วันเสาร์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑

คนใจบอด

สรรพสิ่งทั้งหลายมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมไปเป็นธรรมดา ตัวของเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อถือกำเนิดมาในโลกนี้ สักวันหนึ่งก็จะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้บนผืนปฐพี เพราะเราทุกคนต้องตายหมด แต่จะตายวันไหน เวลาไหน เรากำหนดไม่ได้ หรือเราจะคาดคะเนว่า อายุเราจะต้องเท่านั้นเท่านี้ แล้วเราจึงจะตาย กำหนดไม่ได้ ถ้าหากเราหมั่นนึกถึงความตายอยู่บ่อยๆ เราจะไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ไม่มัวเมาว่ายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ แต่จะมุ่งแสวงหาสิ่งที่ทำให้ใจเราสะอาดบริสุทธิ์ มีแต่ความสุขอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์เจือปน สิ่งนี้มีอยู่ในกลางกายของเรา ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งของสติ แหล่งของปัญญา แหล่งของความบริสุทธิ์ที่จะนำพาเราไปพบกับความสุขที่แท้จริง เมื่อใจเรากลับเข้าไปสู่ภายใน ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ความรู้ความเห็นจะถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อรู้แจ้งเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริง จะเกิดความเบื่อหน่ายในทุกข์ และคลายจากความกำหนัดยินดี ใจจะปล่อยวางจากสิ่งภายนอก แล้วกลับเข้าสู่ภายใน จนในที่สุดจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง

มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในขุททกนิกาย ทัททรชาดก ความว่า

บุรุษผู้ลบหลู่ท่อนผ้าที่ตนนุ่งอยู่ เราไม่ขอเห็นเขาเลย เราจะฝังเขี้ยวลงในลำคอของบุรุษผู้ต่ำช้าทำไม”

คนอกตัญญู มักคอยหาโอกาสประทุษร้ายมิตรอยู่เป็นนิตย์ ถึงจะให้สมบัติทั้งแผ่นดิน ไม่สามารถทำให้เขาชื่นชมยินดีได้เลย ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งขณะที่ภิกษุสงฆ์สนทนากันในโรงธรรมสภาว่า “พระเทวทัตไม่มีความละอาย ไม่ใช่คนดี คบกับพระเจ้าอชาตศัตรู ทำอุบายเพื่อปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้จ้างนายขมังธนูมาลอบยิง กลิ้งก้อนศิลาหวังจะให้ทับพระพุทธองค์ และปล่อยช้างนาฬาคิรีมาประทุษร้ายพระพุทธเจ้า” พระบรมศาสดาได้ตรัสถามถึงเรื่องที่กำลังสนทนากัน ครั้นทราบแล้ว จึงตรัสว่า “มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เทวทัตพยายามฆ่าเรา แม้ในกาลก่อน เทวทัตได้พยายามฆ่าเรามาแล้วเหมือนกัน” แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

*มก. ทัททรชาดก เล่ม ๕๙/๗๔๒

*ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงครองราชย์อยู่ในพระนครพาราณสี มีอาจารย์ทิศาปาโมกข์คนหนึ่ง ทำหน้าที่สอนวิชาความรู้ให้กับมาณพ ๕๐๐ คน วันหนึ่ง อาจารย์คิดว่าการอยู่ในพระนครทำให้เกิดความกังวลหลายอย่าง เสียงอึกทึกคึกโครม ทำให้ใจไม่เป็นสมาธิ การจะให้ลูกศิษย์เรียนสำเร็จได้รวดเร็ว ต้องเข้าป่าไปหาที่สงบวิเวก จึงบอกลูกศิษย์ทุกคนให้ขนอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าป่า จากนั้นได้ตั้งใจสั่งสอนศิษย์ให้ได้วิชาความรู้

ชาวบ้านรู้ว่าท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์มุ่งมั่นสั่งสอนศิษย์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จึงได้นำแม่โคนมพร้อมลูกโคมามอบให้ และในที่ไม่ไกลจากบรรณศาลาของอาจารย์ มีตะกวดตัวหนึ่งอาศัยอยู่กับลูกอ่อนสองตัว ทุกวันจะมีราชสีห์ เสือโคร่ง และนกกระทามาแสดงความเคารพต่อท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์เป็นประจำ นกกระทาเมื่อได้ยินเสียงท่านอาจารย์บอกมนตร์แก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย ด้วยความเป็นนกโพธิสัตว์มีปัญญามาก เพียงได้ฟังอาจารย์ท่องบ่นมนตร์ให้ลูกศิษย์ฟัง สามารถจดจำจนขึ้นใจ ท่องได้หมดโดยใช้เวลาฟังเพียงครั้งเดียว

ต่อมา เมื่อลูกศิษย์ทั้ง ๕๐๐ คน ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษา อาจารย์เกิดล้มป่วยและเสียชีวิตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน พวกลูกศิษย์ได้ช่วยกันฌาปนกิจ และร้องไห้ด้วยความอาลัยในการจากไปของอาจารย์ นกกระทาถามว่า “พวกท่านร้องไห้ทำไม” พวกมาณพได้บอกว่า “พวกเรายังไม่ทันสำเร็จการศึกษา อาจารย์มาด่วนจากไปเสียแล้ว” นกกระทาปลอบใจว่า “พวกท่านไม่ต้องกังวล เรายินดีจะถ่ายทอดความรู้เรื่องไตรเพทให้” จึงบอกเรื่องที่ตนจำมาจากอาจารย์ให้ฟัง พวกมาณพดีใจมาก จึงได้ยกให้นกกระทาเป็นอาจารย์ แล้วร่ำเรียนมนตร์จากนกกระทาด้วยความเคารพ ได้ทำกรงทองให้นกกระทาอยู่อาศัย พร้อมกับหาน้ำผึ้งและข้าวตอกใส่จานทองมาเป็นค่าบูชาธรรม

วันหนึ่ง เหตุร้ายที่ไม่คาดฝันได้บังเกิดขึ้นกับนกกระทา เมื่อมาณพทั้งหมดได้ขอลานกกระทาไปเที่ยวงานมหรสพในเมือง ปล่อยให้นกและสัตว์ต่างๆ อยู่อาศัยกันตามลำพัง ในช่วงสายของวันนั้น มีดาบสใจบาปตนหนึ่งเดินเที่ยวมาถึงสถานที่แห่งนั้น เมื่อตะกวดเห็นเป็นดาบส จึงทำการต้อนรับ กล่าวเชื้อเชิญให้หุงหาอาหารกินตามสบาย โดยไม่ได้รู้สึกสังหรณ์ใจ จากนั้นก็ออกไปหาอาหารตามปกติ เมื่อดาบสหุงข้าวเสร็จ ก็ฆ่าลูกตะกวดสองตัวทำเป็นกับข้าว ตอนกลางวันฆ่านกกระทาและลูกโคกิน ตกเย็นเห็นแม่โคเดินมา ก็ฆ่าแม่โค และกินเนื้อจนอิ่มหนำสำราญ แล้วไปนอนหลับอยู่ที่โคนต้นไม้

ตะกวดกลับมาถึงในช่วงเย็น ไม่เห็นลูกน้อยทั้งสอง จึงเที่ยววิ่งหาด้วยความเป็นห่วง รุกขเทวดาเห็นตะกวดผู้น่าสงสารเที่ยววิ่งพล่านไปมาเพราะคิดถึงลูก จึงปรากฏกายให้เห็นที่โพรงไม้แล้วบอกว่า “เจ้าอย่าเที่ยวหาลูกน้อยให้เสียเวลาไปเลย ลูกน้อยของเจ้า รวมทั้งนกกระทา ลูกโค และแม่โค ถูกคนชั่วนี้ฆ่ากินไปหมดแล้ว เจ้าจงจัดการดาบสชั่วนี้เถิด”

ตะกวดแม้จะมีกำเนิดเป็นเดรัจฉาน แต่ยังรู้จักผิดชอบชั่วดี ด้วยความที่ฟังธรรมจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์และนกกระทามามาก จึงบอกว่า “บุรุษผู้เกลือกกลั้วด้วยความหยาบ ผู้ลบหลู่ท่อนผ้าที่ตนนุ่งอยู่ เราไม่ขอเห็นท่านอีกเลย เราจะไม่ยอมให้เขี้ยวของเรากัดบุรุษนี้ ซึ่งเป็นคนอกตัญญู มักคอยหาโอกาสประทุษร้ายมิตรอยู่เป็นนิตย์ ถึงจะให้สมบัติทั้งแผ่นดิน ก็ไม่สามารถทำให้เขาชื่นชมยินดีได้เลย” เมื่อกล่าวจบแล้วก็หนีจากไป

ฝ่ายราชสีห์และเสือโคร่งที่เป็นเพื่อนของนกกระทา บางครั้งสัตว์ทั้งสองพากันมาเยี่ยมนกกระทา บางครั้งนกกระทาไปแสดงธรรมให้สัตว์ทั้งสองฟัง วันนั้น ราชสีห์และเสือโคร่งได้มาเยี่ยมนกกระทา พอมาถึงก็เห็นดาบสนอนหลับอยู่ ขนนกกระทาก็กระจัดกระจาย กระดูกโคก็เกลื่อนกลาดในที่นั้น ครั้นเสือโคร่งลำดับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ก็ทราบเรื่องราวได้ทันที จึงสะกิดดาบสให้ลุกขึ้น เมื่อดาบสรู้สึกตัวก็สะดุ้งตกใจกลัว พอถูกคาดคั้นว่า “ท่านฆ่าสัตว์เหล่านี้กินหรือ” ด้วยความกลัวตายดาบสจึงยอมรับ แต่ไม่ยอมรับว่าเป็นคนฆ่านกกระทา

เสือโคร่งไม่เชื่อคำพูดของดาบส จึงให้ราชสีห์ตัดสิน ราชสีห์เป็นผู้มีปัญญา สังเกตขนนกกระทาที่ติดอยู่บนชฎา จึงรู้ว่าดาบสเป็นคนฆ่า ในที่สุดดาบสจึงยอมรับ เพราะจำนนต่อหลักฐาน ราชสีห์อยากจะปล่อยดาบสไป แต่เสือโคร่งบอกว่าคนเลวเช่นนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะจะเป็นมหันตภัยร้ายต่อคนอื่น จึงกระโดดเข้ากัดดาบสจนตาย ฝ่ายมาณพทั้งห้าร้อยกลับจากเที่ยวงานมหรสพ เห็นร่องรอยของสัตว์แต่ละชนิดถูกฆ่าตาย รวมไปถึงดาบสใจร้าย ทำให้สามารถเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เมื่อไม่เห็นนกกระทาบัณฑิต ผู้จะมาเป็นอาจารย์สอนมนตร์แล้ว ก็รู้สึกเสียใจไปตามๆ กัน จึงพากันกลับเข้าเมืองตามเดิม

เราจะเห็นได้ว่า คนตาบอด แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างเพียงใด ก็มองไม่เห็นโลกอันสวยสดงดงาม แต่คนใจบอด แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปการคุณ ก็ยังเป็นคนอกตัญญูเหมือนเดิม ดาบสแม้จะได้รับการต้อนรับปฏิสันถารอย่างดี แต่เพราะตนเป็นคนใจบอดจึงไม่คำนึงถึงบุญบาป ผิดชอบชั่วดี และยังประทุษร้ายเจ้าของบ้านอีกด้วย บัณฑิตนักปราชญ์ท่านกล่าวว่า “อย่าว่าแต่คนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงา ก็ไม่ควรหักกิ่งก้านรานใบของมัน ผู้ใดพำนักอาศัยใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งก้านใบของมัน ผู้นั้นได้ชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคลในเบื้องหน้า”

เพราะฉะนั้น จะคบหาสมาคมกับใครต้องพิจารณาให้ดี อย่ามองคนที่เปลือกนอก แต่ต้องดูที่นิสัยใจคอ และใครที่ทำความดีกับเราไว้แม้เพียงเล็กน้อย ต้องจดจำ เมื่อมีโอกาสให้รู้จักตอบแทนคุณท่าน เพราะความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี จะทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี ทำให้มีคนอยากคบหาสมาคม ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากจะช่วยเหลือคนดี จะเป็นคนดีได้ต้องทำความดี ฉะนั้น ให้หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แล้วคุณธรรมความดีของเราจะเจริญขึ้นทุกๆ วัน

ไม่มีความคิดเห็น: