วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

กลับตัวกลับใจใหม่

ในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ มงคลข้อแรก การไม่คบคนพาล และมงคลข้อที่สอง การเลือกคบแต่บัณฑิต มงคลชีวิตทั้งสองข้อนี้ เป็นหลักสำคัญในการฝึกฝนอบรมตนเองให้ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะถ้าปฏิบัติตามหลักธรรมสองข้อเบื้องต้นนี้ไม่ได้ การที่เราจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งทางโลกและทางธรรม จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เหมือนกับการเดินขึ้นบันได เราจะต้องก้าวผ่านขั้นแรกๆ ให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง คนเราก็เช่นเดียวกัน จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ต้องรู้จักเลือกคบคนให้ดี ถ้าคบกับบัณฑิตนักปราชญ์ เราจะพลอยเปรื่องปราชญ์ตามไปด้วย แต่ถ้าคบหากับคนพาล อัปมงคลทั้งหลายจะหลั่งไหลมาสู่ตัวเราได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่หวังความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต จะต้องไม่มองข้ามสิ่งเหล่านี้ เพราะนั่นหมายถึง ความเจริญก้าวหน้าหรือตกต่ำในชีวิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางไกลไปสู่อายตนนิพพาน เราจะต้องอยู่ใกล้ชิดกับบัณฑิตนักปราชญ์ ใกล้ชิดกับพระรัตนตรัย และต้องมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างเดียวเท่านั้น ชีวิตของเราจะได้สมหวังดังใจปรารถนาในการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกๆ คน

มีวาทธรรมซึ่งปรากฏในโสมมิตตเถรคาถา ความว่า

เต่าตาบอด เกาะกิ่งไม้เล็กๆ ย่อมจมลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจคร้านดำรงชีพอยู่ ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้าน ผู้มีความเพียรเลวทรามเสีย ควรอยู่กับบัณฑิตทั้งหลาย ผู้สงัด เป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว บำเพ็ญฌาน มีความเพียรอันปรารภแล้วอยู่เป็นนิตย์”

จากเถรคาถาบทนี้ ชี้ให้เราเห็นว่าสภาวะแวดล้อมมีความเกี่ยวเนื่องถึงกันหมด ท่านพูดเปรียบเทียบด้วยการพูดถึงเต่าตาบอดที่อยากจะแหวกว่ายอยู่เหนือพื้นน้ำ แต่มองไม่เห็น จึงไปเกาะอาศัยกิ่งไม้เล็กๆ แต่ไม่อาจที่จะลอยตัวอยู่ได้ เพราะการที่จะลอยตัวอยู่ได้ ต้องอาศัยเกาะกิ่งไม้ใหญ่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว คนเราก็เช่นกัน จะต้องคบหาคนดี มีศีลมีธรรม มีปัญญาและความเพียรจึงจะสามารถเอาดีได้ เพราะเราคบคนเช่นไร เราเองจะเป็นคนเช่นนั้น คบคนเกียจคร้านก็จะเป็นคนเกียจคร้าน คบคนขยันก็จะเป็นคนขยัน ฉะนั้น หากเราปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองให้กับตนเอง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกคบแต่บัณฑิตนักปราชญ์ เพราะการคบมิตรไม่ได้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต แต่เป็นทั้งหมดของชีวิตทีเดียว กัลยาณมิตรถือว่าเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ ที่จะทำให้ชีวิตมีแต่ความเจริญก้าวหน้าฝ่ายเดียว ดังนั้น การคบคนหรือเลือกคบเพื่อนจึงมีความสำคัญมากทีเดียว

ดังตัวอย่างของพระวิมลเถระ ซึ่งเป็นพระที่กล้าแก้ไขปรับปรุงตนเอง เมื่อท่านพิจารณาเห็นว่าคนที่ตนกำลังคบหาด้วย จะทำให้ท่านสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นได้ ท่านได้ปฏิบัติตามคำแนะนำด้วยนอบน้อมปราศจากทิฐิมานะ เรื่องราวมีอยู่ว่า

*มก. โสมมิตตเถรคาถา เล่ม ๕๑/๖๓

*ในอดีตกาล อุบาสกคนหนึ่งชื่อโสมมิตตะ เป็นผู้มีบุญญาธิการอันกระทำไว้ดีแล้วในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ และในชาติหนึ่งท่านได้สั่งสมบุญเป็นพิเศษและเป็นที่ประทับใจไม่รู้ลืม คือ ท่านได้เกิดในตระกูลฐานะดีตระกูลหนึ่ง ในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสิขี ครั้งหนึ่ง ท่านได้สดับรับฟังพระพุทธคุณ ที่พรรณนาถึงพระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย จึงเกิดจิตเลื่อมใสในพระพุทธองค์เป็นอย่างมาก

วันหนึ่ง ด้วยใจของท่านที่ตรึกระลึกนึกถึงพระพุทธคุณ จนเกิดความปีติแผ่ซ่านอยู่เป็นประจำ ทำให้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจอยู่เสมอ เมื่อท่านเห็นต้นทองกวาวที่มีดอกบานสะพรั่ง จึงเก็บดอกทองกาวมาแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ เพื่อบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยบุญแห่งความเลื่อมใสนั้น ได้ส่งผลให้ท่านได้ท่องเที่ยวอยู่แต่ในสุคติภูมิ คือ เวียนว่ายตายเกิดอยู่แต่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย โดยไม่พลัดไปเกิดในทุคติเลย

ครั้นมาถึงในสมัยพุทธกาล บุญได้นำพาท่านให้มาเกิดในตระกูลของพราหมณ์ ณ เมืองพาราณสี มีชื่อว่าโสมมิตตะ เมื่อเติบโตขึ้น เรียนจนจบไตรเพทแล้ว ก็มีความคุ้นเคยกับพระวิมลเถระ คราวใดที่สะดวก จะไปฟังธรรมกับพระเถระอยู่เสมอๆ ยิ่งได้ฟังธรรม ก็ยิ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จนกระทั่งในที่สุดได้ตัดสินใจออกบวช และได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับพระเถระ

แต่เนื่องจากพระวิมลเถระไม่ค่อยเอาใจใส่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร ในแต่ละวันหลังจากฉันเสร็จ ท่านจะหนักไปในการจำวัดพักผ่อน ได้ปล่อยวันเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อนานวันเข้า พระโสมมิตตะเห็นว่าการที่ท่านอยู่ใกล้พระเถระ อาจจะเป็นเหตุให้ตนติดนิสัยอย่างนั้นไปด้วย จึงหาเหตุผลบอกพระเถระว่าต้องการจะไปทำความเพียรที่อื่น เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระมหากัสสปเถระ ได้ยึดเอาพระมหากัสสปเถระเป็นต้นบุญต้นแบบในการฝึกฝนตนเอง ตั้งตนอยู่ในโอวาทของพระเถระ และเริ่มเจริญกัมมัฏฐานบำเพ็ญเพียรภาวนา ต่อมาไม่นาน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็กล่าวคติธรรมว่า

เราเห็นต้นทองกวาวมีดอกบาน จึงประคองอัญชลีนึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด แล้วนำดอกทองกวาวโยนขึ้นบูชาในอากาศ ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตจำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ภพทั้งปวงเราถอนขึ้นแล้ว เปรียบเหมือนช้างตัวประเสริฐ ตัดบ่วงได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้ปราศจากกิเลสอาสวะ การมาในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าของเรา เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว”

หลังจากบำเพ็ญสมณธรรมอยู่กับพระมหากัสสปเถระได้ระยะหนึ่ง ท่านก็นึกถึงพระอาจารย์เก่า คือ พระวิมลเถระ ด้วยความเมตตาเกรงว่าการบวชของพระอาจารย์จะเป็นโมฆะ จึงได้ออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้ เมื่อไปถึง ได้พูดเป็นคติธรรมให้พระอาจารย์ได้สติว่า “เต่าตาบอด เกาะกิ่งไม้เล็กๆ ย่อมจมลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจคร้าน ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้านผู้ไม่ปรารภความเพียรเสีย ควรอยู่กับบัณฑิตทั้งหลาย ผู้สงัด เป็นอริยะ มีใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว บำเพ็ญฌาน และปรารภความเพียรอยู่เป็นนิตย์”

เมื่อพระวิมละได้ฟังคติธรรมนั้นแล้ว ก็เกิดความสลดสังเวชใจในข้อวัตรปฏิบัติของตน และเริ่มตั้งใจลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

เราจะเห็นได้ว่า การจะได้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต นอกจากต้องอาศัยบุญเก่าที่สั่งสมมาอย่างดีแล้ว เรายังจะต้องรู้จักการเลือกคบคนด้วย เพราะบุคคลคบคนเช่นไร จะเป็นคนเช่นนั้น เนื่องจากชนทุกเชื้อชาติทุกศาสนา ต่างมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันไป เราต้องรู้จักใช้วิจารณญาณในการเลือกคบคน ถ้าไม่เลือกให้ดี ชีวิตอาจหมดโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในภพชาติปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อเราสั่งสมบุญอะไร ก็อย่าลืมที่จะอธิษฐานให้ห่างไกลจากคนภัยคนพาล ให้ได้คบแต่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย ท่านจะได้คอยชี้แนะให้เราพบกับบัณฑิตภายใน คือ ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งท่านเป็นผู้รู้แจ้งที่แท้จริง ถ้าทำได้อย่างนี้ นอกจากเราจะสามารถมีที่พึ่งอันประเสริฐ คือ พระรัตนตรัยภายในแล้ว ยังจะสามารถเป็นกัลยาณมิตรที่ดีให้กับชาวโลกได้

วันเสาร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ขาดปัญญาปัญหาเกิด

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการสร้างบารมี เป็นเครื่องวัดกำลังใจและความมุ่งมั่นของเรา บางปัญหาแก้ไขได้ทันที บางปัญหาต้องรอคอยการแก้ไข เพราะปัญหาทุกๆ ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ถ้าใช้ปัญญาปัญหาจะหมดไป ถ้าใจสงบจะพบทางออกและช่องทางแห่งความสำเร็จ เพราะใจที่สงบย่อมเกิดปัญญาแจ่มใส เป็นปัญญาความรอบรู้อันบริสุทธิ์ ที่จะทำให้ตัวเราและชาวโลก หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปสู่อายตนนิพพาน การหมั่นฝึกฝนใจให้สงบหยุดนิ่งอยู่ภายใน ทำให้เราเกิดปัญญาที่จะพิชิตปัญหา เราจะเข้าใจทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น และรู้วิธีแก้ไข รวมไปถึงรู้ต้นแหล่งที่มาของปัญหา พร้อมกับรู้วิธีกำจัดปัญหาให้หมดไป ดังนั้น การเจริญภาวนา จึงเป็นกรณียกิจที่สำคัญที่เราจะขาดไม่ได้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ชาดก ความว่า

นยํ นยติ เมธาวี อธุรายํ น ยุญฺชติ

สุนโย เสยฺยโส โหติ สมฺมา วุตฺโต น กุปฺปติ

วินยํ โส ปชานาติ สาธุ เตน สมาคโม

นักปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ย่อมไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดี เป็นความดีของนักปราชญ์ นักปราชญ์นั้น เมื่อผู้อื่นกล่าวไม่ชอบก็ไม่โกรธ ย่อมรู้จักวินัย การคบหาสมาคมกับนักปราชญ์เป็นความดี”

มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ จะมีบ้างก็ผู้ที่ได้สั่งสมบุญบารมีมาอย่างดีแล้ว ถึงจะรู้หลักในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง แต่คนส่วนมากมักไม่รู้จักหลักในการดำเนินชีวิต ไม่รู้ว่าสิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร สิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด เมื่อไม่ได้ศึกษาหาความรู้ และขาดการคบหากับบัณฑิตนักปราชญ์ ชีวิตจึงหลงทาง ทำให้คิดผิด พูดผิด และก็ทำผิดตามมา ทำให้ดำเนินชีวิตผิดพลาด เมื่อขาดปัญญาในการดำเนินชีวิต ปัญหาจึงตามมา ดังเรื่องของพราหมณ์คนหนึ่ง ที่จะยกมาเป็นตัวอย่างนี้

*มก. มังคลชาดก เล่ม ๕๙/๓๐๓

*ครั้งพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นชาวเมืองราชคฤห์ มีฐานะร่ำรวย มีโภคทรัพย์มาก แต่พราหมณ์คนนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย และเป็นคนเชื่อเรื่องโชคลาง วันหนึ่ง ขณะที่พราหมณ์จะไปอาบน้ำ ได้สั่งให้คนรับใช้ไปเอาผ้าสาฎก ๒ ผืน ในหีบที่ตนเก็บเอาไว้ พอคนใช้ไปเปิดหีบเห็นผ้าสาฎกถูกหนูกัด จึงรีบบอกให้พราหมณ์ทราบ

พราหมณ์ตกใจมาก คิดเลยเถิดไปถึงว่า จะต้องเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นที่บ้านเป็นแน่ เพราะผ้านี้เป็นอัปมงคลเช่นกับตัวกาฬกิณีที่อยู่ภายในบ้าน และผ้านี้จะมอบให้กับบุตรธิดาหรือทาสกรรมกรนำไปใช้ต่อไม่ได้อย่างเด็ดขาด อาจจะเกิดหายนะขึ้น ทางที่ดีจะต้องรีบนำไปทิ้งที่ป่าช้าเป็นการด่วน

พราหมณ์จึงรีบเรียกบุตรชายเข้ามาหา แล้วอธิบายว่า “ผ้านี้เป็นอัปมงคล พ่อไม่ต้องการให้คนอื่นนำไปทิ้งเพราะไม่ไว้ใจ ลูกจงนำผ้าสาฎกนี้ไปทิ้งที่ป่าช้า เวลาลูกเอาไป อย่าใช้มือจับผ้านะ ให้เอาไม้เกี่ยวไป เมื่อทิ้งเสร็จให้รีบอาบน้ำล้างมือให้เรียบร้อย แล้วค่อยกลับเข้ามาภายในบ้าน”

วันนั้นในเวลาใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาทรงตรวจดูเหล่าเวไนยสัตว์ที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรงเห็นพราหมณ์สองพ่อลูกมีบุญบารมีเพียงพอที่จะบรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธองค์จึงเสด็จไปประทับยืนรออยู่ที่ประตูทางเข้าป่าช้า ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี เมื่อบุตรของพราหมณ์มาถึง จึงตรัสถามว่า “มาณพ เธอมาทำอะไรที่นี่” บุตรของพราหมณ์ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นำผ้าสาฎกสองผืนที่ถูกหนูกัดมาทิ้ง พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น จงทิ้งเถิด” หลังจากพราหมณ์ทิ้งผ้าแล้ว พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า “เมื่อเธอทิ้งผ้าแล้ว ผ้าสาฎกก็สมควรแก่ตถาคต” แล้วพระพุทธองค์จึงทรงหยิบผ้าสาฎกนั้นขึ้นมาต่อหน้าบุตรของพราหมณ์ ทั้งๆ ที่พราหมณ์หนุ่มกราบทูลห้ามว่า “ผ้านี้เป็นผ้าอัปมงคล ขอพระองค์อย่าทรงจับเลย พระเจ้าข้า” แต่พระบรมศาสดายังทรงถือผ้าสาฎกเสด็จกลับวัดพระเวฬุวัน

เมื่อห้ามพระพุทธองค์ไม่ได้ จึงรีบกลับบ้านไปบอกพ่อทันที พราหมณ์คิดว่า “ถ้าพระสมณโคดมใช้สอยผ้านั้น ต้องถึงความย่อยยับ แม้พระวิหารจะพังพินาศหมดสิ้น แล้วครอบครัวของเราจะหนีไม่พ้น ต้องถูกชาวบ้านชาวเมืองติเตียน ทางที่ดีเราต้องรีบนำผ้าสาฎกที่ปราศจากมลทิน ไปถวายเปลี่ยนแทนผ้าสาฎกสองผืนนั้น”

คิดแล้วไม่รอช้า สองพ่อลูกรีบไปที่วัดพระเวฬุวัน เข้าไปถวายบังคมพระบรมศาสดา ยืนอยู่ ณ ที่อันเหมาะสม จากนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ทรงหยิบผ้าสาฎกที่ป่าช้ามาจริงหรือ พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “เราหยิบมาจริง” พราหมณ์จึงกราบทูลว่า “ผ้าสองผืนนั้น เป็นผ้าอัปมงคล พระองค์อย่าใช้ผ้านั้นเลย ถ้าใช้ไปพระองค์จะต้องถึงความย่อยยับเป็นแน่ แม้แต่พระวิหารทั้งหมดนี้ จะถึงความพินาศย่อยยับตามไปด้วย ขอพระองค์โปรดทรงรับผ้าสาฎกผืนใหม่ที่ข้าพระองค์เตรียมมาถวายเถิด พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดาจึงตรัสกับพราหมณ์ว่า “พวกเราได้ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผ้าเก่าๆ ที่ใครทิ้งแล้ว หรือตกอยู่ที่ป่าช้าผีดิบ ที่ท้องถนน ที่กองหยากเยื่อ ที่ท่าอาบน้ำ ที่ถนนหนทาง ผ้าเหล่านี้สมควรกับพวกเราทั้งนั้น แต่ตัวท่านมีความเข้าใจผิด มีความเชื่อที่ยังไม่ถูกต้องอย่างนี้ ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น แม้ชาติที่ผ่านมาก็มีความเชื่ออย่างนี้มาก่อน” แล้วพระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้ามคธราช ครองราชสมบัติโดยธรรมอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยแล้ว จึงออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ที่ป่าหิมพานต์ ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมจนกระทั่งสำเร็จอภิญญาสมาบัติ วันหนึ่งได้ออกจากป่าหิมพานต์มาอยู่ที่พระราชอุทยานในกรุงราชคฤห์ วันที่สองได้ออกบิณฑบาตตามท้องถนนในพระนคร พระราชาทอดพระเนตรเห็น จึงรับสั่งให้คนไปนิมนต์เข้ามานั่งที่ปราสาท ทรงอาราธนาพระโพธิสัตว์ให้พักอาศัยอยู่ที่อุทยานตลอดไป เมื่อพระโพธิสัตว์ฉันอาหารเสร็จได้กลับไปพักที่อุทยานตามเดิม

ในกรุงราชคฤห์นี้ มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่าทุสสลักขณะ เป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของผ้าเป็นอย่างดี และได้เก็บผ้าสาฎกสองผืนเอาไว้ในหีบแต่ถูกหนูกัด จึงได้ให้ลูกชายนำไปทิ้งที่ป่าช้า พระโพธิสัตว์ซึ่งได้ไปหาผ้าอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นมาณพนำผ้าสาฎกมาทิ้ง จึงเดินไปหยิบขึ้นมา มาณพเห็นแล้วกลับไปบอกพ่อ พราหมณ์จึงรีบเดินทางไปที่อุทยาน แล้วกล่าวห้ามพระโพธิสัตว์ว่า “อย่าใช้ผ้าสาฎกสองผืนที่หนูกัดแล้วเลย เพราะกลัวว่าหายนะจะเกิดขึ้น”

พระโพธิสัตว์จึงแสดงธรรมให้กับพราหมณ์ฟังว่า “ผ้าเก่าๆ ที่เขาทิ้งไว้ที่ป่าช้า สมควรกับพวกเรา พวกเรามิใช่พวกที่เชื่อเรื่องโชคลางหรือถือมงคลตื่นข่าว การถือมงคลตื่นข่าว พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่สรรเสริญ บัณฑิตที่แท้จริง เขาไม่ถือมงคลตื่นข่าวหรอกพราหมณ์” พราหมณ์ฟังแล้วจึงเข้าใจ และยอมเลิกถือความเชื่อเก่าๆ ที่ตนได้รับมาจากบรรพบุรุษ

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติจบ จึงแสดงพระธรรมเทศนาว่า “ผู้ใดที่ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ครอบงำกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ อันเป็นประดุจคูกั้นน้ำ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก” พราหมณ์สองพ่อลูกฟังธรรมแล้ว มีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

เราจะเห็นได้ว่า คนเราถ้าเชื่อถือผิดๆ โดยขาดปัญญา จะทำให้เกิดความสูญเสียในสิ่งที่ไม่ควรเสีย มิหนำซ้ำ ยังจะทำให้ชีวิตดำเนินไปในทิศทางที่ผิดพลาด เพราะมีความเห็นผิดเป็นพื้นฐาน วินิจฉัยจึงผิดพลาด ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ด้วยความมืดมน ดังนั้น เราจึงควรที่จะศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ควรคบหาบัณฑิตนักปราชญ์ เพื่อที่เราจะได้ดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง

วันจันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

มาเกิดทั้งที ทำความดีให้ถึงพร้อม

สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ล้วนผจญกับความทุกข์ทั้งนั้น เราทุกคนควรพิจารณาให้เห็นว่า เรากำลังเผชิญกับความทุกข์ในหลายรูปแบบ เพื่อจะได้เกิดแรงบันดาลใจ อยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ อันที่จริงแล้ว เหตุแห่งความทุกข์ทั้งมวลมาจากความทะยานอยาก ตั้งแต่อยากในกาม อยากในภพ ในอรูปภพ ความอยากที่ระคนไปด้วยความเพลินอยู่ในโลก เป็นความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด ความอยากเหล่านี้มีปัญหาอยู่ในตัว เมื่อได้มาแล้วต้องตามแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น วิธีที่จะดับทุกข์ได้จะต้องหยุด คือ ทำใจให้หยุดอยู่ภายใน ใจหยุดสนิทอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กระทั่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย ถ้าหยุดได้อย่างนี้ บาปอกุศลทั้งหลายจะเข้าแทรกไม่ได้ จะมีแต่กุศลธรรมล้วนๆ มีความสุขล้วนๆ ใจหยุดอย่างนี้ คือ เป้าหมายของมวลมนุษยชาติทั้งหลาย ที่จะดำเนินไปในหนทางของพระอริยเจ้า ซึ่งจุดเริ่มต้นบังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นดวงใสสว่าง เรียกว่า ดวงปฐมมรรค ต้นทางที่จะนำไปสู่อายตนนิพพาน ดังนั้น วันเวลาที่ผ่านไปควรให้ความสำคัญกับการฝึกทำใจหยุดใจนิ่ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในปุญญวิปากสูตร ความว่า

มา ภิกฺขเว ปุญฺญานํ ภายิตฺถ สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานนฺติ อภิชานามิ โข ปนาหํ ภิกฺขเว ทีฆรตฺตํ อิฏฺฐํ กนฺตํ มนาปํ วิปากํ ปจฺจนุภูตํ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน”

บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งโลกทั้งปวง ทรงเห็นชัดด้วยญาณทัสนะอันบริสุทธิ์ถึงอานุภาพแห่งบุญ ทรงเห็นอดีตมนุษย์ผู้ทำบาป ต้องไปเสวยทุกข์ในมหานรก และทวยเทพที่กำลังเสวยทิพยสมบัติอยู่ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะสร้างบุญมาดี นิพพาน ภพสาม โลกันต์เป็นอย่างไร พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งแทงตลอดหมด จึงทรงสรุปให้เหล่าพุทธบริษัทได้ทราบว่า “ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึ ปติฏฺฐา โหนฺติ ปาณินํ บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ในปรโลก”

บรรพบุรุษของเราได้เห็นคุณค่าของบุญ จึงดำเนินชีวิตตามหลักของพระพุทธศาสนา มีการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนากันมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศชาติมีแต่ความสงบสุข มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดมา แต่ในปัจจุบันเราให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีกันมาก มุ่งพัฒนาทางด้านวัตถุ จนลืมพัฒนาจิตใจ ทำให้คนส่วนใหญ่ประมาทในการสั่งสมบุญ ซึ่งจะเป็นเสบียงที่สำคัญในการเดินทางไกลไปสู่ปรโลก บางคนมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง คิดว่าบุญบาปไม่มี เพราะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จึงไม่เชื่อในเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่ผู้รู้ทั้งหลายท่านได้พิสูจน์แล้วว่าบุญบาปมีจริง ทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง เพราะไปรู้ไปเห็นได้ด้วยธรรมจักขุและญาณทัสนะที่ละเอียดลึกซึ้ง เกินกว่าวิสัยของปุถุชนจะคิดเองได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด เรียกว่า เป็นอจินไตย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ ไม่ควรคิด ผู้ใดคิด ผู้นั้นพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า จะได้รับความลำบากเปล่า”

อจินไตย ๔ อย่าง ได้แก่ พุทธวิสัย คือ เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น เช่น การแสดงปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ เป็นต้น อย่างที่ ๒ คือ ฌานวิสัย เป็นวิสัยของผู้มีฌาน เช่น การเหาะเหินเดินอากาศ อย่างที่ ๓ คือ วิบากแห่งกรรม เป็นผลของการกระทำ ถ้าทำบุญย่อมได้รับผล คือ ความสุข ถ้าทำบาปย่อมได้รับผล คือ ความทุกข์ และประการสุดท้าย คือ โลกจินดา คือ ความคิดในเรื่องโลก เช่น ใครเป็นผู้สร้างโลก ใครเป็นผู้สร้างดวงอาทิตย์ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้คิดเอาเองด้วยปัญญามนุษย์ไม่ได้ ต้องอาศัยปัญญาอันบริสุทธิ์ของพระธรรมกายภายใน

ดังนั้น เรื่องอจินไตยจึงไม่สามารถรู้ได้ด้วยการคิด แต่รู้ได้ด้วยญาณทัสนะ และเห็นได้ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย คล้ายกับการรักษาโรคของคนในสมัยก่อน แต่เดิมไม่รู้ว่าโรคต่างๆ เกิดมาจากสาเหตุอะไร เพราะเชื้อโรคไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต่อมาเมื่อมีกล้องจุลทรรศน์ เราจึงสามารถมองเห็นตัวของเชื้อโรคได้ บุญและบาปก็เช่นเดียวกัน เป็นของละเอียดที่เรามองไม่เห็นด้วยตามนุษย์ แต่สามารถเห็นได้ด้วยตาของพระธรรมกาย

ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายแล้ว จึงจะซาบซึ้งเรื่องของบุญและบาป จะเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องของกฎแห่งกรรม เพราะพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุและผล บุคคลประกอบเหตุอย่างไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น เหมือนการปลูกถั่วย่อมได้ถั่ว ปลูกงาย่อมได้งา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องผลของบุญเอาไว้มากมาย ดังตัวอย่างของผู้ที่รักในการทำบุญและได้ประสบผลบุญ ดังต่อไปนี้

*มก. ปุญญวิปากสูตร เล่ม ๓๗/๑๙๒

*ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าอดีตชาติของพระองค์ให้ฟังว่า ในภพชาติหนึ่งได้เสวยพระชาติเป็นลูกเศรษฐี และเห็นทุกข์เห็นโทษในการครองเรือน จึงได้ทำการบริจาคมหาทานตลอด ๗ วัน ให้กับยาจกและชาวพระนคร พอครบ ๗ วัน จึงทิ้งทุกอย่าง ใครอยากได้อะไรให้มาขนเอาไป จากนั้นจึงเดินทางเข้าป่าหิมพานต์ ออกบวชเป็นดาบส ท่านตั้งใจสมาทานมั่นในศีล และเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญตบะธรรม ปลีกวิเวกอยู่คนเดียวอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ท่านใช้เวลาไม่นานนัก ได้บรรลุอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้

หลังจากนั้น ท่านตั้งใจเจริญเมตตาจิตตลอด ๗ ปี เมื่อถึงคราวละโลก ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก เป็นมหาพรหมผู้มีอานุภาพมาก ไม่ได้กลับมาเกิดในโลกมนุษย์ตลอด ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายถึง โลกนี้เจริญขึ้นสูงสุดและเสื่อมลงต่ำสุดถึง ๗ รอบ ท่านยังเสวยสุขที่เกิดจากฌานสมาบัติ ไม่เคลื่อนไปไหน เมื่อโลกถึงความพินาศ คือ ถูกไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญทำลาย ท่านได้เข้าถึงพรหมโลกชั้นอาภัสสรา เมื่อโลกยังไม่ถึงความพินาศ ได้เข้าถึงวิมานพรหมอันว่างเปล่า เป็นท้าวมหาพรหม ผู้เป็นใหญ่กว่าพรหมทั้งหมด ใครๆ ครอบงำไม่ได้

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏะกัป ท่านได้จุติมาบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๓๖ ครั้ง ครั้นเคลื่อนจากการเป็นจอมเทพ ก็มาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นธรรมราชา มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว แก้วมณี ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มีบุตรมากกว่าพันคน แต่ละคนล้วนแต่กล้าหาญชาญชัย ย่ำยีข้าศึกได้ สามารถครอบครองปฐพีมณฑลนี้ อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราอาวุธ ท่านสั่งสอนคนในพื้นปฐพีให้ตั้งมั่นในศีลห้า ด้วยความเป็นพระราชาผู้เรืองเดช มีวัตถุเครื่องปลื้มใจมากมาย มีฤทธิ์มีเดชมีอานุภาพมาก มหาชนฟังธรรมแล้วบังเกิดความเลื่อมใส ได้ปฏิบัติตามธรรมที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงแนะนำ ต่างมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป

นี่เป็นเรื่องอานุภาพของบุญที่นำความสุขและความสำเร็จมาให้ คือ ถ้าหากมีบุญมาก เวลามาเกิดจะมาเป็นใหญ่ในภพภูมินั้นๆ โดยไม่ต้องไปแก่งแย่งต่อสู้กับใคร เหมือนกับว่าตำแหน่งเหล่านั้นได้รอคอยผู้มีบุญอยู่แล้ว หากเป็นพรหมจะได้เป็นท้าวมหาพรหม เป็นเทวดาจะได้เป็นท้าวสักกเทวราช เป็นมนุษย์จะได้เป็นจอมจักรพรรดิ แต่ถ้าบุญลดหลั่นลงมา ฐานะความเป็นอยู่จะด้อยลง เพราะฉะนั้น บุญจึงเป็นตัวแปรของชีวิตที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร จึงไม่ควรที่จะประมาทในการดำเนินชีวิต ควรหมั่นสั่งสมบุญ ด้วยการให้ทานอย่างสม่ำเสมอ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ และหมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจของเราให้หยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อใจของเราหยุดนิ่งได้ถูกส่วน กระแสบุญจะเกิดขึ้นในกลางกาย จะบันดาลให้เราสำเร็จสมปรารถนาในทุกสิ่ง เพราะฉะนั้น มาเกิดทั้งทีควรทำความดีให้ถึงพร้อม อย่าได้เบื่อหน่ายในการสั่งสมบุญ

วันพุธที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

สัตว์ทั้งหลายคบกันโดยธาตุ

สรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนต่างปรารถนาความสุขเกลียดชังความทุกข์ แต่ยากที่จะล่วงพ้นจากทุกข์ไปได้ ความทุกข์เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดของสรรพสัตว์ ตั้งแต่วันแรกเกิดกระทั่งถึงวันที่หลับตาลาโลก ทุกชีวิตล้วนมีความทุกข์เป็นพื้นฐาน จะทุกข์มากหรือทุกข์น้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ถ้ามีบุญน้อยก็ทุกข์มากหน่อย มีบุญมากความทุกข์ก็ลดน้อยลงไป เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตว่า ชีวิตเป็นทุกข์อย่างนี้แล้ว เราจะได้เกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ทั้งหลาย แล้วรีบขวนขวายในการสลัดตนให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งมวล และแสวงหาความสุขที่แท้จริง ซึ่งการปฏิบัติธรรมด้วยการทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของผู้ที่ปรารถนาความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏในปฐมสขาสูตร ความว่า

มิตรที่ดี ย่อมให้ของที่ดีงาม และเป็นของที่ให้ได้ยาก รับทำกิจที่ทำได้ยาก อดทนต่อถ้อยคำหยาบคาย แม้ยากที่จะอดทนไว้ได้ บอกความลับของตนแก่เพื่อน ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ เมื่อเพื่อนสิ้นโภคสมบัติก็ไม่ดูหมิ่น ฐานะเหล่านี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นเป็นมิตรแท้ ผู้ประสงค์จะคบมิตรสหาย ควรคบกับมิตรเช่นนั้นแล”

คนเราจะคบหาสมาคม และมีความรักความสามัคคีกันนั้น บุคคลทั้งสองจะต้องมีอุปนิสัยใจคอ และมีความประพฤติใกล้เคียงกัน มีศีลและทิฐิเสมอกัน ส่วนคนที่ชอบเที่ยวสนุกสนาน จะมีพรรคพวกที่ชอบเที่ยวชอบสนุกสนานเหมือนกัน คนที่ชอบไปวัดฟังธรรม ชอบทำบุญทำกุศล จะคบหากับคนที่ชอบทำบุญเข้าวัดฟังธรรม ส่วนคนชอบดื่มสุราจะมีเพื่อนขี้เมาด้วยกัน มีงานเลี้ยงที่ไหนจะพบเจอกันที่นั่น ส่วนคนชอบเล่นการพนัน ก็จะมีเพื่อนเป็นเซียนพนัน มีบ่อนที่ไหนก็จะเจอกันที่นั้น

สังคมของมนุษย์ จึงแยกกลุ่มไปตามอุปนิสัยของคน ดังตัวอย่างของพระภิกษุ ๒ รูป ที่มีอุปนิสัยใจคอตรงกัน จึงมีความรักความสมัครสมานสามัคคี และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เรื่องมีอยู่ว่า

*มก. สุหนุชาดก เล่ม ๕๗/๕๔

*ในสมัยพุทธกาล ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร มีภิกษุรูปหนึ่ง มีอุปนิสัยใจคอดุร้ายหยาบคาย พระภิกษุสามเณรที่วัดพระเชตวันต่างรู้จักอัธยาศัยของภิกษุรูปนี้เป็นอย่างดี ส่วนวัดที่อยู่ชนบทอีกแห่งหนึ่งก็มีภิกษุที่มีอุปนิสัยใจคอดุร้ายหยาบคายอีกรูปหนึ่งเช่นกัน วันหนึ่งภิกษุชนบทรูปนี้ เดินทางมาที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร พวกภิกษุสามเณรที่วัดพระเชตวันได้ล่วงรู้อัธยาศัยของท่าน จึงไม่อยากให้พักอาศัยอยู่ด้วย แต่ได้นิมนต์ให้ท่านไปพักอยู่กับภิกษุผู้มีอารมณ์ร้ายเหมือนกัน

เหล่าภิกษุสามเณรเมื่อส่งท่านไปแล้ว ต่างหวั่นใจกลัวว่าภิกษุทั้งสองรูปนี้จะทะเลาะโต้เถียงกันลั่นวัด แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นอย่างที่คาดคิด เพราะเมื่อภิกษุทั้ง ๒ รูป เห็นหน้ากันเท่านั้น กลับมีความสนิทสนมคุ้นเคย มีความรักความสมัครสมานสามัคคีกัน พูดคุยกันอย่างถูกคอ ทั้งยังผลัดกันนวดให้กันและกันอีกด้วย ครั้นเหล่าภิกษุรู้เรื่อง จึงสงสัยและพูดคุยสนทนาไปต่างๆ นานา

วันหนึ่ง เหล่าภิกษุได้พูดคุยสนทนากันที่โรงธรรมสภาว่า “ภิกษุทั้งสองรูปนี้ มีใจคอดุร้าย หยาบคายเฉพาะกับบุคคลอื่น แต่ทำไมเมื่อทั้งสองรูปนี้อยู่กุฏิเดียวกัน กลับไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเลย ทั้งยังมีความรักสนิทสนมกันดีมาก” ขณะที่เหล่าภิกษุกำลังสนทนากัน พระบรมศาสดาได้เสด็จมาและตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกำลังสนทนาพูดคุยเรื่องอะไรกันอยู่” เหล่าภิกษุได้กราบทูลให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ที่ภิกษุทั้งสองรูปนี้ มีอุปนิสัยดุร้ายหยาบคาย แต่พอเห็นหน้ากันแล้วกลับมีความรัก มีความสามัคคี มีความสนิทสนมกัน แม้ในชาติก่อนเธอทั้งสองก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน” เมื่อได้ฟังพระดำรัสดังนั้น เหล่าภิกษุอยากจะรู้เรื่องราวในอดีต จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ฟัง พระบรมศาสดาจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ สำเร็จราชการทุกอย่างแทนพระราชา ทั้งยังเป็นผู้ถวายอรรถและธรรมให้กับพระราชาอีกด้วย ส่วนพระราชามีอุปนิสัยละโมบในพระราชทรัพย์ และทรงมีม้าอยู่ตัวหนึ่งชื่อมหาโสณะ

วันหนึ่ง พวกพ่อค้าม้าชาวเมืองอุตตราบถ นำม้า ๕๐๐ ตัว มาขายที่เมืองพาราณสี พวกอำมาตย์จึงเข้าไปกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ ช่วงแรก พระโพธิสัตว์เป็นคนตีราคาม้า จึงตีราคาตามรูปร่างของม้า และตามความเหมาะสม แล้วจ่ายทรัพย์ให้กับพวกพ่อค้าม้าด้วยตนเอง แต่ช่วงหลัง พระราชาเห็นพระโพธิสัตว์ไม่ต่อรองลดราคาม้าลง จึงเกิดความเสียดายพระราชทรัพย์ จึงตรัสเรียกอำมาตย์คนอื่นมาเข้าเฝ้าแล้วตรัสบอกว่า “ท่านจงไปทำหน้าที่ตีราคาม้า ก่อนจะตีราคาม้า ให้ปล่อยม้ามหาโสณะเข้าไปกัดม้าทั้งหลายให้เป็นแผลเสียก่อน เพื่อจะได้กดราคาม้าลงมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

เมื่ออำมาตย์ได้รับพระบัญชาแล้ว ก็ทำตามพระประสงค์ทันที ฝ่ายพ่อค้าเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นอำมาตย์คนใหม่ปล่อยม้ามากัดม้าของพวกตน แล้วกดราคาม้าลง จึงนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าไปหาอำมาตย์พระโพธิสัตว์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกันเมื่อตอนมาขายม้าใหม่ๆ พระโพธิสัตว์ได้ถามว่า “ที่เมืองของพวกท่าน มีม้าอย่างม้ามหาโสณะไหม พวกพ่อค้าตอบว่า มีอยู่ตัวหนึ่งชื่อสุหนุ ม้าตัวนี้หยาบคายมาก” พระโพธิสัตว์จึงบอกว่า “คราวหน้า เมื่อพวกท่านนำม้ามาขายอีก ให้นำม้าตัวนี้เดินทางมาด้วย” พวกพ่อค้าม้าก็รับคำ

เมื่อพวกพ่อค้าชาวเมืองอุตตราบถเดินทางเอาม้ามาขายอีก ก็ได้นำม้าสุหนุติดมาด้วย พระราชาทรงรู้ว่า พวกพ่อค้าชาวเมืองอุตตราบถนำม้ามาขายอีก จึงรับสั่งให้เปิดสีหบัญชร เพื่อทอดพระเนตรดูม้าทั้งหลาย แล้วมีพระบัญชาให้ปล่อยม้ามหาโสณะออกไปทำงานทันที พวกพ่อค้าเห็นม้ามหาโสณะเข้ามากัดม้าของพวกตน จึงรีบปล่อยม้าสุหนุออกไปทันที พอม้าทั้งสองประจัญหน้ากัน ก็กลับเลียตัวให้กันและกัน ไม่ทำร้ายกัน มีท่าทีสนิทสนมกันมาก เหตุการณ์จึงไม่เป็นอย่างที่ตั้งพระทัยไว้

พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น จึงเกิดความสงสัยขึ้นมาทันที ได้ตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า “ม้าสองตัวนี้ ทำไมไม่กัดกัน แต่จะดุร้ายหยาบคายกัดเฉพาะม้าตัวอื่น มิหนำซ้ำ ม้าสองตัวนี้เห็นกันแล้ว กลับเลียตัวให้กันและกัน มีท่าทีสนิทสนม เหมือนเคยได้อยู่ร่วมกันมานาน เป็นเพราะเหตุใดหนอ”

พระโพธิสัตว์กราบทูลให้ทรงทราบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ม้าสองตัวนี้มันมีปกติเสมอกัน มีธาตุเสมอกัน” แล้วกราบทูลอธิบายว่า “ม้าทั้งสองตัวนี้ มีความรักสนิทสนมกัน เพราะมีอุปนิสัยดุร้ายหยาบคายเหมือนกัน และยังเสมอกัน ทั้งชอบวิ่ง ชอบคะนอง และชอบกัดเชือกที่ล่ามอยู่เป็นประจำ ความที่มีอัธยาศัยเสมอกัน จึงไม่กัดไม่ทำร้ายกัน” เมื่อพระโพธิสัตว์กราบทูลจบ ก็ถวายโอวาทให้กับพระราชาอีกว่า “ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระราชาพึงอย่ามีความโลภจนเกินงาม อย่ารังแกผู้น้อย ทำสมบัติของคนอื่นให้เสียหาย ขอให้พระองค์ตีราคาม้า และจ่ายทรัพย์ให้กับพวกพ่อค้าม้าไปตามความเหมาะสมเถิด พระเจ้าข้า” เมื่อพวกพ่อค้าม้าได้ราคาตามเป็นจริง ต่างพากันร่าเริงยินดีกันถ้วนหน้า แล้วพากันกลับเมืองไป

เราจะเห็นได้ว่า คนเราจะอยู่ร่วมกันหรือคบหาสมาคมกันด้วยธาตุในตัว คือ มีอุปนิสัยใจคอตรงกัน มีศีลและทิฐิเสมอกัน มีความประพฤติที่เหมือนๆ กัน จึงสามารถไปด้วยกันได้ คนดีคบหากับคนดี คนพาลก็คบกับคนพาล บัณฑิตนักปราชญ์คบหาสมาคมกับบัณฑิตนักปราชญ์ เพราะเหตุนั้น สังคมจึงแยกกันด้วยความประพฤติที่แตกต่างกันโดยธาตุ เพราะสัตว์ทั้งหลายคบกันโดยธาตุ ดังนั้น เราควรจะมีธาตุที่บริสุทธิ์ คบหาแต่ผู้บริสุทธิ์ มีศีลมีธรรม เพื่อชีวิตของเราจะได้เจริญรุ่งเรืองสูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป

วันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ผู้ไม่รู้จักประมาณตน

ความเพียรเป็นขุมกำลังอันสำคัญ ที่จะทำให้เราสามารถล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าปราศจากความเพียรแล้ว ยากที่จะหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ในสังสารวัฏนี้ไปได้ เพราะฉะนั้น ความเพียรในการปฏิบัติธรรม จึงเป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงธรรม ซึ่งเราจะรู้ได้ด้วยตัวของเราเองว่า เรามีความเพียรแค่ไหน ถ้าเราไม่ย่อท้อ หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เราย่อมจะเห็นการพัฒนาของใจที่มีความก้าวหน้าตลอดเวลา ใจจะหยุดนิ่งไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน และสามารถกำจัดกิเลสอาสวะที่หมักดองอยู่ภายในจิตใจให้หมดสิ้นไปได้ในที่สุด

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช

ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย

ผู้มีปัญญาพึงเห็นบัณฑิตผู้กล่าวสอนชี้โทษว่า เป็นเสมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบบัณฑิตผู้มีปัญญาเช่นนั้น เพราะว่า เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษเลย”

คนบางคนในโลกนี้ เมื่อเห็นคนอื่นประสบความสุขและความสำเร็จ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม มีคนนับหน้าถือตา จะเดินทางไปที่ไหนใครก็ให้การต้อนรับ จึงปรารถนาจะมีชีวิตอย่างนั้นบ้าง แต่ไม่ได้มองดูพื้นฐานของตนเอง ทั้งด้านวัยวุฒิ คุณวุฒิและคุณธรรมต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อม โดยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเขา เมื่อคนทั้งหลาย เห็นความประพฤติอย่างนี้ของบุคคลเช่นนี้ ต่างจะพูดจาติเตียนกันว่า ไม่รู้จักประมาณตัวเอง การไม่รู้จักประมาณตนเอง คิดทะเยอะทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูงมีแต่จะทำให้เกิดผลเสียแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังเรื่องราวที่จะยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

*มก. วินีลกชาดก เล่ม ๕๗/๗๑

*วันหนึ่ง พระเทวทัตอยากเป็นใหญ่ มีความคิดจะบริหารคณะสงฆ์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระวิหารเวฬุวัน แล้วทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้พระภิกษุทั้งหลายนำไปประพฤติปฏิบัติกันจนตลอดชีวิต คือ ภิกษุควรอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ควรนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ควรอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ภิกษุไม่พึงฉันปลาและเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต เมื่อพระบรมศาสดาทรงพิจารณาแล้ว ก็ไม่ทรงอนุญาต

ต่อมา พระเทวทัตได้พูดจาชักชวนภิกษุบวชใหม่ชาววัชชีบุตร ๕๐๐ รูป ซึ่งยังไม่เข้าใจหลักธรรมวินัยเท่าที่ควร จึงติดตามไปอยู่ด้วยที่คยาสีสประเทศ พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรเถระและพระมหาโมคคัลลานเถระมาเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งว่า “เธอทั้งสองจงไปแสดงธรรมแก่ภิกษุวัชชีบุตรทั้ง ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของเธอให้เข้าใจหลักธรรมวินัย แล้วนำกลับมาเถิด” เมื่อรับพุทธบัญชาแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองก็เดินทางไปทำหน้าที่ทันที

เมื่อไปถึงคยาสีสประเทศ พระอัครสาวกทั้งสองเห็นพระเทวทัตนอนแสดงท่าทางเลียนแบบพระบรมศาสดา ต้อนรับพระอัครสาวกทั้งสอง ทำตนเองเหมือนกับเป็นพระพุทธเจ้า แต่พระอัครสาวกทั้งสองก็ไม่ใส่ใจการกระทำนั้น เมื่อแสดงธรรมแก่พระภิกษุบวชใหม่วัชชีบุตรทั้ง ๕๐๐ รูป ให้เข้าใจหลักธรรมวินัยแล้ว ก็พาภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป เหาะกลับมาทางอากาศ เพื่อมายังพระวิหารเวฬุวัน จากนั้นพระสารีบุตรเถระและพระมหาโมคคัลลานเถระ ก็ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

พระบรมศาสดาตรัสถามว่า “สารีบุตร เทวทัตเห็นเธอทั้งสองแล้ว มีท่าทีแสดงอาการอย่างไร” พระสารีบุตรกราบทูลให้ทรงทราบว่า “ข้าพระองค์เห็นพระเทวทัตนอนแสดงท่าทางเลียนแบบพระพุทธองค์พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “เทวทัตได้ทำตามอย่างเราแล้วถึงความพินาศ มิใช่เฉพาะในชาตินี้ แม้ชาติที่ผ่านมา ก็ได้ถึงความพินาศมาแล้ว” เมื่อสดับพระพุทธดำรัสจบ พระอัครสาวกทั้งสองได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ฟัง พระบรมศาสดาจึงตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าวิเทหะเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา ในชาตินั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าวิเทหะ เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เสด็จไปเล่าเรียนศึกษาศิลปศาสตร์ทุกอย่างที่เมืองตักกสิลา จนกระทั่งเล่าเรียนสำเร็จจึงได้เสด็จกลับมา และได้ครองราชสมบัติสืบต่อสันตติวงศ์ หลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคต

ครั้งนั้น มีพญาหงส์ทองตัวหนึ่งอยู่ร่วมกับนางกาแล้วมีลูกด้วยกัน เป็นลูกกาตัวผู้ สีขนของลูกกาตัวนี้ไม่เหมือนกับพ่อพญาหงส์และนางกาแต่อย่างใด สีขนค่อนข้างคล้ำ แม่กาจึงตั้งชื่อว่า วินีลกะ พญาหงส์บินไปหาลูกกาวินีลกะอยู่เป็นประจำ และพญาหงส์ตัวนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีลูกหงส์อยู่ก่อนแล้วถึง ๒ ตัว

เมื่อลูกหงส์ ๒ ตัว เห็นผู้เป็นพ่อบินไปบินมาระหว่างตนกับถิ่นมนุษย์ ก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า “ทำไมพ่อจึงต้องบินไปมาอยู่อย่างนี้” พญาหงส์บอกกับลูกหงส์ว่า “พ่ออยู่ร่วมกับนางกา จึงทำให้มีน้องชายของเจ้าชื่อว่าวินีลกะ พ่อจึงจำเป็นต้องบินไปหาอยู่บ่อยๆ ด้วยความเป็นห่วง”

ลูกหงส์จึงถามที่อยู่ของกาผู้เป็นน้องชาย พญาหงส์ก็บอกว่า น้องชายของเจ้าอาศัยอยู่ในรังบนยอดตาลต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากเมืองมิถิลา ลูกหงส์จึงพูดขึ้นว่า “ลูกทั้งสองจะบินไปนำน้องชายมาอยู่ด้วยกันที่นี่” พญาหงส์ฟังแล้วก็ห้ามปรามว่า “ลูกอย่าไปเลย ถิ่นของพวกมนุษย์น่ารังเกียจ มีภัยอันตรายรอบด้าน พ่อจะไปนำมาเอง”

ลูกหงส์ทั้งสองไม่ฟังคำเตือนของผู้เป็นพ่อ ได้พากันแอบบินไปยังสถานที่ที่พญาหงส์บอกไว้ เมื่อไปถึง ลูกหงส์ทั้งสองได้ให้ลูกกาวินีลกะจับเหนือคอนไม้ แล้วช่วยกันใช้จะงอยปากคาบปลายไม้ข้างละตัว นำลูกกาบินผ่านมาทางเมืองมิถิลา ขณะนั้นพระเจ้ากรุงวิเทหะกำลังประทับบนราชรถเทียมด้วยม้าสินธพสี่ตัว ทรงกระทำประทักษิณเลียบพระนคร ลูกกาเห็นพระราชาแล้วเกิดความคิดขึ้นมาในใจว่า “ตัวเราเองไม่ต่างอะไรกับพระราชาพระองค์นี้ เราเองนั่งอยู่บนราชรถที่เทียมด้วยลูกหงส์สองตัวนี้” แล้วพูดขึ้นมาว่า “ม้าอาชาไนย ๔ ตัว ยังพาพระเจ้าวิเทหะเจ้าเมืองมิถิลาเสด็จไปได้ เราเองมีหงส์สองตัวนี้บินพาเราไปเช่นกัน” เมื่อลูกหงส์ทั้งสองตัวฟังถ้อยคำข่มขี่ตนของลูกกาแล้ว จึงโกรธขึ้นมาทันที อยากจะปล่อยจะงอยปากที่คาบกิ่งไม้ ให้ลูกกาวินีลกะตกไปตาย แต่ก็กลัวพ่อจะโกรธ จึงได้แต่อดกลั้นคาบปลายไม้บินพาไปจนกระทั่งถึงที่อยู่อาศัยของตน

จากนั้น ลูกหงส์ทั้งสองได้เข้าไปหาพญาหงส์ แล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พญาหงส์ฟัง พญาหงส์ฟังแล้วจึงโกรธตวาดไปว่า “เจ้าลูกกาจะวิเศษไปกว่าลูกหงส์ของเราตรงไหน เจ้าคิดอย่างไรถึงได้พูดจาข่มขี่ลูกหงส์ของเรา และยังมาเปรียบลูกหงส์ของเราเหมือนม้าเทียมราชรถ เจ้าช่างไม่รู้จักประมาณตนเสียเลย ที่นี่ไม่ต้อนรับเจ้า เจ้าอย่ามาอยู่ที่ภูเขานี้เลย จงไปอยู่เสียที่อื่น” เมื่อพญาหงส์ว่ากล่าวเสร็จแล้ว สั่งลูกหงส์ทั้งสองว่า “พวกเจ้าจงพาลูกกาวินีลกะกลับไปปล่อยยังสถานที่สำหรับเทหยากเยื่อในเมืองมิถิลาเถิด” ลูกหงส์ทั้งสองได้ทำตามที่พ่อหงส์สั่งทันที

เราจะเห็นว่า การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่รู้จักประมาณตน ทั้งที่ตนเองยังไม่มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิโดยคิดเอาเองว่า เรามีความรู้ มีความสามารถ และมีคุณธรรมเทียบเท่าเหล่าบัณฑิตนักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย การกระทำเช่นนี้ มีแต่จะถูกคนทั้งหลายติเตียนเอา ดังนั้น เวลาที่เราจะพูด หรือจะทำอะไรลงไป ต้องพินิจพิจารณากันให้ดีว่า เหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้ไม่เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย และเราจะได้รับความเมตตา รวมทั้งเป็นที่รักของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย

วันอาทิตย์ที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

อย่าคิดว่าตัวเก่งกว่าใคร

ทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนต้องแสวงหาความรู้ด้วยกันทั้งนั้น และความรู้ในโลกนี้ มีอยู่มากมายหลากหลายสาขาวิชา ต่างคนต่างแสวงหาความรู้เพิ่มเติมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อจะได้เป็นปัจจัยสนับสนุนในการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว ส่วนใหญ่ทำกันมาเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะมีต่อไปในอนาคต แต่จะมีใครรู้บ้างว่า ความรู้ที่แท้จริง คือความรู้ที่มาจากภายใน ซึ่งเกิดจากใจที่หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์ เป็นความรู้อันเกิดจากปัญญาบริสุทธิ์ที่อยู่ภายใน ที่สามารถทำให้เราบริสุทธิ์ทั้งกายวาจาใจ และเป็นความรู้ที่ยิ่งศึกษายิ่งมีความสุข และที่สำคัญสามารถทำให้เราหลุดพ้นจากอวิชชา หลุดพ้นจากการบังคับบัญชาของพญามารได้ ซึ่งการที่จะศึกษาความรู้อันบริสุทธิ์นี้ได้ ต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในมังคลัตถทีปนี ความว่า

ท่านผู้ฉลาดทั้งหลายกล่าวว่า ปัญญาแลประเสริฐสุด ดุจพระจันทร์ประเสริฐล้ำกว่ามวลหมู่ดาราทั้งหลาย ศีลอย่างหนึ่ง ศิริอย่างหนึ่ง ธรรมของสัตบุรุษอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา”

คนบางคนเมื่อจบการศึกษาสูงมาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงแล้ว เกิดความคิดขึ้นว่าเราเก่ง เราแน่ เรามีความรู้ไม่น้อยหน้าใคร แล้วเกิดทิฐิมานะขึ้นมา จึงเที่ยวพูดจาข่มเหงดูหมิ่นคนอื่น และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ แท้ที่จริงแล้ว ความรู้ที่เล่าเรียนมา เป็นแค่ความรู้ที่สืบต่อกันมาเท่านั้น ยังไม่ใช่ความรู้ที่สมบูรณ์ที่สุด และคนที่เรียนจบการศึกษาสูง ใช่ว่าจะมีคุณธรรมสูงเสมอไป เพราะคุณธรรมภายในใจ เขาวัดกันที่ความประพฤติดีมีศีลมีธรรม มีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตนต่างหาก ดังเรื่องของปริพาชกผู้ถือดีคนหนึ่ง ที่คิดว่าตนเองเก่งและมีความรู้มาก จึงเที่ยวโอ้อวดโต้วาทะกับคนทั่วแว่นแคว้น เรื่องมีอยู่ว่า

*มก. วิคติจฉชาดก เล่ม ๕๗/๔๙๘

*ปริพาชกคนหนึ่งในครั้งพุทธกาล เที่ยวไปยังเมืองต่างๆ เพื่อค้นหาคนที่จะโต้วาทะกับตน แต่หาใครที่พอจะโต้วาทะด้วยไม่ได้ วันหนึ่งเดินทางมาถึงเมืองสาวัตถี จึงถามชาวเมืองว่ามีใครบ้างไหม ที่มีความรู้พอจะโต้ตอบวาทะกับตนได้ เพราะพื้นปฐพีนี้ยังหาผู้ที่มีฝีปากพอที่จะโต้วาทะด้วยไม่ได้ ถ้าใครรู้ช่วยบอกหน่อย ชาวเมืองจึงบอกว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นที่สามารถจะโต้วาทะกับท่านได้ ตอนนี้พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ท่านจงไปหาพระองค์เถิด”

เมื่อปริพาชกรับทราบแล้ว จึงเดินทางไปที่วัดพระเชตวันพร้อมกับชาวเมืองทันที ขณะไปถึงวัด ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่พุทธบริษัทสี่อยู่ที่ศาลา จึงเข้าไปเฝ้าแล้วทูลบอกวัตถุประสงค์ที่ตนอุตส่าห์เดินทางไกลมาเพื่อหาคนโต้ตอบวาทะด้วย ซึ่งชาวเมืองบอกว่าพระพุทธองค์ทรงสามารถโต้วาทะด้วยได้ ตนจึงมาเข้าเฝ้าเพื่อวัตถุประสงค์นี้ พระบรมศาสดาตรัสบอกว่า “ปริพาชกเธออยากถามอะไรถามมาเถิด” ปริพาชกจึงถามปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่ยากสำหรับปุถุชนทั่วไป แต่สำหรับพระบรมศาสดาแล้วถือว่าเป็นปัญหาพื้นๆ ฉะนั้น จึงทรงแก้ปัญหาของปริพาชกได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

จากนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสถามปัญหาสั้นๆ กับปริพาชกบ้างว่า อะไรชื่อว่าหนึ่ง ปริพาชกฟังคำถามจากพระพุทธองค์แล้ว จึงหาคำตอบ แต่เมื่อขบคิดทบไปทวนมา คิดอย่างไรก็คิดไม่ออก จนหมดปัญญาที่จะหาคำตอบมาทูลวิสัชนา จึงรู้สึกเสียหน้า รีบลุกขึ้นเดินลงจากศาลาทันที มหาชนเห็นอาการของปริพาชกแล้ว ก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปริพาชกคนนี้นึกว่าตนเองเก่ง พอเอาเข้าจริงๆ แค่ถูกถามปัญหาเพียงข้อเดียวก็หมดภูมิปัญญา ยังไม่ทันได้ตอบปัญหาเลย รีบลุกหนีไปเสียแล้ว”

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย อย่าว่าแต่ในชาตินี้เลย ที่เราข่มปริพาชกผู้นี้ด้วยปัญหาเพียงข้อเดียว แม้ชาติที่ผ่านๆ มา ก็ถูกเราข่มด้วยปัญหาแค่ข้อเดียวมาแล้วเหมือนกัน” จากนั้น พระบรมศาสดาทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้พุทธบริษัทฟังว่า ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ชาตินั้นพระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ในแคว้นกาสี ครั้นเติบโตขึ้น ด้วยบุญกุศลที่เคยบำเพ็ญเนกขัมมบารมีมาหลายภพหลายชาติ พิจารณาเห็นด้วยสติปัญญาว่า เพศฆราวาสไม่มีสาระแก่นสารอะไร จึงเกิดความเบื่อหน่าย แล้วออกบวชเป็นฤๅษี เข้าไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์

เมื่อฤๅษีพระโพธิสัตว์อาศัยอยู่ในที่แห่งนั้นนานวันเข้า อยากจะออกจากป่ามาอยู่ชานเมืองบ้าง ท่านจึงได้มาอาศัยอยู่ที่บรรณศาลาใกล้ริมฝั่งแม่น้ำที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นมีปริพาชกคนหนึ่งคิดว่าตนเองมีความรู้มาก ได้เล่าเรียนศึกษามาอย่างดี จึงเกิดความทะนงตนเที่ยวไปยังเมืองต่างๆ เพื่อหาคนที่จะโต้วาทะด้วย แต่ยังหาคนที่จะโต้ตอบวาทะไม่ได้ จนกระทั่งเดินทางมาถึงหมู่บ้านที่พระโพธิสัตว์พักอาศัยอยู่ และได้ถามกับชาวบ้านว่า ที่หมู่บ้านแห่งนี้ มีใครที่มีความรู้ พอจะโต้วาทะกับตนได้บ้าง

ชาวบ้านบอกว่า “มีฤๅษีอยู่ท่านหนึ่งอาศัยอยู่ที่บรรณศาลาใกล้แม่น้ำ ฤๅษีท่านนี้มีความรู้ความสามารถพอที่จะโต้ตอบวาทะกับท่านได้ ท่านจงไปหาเขาเถิด” พอปริพาชกฟังชาวบ้านพูดจบ รีบชักชวนชาวบ้านจำนวนมากเดินทางไปที่บรรณศาลาทันที เมื่อไปถึงได้ขึ้นไปหาพระฤๅษี พระโพธิสัตว์กระทำการต้อนรับเชื้อเชิญให้นั่ง ปริพาชกบอกวัตถุประสงค์ที่ตนมาให้ท่านทราบ

ฤๅษีพระโพธิสัตว์จึงถามปัญหากับปริพาชกขึ้นก่อนว่า “ท่านเคยดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา อันมีสีและกลิ่นอบอวลบ้างไหม” ปริพาชกฟังปัญหาแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า “อะไรคือคงคา คงคาทราย คงคาน้ำ คงคาฝั่งนี้ หรือคงคาฝั่งโน้น” ฤๅษีพระโพธิสัตว์กล่าวโต้กลับไปว่า “ท่านปริพาชก เมื่อท่านแยกน้ำกับทรายของฝั่งนี้และฝั่งโน้นออกจากกันเสียแล้ว อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นแม่น้ำคงคาได้อย่างไรกัน” ปริพาชกฟังคำพูดของฤๅษีพระโพธิสัตว์ คิดทบไปทวนมา ถึงจะคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก หมดปัญญาที่จะหาคำตอบมาแก้ปัญหา จึงรู้สึกเสียหน้ามาก รีบลุกขึ้น เดินลงจากบรรณศาลาหนีไปทันที

พระโพธิสัตว์จึงแสดงธรรมให้กับมหาชนที่นั่งอยู่ว่า “บุคคลเมื่อได้เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าแล้ว ยังไม่พอใจปรารถนาสิ่งนั้น บุคคลยังไม่เห็นสิ่งใด แต่เขากลับปรารถนาสิ่งนั้น เราเข้าใจว่าบุคคลนั้นจักท่องเที่ยวไปอีกยาวนาน เมื่ออยากได้สิ่งใด จักไม่ได้สิ่งนั้นอีกเลย บุคคลได้สิ่งใดแล้ว ยังไม่ยินดีด้วยสิ่งนั้น แม้ปรารถนาสมบัติอันใด แต่ยังติเตียนสมบัติที่ตนได้มาอีก ความปรารถนาของบุคคลนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เราขอนอบน้อมแด่ผู้ปราศจากความปรารถนา” เมื่อมหาชนฟังธรรมจบแล้ว ต่างซาบซึ้งกันเป็นอย่างมาก แล้วกราบลาฤๅษีพระโพธิสัตว์ และแยกย้ายกันกลับบ้าน

เราจะเห็นได้ว่า คนที่มีความรู้แค่นิดหน่อย แล้วเกิดความคิดว่าตนเองมีความรู้มาก เพราะได้เล่าเรียนศึกษามามาก มีอุปนิสัยโอ้อวด เที่ยวเอาความรู้ข่มเหงผู้อื่น หากยังไม่เจอผู้ที่รู้จริงและพูดจาโต้ตอบได้ ยังเที่ยวพูดจาข่มผู้อื่นอยู่เรื่อยไป แต่พอเจอท่านผู้รู้เข้า จะถอยร่นไม่เป็นท่า นี้แสดงให้เห็นว่านอกจากจะไม่รู้จริงแล้วยังมากไปด้วยทิฐิมานะ คนประเภทนี้มักจะไม่ค่อยยอมรับความจริง หรือเมื่อรู้ความจริงแล้วไม่อยากจะยอมเข้าใจ ยังคงยึดถือความคิดเห็นเดิมๆ ของตน แล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิดขยายไปในวงกว้าง ส่วนคนที่รู้จริง มักจะมีอุปนิสัยเจียมเนื้อเจียมตัว มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตน คนประเภทนี้ เหมือนกับน้ำที่เต็มขวด เวลาเขย่าจะไม่มีเสียงดัง ซึ่งเราควรจะเป็นบุคคลประเภทหลังดีกว่า และให้คิดเสมอว่าสิ่งที่เรายังไม่รู้ ยังไม่ได้ศึกษายังมีอยู่อีกมากมาย โดยเฉพาะการศึกษาความรู้ภายใน เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งใจศึกษา เพราะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวเรา เป็นความรู้ที่จะทำให้เราเอาชนะกิเลสอาสวะได้ กระทั่งหลุดพ้นไปสู่อายตนนิพพาน