วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ชีวิตดุจไม้ใกล้ฝั่ง

ยามใดที่บุคคลทั้งหลายละเลยการฟังธรรม ยามนั้นเขาย่อมเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสกับอมตธรรมอันทรงคุณค่า ทุกวันนี้มนุษย์ยังสับสนอยู่ ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม หากจะมีความสุขบ้าง ก็เพียงเล็กน้อยหรือชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เหมือนหลับแล้วฝันไป ครั้นตื่นขึ้นมาก็ยังพบกับความทุกข์อยู่เหมือนเดิม ชีวิตจึงเหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ ยากจะสลัดออกได้ ต่อเมื่อมีโอกาสได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตได้อย่างแท้จริงกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในภัทเทกรัตตสูตรว่า

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ โก ชญฺญา มรณํ สุเว

น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา

ความเพียรควรทำในวันนี้ ใครเลยจะรู้ว่า ความตายจักมีในวันต่อไป เพราะการผัดเพี้ยนกับพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มี”

ปัจจุบันมนุษย์น้อยคนนักที่จะนึกถึงความตาย คนส่วนมากจะคิดแต่เรื่องการทำมาหากิน คิดว่าวันนี้ หรือวันข้างหน้าจะแสวงหาทรัพย์มาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ทำให้ประมาทในชีวิต ละเลยต่อการสร้างบุญบารมีอันเป็นงานหลัก งานที่แท้จริงของชีวิต การแสวงหาทรัพย์ภายนอกนั้นเป็นเพียงงานรอง เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ เพื่อจะได้ทำงานหลักต่อไปเท่านั้น

การมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ดี เราจะได้ไม่ประมาท เพราะในที่สุดแล้ว ล้วนต่างต้องตายกันหมดทุกคน หากมีสติระลึกอยู่เสมอว่า ชีวิตเราดุจไม้ใกล้ฝั่ง ไม่รู้ว่าจะล้มลงในวันใด ดังนั้นเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ จึงควรเร่งสร้างความดี ทำงานไปด้วย สร้างบุญไปด้วย ชีวิตจะได้ปลอดภัย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจรู้ได้ว่า เราจะมีชีวิตอยู่ยืนยาวแค่ไหน ความตาย เป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก ดีที่สุดคือเราควรรีบทำความดีตั้งแต่วันนี้

*มก. พ่อค้ามีทรัพย์มาก เล่ม ๔๓/๑๓๒

*ในสมัยพุทธกาล มีพ่อค้าท่านหนึ่ง มีอาชีพค้าขายผ้าหลากหลายชนิดด้วยกัน วันหนึ่ง ขณะที่บรรทุกผ้าเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากเมืองพาราณสีไปยังเมืองสาวัตถี เพื่อทำการค้าตามปกติ ครั้นเดินทางมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง จึงหยุดที่ริมฝั่ง สั่งให้ลูกน้องพักเกวียน คืนนั้นเกิดฝนตกหนัก จนกระทั่งน้ำล้นตลิ่ง พ่อค้าจึงคิดว่า “เราเองก็เดินทางมาไกล ถ้าเดินทางต่อก็จะเสียเวลา ควรทำการค้าที่นี่ให้แล้วเสร็จตลอดทั้งฤดูฝน ฤดูร้อน และฤดูหนาว”

ขณะเดียวกัน พระบรมศาสดาได้เสด็จผ่านมาพอดี เมื่อทอดพระเนตเห็นพ่อค้าท่านนี้แล้ว ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงทูลถามถึงเหตุนั้น พระศาสดาตรัสว่า “อานนท์ เธอเห็นพ่อค้าผู้มีทรัพย์คนนั้นไหม” พระอานนท์ทูลตอบว่า “เห็นพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า “พ่อค้าไม่รู้ว่า อันตรายถึงชีวิตจะเกิดขึ้นกับตน จึงคิดที่จะอยู่ที่นี่ตลอดปี เพื่อทำการค้าขาย” พระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรายถึงชีวิตจะเกิดขึ้นกับเขาหรือ พระเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ใช่แล้ว อานนท์ พ่อค้านี้จะมีชีวิตอยู่อีกเพียงเจ็ดวันเท่านั้น”

พระอานนท์จึงทูลขออนุญาตเพื่อไปบอกพ่อค้านั้น พ่อค้าได้ถวายอาหารแด่พระเถระ พระอานนท์จึงถือโอกาสสนทนากับพ่อค้าโดยถามว่า “ท่านจะอยู่ที่นี่นานไหม” พ่อค้าตอบว่า “กระผมเดินทางมาไกล ถ้าจะเดินทางต่อไปอีก ก็กลัวจะเสียงานเสียเวลา จึงตั้งใจจะขายสินค้าอยู่ที่นี่ตลอดฤดูกาล” พระอานนท์จึงเตือนว่า “อุบาสก อันตรายของชีวิตรู้ได้ยาก ทำไมท่านมัวประมาทในชีวิตเล่า พระบรมศาสดาตรัสบอกว่า ท่านจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง ๗ วันเท่านั้น”

พ่อค้าพอได้ฟังดังนั้น ก็ตกใจและสลดใจมาก แต่ก็มีสติ จึงตั้งใจที่จะใช้เวลาที่เหลือน้อยนิดนี้สร้างความดีให้เต็มที่ เพราะชีวิตของตนเป็นดุจไม้ใกล้ฝั่ง จากนั้น ก็ถวายสังฆทานมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระศาสดาได้ประทานโอวาทว่า “อุบาสก ธรรมดาบัณฑิตไม่ควรประมาท อย่าคิดว่าเราจะอยู่ที่นี่ ประกอบการงานตลอดฤดูทั้ง ๓ ควรคิดถึงความตายบ้าง” ขณะที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องความไม่ประมาทในชีวิตอยู่นั้น พ่อค้าก็ได้ปล่อยใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้ทำใจให้หยุดให้นิ่งตามไปด้วย พอจบพระธรรมเทศนา พ่อค้าก็มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบันทันที

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับ พ่อค้านั้นก็ได้เดินตามไปส่งทันทีที่พระพุทธองค์และหมู่ภิกษุสงฆ์กลับมาถึงที่พัก เขาก็เกิดปวดศีรษะขึ้นมาอย่างกะทันหัน จึงนอนพัก และสิ้นชีวิตลงในวันนั้นนั่นเอง ด้วยอานิสงส์แห่งบุญที่ได้ตั้งใจทำในช่วงบั้นปลายชีวิตตลอด ๗ วัน ประกอบกับมีดวงตาเห็นธรรม จึงได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

เราจะเห็นว่า ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นดุจไม้ใกล้ฝั่ง ชีวิตเราใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ จะกำหนดวัน เวลาและสถานไม่ได้ เหมือนต้นไม้ริมตลิ่ง ที่ถูกกระแสน้ำเซาะให้พังลงไป ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกัน ย่อมถูกกระแสแห่งความชรา ความเจ็บ ความตายทำให้เสื่อมและดับไปได้ทุกเมื่อ บุคคลใดไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต หมั่นตักเตือนตัวเองอยู่เสมอ รีบเร่งทำความเพียร สั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ แม้อันตรายแห่งชีวิตจะเกิดขึ้น ก็ไม่เกรงกลัวต่อมรณภัยนั้นเลย

นอกจากนี้เราควรพิจารณาว่า สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อีกทั้งยังต้องหมั่นพิจารณาบ่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ลืม ไม่หลงใหลเพลิดเพลิน หมกมุ่นพัวพันอยู่กับสิ่งเหล่านี้ อันจะเป็นเหตุให้เราเหิ่นห่างจากการเข้าถึงพระธรรมกาย ยิ่งห่างจากพระธรรมกาย ซึ่งเป็นต้นแหล่งกำเนิดของความสุขอันเป็นอมตะ ความทุกข์จะยิ่งได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาสู่กายและใจของเรา

ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เราก็จะต้องพิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แม้แต่ร่างกายของเราก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เป็นจุดเล็กๆ เจริญเติบโตด้วยอาหารของมารดา จนกระทั่งลืมตามาดูโลก แล้วก็เจริญเติบโตเรื่อยมา ไม่มีคงที่เลย เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตามลำดับสู่วัยหนุ่มวัยสาว วัยกลางคน วัยชรา จนกระทั่งสู่เชิงตะกอนในที่สุด

เพราะฉะนั้น ร่างกายของเราจึงเป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย เหมือนบ้านเรือนที่อาศัยกันอยู่ชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดมันก็ต้องผุพังลง ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดได้นั้น จะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดความสุขตลอดกาล คือเป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตานั่นเอง

พระพุทธเจ้าได้ทรงพิสูจน์แล้วว่า พระธรรมกายนั่นแหละ เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง การที่จะเข้าถึงสรณะนี้จะต้องอาศัย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ คือเอาร่างกายของเรานี้แหละ ลงมือฝึกฝนปฏิบัติ รู้จักพึ่งตัวเอง ทำความเพียรโดยการฝึกใจหยุดใจนิ่ง ไม่ใช่ไปสวดมนต์อ้อนวอนจุดธูปบูชา เพื่อจะให้เข้าถึงสรณะที่พึ่งที่ระลึก อย่างนั้นมันเข้าถึงไม่ได้ ต้องอาศัยตัวของเราเท่านั้น

เราจะต้องมีความเพียรในการทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่าไม่ประมาทในชีวิต เพียรทำใจให้หยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ หยุดโดยไม่ต้องยั้งหยุดอย่างไม่ถอนถอย หยุดตลอดเวลาทุกอนุวินาที ทำใจหยุดอย่างนี้ แม้พญามัจจุราชก็จะย่อท้อ จะมองไม่เห็นผู้ที่มีใจหยุดสนิทอย่างแท้จริง ดังนั้น ใจหยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ให้ทุกท่านตระหนักเสมอว่า สิ่งที่เราจะสูญเสียไปไม่ได้อีกแล้ว คือ เวลา เพราะเวลาที่ผ่านไปนั้น ได้ดึงเอาความแข็งแรง ความสดชื่นของร่างกายเราไปด้วย เราควรสงวนวันเวลาสำหรับชีวิตของเราไว้เพื่อการประพฤติธรรม ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในให้ได้ ให้คิดกันอย่างนี้ทุกๆ วัน

ไม่มีความคิดเห็น: