วันเสาร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑

ผลเสียของความอกตัญญู

การนั่งสมาธิเจริญภาวนา เป็นบุญใสใสที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ข้ามพ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ ผู้รู้ทั้งหลายในอดีตที่ท่านมุ่งมั่นสั่งสมบุญในทุกรูปแบบ ก็เพื่อต้องการหลุดพ้นจากทุกข์นี่แหละ เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยม ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ขณะที่ยังไม่หมดกิเลสยังสร้างบารมีอยู่นั้น ท่านก็แสวงหาวิธีการเจริญสมาธิภาวนาที่ถูกต้องและถูกกับจริตอัธยาศัย พากเพียรกันเรื่อยมา กว่าจะสมปรารถนา กาลเวลาก็ล่วงเลยผ่านไปนับเป็นล้านๆ ชาติ ดังนั้น การนั่งสมาธิภาวนาเพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำกันเพียงครั้งสองครั้ง หรือวันสองวัน ก็จะสำเร็จสมปรารถนา ต้องอาศัยบุญบารมี อาศัยเวลา ความเพียรที่ต่อเนื่องและทำถูกวิธี ใจต้องจดจ่อ ไม่ห่างจากศูนย์กลางกาย เส้นทางการบรรลุธรรมกายจึงจะเป็นของเรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอกตัญญูชาดก ความว่า

โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ กตตฺโถ นาวพุชฺฌติ

ปจฺฉา กิจฺเจ สมุปฺปนฺเน กตฺตารํ นาธิคจฺฉติ

ผู้ใดไม่รู้จักคุณความดีและประโยชน์ที่ผู้อื่นทำไว้ก่อน ผู้นั้นเมื่อมีการงานเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมหาผู้ช่วยเหลือไม่ได้”

*มก. อกตัญญูชาดก เล่ม ๕๖/๓๑๖

*พระศาสดาเมื่อครั้งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่มีเพื่อนนักธุรกิจอยู่ชายแดนซึ่งไม่เคยพบเห็นหน้ากันมาก่อนเลย แต่เป็นเพื่อนนักธุรกิจที่ไม่ค่อยมีใจสัตย์ซื่อนัก เป็นประเภทเห็นแก่เม็ดเงินมากกว่ามิตรภาพ ทำให้สัมพันธไมตรีระหว่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนักธุรกิจท่านนี้ต้องยุติลง เนื่องจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจ ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีมาแต่เดิม หรือว่าเป็นเศรษฐีประเภทมีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง เหมือนดังเช่นท่านโชติกเศรษฐี ชฏิลเศรษฐี หรือเมณฑกเศรษฐี ที่มีสมบัติจักรพรรดิรอคอยอยู่แล้ว ท่านต้องสั่งสมบุญเพื่อคํ้าจุนการประกอบธุรกิจและการดำรงชีพของท่าน อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากหนึ่งสมองสองมือ อาศัยความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาอาชีวะ ฉะนั้น เส้นทางสู่ความเป็นมหาเศรษฐีของท่านนั้น จึงต้องนำสินค้าชนิดต่างๆ บรรทุกใส่เกวียน ๕๐๐ เล่ม แล้วออกเดินทางไปค้าขายตามหัวเมืองต่างๆ เดินทางแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลาแรมเดือน ซื้อมาขายไป จนรํ่ารวยมีทรัพย์สินเงินทอง

ขณะเดียวกัน เงินทองที่หามาได้ ส่วนหนึ่งก็จะนำออกบริจาคทานกับพวกยาจกวณิพกพเนจร และให้คนใช้ทำอาหารแจกคนอนาถาไร้ที่พึ่งเป็นประจำ ความเป็นผู้มีเมตตาและใจกว้างของท่านนี่แหละ จากเดิมชื่อสุทัตตเศรษฐี ก็ได้รับมงคลนามใหม่ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี หมายถึงเศรษฐีผู้มีก้อนข้าวหรืออาหารแก่คนผู้ไม่มีที่พึ่ง

ด้วยความเป็นผู้มีหัวนักธุรกิจ ท่านรู้ว่า การจะทำธุรกิจให้ก้าวหน้า หรือทำมาค้าขายให้คล่องตัว ประเภทซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม จำเป็นต้องหาสมัครพรรคพวก ผูกมิตรกับพ่อค้าในเมืองต่างๆ ทั้งใกล้และไกลให้ได้มากที่สุด เมื่อมีพรรคมีพวก เส้นทางธุรกิจก็สะดวกสบาย เพราะฉะนั้น ท่านเศรษฐีจึงมีเพื่อนนักธุรกิจหรือพ่อค้ารายใหญ่มากมาย ทั้งที่เห็นหน้าและไม่เคยเห็นหน้า เพื่อนที่ไม่เคยเห็นหน้า หมายถึงว่า ท่านเศรษฐีได้ผูกมิตร ด้วยการฝากของที่ระลึกพิเศษเป็นบรรณาการไปกับพ่อค้าที่จะเดินทางไปค้าขายหัวเมืองนั้นๆ แล้วบอกว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐีฝากมามอบให้ ในโอกาสวันนักขัตฤกษ์ต่างๆ

ฝ่ายเศรษฐีที่อยู่หัวเมือง ครั้นได้รับบรรณาการแล้ว ก็จะฝากของที่ระลึกของตนเอง ซึ่งมีมูลค่ามากบ้าง น้อยบ้าง กลับคืนมามอบให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแทนความระลึกถึงความเป็นเพื่อนผู้ไม่เคยพบหน้ากัน ที่เรียกว่าอทิฏฐสหายจึงบังเกิดขึ้น นอกจากนี้ คำว่าของที่ระลึกหรือบรรณาการที่ส่งมอบให้กันนั้น ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นของพิเศษประจำเมืองนั้นๆ ครั้นท่านเศรษฐีได้รับของที่ระลึกซึ่งเป็นปฏิการคุณตอบแล้ว ก็รู้ได้ทันทีว่า หัวเมืองนั้นมีสินค้าอะไรบ้าง ที่พิเศษๆ กว่าเมืองอื่นที่ชาวกรุงสาวัตถีไม่มี เมื่อต่างคนต่างผูกสัมพันธไมตรีกันอย่างนี้ ครั้นจะลงทุนค้าขาย หรือแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกันก็คุยกันง่าย แม้ไม่เห็นหน้า ไม่ได้พูดจา เพียงส่งตัวแทนหรือบริวารไปทำการค้าแทน ก็สามารถซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม นี่ก็เป็นความชาญฉลาดของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เศรษฐีคู่บุญกับพระพุทธศาสนา

ที่นี้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง มีเศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่ง ได้เป็นอทิฏฐสหายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้บรรทุกสินค้าพื้นเมืองจนเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม จากนั้นได้กำชับบริวารว่า “พวกท่านเมื่อไปถึงเมืองสาวัตถีแล้ว จงนำสินค้าเหล่านี้ไปขายให้แก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นสหายของเรา” จากนั้นก็ส่งบริวารให้ออกเดินทาง เมื่อพ่อค้าพากันเดินทางไปถึงเมืองสาวัตถี ก็มอบของบรรณาการและขายสินค้าให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตามคำสั่งที่ได้รับมา

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็จัดการให้ที่พักอาศัยเป็นอย่างดี เพราะเห็นว่าเป็นขบวนสินค้าของเพื่อนนักธุรกิจที่อยู่ชายแดน และรับซื้อสินค้าที่พวกพ่อค้าบ้านนอกนำมาขายทั้งหมด ทำให้ไม่ถูกกดราคาและไม่เสียเวลาในการค้าขายนาน ต่อมาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ส่งสินค้า ๕๐๐ เล่มเกวียนไปขายถิ่นนั้นบ้าง

เมื่อบริวารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนำเครื่องบรรณาการไปมอบให้ท่านเศรษฐีบ้านนอก พร้อมกับแจ้งว่าเป็นบรรณาการของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เศรษฐีบ้านนอกรับเครื่องบรรณาการแล้ว ก็ไม่จัดหาที่พักให้ เพราะเกรงว่าจะถูกแย่งลูกค้า เมื่อไม่ได้รับการอำนวยความสะดวก บริวารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ต้องขายสิ่งของกันเอง และก็ยังถูกกดราคาให้ต่ำลงจากพ่อค้าท้องถิ่น เมื่อกลับมายังเมืองสาวัตถีแล้ว ก็แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านเศรษฐีทราบ ต่อมา เศรษฐีบ้านนอกส่งเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปขายที่นครสาวัตถีอีกครั้งหนึ่ง บริวารของเศรษฐีบ้านนอกได้นำบรรณาการไปมอบให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เพื่อหวังจะเป็นใบเบิกทางในการค้าขายหรือที่เรียกว่าส่วยในการทำธุรกิจนั่นแหละ

ฝ่ายหัวหน้าพ่อค้าของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเห็นพ่อค้าเหล่านั้นมาก็จำได้ จึงคิดสั่งสอนให้สำนึกว่า คนที่ไม่มีความกตัญญู ไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีจรรยาบรรณของพ่อค้า จะต้องได้รับผลกรรมในปัจจุบันอย่างไร หัวหน้าพ่อค้าจึงบอกว่า “ท่านเศรษฐียังไม่ว่าง เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยมาพบ” จากนั้นก็สั่งให้พักกองเกวียนไว้ภายนอกพระนคร พอตกกลางคืนพวกโจรรู้ว่าพ่อค้าเหล่านี้เป็นเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงพากันมาปล้นกองเกวียนนั้น ทำให้พ่อค้าผู้ไม่ซื่อสัตย์เหลือแต่ผ้านุ่งเท่านั้น และต่างพากันกลัวตายหลบหนีกลับบ้านเกิดทันที ฝ่ายบริวารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแม้จะทราบเรื่องก็ไม่คิดจะช่วยเหลือ หลังจากที่พ่อค้าเหล่านั้นหนีกลับบ้านเกิดหมดแล้ว จึงแจ้งข่าวให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบ

เราจะเห็นว่า ผู้ใดไม่รู้จักคุณความดีและประโยชน์ที่ผู้อื่นทำไว้ก่อน เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมาในชีวิต ย่อมหาผู้ช่วยเหลือไม่ได้ เส้นทางการทำมาค้าขายหรือทำธุรกิจก็เช่นกัน จะต้องรักษาความเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต อย่าให้เม็ดเงินตัดสัมพันธ์คุณธรรมน้ำมิตรเด็ดขาด เพราะเม็ดเงินหากได้มาด้วยมิจฉาชีพหรือคดโกงใครมา หรือแม้ไม่คดโกง แต่ทำธุรกิจเดี่ยวๆ รวยคนเดียว ไม่มีพรรคมีพวก พอนานวันเข้า ธุรกิจก็มักจะไปไม่รอด เหมือนต้นไม้ใหญ่ต้นเดียว ลมพายุสามารถพัดล้มได้ง่าย ส่วนผู้มีคุณธรรมน้ำมิตร แม้ไม่รวยทรัพย์แต่ก็รวยน้ำใจ เกาะกันเป็นกลุ่ม ก็เหมือนต้นไม้เล็กที่รวมกันเป็นป่าใหญ่ ย่อมปลอดภัยจากพายุโหมกระหนํ่า ดังนั้นเมื่อเราผูกมิตรกับใครแล้ว ก็ให้รักษาน้ำใจไมตรีที่ดีต่อกันเอาไว้ อย่าทำลายน้ำใจกัน เมื่อเกิดปัญหาและอุปสรรค เพื่อนๆ จะได้มาช่วยกันแก้วิกฤติให้เป็นโอกาสได้ นี่คือหลักในการทำมาค้าขายย่อๆ

ไม่มีความคิดเห็น: