วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

กัลยาณมิตรผู้ให้ชีวิตใหม่

มิตรแท้คือกัลยาณมิตรผู้แนะประโยชน์แก่เรา รองจากพ่อแม่แล้วถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเรามาก ในการจะคบใครเป็นมิตรจะต้องพิจารณาดูให้รอบคอบโดยดูที่นิสัยและคุณธรรมเป็นหลัก ถ้ามีความประพฤติดีมีคุณธรรมก็ควรจะคบหาสมาคมด้วย และมิตรแท้ที่ดีที่สุดก็คือพระธรรมกายภายในตัวของเรานี่เอง ท่านจะเป็นที่ปรึกษาเป็นที่พึ่งของเราได้ทุกเวลาทุกสถานที่ ฉะนั้น จะต้องปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้

มีวาระธรรมที่ปรากฏในสุพรหมสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ความว่า

นาญฺญตฺร โพชฺฌงฺค ตปสา นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา

นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ

นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากการปล่อยวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย”

ไม่ว่าจะเป็นผู้ครองเรือนหรือเป็นพระภิกษุสามเณร การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอย่างมีหลักวิชา เหมือนการที่เราอยากเรียนเก่งๆ สอบได้คะแนนดีๆ เราก็ต้องตั้งใจเรียน ขยันดูหนังสือ หมั่นสอบถามครูอาจารย์ถึงวิชาความรู้ที่ยังไม่เข้าใจ การจะบรรลุธรรมไปตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็เช่นกัน จะต้องใช้ปัญญา มีความเพียรสำรวมระวังไม่ให้ใจไปกระทบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา และสุดท้ายจะต้องรู้จักปล่อยวางไม่ยึดติดในคนสัตว์สิ่งของในขณะปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา นี้คือหลักวิชาที่จะทำให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในตัวของเรา ยิ่งถ้าปรารถนาความสำเร็จที่สูงส่งและยิ่งใหญ่เพียงใด ยิ่งต้องทุ่มเทมากขึ้นเพียงนั้น

ความรักกันฉันสามีภรรยาฉันพี่ฉันน้อง หรือความรักของพ่อแม่ที่มีให้ต่อลูก ถึงแม้จะเป็นรักที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เป็นความรักโดยปกติของสรรพสัตว์ทั่วไป เมื่อใดที่พลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก น้อยคนจะสามารถยอมรับมันได้ ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความเศร้าโศกเสียใจร่ำพิไรรำพัน ถ้าขาดความรู้เรื่องความรักที่ถูกต้อง

*มก. คิริมานันทเถรคาถา เล่ม ๕๒/๘๑

*ในอดีตกาลมีชายคนหนึ่งเป็นหนุ่มที่มีอารมณ์ดี เป็นที่รักของเพื่อนบ้าน และหนุ่มคนนี้ก็ชอบเข้าวัดทำบุญ วันปกติถือศีล ๕ วันพระถือศีล ๘ ช่วงเข้าพรรษาก็รักษาอุโบสถศีลทั้งพรรษา เขามีอัธยาศัยชอบการสั่งสมบุญ โดยเฉพาะภพชาติใดที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ก็ยิ่งขวนขวายสร้างบุญสร้างบารมีเป็นพิเศษ เมื่อเขาได้ละโลกไปแต่ละชาติก็ได้ไปบังเกิดยังสุคติโลกสวรรค์

ในยุคของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธ เขาก็ได้มาเกิดในตระกูลที่มีฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง เมื่อโตเป็นหนุ่มก็ได้แต่งงานครองชีวิตตามรูปแบบการใช้ชีวิตของบรรพบุรุษ อยู่ต่อมา เหตุการณ์ที่เป็นจุดหักเหของชีวิตก็ได้เกิดขึ้น คือพ่อแม่พี่ชายภรรยาและลูกๆ ได้มาตายจากเขาไปในเวลาที่ไรเรี่ยกัน จากชายหนุ่มที่มีบุคลิกลักษณะดี ต้องกลับกลาย เป็นคนละคนเพราะความเศร้าโศกเสียใจที่ต้องสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักไป เขากินไม่ได้นอนไม่หลับทั้งตัวก็ผอมเหลืองสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น จิตใจเหม่อลอยไม่เป็นตัวของตัวเอง เขาได้ออกจากบ้านไปอยู่ในป่าอาศัยหลับนอนอยู่ตามโคนไม้ มีผลไม้ประทังชีวิตไปวันๆ

แต่ด้วยบุญเดิมที่เขาเป็นผู้ที่รักในการสร้างบุญบารมี ทำให้เขาได้เข้าไปในข่ายพระญาณของพระสุเมธพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงมีพระประสงค์จะสงเคราะห์เขาเพราะเขามีบุญพอที่จะแนะนำได้ จึงเสด็จไปในป่าที่เขาอยู่ เมื่อได้เห็นพระมหามุนีเสด็จเข้ามาใกล้ ก็เกิดความปีติปลาบปลื้มใจ ความทุกข์โศกก็ได้มลายหายสูญไปกลับได้สติทันทีทันใด เหมือนความมืดที่ถูกตะวันส่องแสงขจัดให้หายไป เขาได้เอาใบไม้ปูทำเป็นที่ประทับนั่งถวายแด่พระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ประทับนั่งแล้วก็ทรงแสดงธรรม เพื่อถอนลูกศรคือความเศร้าโศกเสียใจที่ปักอยู่ในใจของเขามาเป็นเวลานาน ด้วยพระสุรเสียงที่กังวานไพเราะว่า

“ผู้ที่ตายเหล่านั้นไม่มีใครเชิญให้มา ก็มาจากปรโลกกันเอง ไม่มีใครอนุญาตให้ไป ก็ไปจากมนุษยโลกกันเอง เขาเหล่านั้นมาแล้วฉันใด ก็ไปฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขาเหล่านั้น สัตว์มีเท้า เมื่อฝนตกลงมาก็เข้าไปอาศัยในศาลา เมื่อฝนหยุดตกแล้ว ต่างก็ไปตามปรารถนาฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไม ถึงการตายของท่านเหล่านั้น แขกผู้จรไปมาเป็นผู้สั่นหวั่นไหวฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขา งูละคราบเก่าแล้ว ย่อมไปสู่กายเดิมฉันใด มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น จะปริเทวนาไปทำไมในการตายของเขาเหล่านั้น”

ชายหนุ่มเมื่อได้ฟังธรรมและตรองตามไปด้วย ก็รู้ถึงความเป็นจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องประสบ เมื่อรู้ถึงกฎของชีวิตที่มีพบก็ต้องมีพราก เขาก็สามารถยอมรับความเป็นจริงได้ และได้ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วได้ประนมอัญชลีขึ้นเหนือเศียรเกล้า ระลึกนึกถึงพระพุทธคุณอันเลิศ สรรเสริญพระพุทธองค์ผู้เป็นนายกของโลกว่า

“ข้าแต่พระมุนีมหาวีรเจ้า พระองค์เป็นสัพพัญญู เป็นนายกของโลก ทรงข้ามพ้นแล้วยังทรงรื้อขนสรรพสัตว์ด้วยพระพุทธบารมีอีก ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีจักษุ พระองค์ตัดความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว ได้ทรงยังมรรคให้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์”

เมื่อเขาออกมาจากป่า ก็หมั่นสร้างบุญบารมีเหมือนเดิม พอละโลกก็ได้ไปบังเกิดยังสุคติโลกสวรรค์ ท่องเที่ยวอยู่แต่ในเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้น พอมาถึงยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เขาก็มาเกิดเป็นลูกชายปุโรหิตของพระเจ้าพิมพิสารในเมืองราชคฤห์ มีชื่อว่าคิริมานันทะ พอรู้เดียงสาแล้ว ก็ได้เห็นอานุภาพของพระพุทธองค์ในการเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ก็เกิดความศรัทธา จึงออกบวชตามพระพุทธองค์ พระเจ้าพิมพิสารมหาราชทรงทราบว่าลูกชายปุโรหิตออกบวชจึงปวารณาเป็นโยมอุปัฏฐาก และตรัสบอกพระบวชใหม่ว่าจะสร้างกุฏิถวาย แต่พระราชาก็ทรงลืมเพราะมีพระราชกรณียกิจมาก ท่านเลยไม่มีที่พักต้องจำวัดกลางแจ้งตามโคนต้นไม้ เหล่าเทวดาที่อยู่อาศัยอาณาบริเวณนั้นเมื่อเห็นพระเถระพักอยู่กลางแจ้งจึงห้ามฝนไม่ให้ตกเพราะกลัวพระเถระจะเปียก

พระราชาทรงมีพระปรีชารู้ว่าฝนไม่ตก ก็นึกขึ้นได้ว่าพระเถระยังไม่มีกุฏิที่พัก จึงทรงให้ช่างสร้างกุฏิถวาย จากนั้นฝนก็ตกตามธรรมชาติ พระเถระอยู่ในกุฏิได้ทำความเพียรนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมอย่างสมํ่าเสมอ ไม่นานนักท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะได้เสนาสนะเป็นสัปปายะ ครั้นพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ขณะที่ฝนตกกระทบหลังคากุฏิประหนึ่งส่งเสียงร่าเริงยินดีอยู่นั้น ท่านก็ได้กล่าวขึ้นว่า

“ฝนตกส่งเสียงไพเราะเหมือนเสียงเพลง กุฏิของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด เราเป็นผู้สงบอยู่ ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน เราเป็นผู้ปราศจากราคะโทสะและโมหะ ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน”

นี้ก็เป็นประวัติชีวิตอันงดงามของพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งเส้นทางชีวิตที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้ก้าวผ่านมานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกัลยาณมิตรคอยประคับประคอง ดังเช่นอดีตชาติของพระคิริมานันทะเถระที่ได้ชีวิตใหม่จากการฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหากในชาติหนึ่งไม่มีพระสุเมธพุทธเจ้ามาทรงเป็นเนื้อนาบุญให้ ชีวิตของท่านก็ยากที่จะมีวันนี้ได้ ซึ่งกัลยาณมิตรที่ดีที่สุดของทุกคนก็มีอยู่ภายในตัวทุกคนแล้ว คือพระธรรมกายภายในตัวของเรานั่นเอง เราจะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้ โดยพยายามฝึกใจหยุดนิ่งเรื่อยไป ทำทุกๆ วันอย่าได้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว ให้ดูตัวอย่างผู้ที่ได้บรรลุธรรมไปแล้ว ทุกท่านล้วนมีความเพียรที่สมํ่าเสมอ ฉะนั้น ให้พวกเราขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติธรรมกัน

ไม่มีความคิดเห็น: