วันศุกร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

ผู้ไม่รู้จักประมาณตน

ความเพียรเป็นขุมกำลังอันสำคัญ ที่จะทำให้เราสามารถล่วงพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าปราศจากความเพียรแล้ว ยากที่จะหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ในสังสารวัฏนี้ไปได้ เพราะฉะนั้น ความเพียรในการปฏิบัติธรรม จึงเป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงธรรม ซึ่งเราจะรู้ได้ด้วยตัวของเราเองว่า เรามีความเพียรแค่ไหน ถ้าเราไม่ย่อท้อ หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เราย่อมจะเห็นการพัฒนาของใจที่มีความก้าวหน้าตลอดเวลา ใจจะหยุดนิ่งไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน และสามารถกำจัดกิเลสอาสวะที่หมักดองอยู่ภายในจิตใจให้หมดสิ้นไปได้ในที่สุด

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏในขุททกนิกาย ธรรมบท ความว่า

นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช

ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย

ผู้มีปัญญาพึงเห็นบัณฑิตผู้กล่าวสอนชี้โทษว่า เป็นเสมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบบัณฑิตผู้มีปัญญาเช่นนั้น เพราะว่า เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษเลย”

คนบางคนในโลกนี้ เมื่อเห็นคนอื่นประสบความสุขและความสำเร็จ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม มีคนนับหน้าถือตา จะเดินทางไปที่ไหนใครก็ให้การต้อนรับ จึงปรารถนาจะมีชีวิตอย่างนั้นบ้าง แต่ไม่ได้มองดูพื้นฐานของตนเอง ทั้งด้านวัยวุฒิ คุณวุฒิและคุณธรรมต่างๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อม โดยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นเขา เมื่อคนทั้งหลาย เห็นความประพฤติอย่างนี้ของบุคคลเช่นนี้ ต่างจะพูดจาติเตียนกันว่า ไม่รู้จักประมาณตัวเอง การไม่รู้จักประมาณตนเอง คิดทะเยอะทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูงมีแต่จะทำให้เกิดผลเสียแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังเรื่องราวที่จะยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

*มก. วินีลกชาดก เล่ม ๕๗/๗๑

*วันหนึ่ง พระเทวทัตอยากเป็นใหญ่ มีความคิดจะบริหารคณะสงฆ์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระวิหารเวฬุวัน แล้วทูลขอวัตถุ ๕ ประการ เพื่อให้พระภิกษุทั้งหลายนำไปประพฤติปฏิบัติกันจนตลอดชีวิต คือ ภิกษุควรอยู่ป่าเป็นวัตร ควรเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ควรนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ควรอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ภิกษุไม่พึงฉันปลาและเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต เมื่อพระบรมศาสดาทรงพิจารณาแล้ว ก็ไม่ทรงอนุญาต

ต่อมา พระเทวทัตได้พูดจาชักชวนภิกษุบวชใหม่ชาววัชชีบุตร ๕๐๐ รูป ซึ่งยังไม่เข้าใจหลักธรรมวินัยเท่าที่ควร จึงติดตามไปอยู่ด้วยที่คยาสีสประเทศ พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรเถระและพระมหาโมคคัลลานเถระมาเข้าเฝ้า แล้วรับสั่งว่า “เธอทั้งสองจงไปแสดงธรรมแก่ภิกษุวัชชีบุตรทั้ง ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของเธอให้เข้าใจหลักธรรมวินัย แล้วนำกลับมาเถิด” เมื่อรับพุทธบัญชาแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองก็เดินทางไปทำหน้าที่ทันที

เมื่อไปถึงคยาสีสประเทศ พระอัครสาวกทั้งสองเห็นพระเทวทัตนอนแสดงท่าทางเลียนแบบพระบรมศาสดา ต้อนรับพระอัครสาวกทั้งสอง ทำตนเองเหมือนกับเป็นพระพุทธเจ้า แต่พระอัครสาวกทั้งสองก็ไม่ใส่ใจการกระทำนั้น เมื่อแสดงธรรมแก่พระภิกษุบวชใหม่วัชชีบุตรทั้ง ๕๐๐ รูป ให้เข้าใจหลักธรรมวินัยแล้ว ก็พาภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป เหาะกลับมาทางอากาศ เพื่อมายังพระวิหารเวฬุวัน จากนั้นพระสารีบุตรเถระและพระมหาโมคคัลลานเถระ ก็ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

พระบรมศาสดาตรัสถามว่า “สารีบุตร เทวทัตเห็นเธอทั้งสองแล้ว มีท่าทีแสดงอาการอย่างไร” พระสารีบุตรกราบทูลให้ทรงทราบว่า “ข้าพระองค์เห็นพระเทวทัตนอนแสดงท่าทางเลียนแบบพระพุทธองค์พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “เทวทัตได้ทำตามอย่างเราแล้วถึงความพินาศ มิใช่เฉพาะในชาตินี้ แม้ชาติที่ผ่านมา ก็ได้ถึงความพินาศมาแล้ว” เมื่อสดับพระพุทธดำรัสจบ พระอัครสาวกทั้งสองได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ตรัสเล่าให้ฟัง พระบรมศาสดาจึงตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าวิเทหะเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา ในชาตินั้น พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าวิเทหะ เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เสด็จไปเล่าเรียนศึกษาศิลปศาสตร์ทุกอย่างที่เมืองตักกสิลา จนกระทั่งเล่าเรียนสำเร็จจึงได้เสด็จกลับมา และได้ครองราชสมบัติสืบต่อสันตติวงศ์ หลังจากพระราชบิดาเสด็จสวรรคต

ครั้งนั้น มีพญาหงส์ทองตัวหนึ่งอยู่ร่วมกับนางกาแล้วมีลูกด้วยกัน เป็นลูกกาตัวผู้ สีขนของลูกกาตัวนี้ไม่เหมือนกับพ่อพญาหงส์และนางกาแต่อย่างใด สีขนค่อนข้างคล้ำ แม่กาจึงตั้งชื่อว่า วินีลกะ พญาหงส์บินไปหาลูกกาวินีลกะอยู่เป็นประจำ และพญาหงส์ตัวนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีลูกหงส์อยู่ก่อนแล้วถึง ๒ ตัว

เมื่อลูกหงส์ ๒ ตัว เห็นผู้เป็นพ่อบินไปบินมาระหว่างตนกับถิ่นมนุษย์ ก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า “ทำไมพ่อจึงต้องบินไปมาอยู่อย่างนี้” พญาหงส์บอกกับลูกหงส์ว่า “พ่ออยู่ร่วมกับนางกา จึงทำให้มีน้องชายของเจ้าชื่อว่าวินีลกะ พ่อจึงจำเป็นต้องบินไปหาอยู่บ่อยๆ ด้วยความเป็นห่วง”

ลูกหงส์จึงถามที่อยู่ของกาผู้เป็นน้องชาย พญาหงส์ก็บอกว่า น้องชายของเจ้าอาศัยอยู่ในรังบนยอดตาลต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากเมืองมิถิลา ลูกหงส์จึงพูดขึ้นว่า “ลูกทั้งสองจะบินไปนำน้องชายมาอยู่ด้วยกันที่นี่” พญาหงส์ฟังแล้วก็ห้ามปรามว่า “ลูกอย่าไปเลย ถิ่นของพวกมนุษย์น่ารังเกียจ มีภัยอันตรายรอบด้าน พ่อจะไปนำมาเอง”

ลูกหงส์ทั้งสองไม่ฟังคำเตือนของผู้เป็นพ่อ ได้พากันแอบบินไปยังสถานที่ที่พญาหงส์บอกไว้ เมื่อไปถึง ลูกหงส์ทั้งสองได้ให้ลูกกาวินีลกะจับเหนือคอนไม้ แล้วช่วยกันใช้จะงอยปากคาบปลายไม้ข้างละตัว นำลูกกาบินผ่านมาทางเมืองมิถิลา ขณะนั้นพระเจ้ากรุงวิเทหะกำลังประทับบนราชรถเทียมด้วยม้าสินธพสี่ตัว ทรงกระทำประทักษิณเลียบพระนคร ลูกกาเห็นพระราชาแล้วเกิดความคิดขึ้นมาในใจว่า “ตัวเราเองไม่ต่างอะไรกับพระราชาพระองค์นี้ เราเองนั่งอยู่บนราชรถที่เทียมด้วยลูกหงส์สองตัวนี้” แล้วพูดขึ้นมาว่า “ม้าอาชาไนย ๔ ตัว ยังพาพระเจ้าวิเทหะเจ้าเมืองมิถิลาเสด็จไปได้ เราเองมีหงส์สองตัวนี้บินพาเราไปเช่นกัน” เมื่อลูกหงส์ทั้งสองตัวฟังถ้อยคำข่มขี่ตนของลูกกาแล้ว จึงโกรธขึ้นมาทันที อยากจะปล่อยจะงอยปากที่คาบกิ่งไม้ ให้ลูกกาวินีลกะตกไปตาย แต่ก็กลัวพ่อจะโกรธ จึงได้แต่อดกลั้นคาบปลายไม้บินพาไปจนกระทั่งถึงที่อยู่อาศัยของตน

จากนั้น ลูกหงส์ทั้งสองได้เข้าไปหาพญาหงส์ แล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พญาหงส์ฟัง พญาหงส์ฟังแล้วจึงโกรธตวาดไปว่า “เจ้าลูกกาจะวิเศษไปกว่าลูกหงส์ของเราตรงไหน เจ้าคิดอย่างไรถึงได้พูดจาข่มขี่ลูกหงส์ของเรา และยังมาเปรียบลูกหงส์ของเราเหมือนม้าเทียมราชรถ เจ้าช่างไม่รู้จักประมาณตนเสียเลย ที่นี่ไม่ต้อนรับเจ้า เจ้าอย่ามาอยู่ที่ภูเขานี้เลย จงไปอยู่เสียที่อื่น” เมื่อพญาหงส์ว่ากล่าวเสร็จแล้ว สั่งลูกหงส์ทั้งสองว่า “พวกเจ้าจงพาลูกกาวินีลกะกลับไปปล่อยยังสถานที่สำหรับเทหยากเยื่อในเมืองมิถิลาเถิด” ลูกหงส์ทั้งสองได้ทำตามที่พ่อหงส์สั่งทันที

เราจะเห็นว่า การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่รู้จักประมาณตน ทั้งที่ตนเองยังไม่มีทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิโดยคิดเอาเองว่า เรามีความรู้ มีความสามารถ และมีคุณธรรมเทียบเท่าเหล่าบัณฑิตนักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย การกระทำเช่นนี้ มีแต่จะถูกคนทั้งหลายติเตียนเอา ดังนั้น เวลาที่เราจะพูด หรือจะทำอะไรลงไป ต้องพินิจพิจารณากันให้ดีว่า เหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้ไม่เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย และเราจะได้รับความเมตตา รวมทั้งเป็นที่รักของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย

ไม่มีความคิดเห็น: