเป็นท้าวเวสสุวรรณมหาราชแล้ว ก็ส่งข่าวไปยังเหล่าทวยเทพทั้งหลายว่า ใครอยากจะจับจองต้นไม้ กอไผ่ พุ่มไม้ และเถาวัลย์ ไว้เป็นที่สิงสถิตวิมานของตน ก็ให้เลือกตามความพึงพอใจเถิด

ในชาตินั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดา สิงสถิตอยู่ที่ป่าไม้รังในหิมวันตประเทศ รุกขเทวดาโพธิสัตว์ จึงป่าวประกาศให้บรรดารุกขเทวาที่เป็นหมู่ญาติได้รับทราบด้วยความปรารถนาดีว่า “พวกท่านอย่าได้ไปจับจองต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนเนินสูงมาเป็นวิมาน ขอให้พวกท่านจงได้จับจองต้นไม้ที่ขึ้นอยู่รอบๆ วิมานของเรามาเป็นวิมานเถิด”

เหล่าเทวดาที่เป็นบัณฑิตเข้าใจความปรารถนาดีของพระโพธิสัตว์ จึงพากันจับจองต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดยรอบวิมานของพระโพธิสัตว์ ส่วนพวกรุกขเทวดาที่ไม่ยอมเชื่อฟัง ต่างก็พูดกันว่า “พวกเราจะจับจองวิมานที่อยู่ในป่านี้ไปทำไมกัน สู้ไปหาจับจองวิมานที่อยู่ตามต้นไม้แถวประตูบ้าน นิคม และตัวเมืองกันจะดีกว่า แล้วจึงได้พากันไปจับจองต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่บนเนินดินบ้าง ที่ขึ้นอยู่ตามบ้านเรือนในถิ่นของมนุษย์บ้าง

วันหนึ่ง เกิดลมพายุฝนห่าใหญ่พัดกระหน่ำมาอย่างแรง ทำให้ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ขึ้นอยู่บนเนินดินต้านทานกระแสลมแรงไม่ไหว หักโค่นล้มลงระเนระนาด บางต้นถูกกระแสลมพัดถอนทั้งรากทั้งโคน แต่พอกระแสลมฝนได้พัดกระหน่ำมาถึงป่าไม้รัง ซึ่งเป็นสถานที่ที่รุกขเทวดาโพธิสัตว์และหมู่ญาติของท่านอาศัยอยู่ ซึ่งล้วนเป็นป่าไม้รังที่ขึ้นเรียงชิดติดกันอย่างหนาแน่น แม้กระแสลมจะพัดกระหน่ำมาจากทุกทิศทุกทาง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ต้นไม้เหล่านั้นโค่นล้มลงได้แม้เพียงต้นเดียว

ส่วนเหล่าเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่บนเนินดิน ได้ถูกกระแสลมพัดหักโค่นล้มลงจนหมด เมื่อไม่มีวิมานอยู่ จึงพากันเข้าไปป่าหิมพานต์ เล่าเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นให้กับรุกขเทวาที่ป่าไม้รังฟัง พวกเทวดาจึงนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเล่าให้พระโพธิสัตว์ฟัง รุกขเทวดาโพธิสัตว์จึงให้ข้อคิดว่า “ผู้ที่ไม่ยอมเชื่อฟังถ้อยคำของบัณฑิตที่ชี้แนะให้ ต้องประสบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายอย่างนี้” พระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมว่า “หมู่ญาติยิ่งมีมากยิ่งมีกำลังมาก เหมือนต้นไม้รังในป่าใหญ่ที่อาศัยอยู่รวมกัน ส่วนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะเป็นต้นไม้ใหญ่ สักวันต้องถูกโค่นล้มลง”

พระพุทธองค์ตรัสกับหมู่พระญาติทั้งหลายว่า “มหาบพิตรทั้งหลาย หมู่ญาติด้วยกัน ควรที่จะมีความรักความสมัครสมานสามัคคีปรองดองกัน ควรอยู่ร่วมกันด้วยความรักใคร่มีความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแน่นแฟ้น ราชวงศ์จึงจักมั่นคง” หลังจากที่หมู่พระประยูรญาติได้ฟังพระดำรัสแล้ว ก็เข้าใจ จึงเลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันกลับเมืองไป

เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญในการสงเคราะห์หมู่ญาติ เพราะการสงเคราะห์หมู่ญาติเป็นเรื่องที่ควรทำ ถือว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างหนึ่ง ถ้าหมู่ญาติของเราเดือดร้อนในด้านใด เราควรสงเคราะห์ในด้านนั้นตามความเหมาะสม แต่ต้องสงเคราะห์ในทางที่ดี ทางที่ไม่ดีหรือทางแห่งความเสื่อม อย่าไปสงเคราะห์ แต่ควรแนะนำให้เลิกทำเสีย ให้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ที่เป็นสัมมาอาชีวะ หรือที่เป็นทางมาแห่งบุญ เมื่อเราได้ศึกษาธรรมะเข้าใจเรื่องบุญเรื่องบาปดีแล้ว เราก็ควรจะทำหน้าที่กัลยาณมิตร ไปชี้แนะหนทางสว่างให้กับเขา อย่างน้อยจะได้เป็นบุญกุศลติดตามตัวเราไปในภพเบื้องหน้า

วันเสาร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ผลเสียของความอกตัญญู

การนั่งสมาธิเจริญภาวนา เป็นบุญใสใสที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ข้ามพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ ผู้รู้ทั้งหลายในอดีตที่ท่านมุ่งมั่นสั่งสมบุญในทุกรูปแบบ ก็เพื่อต้องการหลุดพ้นจากทุกข์นี่แหละ เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ขณะที่ยังไม่หมดกิเลสยังสร้างบารมีอยู่นั้น ท่านก็แสวงหาวิธีการเจริญสมาธิภาวนาที่ถูกต้องและถูกกับจริตอัธยาศัย พากเพียรกันเรื่อยมา กว่าจะสมปรารถนา กาลเวลาก็ล่วงเลยผ่านไปนับเป็นล้านๆ ชาติ ดังนั้น การนั่งสมาธิภาวนาเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำกันเพียงครั้งสองครั้ง หรือวันสองวัน ก็จะสำเร็จสมปรารถนา ต้องอาศัยบุญบารมี อาศัยเวลา ความเพียรที่ต่อเนื่องและทำถูกวิธี ใจต้องจดจ่อ ไม่ห่างจากศูนย์กลางกาย เส้นทางการบรรลุธรรมกายจึงจะเป็นของเรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอกตัญญูชาดก ความว่า

โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ

ปจฺฉา กิจฺเจ สมุปฺปนฺเน กตฺตารํ นาธิคจฺฉติ

ผู้ใดไม่รู้จักคุณความดีและประโยชน์ที่ผู้อื่นทำไว้ก่อน ผู้นั้นเมื่อมีการงานเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมหาผู้ช่วยเหลือไม่ได้”

*มก. อกตัญญูชาดก เล่ม ๕๖/๓๑๖

*พระศาสดาเมื่อครั้งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่มีเพื่อนนักธุรกิจอยู่ชายแดนซึ่งไม่เคยพบเห็นหน้ากันมาก่อนเลย แต่เป็นเพื่อนนักธุรกิจที่ไม่ค่อยมีใจสัตย์ซื่อนัก เป็นประเภทเห็นแก่เม็ดเงินมากกว่ามิตรภาพ ทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนักธุรกิจท่านนี้ต้องยุติลง เนื่องจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจ ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีมาแต่เดิม หรือว่าเป็นเศรษฐีประเภทมีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง เหมือนดังเช่นท่านโชติกเศรษฐี ชฏิลเศรษฐี หรือเมณฑกเศรษฐี ที่มีสมบัติจักรพรรดิรอคอยอยู่แล้ว ท่านต้องสั่งสมบุญเพื่อคํ้าจุนการประกอบธุรกิจและการดำรงชีพของท่าน อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากหนึ่งสมองสองมือ อาศัยความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาอาชีวะ ฉะนั้น เส้นทางสู่ความเป็นมหาเศรษฐีของท่านนั้น จึงต้องนำสินค้าชนิดต่างๆ บรรทุกใส่เกวียน ๕๐๐ เล่ม แล้วออกเดินทางไปค้าขายตามหัวเมืองต่างๆ เดินทางแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลาแรมเดือน ซื้อมาขายไป จนรํ่ารวยมีทรัพย์สินเงินทอง

ขณะเดียวกัน เงินทองที่หามาได้ ส่วนหนึ่งก็จะนำออกบริจาคทานกับพวกยาจกวณิพกพเนจร และให้คนใช้ทำอาหารแจกคนอนาถาไร้ที่พึ่งเป็นประจำ ความเป็นผู้มีเมตตาและใจกว้างของท่านนี่แหละ จากเดิมชื่อสุทัตตเศรษฐี ก็ได้รับมงคลนามใหม่ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี หมายถึงเศรษฐีผู้มีก้อนข้าวหรืออาหารแก่คนผู้ไม่มีที่พึ่ง

ด้วยความเป็นผู้มีหัวนักธุรกิจ ท่านรู้ว่า การจะทำธุรกิจให้ก้าวหน้า หรือทำมาค้าขายให้คล่องตัว ประเภทซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม จำเป็นต้องหาสมัครพรรคพวก ผูกมิตรกับพ่อค้าในเมืองต่างๆ ทั้งใกล้และไกลให้ได้มากที่สุด เมื่อมีพรรคมีพวก เส้นทางธุรกิจก็สะดวกสบาย เพราะฉะนั้น ท่านเศรษฐีจึงมีเพื่อนนักธุรกิจหรือพ่อค้ารายใหญ่มากมาย ทั้งที่เห็นหน้าและไม่เคยเห็นหน้า เพื่อนที่ไม่เคยเห็นหน้า หมายถึงว่า ท่านเศรษฐีได้ผูกมิตร ด้วยการฝากของที่ระลึกพิเศษเป็นบรรณาการไปกับพ่อค้าที่จะเดินทางไปค้าขายหัวเมืองนั้นๆ แล้วบอกว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีฝากมามอบให้ ในโอกาสวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ

ฝ่ายเศรษฐีที่อยู่หัวเมือง ครั้นได้รับบรรณาการแล้ว ก็จะฝากของที่ระลึกของตนเอง ซึ่งมีมูลค่ามากบ้าง น้อยบ้าง กลับคืนมามอบให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแทนความระลึกถึงความเป็นเพื่อนผู้ไม่เคยพบหน้ากัน ที่เรียกว่าอทิฏฐสหายจึงบังเกิดขึ้น นอกจากนี้ คำว่าของที่ระลึกหรือบรรณาการที่ส่งมอบให้กันนั้น ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นของพิเศษประจำเมืองนั้นๆ ครั้นท่านเศรษฐีได้รับของที่ระลึกซึ่งเป็นปฏิการคุณตอบแล้ว ก็รู้ได้ทันทีว่า หัวเมืองนั้นมีสินค้าอะไรบ้าง ที่พิเศษๆ กว่าเมืองอื่นที่ชาวกรุงสาวัตถีไม่มี เมื่อต่างคนต่างผูกสัมพันธไมตรีกันอย่างนี้ ครั้นจะลงทุนค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันก็คุยกันง่าย แม้ไม่เห็นหน้า ไม่ได้พูดจา เพียงส่งตัวแทนหรือบริวารไปทำการค้าแทน ก็สามารถซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม นี่ก็เป็นความชาญฉลาดของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เศรษฐีคู่บุญกับพระพุทธศาสนา

ที่นี้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีเศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่ง ได้เป็นอทิฏฐสหายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้บรรทุกสินค้าพื้นเมืองจนเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม จากนั้นได้กำชับบริวารว่า “พวกท่านเมื่อไปถึงเมืองสาวัตถีแล้ว จงนำสินค้าเหล่านี้ไปขายให้แก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นสหายของเรา” จากนั้นก็ส่งบริวารให้ออกเดินทาง เมื่อพ่อค้าพากันเดินทางไปถึงเมืองสาวัตถี ก็มอบของบรรณาการและขายสินค้าให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตามคำสั่งที่ได้รับมา

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็จัดการให้ที่พักอาศัยเป็นอย่างดี เพราะเห็นว่าเป็นขบวนสินค้าของเพื่อนนักธุรกิจที่อยู่ชายแดน และรับซื้อสินค้าที่พวกพ่อค้าบ้านนอกนำมาขายทั้งหมด ทำให้ไม่ถูกกดราคาและไม่เสียเวลาในการค้าขายนาน ต่อมาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ส่งสินค้า ๕๐๐ เล่มเกวียนไปขายถิ่นนั้นบ้าง

เมื่อบริวารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนำเครื่องบรรณาการไปมอบให้ท่านเศรษฐีบ้านนอก พร้อมกับแจ้งว่าเป็นบรรณาการของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เศรษฐีบ้านนอกรับเครื่องบรรณาการแล้ว ก็ไม่จัดหาที่พักให้ เพราะเกรงว่าจะถูกแย่งลูกค้า เมื่อไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก บริวารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ต้องขายสิ่งของกันเอง และก็ยังถูกกดราคาให้ต่ำลงจากพ่อค้าท้องถิ่น เมื่อกลับมายังเมืองสาวัตถีแล้ว ก็แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านเศรษฐีทราบ ต่อมา เศรษฐีบ้านนอกส่งเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปขายที่นครสาวัตถีอีกครั้งหนึ่ง บริวารของเศรษฐีบ้านนอกได้นำบรรณาการไปมอบให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพื่อหวังจะเป็นใบเบิกทางในการค้าขายหรือที่เรียกว่าส่วยในการทำธุรกิจนั่นแหละ

ฝ่ายหัวหน้าพ่อค้าของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเห็นพ่อค้าเหล่านั้นมาก็จำได้ จึงคิดสั่งสอนให้สำนึกว่า คนที่ไม่มีความกตัญญู ไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีจรรยาบรรณของพ่อค้า จะต้องได้รับผลกรรมในปัจจุบันอย่างไร หัวหน้าพ่อค้าจึงบอกว่า “ท่านเศรษฐียังไม่ว่าง เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยมาพบ” จากนั้นก็สั่งให้พักกองเกวียนไว้ภายนอกพระนคร พอตกกลางคืนพวกโจรรู้ว่าพ่อค้าเหล่านี้เป็นเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงพากันมาปล้นกองเกวียนนั้น ทำให้พ่อค้าผู้ไม่ซื่อสัตย์เหลือแต่ผ้านุ่งเท่านั้น และต่างพากันกลัวตายหลบหนีกลับบ้านเกิดทันที ฝ่ายบริวารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแม้จะทราบเรื่องก็ไม่คิดจะช่วยเหลือ หลังจากที่พ่อค้าเหล่านั้นหนีกลับบ้านเกิดหมดแล้ว จึงแจ้งข่าวให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบ

เราจะเห็นว่า ผู้ใดไม่รู้จักคุณความดีและประโยชน์ที่ผู้อื่นทำไว้ก่อน เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาในชีวิต ย่อมหาผู้ช่วยเหลือไม่ได้ เส้นทางการทำมาค้าขายหรือทำธุรกิจก็เช่นกัน จะต้องรักษาความเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต อย่าให้เม็ดเงินตัดสัมพันธ์คุณธรรมน้ำมิตรเด็ดขาด เพราะเม็ดเงินหากได้มาด้วยมิจฉาชีพหรือคดโกงใครมา หรือแม้ไม่คดโกง แต่ทำธุรกิจเดี่ยวๆ รวยคนเดียว ไม่มีพรรคมีพวก พอนานวันเข้า ธุรกิจก็มักจะไปไม่รอด เหมือนต้นไม้ใหญ่ต้นเดียว ลมพายุสามารถพัดล้มได้ง่าย ส่วนผู้มีคุณธรรมน้ำมิตร แม้ไม่รวยทรัพย์แต่ก็รวยน้ำใจ เกาะกันเป็นกลุ่ม ก็เหมือนต้นไม้เล็กที่รวมกันเป็นป่าใหญ่ ย่อมปลอดภัยจากพายุโหมกระหนํ่า ดังนั้นเมื่อเราผูกมิตรกับใครแล้ว ก็ให้รักษาน้ำใจไมตรีที่ดีต่อกันเอาไว้ อย่าทำลายน้ำใจกัน เมื่อเกิดปัญหาและอุปสรรค เพื่อนๆ จะได้มาช่วยกันแก้วิกฤติให้เป็นโอกาสได้ นี่คือหลักในการทำมาค้าขายย่อๆ

ขุมทรัพย์ข้ามชาติ

ช่วงชีวิตของคนเรานั้นสั้นนัก การยอมเสียเวลาเพื่อลงทุนทำอะไรสักอย่าง จะต้องใคร่ครวญให้ดี เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาและเงินตราที่เสียไป เพราะนั่นหมายถึงชีวิตและโอกาสดีๆ ที่ต้องสูญเสียไปด้วย แต่การลงมือทำความดีนั้น ไม่มีการสูญเสีย มีแต่ได้อย่างเดียว การที่เราให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ล้วนได้ประโยชน์ใหญ่ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด การทำบุญไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะนอกจากจะได้กำไรชีวิตแล้ว ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลบุญ เพื่อนำไปใช้ในภพชาติต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ผู้มีบุญมีปัญญาต้องรีบสั่งสมบุญ โดยเฉพาะบุญที่เกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา ฝึกใจหยุดใจนิ่ง จะทำให้เราเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิธิกัณฑสูตร ความว่า

คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในที่ลึกกระทั่งในน้ำก็ด้วยความคิดว่า เมื่อเกิดกิจจำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา คนฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย คือ เกิดข้าวยากหมากแพง บ้านเมืองเกิดการขาดแคลนอาหาร หรือเพื่อใช้ในเวลามีภยันตรายต่างๆ”

*มก. นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ เล่ม ๓๙/๓๐๒

*ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในน้ำลึกถึงเพียงนั้น จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่ เพราะบางทีขุมทรัพย์เคลื่อนที่ไปบ้างก็มี บางทีเขาลืมที่ฝังไว้บ้างก็มี บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายไปบ้างก็มี บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปบ้างก็มี หรือบางทีเมื่อเขาเผลอ มีญาติผู้ไม่เป็นที่รักมาขโมย หรือขุดเอาไปบ้างก็มี เมื่อเขาสิ้นชีวิต ต้องละจากโลกนี้ไป ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศไป ไม่สามารถนำติดตามไปได้”

ขุมทรัพย์โดยทั่วไป มีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภท คือ ๑. ถาวรนิธิ คือ ขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง เช่น ที่ดิน เรือกสวนไร่นา อาคารบ้านเรือนต่างๆ เป็นต้น ประเภทที่ ๒. ชังคมนิธิ คือ ขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เป็นสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์ที่มีวิญญาณครอง เช่น ข้าทาสบริวาร ช้าง ม้า วัว ควาย แพะ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น ประเภทที่ ๓. อังคสมนิธิ คือ ขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยาต่างๆ รวมทั้งความสามารถพิเศษของแต่ละบุคคล เป็นต้น และขุมทรัพย์ประการที่ ๔. อนุคามิกนิธิ คือ ขุมทรัพย์ทางคุณธรรม ได้แก่ บุญกุศลความดี ที่เกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ หรือบารมีสิบทัศ เป็นต้น ซึ่งนับเป็นขุมทรัพย์ที่ถาวรที่สุด ขุมทรัพย์ประการสุดท้ายนี้ ที่เราจะต้องแสวงหากันให้มากๆ และต้องทำให้มีให้เป็นขึ้นมาในตัวให้ได้ พระพุทธองค์ยังตรัสต่อไปอีกว่า

ขุมทรัพย์ที่ผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม ฝังไว้ดีแล้วด้วยการทำทาน รักษาศีล สัญญมะ คือ การห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่างๆ หมายถึง การเจริญสมาธิภาวนาและสำรวมอินทรีย์ทั้งหก เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทมะ หมายถึง การหมั่นฝึกฝนอบรมตนเอง ข่มใจไม่ให้กิเลสเข้าไปครอบงำจิตใจได้

ผู้มีปัญญาควรฝังขุมทรัพย์ไว้ในพระเจดีย์ ในพระสงฆ์ ในบุคคล ในแขกที่มาหา ในบิดามารดาหรือหมู่ญาติ”

หมายความว่า ให้ทำการนอบน้อมบูชากราบไหว้พระเจดีย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บูชาพระสงฆ์ด้วยการถวายทาน คอยอุปัฏฐากดูแลให้ท่านได้รับความสะดวกสบายในการบำเพ็ญสมณธรรม ให้ความเคารพกราบไหว้ รู้จักเข้าไปหาและสนทนาธรรมกับท่านเป็นประจำ ให้ความเคารพในท่านผู้มีคุณธรรมทั้งที่เป็นเด็ก เป็นเพื่อน และเป็นผู้ใหญ่ ให้ความสำคัญในการต้อนรับปฏิสันถารกับแขกที่มาเยือน รวมไปถึงการเป็นคนมีความกตัญญูกตเวที การบำรุงบิดามารดา สงเคราะห์ท่านให้มีความสุขในโลกนี้ และแนะนำท่านให้เกิดศรัทธาในการทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ท่านจะได้มีบุญติดตัวไป เป็นการช่วยปิดนรก เปิดสวรรค์และนิพพานให้กับท่าน นี่เป็นหลักย่อๆ ในการฝังขุมทรัพย์ เมื่อสั่งสมบุญตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้แล้ว จะเกิดผลอันน่าอัศจรรย์อย่างไร พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า

ขุมทรัพย์ที่ผู้มีปัญญาได้ทำเช่นนี้ ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นจะขนเอาไปไม่ได้ จะติดตามคนฝังตลอดไป บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป เขาจะพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้ ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญ ที่จะเป็นขุมทรัพย์อันติดตามตัวเราตลอดไป

ขุมทรัพย์ คือ บุญนี้ ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ แก่เทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลอันใด ผลนั้นๆ ทุกอย่าง จะสำเร็จได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ

ความเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามเปล่งปลั่งผ่องใส มีเสียงไพเราะเสนาะโสต มีทรวดทรงสมส่วน มีรูปร่างสวยสดงดงาม เป็นที่ดึงดูดตาดึงดูดใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น การได้เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพวกพ้องบริวารห้อมล้อม ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น จะสำเร็จได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ

ความเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ในประเทศ ความเป็นอิสระ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ความสุขอันน่าพอใจของพระเจ้าจักรพรรดิ และแม้ความเป็นจอมเทพของเทวดาในหมู่เทพ ทั้งหมดนั้น จะได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ

สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดนั้น จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้ บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา หมายถึง ความเพียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณงามความดี มีคุณธรรม สามารถที่จะแนะนำเส้นทางสวรรค์และนิพพานให้ได้ เช่น เพื่อนสพรหมจารี หรือเพื่อนกัลยาณมิตร ผู้ดำรงตนน่าเคารพ ประกอบด้วยความเพียรโดยแยบคาย เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ ทั้งหมดนี้ จะได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ

ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ ทั้งหมดนี้ จะได้ด้วยขุมทรัพย์ คือ บุญ บุญสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมแห่งบุญนั้น มีประโยชน์มากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ จึงสรรเสริญการที่บุคคลได้สั่งสมบุญเอาไว้อย่างดีแล้ว”

ทั้งหมดนี้ คือ พุทธวจนะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ทางมาแห่งความสุขทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ล้วนเกิดจากบุญซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุขและความสำเร็จทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ความทุกข์ยากลำบากทั้งหลายที่เราได้ประสบพบเจอ เพราะบาปอกุศลที่เคยทำเอาไว้ ความสุขเป็นผลจากการสั่งสมบุญ ความทุกข์เป็นผลจากการสั่งสมบาป นี่เป็นหลักเหตุและผลง่ายๆ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ดีแล้ว ซึ่งหลวงพ่อได้ยกพระสูตรนี้เพื่อต้องการให้ทุกท่านได้รับทราบไว้ จะได้เห็นคุณค่าของการฝังขุมทรัพย์ คือ บุญ อันจะเป็นเสบียงติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ ดังนั้น ให้ทุกท่านหมั่นสั่งสมบุญ บุญจะได้อำนวยสุขให้เราสมความปรารถนาในทุกสิ่ง ได้ทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติไปทุกภพทุกชาติกันทุกคน

วันจันทร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

อย่าขาดความจริงใจต่อกัน

นับจากก้าวแรกของชีวิต ที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์จนถึงปัจจุบันนี้ หากเราย้อนความทรงจำกลับไปในอดีต เราจะพบทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีที่เราทำผ่านมา ถ้าเป็นสิ่งที่ดีจะทำให้ใจแช่มชื่นเบิกบาน แต่ถ้าไม่ดีจะรู้สึกเสียใจและเกิดความสลดหดหู่ใจ ดังนั้น ถ้าพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว หากเราพบว่าสิ่งใดเป็นบาปอกุศลให้งดเว้นเสีย คงไว้แต่คุณงามความดี นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราจะสร้างแต่บุญกุศลอย่างเดียว เพื่อผลคือความสุขในบั้นปลาย เพราะถ้าหากปล่อยตัวปล่อยใจให้หลงใหลไปตามกระแสกิเลสแล้ว ต้องไปเสวยทุกข์ทรมานในอบายภูมิ ฉะนั้น เราต้องดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางแห่งความดีโดยไม่หวั่นไหว พร้อมกับการประพฤติปฏิบัติธรรม หมั่นทำใจของเราให้หยุดให้นิ่งที่ศูนย์กลางกายเป็นประจำทุกๆ วัน สักวันหนึ่งเราจะได้บรรลุถึงฝั่งแห่งความสุขและความสำเร็จ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า

น หิ ปาปํ กตํ กมฺมํ สชฺชุขีรํว มุจฺจติ

ฑหนฺตํ พาลมนฺเวติ ภสฺมาจฺฉนฺโนว ปาวโก

กรรมชั่วที่บุคคลทำแล้ว เมื่อยังไม่ส่งผล ก็เหมือนกับน้ำนมที่เพิ่งรีดในขณะนั้น ยังไม่แปรเปลี่ยนสภาพไป แต่บาปกรรมนั้น ย่อมตามแผดเผาคนพาล เหมือนกับไฟที่ถูกเถ้าถ่านกลบไว้ฉะนั้น”

กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ทำไปแล้ว ล้วนมีผลด้วยกันทั้งนั้น คนเราจะเป็นคนดีได้ ต่อเมื่อได้ทำความดี และความดีนั้น ต้องหมั่นย่ำหมั่นทำบ่อยๆ ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ในการอยู่ร่วมกันจะต้องทำดีต่อกัน มีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน ถ้าเป็นสามีภรรยาต้องไม่ประพฤตินอกใจกัน จึงจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เ มื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ หักห้ามใจไม่ให้ไหลไปตามอำนาจของกิเลส ต้องรู้จักอดทนเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกัน ชีวิตคู่จึงจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง อย่างนี้ถือว่าเป็นคู่บุญคู่บารมี ส่วนมากสามีภรรยาที่แตกแยกกัน อยู่ร่วมกันได้ไม่นาน มีสาเหตุมาจากการประพฤตินอกใจกัน ดังเรื่องต่อไปนี้

*มก. โกสิยชาดก เล่ม ๕๖/๕๐๘

*ในครั้งพุทธกาล มีสามีภรรยาคู่หนึ่งในเมืองสาวัตถี สามีเป็นคนที่มีความศรัทธาในพระรัตนตรัย เข้าวัดฟังธรรมอยู่เป็นประจำ ส่วนภรรยาเป็นคนเกียจคร้าน ทั้งไม่สนใจที่จะเข้าวัดฟังธรรม เมื่อแต่งงานกันใหม่ๆ ก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ต่อมาภรรยาแอบไปมีชู้กับชายอื่น พอถึงเวลาทำงาน จะนอนทำทีว่าไม่สบาย สามีไม่รู้ว่านี่เป็นมารยาหญิง จึงถามด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า “หน้าตาเธอไม่สดชื่น เธอป่วยเป็นโรคอะไรหรือ” นางตอบว่า “ฉันถูกลมตี รู้สึกอึดอัดจุกเสียดแน่นท้อง” อุบาสกจึงถามว่า “ปกติเธอกินอะไร โรคลมจึงจะหายเล่า” นางตอบว่า “ต้องได้ข้าวยาคูและเนยใส จึงจะหาย”

เนื่องจากอุบาสกรักภรรยามาก จึงไปแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่ภรรยาต้องการมาให้ พอลับหลังสามีแล้ว นางก็แอบไปหาชายชู้ ครั้นนานวันเข้า อุบาสกก็เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า ครุ่นคิดด้วยความเป็นห่วงว่า “เห็นทีภรรยาของเราคงจะไม่หายป่วยง่ายๆ” จึงคิดจะทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วย ในเย็นวันหนึ่ง อุบาสกจึงถือของหอมและดอกไม้ไปวัดพระเชตวัน เมื่อไปถึง พระบรมศาสดาตรัสก็ทักทายว่า “อุบาสก ทำไมระยะหลังๆ นี้ ท่านจึงไม่ได้มาวัด” อุบาสก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของข้าพระองค์ป่วยเป็นโรคลมเสียดแทงอยู่ตลอดเวลา ข้าพระองค์ต้องคอยออกไปหายามารักษา แต่นางไม่หายขาดสักที ทำให้ข้าพระองค์ไม่มีเวลามาวัด ที่มาครั้งนี้ ก็เพื่อมาขอความเมตตาพระพุทธองค์ ขอทรงช่วยภรรยาของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาทรงเห็นด้วยญาณทัสนะว่า ภรรยาของอุบาสกได้ประพฤตินอกใจสามี จึงตรัสบอกว่า “ดูก่อนอุบาสก ภรรยาของท่านเอาแต่นอนอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไร โรคคงไม่หายหรอก ท่านต้องปรุงยาอย่างนี้ให้นางดื่ม โรคจึงจะหาย แม้ชาติที่ผ่านมา เราก็เคยบอกท่านแล้วเช่นกัน แต่ในชาตินี้ท่านกลับลืมเสียแล้ว” จากนั้นทรงตรัสเล่าเรื่องในอดีตให้ฟังว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม ก็ได้เดินทางไปศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา ครั้นเล่าเรียนสำเร็จแล้ว ก็กลับมาเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนลูกศิษย์อยู่ที่เมืองพาราณสี ขณะนั้น มีพราหมณ์บ้านนอกคนหนึ่ง ได้มาเล่าเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ต่างๆ เมื่อเรียนจบแล้ว ก็ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เมืองพาราณสี พราหมณ์จะแวะเวียนมาหาพระโพธิสัตว์อยู่เป็นประจำ แต่นางพราหมณีภรรยาของเขา ไม่ประพฤติธรรม แอบประพฤตินอกใจสามี อีกทั้งยังเป็นคนเกียจคร้านการงาน พอถึงเวลาทำงานมักจะอ้างว่าป่วยไม่สบายทุกครั้งไป

พราหมณ์เห็นอาการของภรรยา จึงเข้าไปถามด้วยความเป็นห่วงว่า “เธอเป็นอะไรหรือ” นางพราหมณีตอบว่า “ป่วยเป็นโรคลม ต้องได้กินข้าวยาคูและเนยใสโรคถึงจะหาย” พราหมณ์รักในภรรยามาก นึกว่านางป่วยจริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าภรรยาจะแอบนอกใจ จึงรีบไปหาสิ่งที่ภรรยาต้องการมาให้ทันที เมื่อแสวงหาสิ่งต่างๆ มาให้ภรรยาได้กินตามใจชอบ แต่นางก็แกล้งไม่ยอมหายจากโรคสักที

วันหนึ่ง พราหมณ์จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ เล่าถึงสาเหตุที่ตนเองไม่มีเวลาเข้ามาที่สำนักเพื่อรับฟังโอวาทเหมือนแต่ก่อน เพราะมัวแต่เสียเวลาแสวงหาสิ่งต่างๆ มาให้ภรรยาทานเพื่อแก้โรคลม พระโพธิสัตว์ฟังแล้วก็ทราบว่า พราหมณ์ถูกภรรยาหลอกเสียแล้ว จึงแนะนำวิธีแก้ไขให้ว่า “ตั้งแต่นี้ไป ท่านไม่ต้องไปหาอะไรให้นางทานอีก เราจะแนะนำวิธีที่จะทำให้นางหายขาดจากโรคลมทันที โดยท่านต้องไปหาใบไม้ ๕ อย่าง และผลไม้ ๓ อย่าง เอามาโขลกใส่ในมูตรโค แล้วแช่ไว้ในภาชนะทองแดงใหม่ๆ จากนั้นให้ถือหวายหรือไม้เรียวเข้าไปหานางพร้อมกับกล่าวว่า “เธอจงกินยานี้แล้วโรคจะได้หาย หากเธอไม่กินยา ให้ลุกขึ้นมาทำการงานให้สมกับค่าอาหารที่ทานเข้าไป หากยังดื้อ ให้ใช้หวายหรือไม้เรียวเฆี่ยนตีนาง”

ครั้นพราหมณ์ฟังคำแนะนำแล้ว ก็กลับไปบ้าน และทำตามวิธีที่พระโพธิสัตว์บอกทันที โดยถือยาที่ปรุงพิเศษเข้าไปหาภรรยา แล้วกล่าวว่า “เธอจงกินยานี้เสีย โรคจะได้หาย” นางถามกลับไปว่า “ใครบอกสูตรปรุงยานี้แก่ท่าน” พราหมณ์บอกว่า “อาจารย์ของฉันเอง” นางพราหมณีจึงกล่าวว่า “เอายานี้ไปทิ้งเสีย ถึงอย่างไรฉันจะไม่ยอมกินอย่างเด็ดขาด” พราหมณ์ก็บอกนางว่า “ต่อแต่นี้ไป เธอจะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้อีกแล้ว” จากนั้นก็เงื้อหวายขึ้นพร้อมกับขู่นางว่า “เธอจงรีบกินยาเสีย ถ้าไม่เช่นนั้น จงรีบลุกขึ้นมาทำการงาน หากป่วยจริงต้องกินยา ถ้าไม่กินยาก็ต้องลุกขึ้นมาทำงาน” นางเห็นท่าทางเอาจริงของสามี จึงเกิดความกลัว รีบลุกขึ้นจากที่นอน และตั้งแต่นั้นมา ก็กกลับเนื้อกลับตัวใหม่ ไม่ประพฤตินอกใจสามีอีกต่อไป

ฝ่ายอุบาสก ครั้นทราบนัยที่พระบรมศาสดาทรงตรัสเล่าให้ฟัง จึงรู้ว่าภรรยาของตัวเองมีชู้ แล้วแสร้งทำเป็นเจ็บป่วย เมื่อฟังธรรมจบแล้ว จึงกลับไปจัดการกับภรรยา เหมือนพราหมณ์จัดการกับนางพราหมณี ฝ่ายภรรยารู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เปิดเผยความชั่วร้ายของตนเสียแล้ว จึงกลับตัวกลับใจเสียใหม่ ตั้งใจทำหน้าที่ของศรีภรรยาเหมือนเดิม

เราจะเห็นได้ว่า การประพฤตินอกใจไม่ดีเลย ทำให้ต้องผิดศีลข้อ ๓ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องไปอบาย การใช้ชีวิตคู่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีความรักความจริงใจต่อกันแล้ว การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจะไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง การหลอกลวงกันเพราะกิเลสบังตา ทำให้นอกใจคู่ครองของตัวเอง ซึ่งหลอกกันได้ไม่นาน เพราะความลับไม่มีในโลกสำหรับผู้ที่ทำความชั่ว ไม่ช้าสิ่งที่ปกปิดเอาไว้จะถูกเปิดเผย แล้วความร้าวฉานในครอบครัวจะบังเกิดขึ้น ดังนั้น การใช้ชีวิตคู่ ถ้าจะให้เป็นคู่สร้างคู่สม จะต้องมาสร้างบารมีด้วยกัน มีรสแห่งธรรมเสมอกัน คือ มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลและทิฐิเสมอกัน ชีวิตคู่จึงจะราบรื่นและมีความสุข ได้เป็นคู่บุญคู่บารมีที่เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

วันพุธที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ขาดสัปปายะสมาธิไม่ก้าวหน้า

การปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นหัวใจของการมาเกิดในแต่ละภพแต่ละชาติ การสร้างบารมีของมนุษยชาติทั้งหลาย จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การได้เข้าถึงดินแดนอันเป็นบรมสุข คือ อายตนนิพพาน ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่ง หยุดในหยุดลงไปตรงกลางกาย กลางพระธรรมกายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงสุดสายธรรม ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักสร้างบารมีทั้งหลาย กว่าจะเข้าถึงตรงนี้ได้ ต้องอาศัยบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ อาศัยความเพียรอันกลั่นกล้า มีความอดทน หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมโดยไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียว ดังนั้น ในภพชาตินี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมบุญบารมีของเรา ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้ดี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ

ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ดำรงอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ส่วนผู้มีความเพียร แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่ากันมากมายนัก”

การที่ใครสักคน จะลงมือประพฤติปฏิบัติธรรม ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปนั้น สถานที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสถานที่เป็นสัปปายะเอื้อต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม แม้ฝนจะตกแดดจะออกไม่ต้องกังวล หรือสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ จะไม่มารบกวน เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมที่จะนั่งปฏิบัติธรรมและย่อมจะส่งผล ทำให้มีความปลอดโปร่งเบาสบายตามไปด้วย เมื่อลงมือปฏิบัติธรรม จะช่วยทำให้ใจหยุดนิ่งได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และจะมีความเจริญรุดหน้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายที่ชัดใสแจ่มอยู่ภายใน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าสถานที่นั้นไม่เป็นสัปปายะ ยากที่จะให้ผลของการปฏิบัติธรรมมีความเจริญก้าวหน้า เพราะจิตใจจะมีแต่ความวิตกกังวล ใจจะเกาะเกี่ยวกับเรื่องภายนอก ทำให้ใจไม่สงบไม่หยุดไม่นิ่ง ดังเรื่องราวของพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่จะยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

*มก. ฆตาสนชาดก เล่ม ๕๖/๕๒๗

*ในครั้งพุทธกาล มีกุลบุตรท่านหนึ่ง เห็นโทษภัยในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงตั้งใจออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ท่านอาอาศัยอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร และได้ศึกษาเล่าเรียนวิธีการประพฤติปฏิบัติธรรมและหัวข้อการกำหนดกรรมฐานจากพระอาจารย์จนมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และเกิดความคิดที่จะหลีกเร้นออกจากหมู่คณะ เพื่อไปเสาะแสวงหาสถานที่อันเงียบสงบ เหมาะสมสำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ การปฏิบัติธรรมได้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ให้สมกับที่ได้ตั้งใจสละความสะดวกสบายในทางโลกออกบวช

วันหนึ่ง ใกล้ช่วงเข้าพรรษา พระภิกษุรูปนี้ ขอลาพระอาจารย์แล้วเดินทางไปที่หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง ท่านได้เข้าไปจำพรรษาที่บรรณศาลาหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในป่าอันน่ารื่นรมย์ แต่อยู่จำพรรษาได้ไม่กี่วัน ขณะที่ท่านบิณฑบาตโปรดญาติโยมในหมู่บ้านอยู่นั้น บรรณศาลาที่ท่านพักอาศัยปฏิบัติธรรมเกิดไฟลุกไหม้ เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตเห็นแล้ว จึงรีบไปบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้โยมอุปัฏฐากฟัง ญาติโยมรับปากว่า “เมื่อพวกผมว่างกันเมื่อไร จะพากันไปช่วยสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ ขอพระคุณเจ้าโปรดรอให้พวกผมไถนาหว่านข้าวกันเสร็จเรียบร้อยก่อนเถิด”

เมื่อไม่มีที่พักอาศัยในการอยู่ประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านต้องอยู่ด้วยความยากลำบาก ต้องตากแดดตากฝน จิตใจว้าวุ่นไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม ส่งผลให้การปฏิบัติธรรมของท่าน ไม่มีความเจริญก้าวหน้า เวลาได้ล่วงเลยไปจนกระทั่งออกพรรษา แต่ยังไม่มีวี่แววว่าพวกโยมอุปัฏฐากจะพากันมาช่วยสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ ในที่สุด ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับวัดพระเชตวันมหาวิหาร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ในที่อันเหมาะสม

เมื่อพระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุ ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุ สมณธรรมของเธอมีความเจริญก้าวหน้าดีหรือ” ท่านกราบทูลว่า “จิตใจของข้าพระองค์ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรมเลย เริ่มตั้งแต่เข้าไปพักอาศัยในบรรณศาลาเพื่ออยู่จำพรรษาได้ไม่กี่วัน บรรณศาลาถูกไฟเผาผลาญจนหมดสิ้น” พระบรมศาสดาสดับแล้วจึงตรัสสอนว่า “ภิกษุ แม้สัตว์เดรัจฉานในกาลก่อน เมื่อรู้ว่าที่พักอาศัยไม่มีความปลอดภัย ไม่เป็นสัปปายะแล้ว จะรีบพากันไปหาที่อยู่ใหม่ แต่นี่เธอทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีที่พักอาศัยที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรม ทำไมไม่ย้ายไปอยู่ที่อื่นเล่า” พอท่านได้ฟังเช่นนั้น จึงอยากจะรู้เรื่องราวในอดีตทั้งหมด อาราธนาให้พระบรมศาสดาตรัสเล่าให้ฟัง พระบรมศาสดาทรงมีพระเมตตา ได้ตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพญานก ครั้นเจริญวัยแล้ว ก็ได้เป็นหัวหน้าฝูงนก เพราะมีความสวยงามกว่านกตัวอื่นๆ ทั้งหมด อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ติดกับสระน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งต้นไม้นี้มีกิ่งก้านและคาคบที่สมบูรณ์แข็งแรง มีใบหนาทึบ แต่มีกิ่งอยู่กิ่งหนึ่งที่ยื่นออกไปอยู่เหนือสระน้ำ เมื่อนกทั้งหลายออกหาอาหารกินจนอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็จะบินมาจับที่กิ่งไม้กิ่งนี้ แล้วถ่ายคูถลงไปในสระน้ำอยู่เป็นประจำ

ในสระน้ำแห่งนี้ มีพญานาคตนหนึ่งอาศัยอยู่ ได้เห็นพวกนกชอบบินมาจับที่กิ่งไม้แล้วถ่ายคูถลงไปในสระ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของตนเป็นประจำ จึงโกรธและคิดจะทำลายต้นไม้นี้ให้พินาศด้วยฤทธิ์ของตน ฉะนั้น ในกลางดึกคืนหนึ่ง ขณะที่พวกนกกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ พญานาคจึงใช้อิทธิฤทธิ์ทำให้น้ำในสระเดือดพล่าน เหมือนยกเอาสระขึ้นไปตั้งไว้บนเตาไฟ จากนั้นก็ใช้ฤทธิ์ทำให้เกิดควันไฟและเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นไปสูงชั่วลำตาล

พญานกโพธิสัตว์และนกทั้งหลายเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงตกใจพากันแตกตื่น แต่พญานกโพธิสัตว์กลับมีสติตลอดเวลา ได้พูดให้ข้อคิดแก่บริวารว่า “ปกติไฟที่ไหม้ลุกลามนั้น คนเขาจะใช้น้ำดับไฟ แต่นี่มันเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาด ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน เพราะน้ำกลับลุกเป็นไฟพวยพุ่งขึ้นเสียเอง สถานที่แห่งนี้จึงไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเราเสียแล้ว” พญานกโพธิสัตว์จึงพานกบริวารที่เชื่อฟังคำแนะนำของตน รีบบินหนีไปหาที่อยู่ใหม่ ส่วนนกที่ไม่เชื่อฟังยังอยากจะอยู่ที่ต้นไม้นั้นต่อ จึงพากันเกาะอยู่ที่กิ่งไม้เหมือนเดิม ทำให้ถูกเปลวไฟคลอกตายกันหมดอย่างน่าอเนจอนาถ

เราจะเห็นได้ว่า สถานที่อยู่อาศัย หรือสถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมและเป็นสัปปายะ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะมีผลทำให้สมาธิมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เริ่มตั้งแต่ต้องรู้จักหลักวิธีปฏิบัติเบื้องต้น คือ อาหารที่บริโภคหาได้สะดวก สถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่มรื่นสะดวกสบาย มีความสงบเงียบเหมาะสำหรับการนั่งปฏิบัติธรรม เมื่อสถานที่ภายนอกมีความสะดวกแล้ว จิตใจภายในจะมีความปลอดโปร่งเบาสบาย และจะเป็นเหตุให้ผลของการปฏิบัติธรรม มีความเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ

เมื่อผลการประพฤติปฏิบัติธรรมดี จะซาบซึ้งในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ธรรมะเป็นอกาลิโก คือ ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เมื่อประพฤติปฏิบัติทำใจหยุดนิ่งเข้าถึงธรรมะภายในได้เมื่อไร เราจะได้เข้าถึงความสุขความสมหวังเมื่อนั้น แล้วเราจะมีความศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ทำให้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต จะตั้งใจสั่งสมบุญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตจะบังเกิดกับเราทั้งในภพนี้และในภพชาติต่อๆ ไป จนกระทั่งถึงภพชาติสุดท้าย