คำพูดเป็นกิริยาที่แสดงออกมาแล้วเข้าใจได้เร็วที่สุด และมีผลอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ระมัดระวังคำพูดให้ดี จะทำให้เกิดโทษต่อตัวผู้เป็นเจ้าของคำพูดได้ เพราะคนเราจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีจิตใจสูงส่งหรือว่าตกต่ำ เกิดในชาติตระกูลสูงหรือตระกูลต่ำเพราะคำพูดเป็นสำคัญ การสำรวมระวังวาจาให้ถูกกาลเทศะ เหมาะสมกับบุคคลและสถานที่ พูดแล้วไม่ให้ร้อนเขาร้อนเรา เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะการรักษาคำพูด เพื่อไม่ให้ใจฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ภายนอก ให้ใจหยุดนิ่งอยู่กับองค์พระและธรรมะภายในเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะถ้อยคำที่ดีจะเปล่งออกมาได้นั้น ต้องเปล่งออกมาจากใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อเปล่งออกมาจะเป็นถ้อยคำที่ศักดิ์สิทธิ์ ไพเราะน่าฟัง เป็นถ้อยคำที่มีเสน่ห์ เพราะประกอบไปด้วยความเมตตาปรารถนาดี และจะเป็นถ้อยคำที่จะชักนำไปสู่หนทางสวรรค์และพระนิพพาน
มีวาทธรรมที่ปรากฏในคังคาตีริยเถรคาถา ความว่า
“เราทำกระท่อมด้วยใบตาล ๓ ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา บาตรเหมือนดังหม้อสำหรับรดน้ำศพ จีวรดังผ้าคลุกฝุ่น ในระหว่าง ๒ พรรษา เราพูดเพียงคำเดียว ภายในพรรษาที่ ๓ เราสามารถทำลายกองความมืด คือ อวิชชาได้อย่างหมดจด”
เถรคาถาบทนี้ แม้จะเป็นเพียงคาถาสั้นๆ แต่ได้ใจความชัดเจน การที่พระเถระสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะท่านสำรวมระวังคำพูดได้ดีมาก เมื่อพูดน้อย จิตจะไม่หยาบ ใจจะละเอียด ในที่สุดเมื่อท่านทำความเพียรอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี สามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตได้ สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรม ใช่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงห้ามการพูดคุยเสียทีเดียว แต่ทรงให้สำรวมระวังในการพูดจา ให้รู้จักกาล สถานที่และบุคคล หากพูดแล้วทำให้ใจผ่องใส ยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น ควรพูดได้ตามปกติ แต่ถ้าพูดแล้วร้อนใจ ไม่เกิดประโยชน์กับใคร อย่างนี้ควรงดเว้น ดังสุภาษิตคำพังเพยที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” เหมือนดังเรื่องของพระอรหันตเถระชื่อคังคาตีริยะ ท่านเป็นตัวอย่างของผู้ที่สำรวมระวังคำพูดได้เป็นอย่างดี จนทำให้ท่านได้บรรลุเป้าหมายของการบวช และเรื่องราวของท่าน จะทำให้เราได้รู้ว่าการสำรวมระวังคำพูด มีผลต่อการปฏิบัติธรรมมากเพียงใด
*มก. คังคาตีริยเถรคาถา เล่ม ๕๑/๑๙
*ย้อนถอยหลังจากนี้ไปหนึ่งแสนกัป ในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ พระคังคาตีริยเถระได้เกิดเป็นลูกของคหบดีในกรุงหังสวดี ท่านได้รับการปลูกฝังให้รักในการสั่งสมบุญมาตั้งแต่เล็ก โดยพ่อแม่จะคอยหมั่นชักนำท่านให้ไปวัดฟังธรรมอยู่เป็นประจำ เมื่อเติบโตขึ้น ท่านจึงคิดหาบุญพิเศษใส่ตัว เพื่อจะได้เป็นเสบียงบุญติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ วันหนึ่ง ท่านได้ตัดสินใจรับบุญถวายน้ำดื่มแด่พระภิกษุสงฆ์อยู่เป็นนิตย์ ด้วยการขนน้ำสะอาดจากบ้านมาเติมไว้ในตุ่มทั่วบริเวณวัด เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ต้องลำบากในการแสวงหาน้ำดื่ม
ด้วยบุญนี้ส่งผลให้ท่านไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติเป็นเวลายาวนาน และต่อจากนั้นมาทุกชาติ ท่านได้ท่องเที่ยวอยู่แต่ในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น ไม่พลัดไปเกิดในอบายภูมิเลย
พอมาถึงยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ท่านได้มาเกิดเป็นลูกชายของคฤหบดีในเมืองสาวัตถี มีชื่อว่า ทัตตะ เมื่ออยู่ในวัยหนุ่ม ได้แต่งงานมีครอบครัว ใช้ชีวิตตามประสาชาวโลกทั่วไป เนื่องจากท่านไม่รู้อคมนียัฏฐาน ไม่ได้ศึกษาธรรมะ จึงละเมิดจารีตประเพณีที่ดีงาม คือ ท่านได้ไปมีสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยากับหญิงต้องห้ามนางหนึ่ง ทำให้ตัวท่านและวงศ์ตระกูลเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะได้รับคำติฉินนินทาว่าเป็นผู้ไม่ดำรงมั่นอยู่ในสทารสันโดษ คือ ไม่ยินดีพอใจในภรรยาของตนเอง ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ท่านเกิดความสลดสังเวชใจในความผิดพลาดของตนเอง
สำหรับอคมนียัฏฐานสำหรับผู้ชาย หมายถึง สตรีดังต่อไปนี้ คือ สตรีที่มีสามีแล้ว สตรีที่มีมารดาบิดา หรือญาติพี่น้องคอยรักษาอยู่ สตรีผู้ประพฤติธรรม สตรีที่มีคู่หมั้น สตรีที่กฎหมายบ้านเมืองคุ้มครอง เช่น นางสนม เป็นต้น สตรีเหล่านี้ ชื่อว่าสตรีที่เป็นอคมนียัฏฐาน ที่ฝ่ายชายไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในฐานะคนรัก หรือชู้สาวอย่างเด็ดขาด
หลังจากมีโอกาสเข้าวัดฟังธรรม ท่านจึงกลับตัวกลับใจใหม่ด้วยการตัดสินใจออกบวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา เว้นขาดจากความเศร้าหมองทั้งหลาย แล้วดำรงมั่นอยู่ในลูขปฏิปทาอย่างเคร่งครัด สมาทานผ้าบังสุกุลจีวรที่สมถะปอนๆ ใช้บาตรดินที่มีลักษณะคล้ายหม้อรดน้ำศพ ส่วนสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมของท่าน เป็นกุฏิที่ทำด้วยใบตาล ๓ ใบ ปลูกอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ผู้คนแถวนั้นจึงเรียกท่านว่า คังคาตีริยะ หมายถึง ผู้อาศัยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา
การที่พระเถระใช้ชีวิตอย่างสมถสันโดษอย่างนี้ เพื่อฝึกฝนอบรมตนเองอย่างอุกฤษฏ์ มุ่งจะขจัดกิเลสอาสวะที่หมักดองอยู่ภายในจิตใจให้หมดสิ้นไป มีเครื่องสมณบริขารเท่าที่จำเป็นเท่านั้น สบงจีวรมีเพียงเพื่อให้สังขารร่างกายดำรงอยู่ได้ กันแดดกันหนาว เพื่อการบำเพ็ญภาวนาจะได้ไม่ลำบากเกินไป ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย และเป็นไปเพื่อการพอกพูนกิเลสอาสวะ เมื่อละโลกไปแล้วไม่สามารถนำติดตัวไปได้ นอกจากจะนำทรัพยากรนั้นมาแปรเปลี่ยนเป็นอริยทรัพย์ ด้วยการนำมาใช้สร้างบุญสร้างบารมี จึงจะสามารถนำติดตัวไปได้
พระเถระพิจารณาเห็นถึงทุกข์โทษในสังสารวัฏ จึงไม่ปรารถนาการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ได้ประพฤติตนอย่างสันโดษ สำรวมระวังกาย วาจาและใจในทุกย่างก้าว ทุกสิ่งที่คิด ทุกอย่างที่ทำ ทุกคำที่พูด จึงไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เพราะไม่อยากไปกระทบให้ใครเดือดร้อน และท่านได้อธิษฐานจิตมั่นว่า หากยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จะไม่สนทนาพูดคุยกับใคร
ตลอดปีแรกของการบวช ท่านสำรวมวาจาไม่พูดกับใคร ท่านตั้งใจเจริญภาวนารักษาใจอยู่ภายในอย่างเดียวทั้งวันทั้งคืน ในปีที่ ๒ ได้มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งเกิดความสงสัย คิดว่าท่านเป็นใบ้ เพราะตลอดปีที่ผ่านมานางไม่เคยเห็นท่านพูด นางจึงอยากทดสอบดูว่าพระเถระยังพูดได้อยู่หรือไม่ เช้าวันรุ่งขึ้นจึงแกล้งทำเป็นมือไม้ไม่มีเรี่ยวแรง เทน้ำนมลงในบาตรไม่ยอมหยุด จนกระทั่งพระเถระหลงกลนาง และพูดขึ้นว่า “พอแล้ว น้องหญิง” เมื่อเข้าพรรษาที่ ๓ ของการบวช ความเพียรและอินทรีย์ของพระเถระแก่กล้าเต็มที่ ในที่สุดก็สามารถทำใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ภายในพรรษานั้น
ครั้นบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พระเถระได้พูดถึงประวัติการสั่งสมบุญบารมีของตน เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงบุญแก่อนุชนรุ่นหลังว่า “เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัสในภิกษุสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยมในพระศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตักน้ำฉันใส่หม้อน้ำจนเต็ม ในเวลาที่เราต้องการน้ำ จะเป็นยอดภูเขา ยอดไม้ ในอากาศ หรือพื้นดิน น้ำจึงเกิดขึ้นแก่เราทันที ในแสนกัปนับจากภัทรกัปนี้ เราได้ให้ทานใด ด้วยผลแห่งทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำเป็นทาน เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว”
เราจะเห็นได้ว่าการไปถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตในสังสารวัฏ คือ การขจัดอาสวกิเลสเข้าสู่อายตนนิพพานนั้น มีหลากหลายวิธีแตกต่างกัน เช่น บางท่านอาจจะเจริญมรณานุสสติ นึกถึงความตายแล้วใจสงบ ท่านก็ทำอย่างนั้น หรือบางท่านชอบปลีกวิเวกตามป่าช้า ทำให้ใจหยุดนิ่งได้ไว จึงไปทำภาวนาอยู่ในป่าช้า จากกรณีศึกษาของพระอรหันตเถระรูปนี้ ท่านชอบความสมถะมักน้อยสันโดษ เป็นผู้สำรวมระวังการพูดจา ท่านก็ดำเนินตามปฏิปทานี้ ทำให้ได้บรรลุผลอันสูงสุด ดังนั้น ใครมีกุศโลบายในการทำใจหยุดนิ่งวิธีไหน ให้เลือกเอาวิธีที่ตัวเองถนัด โดยฐานที่มั่นของใจของทุกวิธี ต้องให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายภายในตัว เมื่อทำได้อย่างนี้ จะถึงเป้าหมาย คือ ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกคน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น