วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

หมู่ญาติควรสงเคราะห์

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันออกไป บางคนมีฐานะดี ไม่รู้จักความยากลำบาก บางคนยากจนหาเช้ากินค่ำ บางครั้งหาทั้งวันยังไม่ค่อยจะพอกิน ที่เป็นเช่นนี้เพราะบุญกรรมที่ปรุงแต่งไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปรารถนาเหมือนๆ กัน คือ ความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อยากจะมีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนยาว สิ่งเหล่านี้ที่มนุษย์ต้องการมักจะสมหวังได้โดยยาก เพราะชีวิตของมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ การดำเนินชีวิตเป็นทุกข์ แถมร่างกายยังเป็นรังแห่งโรค เมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน จะสร้างบารมีได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้น ความไม่มีโรค จึงถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ ความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งที่ควรจะมีควบคู่กันไป ซึ่งกำลังกายจะได้มาต้องเคลื่อนไหว แต่กำลังใจจะได้มาต้องหยุดนิ่ง หากจิตใจเราขาดพลังจากการหยุดนิ่งแล้ว เราย่อมสูญเสียโอกาสที่จะได้รับความสุขที่ละเอียดประณีต ดังนั้น เราต้องขยันหมั่นเพียรในการเจริญสมาธิภาวนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า

อาโรคฺยปรมา ลาภา สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ

วิสฺสาสปรมา ญาติ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ทรัพย์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ความคุ้นเคยกันเป็นญาติอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

หมู่ญาติถือว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ถ้าหมู่ญาติมีความเดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือ หรือไม่ได้ขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะพอช่วยเหลือได้ ควรที่จะยื่นมือเข้าไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือทางใดทางหนึ่งก็ตาม ถ้าเรามีวัตถุสิ่งของให้สงเคราะห์ด้วยวัตถุสิ่งของ ถ้าไม่มีวัตถุสิ่งของ สามารถใช้แรงกายของเราเข้าไปช่วยเหลือได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการความช่วยเหลือเรื่องอะไร การไม่ช่วยเหลือเลยนั้นไม่สมควร

เมื่อเห็นหมู่ญาติเดือดร้อนแล้ว หากเราไม่สนใจนิ่งดูดาย จะดูเป็นคนแล้งน้ำใจ เราต้องแสดงออกถึงความมีน้ำจิตน้ำใจที่ดีต่อหมู่ญาติ อย่าให้คุณธรรมการสงเคราะห์ญาติขาดตกบกพร่องไป เราจะไม่ถูกผู้อื่นว่ากล่าวติเตียนได้ ให้ดูพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง ที่ทรงเหาะเสด็จไปโปรดหมู่พระญาติให้เลิกทะเลาะวิวาทกัน

*มก. นิธิกัณฑ์ในขุททกปาฐะ เล่ม ๓๙/๓๐๒

*ครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงทราบข่าวว่าหมู่พระญาติระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองโกลิยะเกิดการทะเลาะวิวาทกัน ด้วยเรื่องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโรหิณีเพื่อไขน้ำเข้านา ถึงขั้นยกทัพมาประจันหน้าจะประหัตถ์ประหารกัน เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องแล้ว จึงทรงเหาะไปประทับนั่งในอากาศกลางแม่น้ำโรหิณี

ครั้นพระญาติทั้งสองฝั่งเห็นพระบรมศาสดาแล้ว ต่างก็วางอาวุธลง แล้วถวายบังคมพระบรมศาสดา พระองค์จึงทรงเรียกเหล่าพระญาติทั้งหมดเข้ามาหา แล้วตรัสว่า “มหาบพิตรทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็นญาติกัน ควรจะสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกันไว้ อย่าได้ทะเลาะวิวาทกัน ถ้าหมู่พระญาติมีความสมัครสมานสามัคคีกันอยู่ ยากที่อริราชศัตรูทั้งหลายจะได้โอกาสเข้ามาทำลาย”

พระบรมศาสดายังตรัสต่อว่า “อย่าว่าแต่ในหมู่มนุษย์เลย แม้ในครั้งอดีตที่ป่าหิมวันต์ เพราะต้นไม้ที่เกิดอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น จึงสามารถต้านทานกระแสลมแรงที่พัดกระหน่ำเข้ามาจากทุกทิศได้ ต้นไม้ทุกต้นไม่ถูกกระแสลมแรงพัดให้หักโค่นล้มลงแม้แต่ต้นเดียว แต่ต้นไม้ใดที่ขึ้นอยู่บนเนิน ถึงจะเป็นต้นไม้ใหญ่ ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสลมแรงที่พัดโหมกระหน่ำมาได้ จะถูกโค่นให้ล้มลงจนหมดสิ้น หมู่พระญาติก็เช่นเดียวกัน ควรที่จะมีความรักความสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องในอดีตว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ที่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีเทพบุตรใหม่อุบัติขึ้น ท้าวสักกเทวราชซึ่งปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทรงดูแลครอบคลุมไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา จึงได้แต่งตั้งเทพบุตรองค์ใหม่ ให้รับตำแหน่งเป็นท้าวเวสสุวรรณมหาราชแทนเทพบุตรองค์เก่าที่จุติไปเกิดใหม่ หลังจากที่เทพบุตรองค์ใหม่ได้รับตำแหน่งเป็นท้าวเวสสุวรรณมหาราชแล้ว ก็ส่งข่าวไปยังเหล่าทวยเทพทั้งหลายว่า ใครอยากจะจับจองต้นไม้ กอไผ่ พุ่มไม้ และเถาวัลย์ ไว้เป็นที่สิงสถิตวิมานของตน ก็ให้เลือกตามความพึงพอใจเถิด

ในชาตินั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดา สิงสถิตอยู่ที่ป่าไม้รังในหิมวันตประเทศ รุกขเทวดาโพธิสัตว์ จึงป่าวประกาศให้บรรดารุกขเทวาที่เป็นหมู่ญาติได้รับทราบด้วยความปรารถนาดีว่า “พวกท่านอย่าได้ไปจับจองต้นไม้ที่ขึ้นอยู่บนเนินสูงมาเป็นวิมาน ขอให้พวกท่านจงได้จับจองต้นไม้ที่ขึ้นอยู่รอบๆ วิมานของเรามาเป็นวิมานเถิด”

เหล่าเทวดาที่เป็นบัณฑิตเข้าใจความปรารถนาดีของพระโพธิสัตว์ จึงพากันจับจองต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดยรอบวิมานของพระโพธิสัตว์ ส่วนพวกรุกขเทวดาที่ไม่ยอมเชื่อฟัง ต่างก็พูดกันว่า “พวกเราจะจับจองวิมานที่อยู่ในป่านี้ไปทำไมกัน สู้ไปหาจับจองวิมานที่อยู่ตามต้นไม้แถวประตูบ้าน นิคม และตัวเมืองกันจะดีกว่า แล้วจึงได้พากันไปจับจองต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่บนเนินดินบ้าง ที่ขึ้นอยู่ตามบ้านเรือนในถิ่นของมนุษย์บ้าง

วันหนึ่ง เกิดลมพายุฝนห่าใหญ่พัดกระหน่ำมาอย่างแรง ทำให้ต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ขึ้นอยู่บนเนินดินต้านทานกระแสลมแรงไม่ไหว หักโค่นล้มลงระเนระนาด บางต้นถูกกระแสลมพัดถอนทั้งรากทั้งโคน แต่พอกระแสลมฝนได้พัดกระหน่ำมาถึงป่าไม้รัง ซึ่งเป็นสถานที่ที่รุกขเทวดาโพธิสัตว์และหมู่ญาติของท่านอาศัยอยู่ ซึ่งล้วนเป็นป่าไม้รังที่ขึ้นเรียงชิดติดกันอย่างหนาแน่น แม้กระแสลมจะพัดกระหน่ำมาจากทุกทิศทุกทาง แต่ก็ไม่สามารถทำให้ต้นไม้เหล่านั้นโค่นล้มลงได้แม้เพียงต้นเดียว

ส่วนเหล่าเทวดาที่สิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่บนเนินดิน ได้ถูกกระแสลมพัดหักโค่นล้มลงจนหมด เมื่อไม่มีวิมานอยู่ จึงพากันเข้าไปป่าหิมพานต์ เล่าเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นให้กับรุกขเทวาที่ป่าไม้รังฟัง พวกเทวดาจึงนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเล่าให้พระโพธิสัตว์ฟัง รุกขเทวดาโพธิสัตว์จึงให้ข้อคิดว่า “ผู้ที่ไม่ยอมเชื่อฟังถ้อยคำของบัณฑิตที่ชี้แนะให้ ต้องประสบกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายอย่างนี้” พระโพธิสัตว์ได้แสดงธรรมว่า “หมู่ญาติยิ่งมีมากยิ่งมีกำลังมาก เหมือนต้นไม้รังในป่าใหญ่ที่อาศัยอยู่รวมกัน ส่วนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะเป็นต้นไม้ใหญ่ สักวันต้องถูกโค่นล้มลง”

พระพุทธองค์ตรัสกับหมู่พระญาติทั้งหลายว่า “มหาบพิตรทั้งหลาย หมู่ญาติด้วยกัน ควรที่จะมีความรักความสมัครสมานสามัคคีปรองดองกัน ควรอยู่ร่วมกันด้วยความรักใคร่มีความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแน่นแฟ้น ราชวงศ์จึงจักมั่นคง” หลังจากที่หมู่พระประยูรญาติได้ฟังพระดำรัสแล้ว ก็เข้าใจ จึงเลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันกลับเมืองไป

เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญในการสงเคราะห์หมู่ญาติ เพราะการสงเคราะห์หมู่ญาติเป็นเรื่องที่ควรทำ ถือว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างหนึ่ง ถ้าหมู่ญาติของเราเดือดร้อนในด้านใด เราควรสงเคราะห์ในด้านนั้นตามความเหมาะสม แต่ต้องสงเคราะห์ในทางที่ดี ทางที่ไม่ดีหรือทางแห่งความเสื่อม อย่าไปสงเคราะห์ แต่ควรแนะนำให้เลิกทำเสีย ให้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ที่เป็นสัมมาอาชีวะ หรือที่เป็นทางมาแห่งบุญ เมื่อเราได้ศึกษาธรรมะเข้าใจเรื่องบุญเรื่องบาปดีแล้ว เราก็ควรจะทำหน้าที่กัลยาณมิตร ไปชี้แนะหนทางสว่างให้กับเขา อย่างน้อยจะได้เป็นบุญกุศลติดตามตัวเราไปในภพเบื้องหน้า

ไม่มีความคิดเห็น: