การขจัดกิเลสอาสวะเป็นจุดมุ่งหมายของผู้แสวงหาทางหลุดพ้น เพราะตราบใดที่กิเลสยังครอบงำจิตใจอยู่ ชีวิตต้องระทมทุกข์ ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และทุกข์ที่จรมาเป็นครั้งคราว หากเรายังหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นไม่เจอ เราเปรียบเสมือนคนไข้ที่ถูกโรครุมเร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดก็ไม่มีความสุข วิธีการที่จะทำให้เราค้นพบสาเหตุแห่งความทุกข์ และหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นได้ คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะขจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองให้หมดไปจากใจ และวิธีการนี้ยังเป็นทางดำเนินไปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลาย หากใครดำเนินตามแนวทางของพระพุทธองค์ บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้บรรลุถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ความว่า
“กายสุจึ วาจาสุจึ เจโตสุจิมนาสวํ
สุจึ โสเจยฺยสมฺปนฺนํ อาหุ นินฺหาตปาปกํ
ผู้มีความสะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ ปราศจากกิเลสอาสวะ ถึงพร้อมด้วยความสะอาด ล้างบาปได้แล้ว บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้สะอาด”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง ทั้งที่เป็นของหยาบและของละเอียด มีสภาพใจที่สะอาดผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีสิ่งใดมากระทบ จะไม่สามารถที่จะทำให้ใจของท่านหวั่นไหวได้ เพราะมีแต่ความสว่างไสวที่ไม่มีประมาณ ดุจดังดวงอาทิตย์อุทัยที่คอยส่องแสงสว่างให้แก่โลกหล้า
พระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระบรมศาสดา ถึงแม้จะถูกพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แอบเดินมาทุบหลังอย่างแรง แต่ความขุ่นเคืองใจ หรือความโกรธแค้นแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ได้มีอยู่ในใจของพระเถระ ท่านมีแต่ความบริสุทธิ์กายวาจาใจ เพราะบาปที่ติดอยู่ในใจได้หลุดล่อนออกไปหมดแล้ว แม้ว่าพระเถระจะไม่มีความแค้นเคืองต่อพราหมณ์ แต่ว่ามีผู้คนมากมายที่กลับโกรธแค้นแทนพระเถระ คิดจะประทุษร้ายต่อพราหมณ์ ซึ่งมีเรื่องราวดังต่อไปนี้
*มก. พระสารีบุตรเถระ เล่ม ๔๓/๔๓๗
* ในสมัยพุทธกาล ชาวเมืองได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรเถระว่า “เป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีเสขิยวัตรที่น่าเลื่อมใส สมกับเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระบรมศาสดา พระเถระเป็นผู้ประกอบด้วยกำลัง คือ ขันติธรรม แม้จะถูกด่า ถูกบริภาษ ถูกทำร้ายหรือถูกกลั่นแกล้ง ท่านก็ไม่โกรธเคือง แต่ยังคงมีจิตแช่มชื่นประกอบด้วยเมตตาธรรมต่อทุกๆ คน โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เคยแสดงอาการโกรธเคืองต่อใครๆ” เมื่อคุณธรรมความดีของพระเถระได้รับการยกย่องสรรเสริญปากต่อปากออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงหูพราหมณ์ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง พราหมณ์คนนี้กลับไม่เชื่อว่าคนที่ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ และไม่ประทุษร้ายตอบผู้อื่นจะมีอยู่ในโลก จึงแย้งว่าสงสัยคนที่มาพูดยั่วยุให้ท่านโกรธคงไม่มีกระมัง
ชาวเมืองผู้เลื่อมใสในคุณของพระเถระ ต่างพูดยืนยันว่า แม้จะมีคนยั่วยุให้ท่านโกรธ แต่ท่านไม่โกรธ พระเถระเคยถูกโยมมารดาดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่ท่านก็ไม่โกรธ จนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว พราหมณ์จึงคิดว่า “เอาละ จะให้เราเชื่อโดยมิทันได้พิสูจน์นั้น เราคงไม่เชื่อ ฉะนั้น เราต้องพิสูจน์ดูก่อนว่า พระเถระเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่” จึงคิดหาวิธีการที่จะทดสอบตบะธรรมของพระเถระ มีอยู่วันหนึ่ง พราหมณ์เห็นพระเถระเข้าไปบิณฑบาตในเมือง จึงแอบเดินตามไปข้างหลัง พอได้โอกาสเหมาะ จึงใช้ฝ่ามือฟาดเข้ากลางหลังของพระเถระอย่างแรง ฝ่ายพระเถระเมื่อถูกประทุษร้ายจนเสียหลัก เหมือนกับเดินสะดุดตอไม้ แต่มิได้ใส่ใจ ท่านยังคงเดินบิณฑบาตตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ฝ่ายพราหมณ์มิจฉาทิฏฐิ เมื่อประทุษร้ายพระเถระแล้ว แต่พระเถระยังเดินบิณฑบาตด้วยอาการสงบสำรวมน่าเลื่อมใส ก็รู้สึกชื่นชมว่า “พระคุณเจ้ารูปนี้ ช่างสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างที่มหาชนยกย่องสรรเสริญจริงหนอ” ขณะเดียวกัน แทนที่พราหมณ์จะรู้สึกสบายใจ กลับเกิดความเร่าร้อนขึ้นมาทันที เหมือนมีไฟแผดเผาอยู่ภายในร่างกาย พราหมณ์รู้ตัวว่าหากไม่ขอขมาต่อพระเถระ ศีรษะจะต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ อย่างแน่นอน จึงรีบวิ่งเข้าไปหมอบลงแทบเท้าของพระเถระ แล้วเรียนท่านว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอท่านจงอดโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด” พระเถระก้มมองดูพราหมณ์ด้วยจิตที่ประกอบด้วยมหากรุณา พร้อมกับกล่าวว่า “ท่านพราหมณ์ เราให้อภัยท่านตั้งแต่ตอนที่ท่านตีหลังเราแล้ว ขอให้ท่านจงสบายใจเถิด” พราหมณ์จึงเรียนว่า “ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านยกโทษให้กระผมจริง ขอได้โปรดไปฉันภัตตาหารที่บ้านของกระผมด้วยเถิด” พราหมณ์รับบาตรของพระเถระ เดินนำทาง และนิมนต์ให้พระเถระเข้าไปนั่งภายในบ้าน จากนั้นก็น้อมนำอาหารที่มีรสอร่อยมาถวาย ด้วยความเคารพนอบน้อม
ฝ่ายชาวบ้านรู้ข่าวว่าพราหมณ์ตีหลังพระเถระ ก็รู้สึกโกรธแค้น จึงคิดว่า “พระเถระไม่มีความบาดหมางกับพราหมณ์มาก่อน การที่พราหมณ์มาทำอย่างนี้ เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพระสงฆ์ นับเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จะต้องแก้แค้นให้กับพระเถระ” จึงตระเตรียมก้อนดินก้อนหินและท่อนไม้ตามแต่จะหาได้ไปดักรอที่หน้าบ้านของพราหมณ์
เมื่อพระเถระฉันเสร็จ ขณะจะเดินทางกลับวัด โดยมีพราหมณ์เดินถือบาตรตามมาข้างหลัง ชาวบ้านเห็นพระเถระไม่ยอมรับบาตรคืนจากพราหมณ์ จึงเดินเข้าไปขอร้องให้พระเถระรับบาตรจากพราหมณ์ พระเถระถามว่า “ทำไมต้องรีบรับบาตรจากพราหมณ์ด้วยเล่า” ชาวบ้านได้เรียนให้ท่านทราบว่า “พราหมณ์ทำร้ายท่านผู้บริสุทธิ์ จะต้องสั่งสอนให้สำนึกเสียบ้าง”
พระเถระฟังแล้ว จึงถามกลับไปว่า “พวกท่านถูกพราหมณ์ทำร้ายหรือว่าเราถูกทำร้าย” เมื่อได้รับคำตอบว่าเป็นพระเถระถูกทำร้าย พระเถระจึงกล่าวว่า “แม้ว่าพราหมณ์จะทำร้ายเรา แต่ก็ได้ขอขมาเราแล้ว ตอนนี้ พราหมณ์ได้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ได้ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นผู้ไม่ทำปาณาติบาต เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครๆ อีกต่อไป พวกท่านยังจะมาทำร้ายผู้ที่ไม่ทำร้ายผู้อื่นอีกทำไม พวกท่านพึงรักษาความบริสุทธิ์กาย วาจา และใจของตน และตั้งมั่นอยู่ในคุณ คือ ศีลทั้งหลายเถิด” และบอกให้พวกชาวบ้านกลับไป เมื่อชาวบ้านเข้าใจดีแล้ว ก็คลายจากความโกรธเคืองและให้อภัยต่อพราหมณ์นั้น
เราจะเห็นว่า ผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจที่แท้จริง จะไม่ประทุษร้ายใคร และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน การไม่ด่าตอบต่อบุคคลผู้กำลังด่าอยู่ หรือการไม่ทำร้ายตอบต่อบุคคลผู้ประทุษร้ายเรา ถือว่าเป็นความประเสริฐในอริยวินัย ส่วนผู้ที่ฝึกฝนอบรมใจมาอย่างดีแล้ว แม้ว่าจะมีสิ่งใดมากระทบกายภายนอกให้เป็นทุกข์ แต่ความทุกข์ไม่อาจกระเทือนเข้ามาภายในจิตใจของผู้นั้นได้ เพราะเป็นสภาพใจที่สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง จึงไม่มีความแค้นเคืองต่อใครๆ
พวกเราทุกคนควรฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้อย่างนี้ คือ ฝึกให้มีความอดทนอดกลั้น รู้จักข่มความโกรธเอาไว้ ไม่ไปก่อทุกข์โทษให้เกิดขึ้นกับใครๆ ส่วนผู้ที่โกรธง่าย แสดงว่ายังขาดความอดทนอยู่ ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นจอมเทพ ตรัสเป็นข้อคิดคติเตือนใจไว้ว่า “ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อน ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน ผู้ที่ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากอย่างยิ่ง” เพราะฉะนั้น เมื่อถูกคนไม่ดีด่าว่า ให้ทำราวกับว่าสายลมพัดผ่าน ทำหูให้เป็นเหมือนหูกระทะ ทำตาให้เป็นเหมือนตาไม้ไผ่ คือ ไม่ไปสนใจไยดี ไม่ปล่อยใจของเราให้เศร้าหมองตามไป แต่เราควรใส่ใจในเรื่องที่จะทำความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง เช่น การฝักใฝ่ในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา หากฝึกใจได้อย่างนี้ จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย ที่คอยขจัดปัดเป่าความขุ่นข้องหมองใจทั้งหลายให้หมดสิ้นไป และให้ตั้งใจหมั่นฝึกฝนอบรมใจของเรา ให้หยุดให้นิ่งเรื่อยไป แล้วสักวันหนึ่งจะได้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือ พระรัตนตรัยกันทุกๆ ค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น