วันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

จากพรานมาเป็นพระ

การเรียนรู้มีสองวิชาหลักที่ต้องเรียนรู้ คือ วิชาชีพกับวิชาชีวิต วิชาชีพหมายถึงความรู้ความสามารถเพื่อปากเพื่อท้องในชาตินี้ ส่วนวิชาชีวิตเป็นวิชาที่จะละทิ้งไม่ได้ วิชาชีวิตเป็นวิชาในการเอาตัวรอดจากภัยจากความทุกข์ในสังสารวัฏ เป็นวิชาที่ทุกชีวิตจะต้องให้ความสำคัญ เพราะชีวิตหลังความตายนั้นยืนยาวกว่าความเป็นอยู่ในชาตินี้ ผู้ที่เห็นแต่ความสำเร็จสมหวังในปัจจุบันชาติ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตในปรโลก ถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้คับแคบ แม้ว่าหลายๆ ท่านจะจบดอกเตอร์มีปริญญาสี่ห้าใบก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่สร้างบุญบารมีเพิ่มก็ย่อมยากที่จะเห็นความสำเร็จสมหวังได้อีก เพราะมองชีวิตออกแค่ก่อนตาย ฉะนั้น การจะศึกษาวิชาชีวิตให้ได้ดี และมีความรู้ความเข้าใจสมบูรณ์ก็จะต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติธรรม ทำใจหยุดใจนิ่ง ยิ่งใจเราหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ได้เท่าไหร่ ความจริงของชีวิตเราก็จะสามารถเรียนรู้ได้ง่ายมากเท่านั้น แล้วจะทำให้เรารู้ว่าชีวิตข้างหน้านั้น เราควรจะดำเนินไปอย่างไร

มีวาระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในเถราคาถา อปทาน ความว่า

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ

ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ

เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ

น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี ฯ

น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ อุโภ สมวิปากิโน

อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ

ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ สภาพทั้งสองคือ ธรรมและอธรรม ย่อมมีวิบากไม่เสมอกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ”

ผู้ประพฤติธรรม ไม่ว่าจะหลับจะตื่นจะนั่งนอนยืนเดิน ก็ย่อมมีแต่ความสุข เพราะธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมคือสภาพที่ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์และความดีทั้งหลาย แต่ไหนแต่ไรมาไม่มีผู้ใดเลยที่ปฏิบัติธรรมแล้วจะตกต่ำ โดยเฉพาะเมื่อสามารถเข้าถึงพระธรรมกายภายในที่เป็นแก่นของชีวิตได้ พระธรรมกายก็จะช่วยประคับประคองผู้เข้าถึงให้อยู่ในเส้นทางแห่งความดีตลอดไป

ธรรมะที่ปฏิบัติคือแผนที่เดินทางไปสู่สวรรค์และพระนิพพาน พระธรรมเป็นความรู้ที่ยิ่งกว่าความรู้ทั้งหลาย เพราะผู้ที่รู้และดำรงตนอยู่ในธรรมแล้วจะเข้าถึงความสุขความสำเร็จที่ยิ่งกว่าความสุขความสำเร็จที่ได้มาจากสิ่งอื่น ผู้ที่ให้ความสำคัญให้ความเคารพในพระธรรม ย่อมเป็นบุคคลที่มีแต่ความสุข ดังเช่นอดีตชาติของพระธัมมิกะเถระผู้มีอัธยาศัยชอบสร้างความดี มีใจเป็นบุญกุศล ด้วยอานิสงส์นี้ทำให้ท่านได้เกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง

*มก. ธัมมิกเถรคาถา เล่ม ๕๒/๕๐

*ในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขีท่านก็ได้มาเกิดร่วมยุคกับพระพุทธองค์ ท่านได้มีประกอบอาชีพเป็นพรานป่าล่าสัตว์ วันหนึ่ง ขณะที่พระบรมศาสดากำลังแสดงธรรมโปรดเหล่าเทพเทวาอยู่ในป่านั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่นายพรานกำลังล่าสัตว์ ขณะกำลังเดินป่าล่าอยู่นั้นก็ได้มาถึงป่าแห่งนั้น ซึ่งป่าแห่งนั้นเป็นป่าที่สว่างไสวด้วยรัศมีของพระพุทธองค์ และหมู่ทวยเทพทั้งหลาย นายพรานเห็นพระพุทธองค์แล้วก็บังเกิดความเลื่อมใสไม่มีประมาณ ยิ่งได้สดับพระธรรมเทศนาที่กำลังแสดงโปรดเหล่าทวยเทพ ก็ยิ่งมีเพิ่มพูนความเลื่อมใสศรัทธามากยิ่งขึ้น และได้บังเกิดความเคารพพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์กำลังแสดงอยู่เป็นพิเศษถึงแม้ว่าจะไม่เข้าใจบทแห่งธรรมที่ทรงแสดงอยู่ก็ตาม เพราะคิดว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์แสดงโปรดเหล่าเทวดา ต้องเป็นความรู้ที่หาฟังได้ยาก และตลอดชีวิตหลังจากวันนั้นนายพรานก็ได้ทำความเคารพเลื่อมใสในพระธรรมอย่างสมํ่าเสมอ ด้วยบุญนั้น ก็ส่งผลให้ท่านได้เกิดอยู่ในสองภพภูมิเท่านั้นคือในเทวโลกและมนุษยโลก

ต่อมาในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านก็ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในโกศลรัฐ มีชื่อว่าธัมมิกะ และในวันที่ท่านอนาถบิณฑกเศรษฐีได้ถวายวัดพระเชตวันมหาวิหารแด่พระหมู่สงฆ์โดยมีพระพุทธองค์เป็นประมุข มานพหนุ่มธัมมิกะก็ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์นั้นด้วย ทำให้ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรมพระธรรมเทศนา และก็ได้บังเกิดความเลื่อมใสในหมู่สงฆ์ ผู้มีความสงบเสงี่ยมสง่างาม มีผิวพรรณผ่องใส และก็มีความเห็นว่า เพศนักบวชเป็นเพศที่บริสุทธิ์ที่สุด จึงออกบวช ต่อมาก็รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ณ วัดใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อพรรษากาลของท่านมากขึ้นท่านก็เป็นพระที่มีความความอดทนน้อย ขี้รำคาญ ชอบจับผิดจู้จี้จุกจิก ไม่ว่าใครจะทำอะไรท่านก็สามารถตำหนิได้ทุกเรื่อง ทำให้เพื่อนพระภิกษุด้วยกันเกิดความเอื่อมระอาหมดความอดทน ส่งผลให้ไม่มีความสุข ในการปฏิบัติธรรม จึงได้พากันหลีกหนีไปอยู่วัดอื่น ท่านพระธัมมิกะจึงต้องอยู่องค์เดียวในวัด

ฝ่ายอุบาสกเจ้าภาพใหญ่ในการสร้างวัดทราบเรื่องนั้นเข้าก็คิดที่จะแก้ไข เพราะตนอุตส่าห์สร้างวัดหวังจะให้พระอยู่กันมากๆ ยิ่งพระอยู่มาก ก็จะมีโอกาสได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญได้มากขึ้นตามลำดับ พอคิดแล้ว อุบาสกก็นำความกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องทั้งหมดก็ตรัสเรียกธัมมิกะภิกษุมาซักถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท่านก็ยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเองด้วยความเคารพ เมื่อพระพุทธองค์เห็นว่าท่านเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย เป็นผู้ที่จะบรรลุธรรมได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่รู้จักการวางตัวกับผู้คน เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ไม่บริบูรณ์เท่านั้น แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนว่า “ภิกษุ ไม่เฉพาะแต่ชาตินี้เท่านั้นที่เธอเป็นอย่างนี้ ชาติก่อนๆ เธอก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน” จากนั้นก็ทรงแสดงอดีตชาติของท่านที่เกิดเป็นรุกขเทวดาแล้วไม่สามารถรักษารุกขธรรมได้ให้ท่านได้ฟัง

รุกขธรรมหมายถึงธรรมที่รุกขเทวาไม่ทำอันตรายแก่ผู้ที่ตัดต้นไม้ โดยที่สุดจะต้องไม่คิดล้างแค้นไม่โกรธในแม้ต้นไม้ของตนจะถูกตัดก็ตาม สำหรับเทวดาถ้าโกรธมากๆ จนห้ามความโกรธไม่ได้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องจุติ ฉะนั้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องทำให้ได้ คือไม่โกรธไม่คิดประทุษร้าย ไม่อย่างนั้นก็จะจุติคือตายจากการเป็นเทวดา

เมื่อจบพระธรรมของพระพุทธองค์ พระธัมมิกเถระผู้ได้ปล่อยใจเข้าสู่ภายใน สามารถทำใจหยุดใจนิ่งตามพระกระแสเสียงที่ไพเราะก้องกังวาลของพระมหาบุรุษ ก็ได้บรรลุธรรมเข้าถึงพระธรรมกายอรหัตเป็นพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส

จากชีวิตพรานป่าก็มาเป็นพระแท้ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่ใช่มีเฉพาะมนุษย์ ที่ต้องการเนื้อนาบุญ เทวดาเองเขาก็ยังต้องการเนื้อนาบุญ ฉะนั้น ชีวิตของท่านถือว่าชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตที่พัฒนามาโดยลำดับ ด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยที่แม้ตอนแรกที่ท่านฟังก็ไม่เข้าใจขณะเป็นพรานแต่ด้วยการที่ให้สำคัญต่อพระธรรมอย่างเดียว ซึ่งเราก็อาจจะนึกไม่ถึงเลยถึงอานิสงส์ว่าจะยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ ฉะนั้น บุญแต่ละบุญอย่าไปคิดว่าเป็นบุญเล็กบุญน้อย เพราะขึ้นชื่อว่าบุญล้วนมีผลมาก

พระธรรมเป็นที่พึ่งของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นแสงสว่างส่องทางชีวิตให้เราเห็นความทุกข์ที่ต้องหลีกหนี และความสุขที่แท้จริงที่จะต้องแสวงหา ผู้ใดที่มีพระธรรมอยู่ในหัวใจจะเป็นผู้ที่สว่างไสวทั้งขณะมีชีวิตอยู่ ละโลกไปแล้วก็จะสว่างไสวต่อในปรโลก ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตจะต้องเจริญรุ่งเรืองอยู่ภายใต้ร่มธรรม จึงจะเป็นความเจริญรุ่งเรืองที่ร่มเย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง เหมือนอดีตชาติของพระธัมมิกะเถระที่เคารพในพระธรรม แล้วชีวิตของท่านก็ไม่เคยตกต่ำเลยแม้แต่ชาติเดียว นี้เป็นเพียงอานิสงส์ที่ให้ความสำคัญให้ความเคารพพระธรรมในภายนอกเท่านั้น ยิ่งหากเราเข้าถึงพระธรรมภายใน อานิสงส์จะยิ่งส่งผลมากมายมหาศาลยิ่งกว่านี้อีกนับไม่ถ้วน ถ้าเราปรารถนาที่จะเข้าถึงธรรมก็ต้องทำสมาธิเจริญภาวนา หมั่นสั่งสมบุญบารมี โดยเฉพาะทานศีลภาวนาหรือบารมี๓๐ทัศที่จะช่วยกลั่นธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ จะทำให้ใจเราสว่างไสวเพราะได้กระแสบุญมาหล่อเลี้ยง เมื่อเราหลับตาทำสมาธิหยุดใจไว้ภายในก็จะทำได้โดยง่าย และก็จะได้เข้าถึงธรรมกันอย่างสะดวกสบายกันทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: