วันพุธที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ขาดสัปปายะสมาธิไม่ก้าวหน้า

การปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นหัวใจของการมาเกิดในแต่ละภพแต่ละชาติ การสร้างบารมีของมนุษยชาติทั้งหลาย จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ การได้เข้าถึงดินแดนอันเป็นบรมสุข คือ อายตนนิพพาน ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่ง หยุดในหยุดลงไปตรงกลางกาย กลางพระธรรมกายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไปถึงสุดสายธรรม ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักสร้างบารมีทั้งหลาย กว่าจะเข้าถึงตรงนี้ได้ ต้องอาศัยบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ อาศัยความเพียรอันกลั่นกล้า มีความอดทน หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมโดยไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียว ดังนั้น ในภพชาตินี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมบุญบารมีของเรา ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้ดี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบทว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว กุสีโต หีนวีริโย

เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ

ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ดำรงอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ส่วนผู้มีความเพียร แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่ากันมากมายนัก”

การที่ใครสักคน จะลงมือประพฤติปฏิบัติธรรม ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปนั้น สถานที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสถานที่เป็นสัปปายะเอื้อต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม แม้ฝนจะตกแดดจะออกไม่ต้องกังวล หรือสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ จะไม่มารบกวน เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมที่จะนั่งปฏิบัติธรรมและย่อมจะส่งผล ทำให้มีความปลอดโปร่งเบาสบายตามไปด้วย เมื่อลงมือปฏิบัติธรรม จะช่วยทำให้ใจหยุดนิ่งได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และจะมีความเจริญรุดหน้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายที่ชัดใสแจ่มอยู่ภายใน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าสถานที่นั้นไม่เป็นสัปปายะ ยากที่จะให้ผลของการปฏิบัติธรรมมีความเจริญก้าวหน้า เพราะจิตใจจะมีแต่ความวิตกกังวล ใจจะเกาะเกี่ยวกับเรื่องภายนอก ทำให้ใจไม่สงบไม่หยุดไม่นิ่ง ดังเรื่องราวของพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่จะยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

*มก. ฆตาสนชาดก เล่ม ๕๖/๕๒๗

*ในครั้งพุทธกาล มีกุลบุตรท่านหนึ่ง เห็นโทษภัยในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงตั้งใจออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ท่านอาอาศัยอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร และได้ศึกษาเล่าเรียนวิธีการประพฤติปฏิบัติธรรมและหัวข้อการกำหนดกรรมฐานจากพระอาจารย์จนมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง และเกิดความคิดที่จะหลีกเร้นออกจากหมู่คณะ เพื่อไปเสาะแสวงหาสถานที่อันเงียบสงบ เหมาะสมสำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ การปฏิบัติธรรมได้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ให้สมกับที่ได้ตั้งใจสละความสะดวกสบายในทางโลกออกบวช

วันหนึ่ง ใกล้ช่วงเข้าพรรษา พระภิกษุรูปนี้ ขอลาพระอาจารย์แล้วเดินทางไปที่หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง ท่านได้เข้าไปจำพรรษาที่บรรณศาลาหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในป่าอันน่ารื่นรมย์ แต่อยู่จำพรรษาได้ไม่กี่วัน ขณะที่ท่านบิณฑบาตโปรดญาติโยมในหมู่บ้านอยู่นั้น บรรณศาลาที่ท่านพักอาศัยปฏิบัติธรรมเกิดไฟลุกไหม้ เมื่อท่านกลับจากบิณฑบาตเห็นแล้ว จึงรีบไปบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้โยมอุปัฏฐากฟัง ญาติโยมรับปากว่า “เมื่อพวกผมว่างกันเมื่อไร จะพากันไปช่วยสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ ขอพระคุณเจ้าโปรดรอให้พวกผมไถนาหว่านข้าวกันเสร็จเรียบร้อยก่อนเถิด”

เมื่อไม่มีที่พักอาศัยในการอยู่ประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านต้องอยู่ด้วยความยากลำบาก ต้องตากแดดตากฝน จิตใจว้าวุ่นไม่เป็นอันปฏิบัติธรรม ส่งผลให้การปฏิบัติธรรมของท่าน ไม่มีความเจริญก้าวหน้า เวลาได้ล่วงเลยไปจนกระทั่งออกพรรษา แต่ยังไม่มีวี่แววว่าพวกโยมอุปัฏฐากจะพากันมาช่วยสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ ในที่สุด ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับวัดพระเชตวันมหาวิหาร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ในที่อันเหมาะสม

เมื่อพระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุ ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุ สมณธรรมของเธอมีความเจริญก้าวหน้าดีหรือ” ท่านกราบทูลว่า “จิตใจของข้าพระองค์ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรมเลย เริ่มตั้งแต่เข้าไปพักอาศัยในบรรณศาลาเพื่ออยู่จำพรรษาได้ไม่กี่วัน บรรณศาลาถูกไฟเผาผลาญจนหมดสิ้น” พระบรมศาสดาสดับแล้วจึงตรัสสอนว่า “ภิกษุ แม้สัตว์เดรัจฉานในกาลก่อน เมื่อรู้ว่าที่พักอาศัยไม่มีความปลอดภัย ไม่เป็นสัปปายะแล้ว จะรีบพากันไปหาที่อยู่ใหม่ แต่นี่เธอทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีที่พักอาศัยที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรม ทำไมไม่ย้ายไปอยู่ที่อื่นเล่า” พอท่านได้ฟังเช่นนั้น จึงอยากจะรู้เรื่องราวในอดีตทั้งหมด อาราธนาให้พระบรมศาสดาตรัสเล่าให้ฟัง พระบรมศาสดาทรงมีพระเมตตา ได้ตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งที่พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดเป็นพญานก ครั้นเจริญวัยแล้ว ก็ได้เป็นหัวหน้าฝูงนก เพราะมีความสวยงามกว่านกตัวอื่นๆ ทั้งหมด อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ติดกับสระน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งต้นไม้นี้มีกิ่งก้านและคาคบที่สมบูรณ์แข็งแรง มีใบหนาทึบ แต่มีกิ่งอยู่กิ่งหนึ่งที่ยื่นออกไปอยู่เหนือสระน้ำ เมื่อนกทั้งหลายออกหาอาหารกินจนอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็จะบินมาจับที่กิ่งไม้กิ่งนี้ แล้วถ่ายคูถลงไปในสระน้ำอยู่เป็นประจำ

ในสระน้ำแห่งนี้ มีพญานาคตนหนึ่งอาศัยอยู่ ได้เห็นพวกนกชอบบินมาจับที่กิ่งไม้แล้วถ่ายคูถลงไปในสระ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของตนเป็นประจำ จึงโกรธและคิดจะทำลายต้นไม้นี้ให้พินาศด้วยฤทธิ์ของตน ฉะนั้น ในกลางดึกคืนหนึ่ง ขณะที่พวกนกกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่ พญานาคจึงใช้อิทธิฤทธิ์ทำให้น้ำในสระเดือดพล่าน เหมือนยกเอาสระขึ้นไปตั้งไว้บนเตาไฟ จากนั้นก็ใช้ฤทธิ์ทำให้เกิดควันไฟและเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นไปสูงชั่วลำตาล

พญานกโพธิสัตว์และนกทั้งหลายเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงตกใจพากันแตกตื่น แต่พญานกโพธิสัตว์กลับมีสติตลอดเวลา ได้พูดให้ข้อคิดแก่บริวารว่า “ปกติไฟที่ไหม้ลุกลามนั้น คนเขาจะใช้น้ำดับไฟ แต่นี่มันเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาด ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน เพราะน้ำกลับลุกเป็นไฟพวยพุ่งขึ้นเสียเอง สถานที่แห่งนี้จึงไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเราเสียแล้ว” พญานกโพธิสัตว์จึงพานกบริวารที่เชื่อฟังคำแนะนำของตน รีบบินหนีไปหาที่อยู่ใหม่ ส่วนนกที่ไม่เชื่อฟังยังอยากจะอยู่ที่ต้นไม้นั้นต่อ จึงพากันเกาะอยู่ที่กิ่งไม้เหมือนเดิม ทำให้ถูกเปลวไฟคลอกตายกันหมดอย่างน่าอเนจอนาถ

เราจะเห็นได้ว่า สถานที่อยู่อาศัย หรือสถานที่สำหรับประพฤติปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมและเป็นสัปปายะ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะมีผลทำให้สมาธิมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป เริ่มตั้งแต่ต้องรู้จักหลักวิธีปฏิบัติเบื้องต้น คือ อาหารที่บริโภคหาได้สะดวก สถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่มรื่นสะดวกสบาย มีความสงบเงียบเหมาะสำหรับการนั่งปฏิบัติธรรม เมื่อสถานที่ภายนอกมีความสะดวกแล้ว จิตใจภายในจะมีความปลอดโปร่งเบาสบาย และจะเป็นเหตุให้ผลของการปฏิบัติธรรม มีความเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ

เมื่อผลการประพฤติปฏิบัติธรรมดี จะซาบซึ้งในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ธรรมะเป็นอกาลิโก คือ ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เมื่อประพฤติปฏิบัติทำใจหยุดนิ่งเข้าถึงธรรมะภายในได้เมื่อไร เราจะได้เข้าถึงความสุขความสมหวังเมื่อนั้น แล้วเราจะมีความศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ทำให้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต จะตั้งใจสั่งสมบุญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตจะบังเกิดกับเราทั้งในภพนี้และในภพชาติต่อๆ ไป จนกระทั่งถึงภพชาติสุดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: